คำ ผกา | รัฐบาลหรือปรสิต

คำ ผกา

ฉันเคยเขียนและเคยพูดในต่างกรรมต่างวาระกันหลายครั้งว่า ฉันซึ่งเข้าเรียนชั้น ป.1 เมื่อปี 2521 ซึ่งแปลว่า เวลาผ่านมาถึง 42 ปีแล้วนั้น สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากโรงเรียนคือ การลงโทษเด็กด้วยการ “ตี” เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่โรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนได้รับรู้ร่วมกัน และแปลว่า หากมีการ “ตี” นักเรียน นักเรียนพึงแจ้งผู้ปกครอง หรือแจ้งครูท่านอื่นว่า มีครูที่ละเมิดกฎเหล่านี้

ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่าโรงเรียนที่เรียนนั้นดีเลิศประเสริฐศรี ปราศจากการใช้อำนาจ “กำราบ” เด็กโดยสิ้นเชิง

แต่การลงโทษโดยการ “ตี” ถูกเปลี่ยนให้เป็นการลงโทษโดยวิธีอื่น เช่น การยืนหน้าห้องเรียนตลอดชั่วโมง, การลดชั้นเรียน เช่น ถ้าอยู่ ป.3 ก็ถูกไล่ให้ไปนั่งเรียนกับน้อง ป.1 สักหนึ่งวัน พร้อมการสำทับของครูว่า “ไปดูสิ น้อง ป.1 เขายังเก่งกว่าเธอ”, การถูกสั่งให้ทำเวรทำความสะอาดห้อง, การถูกกักตัวไว้ไม่ให้เลิกเรียนพร้อมเพื่อน, การถูกห้ามไม่ให้ไปเล่นในช่วงพักกลางวัน, การคัดลายมือ ฯลฯ

การห้าม “ตี” ก็ทำให้บรรดาคุณครูต้องคิดหาวิธีการต่างๆ มาลงโทษนักเรียน รวมไปถึงการใช้ไม้บรรทัดเหล็กฟาดไปที่โต๊ะของนักเรียน แทนที่จะฟาดไปที่ร่างกายของนักเรียน

หรือความพยายามที่จะ “ตี” ให้ได้ แต่ตีเบาๆ ที่ฝ่ามือ พอเป็นพิธี

(เข้าใจว่า ครูที่ยังตีอยู่ ก็จนปัญญาว่าจะลงโทษเด็กยังไง คิดไม่ออก แต่เหมือนว่า หนึ่งในงานของการเป็นครูคือการลงโทษเด็ก)

และอย่างที่เรารู้กันดีว่า วัฒนธรรมก่อนสมัยใหม่หรือพูดอีกอย่างว่าในยุคที่มนุษย์ยังป่าเถื่อน – ไม่เฉพาะแต่สังคมไทย – เราเชื่อว่าการฝึกคนก็ไม่ต่างอะไรจากการฝึกสัตว์ทั้งหลายไว้ใช้งาน เราเลี้ยงช้าง เลี้ยงม้า เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ถ้าเราอยากให้มันทำงานได้ตามคำสั่งของเรา ไม่พยศ หรือพูดไม่ฟัง สั่งอะไรลงไปแล้วหันมาขวิดเจ้าของ หน้าที่ของเราคือต้องเฆี่ยน ตี เป็นการฝึกให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในร่องในรอย และถ้าหากทำดี ก็มีรางวัล เป็นกล้วย เป็นอ้อย ให้กินเป็นพิเศษ ทำได้ดังนั้นก็จะเป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้ว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ

อะไรที่ทำแล้วเจ้าของจะรัก จะตบรางวัล อะไรที่ทำแล้วจะถูกลงโทษ ด่า ตบ ทุบตี

จึงเป็นที่มาของคำว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”

ค่านิยมนี้ฝังอยู่ในสังคมมายาวนานมาก

และมีกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมผ่านเครื่องมือหลายอย่างที่สร้างความชอบธรรมให้กับชุดความคิดนี้

ยกตัวอย่างเช่น ในสังคมไทย ถ้าพ่อ-แม่คนไหนมีลูกที่ไม่เอาถ่าน ไม่เป็นโล้ไม่เป็นพาย เราจะด่าว่า “พ่อ-แม่ไม่สั่งสอน”

หรือคนแรกที่จะถูกประณามคือ พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ว่าเลี้ยงลูกมายังไงให้เป็นคนแบบนี้ เลี้ยงลูกมายังไงให้นิสัยไม่ดี เลี้ยงลูกมายังไงให้เป็นโจร สปอยลูกหรือเปล่า หรือบอกว่า เนี่ยะ เลี้ยงลูกตามใจเป็นไข่ในหิน ลูกเลยเสียคน

เมื่อค่านิยมสังคมเป็นเช่นนี้ ในยุคหนึ่ง โรงเรียนที่ได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนที่ดี มีคุณภาพนั้นวัดกันที่ความดุ และความเฮี้ยบของครู

โรงเรียนยิ่งเคร่ง ยิ่งดุ ยิ่ง ผอ. หรือครูใหญ่โหด พ่อ-แม่ยิ่งชอบ และมั่นใจว่า ด้วยไม้เรียวของครูนี่แหละ ทำให้เด็กได้ดีมานักต่อนัก

โรงเรียนดังหลายโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนเก่าแก่ในปัจจุบันก็ล้วนแต่สร้างชื่อเสียงมาบนไม้เรียว ความดุ และการลงโทษเด็กอันรุนแรงเลื่องชื่อ เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ปกครองยิ่งนัก

และที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีกคือ ครูที่ดุที่สุด ลงโทษนักเรียนรุนแรงที่สุด มักจะเป็นครูที่นักเรียนจดจำ หรือแม้กระทั่งรักมากที่สุดเมื่อพ้นรั้วโรงเรียนมาแล้ว

เช่น เมื่อเรียนจบได้ดิบได้ดี กลับไปไหว้ รดน้ำดำหัวครูเก่าๆ ที่ดุมากก็จะเอามารำลึกความหลังว่า ได้เจอครูวันนี้ ครูช่างใจดีเหลือเกิน ที่ครูดุกับเราสมัยก่อน เป็นเพราะครูรักเรามาก และอยากให้เราได้ดี

ฉันคิดว่าคนไทยรุ่นราวคราวเดียวกับฉันได้ยินเรื่องเล่าแบบนี้มานับครั้งไม่ถ้วน

ดังนั้น ในปี 2521 ที่โรงเรียนซึ่งฉันเคยเรียน มีนโยบายไม่ “ตี” นักเรียน แม้จะเชื่อในเรื่องการ “ลงโทษ” (ซึ่งหลายอย่างฉันเห็นว่ารุนแรงไม่แพ้การตี) ได้สร้างความฉงนให้ผู้ปกครองจำนวนมาก

และมีผู้ปกครองจำนวนมากมาขอร้องโรงเรียนช่วยตีลูกให้หน่อยสิ ถ้าโรงเรียนไม่ตีลูก มันจะพอยต์อะไรในการพาลูกมาโรงเรียน เพราะการพาลูกมาเข้าโรงเรียน ก็เพื่อให้โรงเรียน “ดัดนิสัย” ลูกให้หน่อย เพราะลำพังพ่อ-แม่ทำไม่ได้ ทำไม่ไหว หรือตีลูกไม่ลง ครูช่วยตีแทนหน่อย

ส่วนทางโรงเรียนซึ่งสมาทานทฤษฎีการดูแลเด็กแบบโลกสมัยใหม่แล้ว ก็รู้แล้วว่าการตีหรือการลงโทษเด็กผ่านการทำร้ายร่างกาย ไม่ได้ช่วยให้เด็กเรียนเก่ง หรือกลายเป็นคนดีขึ้นมา

ตรงกันข้าม ปัญหาพฤติกรรมของเด็กที่ไม่น่าพึงปรารถนา เช่น อาการดื้อ ไม่เรียนหนังสือ เกเร ขี้เกียจ โกหก อาจเป็นผลมาจากการเลี้ยงดู หรือสิ่งแวดล้อมที่ toxic ที่บ้าน

เช่น เด็กมาจากครอบครัวที่พ่อ-แม่ไม่มีเวลาเอาใจใส่ มาจากบ้านที่มีความรุนแรงในครอบครัว หรือมาจากครอบครัวที่พ่อ-แม่เลี้ยงลูกด้วยไม้เรียวอย่างหนักหน่วง จนเด็กมีปัญหาทางใจ กระทบต่อปัญหาทางอารมณ์ และพฤติกรรม

อันปัญหา หรือปัจจัยเหล่านั้น โรงเรียนไม่สามารถไปเลี่ยนแปลงอะไรที่ครอบครัวของเด็กได้

เช่น ไม่อาจบังคับให้พ่อ-แม่เลิกตีเด็กได้ แต่อย่างน้อยที่สุด โรงเรียนสามารถประกาศว่า เมื่อก้าวเท้าเข้ามาในโรงเรียนแล้ว ที่นี่เป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็กจริง

เข้ามาแล้วมีความรักให้ ไม่มีการทำร้ายร่างกายในฐานะที่เป็นลงโทษ มีข้าว มีขนมให้กิน มีความปลอดภัย

สำหรับฉันที่คือหน้าที่ที่ “ต่ำ” ที่สุด ที่โรงเรียนพึงจะมีให้เด็กนักเรียนเป็นเบื้องต้น ยังไม่ต้องล้ำไปถึงความเป็นเลิศทางการศึกษา การสร้างอัจริยะ โรงเรียนเปี่ยมคุณธรรมหรืออะไรเลย

ล่วงมาถึง พ.ศ.นี้ โรงเรียนทุกแห่งในประเทศไทยสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคนแล้วหรือยัง?

กลับมาที่ปี 2563 ที่เรายังต้องอ่านข่าวครูลงโทษเด็กอย่างโหดร้ายด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ให้ลุกๆ นั่งๆ จนเด็กที่เพิ่งหายป่วย เสียชีวิต หรือเด็กอีกคนเกือบพิการจากการถูกสั่งให้ลุกๆ นั่งๆ

และล่าสุดที่เป็นข่าวดังคือ ครูพี่เลี้ยงโรงเรียนอนุบาลเอกชนชื่อดังราคาแพง ลงโทษเด็กอนุบาลอย่างโหดร้าย

และโหดร้ายในระดับที่ฉันยอมรับว่าไม่อาจทนดูคลิปได้จนจบ

คำถามของฉันคือ เกิดอะไรขึ้นกับการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ใช่เฉพาะภายใต้รัฐบาลนี้

แต่การที่ยังมีครูลุแก่อำนาจ เห็นเด็กเป็นที่รองรับระบายอารมณ์เฆี่ยนตีทำร้ายเด็กทั้งร่างกายและจิตใจเช่นนี้แปลว่าตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาของการมีอยู่ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการนั้นเป็นการมีอยู่ที่สูญเปล่า ล้มเหลว

นอกจากจะไม่เคยสร้างความสุข ความเจริญ สติปัญญาใดๆ ให้ประเทศชาติและประชาชนแล้ว

การมีอยู่ของกระทรวงนี้เหมือนเต็มไปด้วยความเขลา เน่าหนอน ล้าหลัง

เป็นมาเฟียใหญ่ในการทำลายสติปัญญาและอารยธรรมของชาติและประชาชน

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี ทุกคนบนโลกใบนี้รู้ว่า ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลกระทบต่อสุขภาวะทั้งทางกายและทางจิตใจของมนุษย์

ประเทศที่พัฒนาแล้ว เจริญแล้ว ทุนนิยมเติบโตไปมาก เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลง วัฒนธรรม จิตสำนึก ไลฟ์สไตล์ คุณค่ามาตรฐานของสังคมเปลี่ยนไป

ประเทศเหล่านี้ก็มีปัญหาของตัวเองอีกแบบหนึ่งในแง่ของสุขภาวะทางกายและทางจิต

เมื่อเป็นเช่นนั้น กระทรวงที่ดูแลการศึกษาของเด็ก ต้องมองปัญหาเหล่านี้ให้ทะลุ และสามารถออกแบบนโยบายเพื่อสามารถ “ดูแล” ทั้งเด็กนักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาให้พวกเขารับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้นได้

หรือทำหน้าที่แทนพ่อ-แม่ หรือผู้ปกครองได้ ในกรณีที่พ่อ-แม่หรือผู้ปกครองเด็กไม่ฟังก์ชั่นจากปัญหาที่รุมเร้า

ประเทศไทยก็เช่นกัน และหนักกว่าประเทศอื่นๆ ตรงที่ประเทศเราทั้งเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง ความเหลื่อมล้ำ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

ที่แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบต่อสุขภาวะทางจิตของทุกคน ไม่ว่าจะในฐานะนักเรียน พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง และบุคลากรในสถานศึกษาทั้งหมด

ถ้าเราจะมีกระทรวงศึกษาที่ทำงานเพื่อสนองต่อเจ้าของประเทศคือประชาชนผู้เสียภาษี กระทรวงศึกษาธิการย่อมทำการปฏิรูปตนเองเพื่อตอบสนองต่อปัญหา และความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่สถานศึกษาทุกแห่งต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งในยุคนี้คือ well being หรือสุขภาวะของทุกคนที่อยู่ในโรงเรียน

ไม่เฉพาะนักเรียน แต่หมายรวมถึงครูด้วย

ในยุคที่ความป่วยไข้ทาง “จิตใจ” ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ใหญ่ กระทรวงศึกษาธิการต้องพร้อมเสมอที่จะรับมือกับภาวะป่วยไข้ทางใจของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ภาวะซึมเศร้า ภาวะสมาธิสั้น ภาวะความบกพร่องในการเรียนรู้

ซึ่งประเด็นความป่วยทางใจและสมองเหล่านี้ ล้วนมีผลกระทบต่อพฤติกรรม และความยาก-ง่าย ต่อการทำงานของครู

ไม่นับว่าโรงเรียนต้องเข้ามามีบทบาทในประเด็นเหล่านี้อย่างละเอียด

เพราะในประเทศโลกที่สามขาดแคลนอย่างประเทศไทย ครอบครัวส่วนใหญ่ไม่มีศักยภาพที่จะเข้าดูแลปัญหาเหล่านี้ของลูกหลานด้วยตัวของเขาเอง ยิ่งปัญหาเศรษฐกิจรุนแรง มีคนตกงาน ถูกเลย์ออฟ

ปัญหาของเด็กเหล่านี้จะถูกละเลยมากขึ้น

สุขภาวะของนักเรียนนั้นสำคัญ และแน่นอนว่า สุขภาวะทางใจของ “ครู” หรือบุคลากรในสถานศึกษาก็สำคัญ กระทรงศึกษาฯ ต้องใส่ใจในสุขภาพจิตของ “ครู” ให้มาก

เพราะครูก็เช่นเดียวกันกับทุกคน ที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม การเมือง เศรษฐกิจ หรือมีปัญครอบครัว หรือมีปัญหาทางจิตมาตั้งแต่เด็กแต่ไม่ได้รับการแก้ไข ไม่นับสังคมดัดจริต เก็บกดอย่างสังคมไทยที่ทำให้คนเป็น “บ้า” ได้อย่างง่ายดาย

โรงเรียนต้องมีโปรแกรมดูแลภาวะหดหู่ ซึมเศร้า ไบโพลาร์ และฉันคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมีนักจิตวิทยาที่เก่งๆ ที่จะทำงานร่วมกับครูอย่างใกล้ชิด นั่นหมายความว่า ทุกโรงเรียนต้องมีนักจิตวิทยาที่เอาไว้ดูแลครูโดยเฉพาะ และมีนักจิตวิทยาดูแลนักเรียนโดยเฉพาะ อีกทั้งโรงเรียนทุกโรงเรียน ต้องมีนักจิตบำบัดประจำโรงเรียนให้จำนวนที่มากพอ – มากพอที่นักจิตบำบัดจะไม่ต้องทำงานหนักจนเป็นบ้าไปเสียเอง

ยิ่งเมืองไทยเจอวิกฤตเศรษฐกิจ การเมือง และวิกฤตความเหลื่อมล้ำหนัก กระทรวงศึกษาฯ ยิ่งต้องตระหนักว่า ปัญหาสุขภาวะทางจิตของทั้งนักเรียนและครูจะเพิ่มขึ้นทบเท่าทวีคูณ

คำถามคือ กระทรวงศึกษาธิการไทยรู้เรื่องเหล่านี้หรือไม่?

ปัญหาอำนาจนิยมในโรงเรียนไทยที่มาพร้อมกับการเมืองและวัฒนธรรมอำนาจนิยมนั้นก็ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่รอไม่ได้คือ กระทรวงศึกษาธิการต้องตระหนักให้ได้โดยเร็วที่สุดคือ โรงเรียนไม่ใช่สถานฝึกช้าง ม้า วัว ควาย และครูไม่ใช่ควาญช้าง

โรงเรียนคือ สวัสดิการของรัฐที่จะช่วยเข้ามาแบ่งเบาภาระของประชาชน พลเมือง ในการเลี้ยงดู “มนุษย์” ที่เกิดมาเป็นพลเมืองภายใต้รัฐหรือชาตินั้นๆ ให้ดีที่สุดอย่างสมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคน

ถ้า “คน” ที่ยังเป็นเด็กเหล่านั้น มาจากครอบครัวที่ไม่พร้อม กะพร่องกะแพร่ง ขาดโอกาส ขาดความรู้ ขาดทรัพยากร ขาดความเข้าใจเรื่องการเลี้ยงเด็กที่ถูกที่ควร โรงเรียนมีหน้าที่เติมส่วนที่พร่องและช่วยประคับประคองส่วนที่ผิดพลาดอันมาจากบ้านและครอบครัวของเด็กเหล่านั้น

เด็กเลือกพ่อ-แม่ไม่ได้ แต่โรงเรียนและครูเลือกที่จะให้สิ่งที่ดีที่สุดกับชีวิตของเด็กคนหนึ่งได้

และครูจะให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่เด็กได้ก็ต่อเมื่อ “ครู” ได้รับการดูแล ฝึกฝน อัพเดตความรู้ รวมไปถึงได้รับการดูแลให้มีสุขภาวะทั้งกางกายและใจที่ไม่บกพร่องด้วยเช่นกัน

ฉันไม่คิดว่าตัวเองได้เขียนอะไรที่ซับซ้อนหรือเป็นข้อเรียนร้องที่เป็นไปไม่ได้ต่อกระทรวงศึกษาฯ และรัฐบาลเลย เพราะนี่คือ “หน้าที่” ของรัฐบาลที่ต้องทำให้ประชาชน

แต่โชคร้าย เราไม่มีรัฐบาลแบบนี้ เรามีแต่ปรสิตเสมอมา