เทวินทร์ อินทรจำนงค์ : ความสิ้นหวังในการปฏิรูปประเทศ อีกชนวนเหตุ ปฏิเสธรัฐบาลประยุทธ์

การปฏิรูปที่ล้มเหลว

“การปฏิรูปประเทศ” ถือเป็นเจตนารมณ์แห่งรัฐ และเป็นพันธกิจของรัฐบาล ที่ประชาชนคาดหวังจะเห็นผลสำเร็จ โดยสาระสำคัญของการปฏิรูปที่ประชาชนต้องการ ได้เคยมีผลการระดมความคิดเห็นของคณะอนุกรรมาธิการรณรงค์ทางสังคมและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ได้มีการจัดเวที “เสวนาผู้นำทางความคิด (Opinion Leader Dialogue) ร่วมกันหาทางออกอนาคตประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า” จาก 13 เวทีทั่วประเทศ โดยระดมความเห็นผู้นำทางความคิด 626 คนที่มาจากการสุ่มตัวอย่างใน 77 จังหวัด ระหว่างวันที่ 8 เมษายน-14 มิถุนายน 2558 มาประมวลรวมกับข้อความเห็นของภาคประชาชนในแหล่งอื่น ๆ

แสดงให้เห็นความคาดหวังของประชาชนต่อการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองในช่วงที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศในประเด็นสำคัญ

ดังนี้

 

1.ขาดการปฏิรูปการเมืองการปกครองจริงจังในการกระจายอำนาจ การบริหารปกครองประเทศให้มีประสิทธิภาพ ยุติธรรม โปร่งใส

อาทิ การจัดสรรทรัพยากร/บุคลากร/งบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วถึงเพียงพอ

การแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงานในท้องถิ่น โดยเฉพาะการแปรรูปส่วนราชการภูมิภาคไปเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น

การให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่นจากการเลือกตั้ง

การปฏิรูปพรรคการเมืองให้มีตัวแทนประชาชนทั่วทุกภูมิภาคจากหลากหลายอาชีพเข้าไปเป็นผู้บริหารพรรค และการปลดพันธนาการพรรคการเมืองให้เป็นอิสระจากการควบคุมโดยนายทุนพรรค

การให้โอกาสและรณรงค์ให้ประชาชนสามารถแบ่งสรรเงินจากการจ่ายภาษีเพื่อนำไปบริจาคให้กับพรรคการเมืองในจำนวนที่จะทำให้พรรคการเมืองบริหารจัดการตนเองได้

การนำนโยบายและยุทธศาสตร์ของพรรคการเมืองมาให้ประชาชนตรวจสอบ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ก่อนที่จะมีการนำไปหาเสียงเลือกตั้ง

การกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการสรรหาและมาจากการเลือกตั้งจากสัดส่วนตัวแทนประชาชนหลากหลายอาชีพ

การเปิดโอกาสให้องค์กรอิสระต่างๆ มีตัวแทนกรรมการที่มาจากการเลือกสรรโดยพลเมืองเข้าร่วม

การส่งเสริมให้กำนัน/ผู้ใหญ่บ้านมาจากการเลือกตั้งและให้มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งตามวาระ

การจัดตั้งสมัชชาหรือตัวแทนผู้ทรงคุณธรรมแห่งชาติ (ตัวแทนผู้อาวุโส/ผู้มีคุณธรรมเป็นที่ยอมรับเชื่อถือ) ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการทำงานของนักการเมือง/พรรคการเมือง/องค์กรภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของภูมิภาค

และการให้องค์กรวิชาการอิสระเพื่อทำหน้าที่ศึกษาในเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์ การประเมินผล และสำรวจปัญหาความต้องการของประชาชนเพื่อนำมาใช้ในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ

เป็นต้น

 

2.ไม่ได้ปฏิรูประบบบริหารจัดการองค์กรรัฐให้เกิดธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้อย่างที่ควรจะเป็น

อาทิ การปรับปรุงและลดขั้นตอนการทำงานของหน่วยงานราชการให้มีประสิทธิภาพ คล่องตัว รวดเร็ว และให้บริการอย่างมีคุณภาพ ให้มีหน่วยงานที่เป็นกลางทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามประเมินผลการทำงานของหน่วยงานราชการให้มีความโปร่งใส เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของประชาชน

การแปรรูปองค์กรตำรวจไปให้ท้องถิ่นที่ประชาชนมีส่วนร่วมและตรวจสอบการทำงานได้

การปฏิรูปงานตำรวจ (อาทิ ให้มีหน่วยงานสืบสวนสอบสวนคดีที่มีอิสระแยกออกจากงานจับกุมเพื่อให้มีการถ่วงดุลป้องกันการแทรกแซงคดี)

การปฏิรูปศาลยุติธรรม โดยเฉพาะการให้ผู้พิพากษาสมทบจากภาคประชาชนเข้าไปร่วมพิจารณาคดี สนับสนุนให้มีคณะกรรมการยุติธรรมระดับชุมชนเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความเป็นธรรมในชุมชน ซึ่งยังไม่ได้ดำเนินการจริงจัง

เป็นต้น

 

3.ขาดการปฏิรูปสังคมที่จะสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน

อาทิ การเปิดโอกาสให้องค์กรท้องถิ่นได้รับภาษีเพื่อนำมาใช้พัฒนาพื้นที่ได้เต็มที่ เช่น การแบ่งภาษีส่วนใหญ่ไว้ดูแลท้องถิ่นและแบ่งส่วนน้อยเข้าสู่ส่วนกลาง

การออกกฎหมายรองรับองค์กรชุมชนให้มีอำนาจดูแลจัดการตนเองได้

การยกระดับองค์กรชุมชนให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล และสามารถได้รับงบประมาณเพื่อนำไปดำเนินงานพัฒนาท้องถิ่นได้

การส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนและสถาบันการเงินโดยท้องถิ่น เพื่อให้มีกองทุน/สถาบันการเงิน/สหกรณ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมอาชีพ และดูแลสวัสดิการในชุมชน

เป็นต้น

 

4.ขาดการปฏิรูประบบเศรษฐกิจระดับภูมิภาคให้มีความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน และเป็นธรรมในวิถีทางเศรษฐกิจพอเพียงจริงจัง

อาทิ ผลักดันให้มีการทำการเกษตรในระบบอินทรีย์โดยยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ ให้มีกลไกเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดผลเป็นรูปธรรมสู่ชุมชนโดยส่งเสริมการรวมกลุ่ม สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง

จัดทำนิคมเกษตรกรรมกระจายไปในพื้นที่ภูมิภาค โดยมีกฎหมายรองรับ และมีมาตรการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ (คล้ายกับนิคมอุตสาหกรรม)

ส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรครบวงจรตั้งแต่ในกระบวนการผลิต การแปรรูป และการจัดจำหน่ายเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก

ช่วยเหลือประกันความเสียหายพืชผลทางการเกษตรที่เกิดจากภัยธรรมชาติอย่างทั่วถึงเพียงพอ

สนับสนุนให้ผู้ประกอบกิจการในระดับท้องถิ่นสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและปัจจัยการผลิตได้โดยสะดวก ทั่วถึง เป็นธรรม

ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและการบริการไปสู่ภูมิภาคต่างๆ และสร้างงานให้กับท้องถิ่น

ส่งเสริมการค้า/การแข่งขันที่เป็นธรรม/แก้ไขป้องกันการผูกขาดโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ กระจายสิทธิในการให้สัมปทาน/การให้สิทธิพิเศษทางธุรกิจโดยให้องค์กรในภูมิภาคเป็นผู้จัดการดูแล เช่น การสัมปทานระบบโทรคมนาคม การจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์

การบริการโครงสร้างพื้นฐาน

การใช้แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ

เป็นต้น

 

5.ขาดการปฏิรูประบบสวัสดิการ ยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของพลเมืองจริงจัง

อาทิ การให้หลักประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของพลเมือง เพื่อให้พลเมืองมีปัจจัยสี่ครบดำรงชีวิตได้ปกติสุขทั่วถึงเท่าเทียมกัน

การสนับสนุนกฎหมายการออมเงิน (เช่น พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ) ให้มีผลบังคับใช้เป็นรูปธรรม เพื่อให้มีการออมเงินในการดูแลชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยั่งยืน

การรวมสิทธิรักษาพยาบาลทุกระบบ (สิทธิราชการ ประกันสังคม ประกันสุขภาพถ้วนหน้า) เข้าด้วยกันเพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลรักษาพยาบาลให้ทั่วถึงเท่าเทียมกัน การส่งเสริมการดูแลสุขภาพป้องกันโรค/ภูมิปัญญาท้องถิ่น/การแพทย์ทางเลือกเพื่อการดูแลสุขภาพให้เข้มแข็งลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล กำหนดนโยบาย/แผนยุทธศาสตร์รองรับสังคมผู้สูงอายุ ปรับโครงสร้างภาษี/ปรับปรุงระบบประกันสังคมให้เอื้อต่อการรองรับการจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ จัดระบบบำนาญเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลเลี้ยงชีพตนเองได้ (จัดอยู่ในกองทุนการออมแห่งชาติ)

การส่งเสริมอาชีพ/การจ้างงานผู้สูงอายุ การปรับโครงสร้าง/กลไกองค์กรภาครัฐเพื่อขยายโอกาสให้ผู้สูงอายุทำงานในองค์กรได้มากขึ้น ส่งเสริมครอบครัวที่มีความพร้อมให้มีลูกเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต

การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา โดยให้ฝ่ายปกครอง ชุมชนและพระสงฆ์ร่วมกันดูแลกิจการของสงฆ์อย่างจริงจัง เพื่อให้มีการปฏิบัติตามทำนองคลองธรรม และถ่ายทอดหลักธรรมคำสอนอย่างถูกต้อง

เป็นต้น

 

6.การปฏิรูประบบการศึกษาไม่บรรลุผลอย่างที่ควรจะเป็น

อาทิ การปฏิรูปการศึกษา/ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่และสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง

การถ่ายโอนภารกิจการจัดการศึกษาไปให้ท้องถิ่นดูแล

การยกระดับโรงเรียนให้เป็นนิติบุคคลและกระจายอำนาจให้คณะกรรมการสถานศึกษาเป็นผู้ดูแล

การปฏิรูประบบการประเมินผลโรงเรียน

อาทิ การประเมินผลครูด้วยผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน

การให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผลการเรียนการสอนของครูและโรงเรียน

การจัดตั้งหน่วยงานเพื่อดูแลให้บริการการศึกษาแก่ประชากรทุกช่วงวัย

การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการเรียนการสอนในสายอาชีวศึกษาเพื่อผลิตกำลังแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและประกอบอาชีพได้ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น

ส่งเสริมให้ภูมิภาคต่างๆ มีสถาบันการศึกษาที่มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาของอาเซียน เป็นต้น

 

7.การปฏิรูปการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังไม่เกิดประโยชน์แก่ประชาชนแท้จริง

อาทิ การออกกฎหมายรองรับให้ชุมชนท้องถิ่นมีอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่โดยบัญญัติเรื่อง “สิทธิชุมชน” ไว้ในรัฐธรรมนูญ

กระจายการถือครองที่ดินให้เป็นธรรม/ให้มีการถือครองโดยโฉนดชุมชน (ให้เอกสารสิทธิ์เป็นของคนในชุมชน)

การสร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดินของเกษตรกร ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน โดยยกระดับสิทธิในการถือครองตามทางกฎหมาย (เช่น จาก นส.3, สค., ส.ป.ก. ให้เป็นโฉนด) ให้สิทธิถือครองที่ดินแก่ราษฎรให้ตรงตามสภาพความจริงอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม (เช่น ยกเลิกเขตป่าไม้ที่มีการประกาศทับซ้อนรุกล้ำที่ดินทำกินประชาชน เป็นต้น)

ส่งเสริมระบบธนาคารที่ดิน เพื่อให้ประชาชนสามารถนำฝาก และขอใช้ประโยชน์จากที่ดินโดยผ่านกลไกกลางที่เป็นธรรม เป็นต้น

การแก้ไขกฎหมายให้พลังงานปิโตรเลียมเป็นของพลเมือง และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

ส่งเสริมให้มีการผลิตพลังงานทดแทน/พลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง จัดตั้งศาลพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเพื่อดูแลจัดการกรณีความขัดแย้งในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรม

เป็นต้น

 

ทำให้ประชาชนสิ้นหวัง

การผลักดันการปฏิรูปอย่างน้อยใน 7 ประเด็นดังกล่าวไม่เห็นผลพอที่จะสร้างความหวังความมั่นใจได้อย่างที่ประชาชนต้องการ

ที่ผ่านมาโครงสร้างคณะทำงานปฏิรูปประเทศปรับเปลี่ยนจาก สปช.มาสู่ สปท. และจนกระทั่งมาอยู่ในมือของคณะกรรมการปฏิรูป ที่ถูกแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีนั้น ถูกมองว่าตัดโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชนให้แคบลง เป็นการ “ลดระดับความสำคัญ” ของงานปฏิรูปประเทศลงไป ให้กลายเป็นเพียงไม้ประดับเพื่อให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมายที่เขียนไว้เท่านั้น

ประกอบกับเวลาที่ล่วงเลยผ่านมากว่า 6 ปีที่ คสช.และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศ กระบวนการปฏิรูปประเทศต่างๆ ไม่มีความคืบหน้าอย่างที่ควรจะเป็น

ทำให้การพัฒนาประเทศล้มเหลว ไม่สามารถแก้ปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนแก่ประชาชนได้

 

จุดชนวนต่อต้าน

การละเลยการปฏิรูปดังกล่าว เป็นการทำผิดสัญญาประชาคม ทำให้เกิดความเสียหาย เสียโอกาส ประชาชนจึงรู้สึกผิดหวัง ให้อภัยไม่ได้

ส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากผลสำรวจของซูเปอร์โพลจากประชาชนทั่วประเทศ (จำนวน 2,145 ตัวอย่าง, 10-17 กันยายน 2563) ที่พบว่า ร้อยละ 82.9 สนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มมวลชนที่ชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2563 ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 17.1 ที่ไม่สนับสนุน

การละเลยล้มเหลวในการปฏิรูปจึงเป็นอีกชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้มวลชนกลุ่มใหญ่รอจังหวะออกมาเคลื่อนไหวร่วมขบวนต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่กำลังเกิดขึ้น