คุยกับทูต ซาราห์ เทย์เลอร์ ไทย-แคนาดา เตรียมฉลองครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ตอนจบ

แคนาดามีประชากรน้อยมากเมื่อเทียบกับความกว้างใหญ่ไพศาลของประเทศซึ่งมีพื้นที่กว่า 9 ล้านตารางกิโลเมตร ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และใหญ่กว่าไทยประมาณ 19 เท่า

แต่แคนาดามีประชากรเพียง 34 ล้านคน

ชาวแคนาดาส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพมาจากที่ต่างๆ ทั้งยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ และอินเดีย ส่วนกลุ่มผู้อพยพรุ่นใหม่ๆ จะมาจากเอเชีย

สังคมของชาวแคนาดาจึงเป็นวัฒนธรรมที่ผสมผสาน มีภาษาราชการ 2 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส

ประชากรส่วนใหญ่จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ มีเพียงมณฑล ควิเบกเท่านั้นที่ประชากรจะใช้ภาษาฝรั่งเศส

ปีที่ผ่านมา แคนาดาต้อนรับผู้ถือวีซ่าถาวรหรือประชากรถาวรแคนาดาจำนวน 341,000 คน มาจากอินเดียมากที่สุดถึง 25% และอีก 9% มาจากจีนแผ่นดินใหญ่

ทำให้แคนาดามีจำนวนพลเมืองเพิ่มขี้นถึง 37.6 ล้านคน

 

ดร.ซาราห์ เทย์เลอร์ (Her Excellency Dr. Sarah Taylor) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทยชี้แจงว่า

“ดังที่กล่าวมา เราเป็นประเทศใหญ่แต่มีประชากรน้อย จึงต้องการพลเมืองเพิ่มขึ้น เรายินดีต้อนรับผู้อพยพ ซึ่งในช่วงแรกๆ มาจากเอเชีย มีชาวจีนจำนวนมากเข้าไปในแคนาดาในศตวรรษที่ 1900 จึงได้แรงงานชาวจีนเหล่านี้ไปช่วยสร้างทางรถไฟให้เรา ส่วนชาวญี่ปุ่นเข้าไปช่วยด้านอุตสาหกรรมประมง แถบบริติชโคลัมเบียทางฝั่งตะวันตกของแคนาดา”

นั่นเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ชาวแคนาดาพูดได้หลายภาษาเช่นกัน

“โดยมีช่วงหนึ่งที่มีการอพยพจากยุโรปกันมาก แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีผู้อพยพอีกระลอกหนึ่งจากเอเชีย และด้วยเหตุที่เราเปิดกว้างสำหรับผู้อพยพจากทั่วทุกมุมโลก เราจึงมีผู้คนจากฟิลิปปินส์ เวียดนาม และกัมพูชาจำนวนมาก แต่ชาวจีนและอินเดียมีจำนวนมากที่สุด ในขณะที่คนญี่ปุ่นไม่มากนัก”

“ส่วนคนไทยดูเหมือนไม่ค่อยอยากออกจากประเทศ คนไทยบางคนไปแคนาดาเพียงเพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจ มีบางกรณีที่เป็นเหตุผลทางการเมือง เมื่อคอมมิวนิสต์เข้ายึดครองประเทศเวียดนามหลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง แคนาดาจึงรับผู้ลี้ภัยจำนวนมากจากเวียดนาม”

“เราไม่มีโควต้าภูมิภาค ในบางกรณีเรารับคนที่ต้องการไปอยู่รวมกับครอบครัวของเขาที่นั่น ส่วนใหญ่เรารับคนตามทักษะความสามารถของพวกเขา เรามีระบบคะแนนและจะมีคะแนนสำหรับผู้ที่สามารถพูดภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศส”

“รวมทั้งการพิจารณาถึงประวัติการศึกษา การฝึกอบรม และผู้ที่อยู่ในสายงานที่เราต้องการ ถ้าผู้สมัครเข้าหลักเกณฑ์และได้คะแนนเพียงพอเราก็ยอมรับ อีกสิ่งหนึ่งที่เราทำ คือเรามีนักเรียนต่างชาติจำนวนมากไปเรียนที่แคนาดา มีโปรแกรมที่เอื้อประโยชน์แก่นักศึกษาที่ไปเรียนและทำงานได้หลังจากเรียนจบการศึกษาแล้ว เป็นเวลาถึง 6 ปี และเมื่อถึงตอนนั้นพวกเขาเหล่านั้นก็มีประสบการณ์เพิ่มพูนขึ้น และหากต้องการ ก็สามารถสมัครเป็นพลเมืองแคนาดาได้ ดังนั้น จึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไปแคนาดาในฐานะนักเรียน”

“น่าเสียดายที่ผู้คนยังไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศ ด้วยเหตุผลที่ยังมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ในสถานการณ์ปกติ ต้องใช้วีซ่าซึ่งมักจะมีอายุ 10 ปี คุณสมัครครั้งเดียวและสามารถใช้ได้หลายครั้ง มีนักท่องเที่ยวชาวไทยไปแคนาดามากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงมีความสุขมากที่มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มขึ้น”

 

“ปัจจุบันมีชาวแคนาดาเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 150,000 คนต่อปี ส่วนคนไทยไปแคนาดามากกว่า 10,000 คนต่อปี ชาวแคนาดาชอบมาเที่ยวทะเลในไทยเพราะมีน้ำทะเลที่อบอุ่นกว่า ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้เกษียณอายุพักระยะยาว เนื่องจากแคนาดามีอากาศหนาวจัดในฤดูหนาว”

“กระทรวงศึกษาธิการของไทยและสถานเอกอัครราชทูตแคนาดา พยายามดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษาหลายรูปแบบ อาทิ โครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ โครงการแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรม โดยอาจพิจารณารับบัณฑิตที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากแคนาดา มาปฏิบัติหน้าที่เป็นครูผู้ช่วยสอนภาษาอังกฤษในห้องเรียนภาษาอังกฤษในสถานศึกษาของไทย การพัฒนาทักษะที่จำเป็นและความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล (Digital Literacy) ตลอดจนการรวบรวมและประมวลข้อมูลเพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคตระหว่างไทยและแคนาดา”

ภารกิจที่ท่านทูตต้องการให้ประสบความสำเร็จ

“ด้านการเมืองและการทูต การเพิ่มการค้าและการลงทุนทวิภาคี การเสริมสร้างความร่วมมือกับไทยในประเด็นท้าทายระดับโลก เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเท่าเทียมทางเพศและความมั่นคงในภูมิภาค การต่อสู้กับอาชญากรรมระดับชาติ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 อันเป็นเรื่องใหญ่มากในการทำงานของเรา”

“การให้ความช่วยเหลือชาวแคนาดาที่ต้องการความช่วยเหลือ ให้บริการด้านวีซ่าแก่คนไทย ลาว และกัมพูชา เพราะการทำงานของเรามีอาณาเขตครอบคลุมสามประเทศคือ ไทย ลาว และกัมพูชา”

 

“เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่อีกอย่างหนึ่งของดิฉัน คือการทำให้แคนาดาเป็นที่รู้จักในประเทศไทย ดิฉันทราบดีว่าคนไทยมีความรู้สึกที่ดีต่อแคนาดา แต่ก็ยังไม่รู้จักแคนาดาดีนัก ดิฉันจึงต้องการสร้างภาพให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้คนไทยรับรู้และรู้จักแคนาดาให้มากขึ้น รวมทั้งอยากเห็นแคนาดาและไทยเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีเพราะไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองในอาเซียน”

“เป้าหมายที่สำคัญ คือเราจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 60 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันอย่างยิ่งใหญ่ในปีหน้านี้ แต่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดในตอนนี้ได้”

“ดิฉันมีความสุขมากที่ได้มาประจำการที่เมืองไทย และถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ดิฉันมาเพื่อพยายามเพิ่มพูนความสัมพันธ์และให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น”

“แม้ COVID-19 อาจทำให้เรื่องนี้ยากลำบากขึ้น แต่ก็แสดงให้เห็นว่า การมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างกันนั้นมีความสำคัญเพียงใด และเรายังคงต้องช่วยกันคิดค้นผลิตวัคซีนป้องกันโรคเพื่อช่วยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป”

 

คําแนะนำของท่านทูตแก่ผู้หญิงที่สนใจอาชีพนักการทูต

“ในฐานะที่เป็นนักการทูตหญิง ดิฉันคิดว่า เป็นอาชีพที่ดีสำหรับผู้หญิง ซึ่งในแคนาดาก็เริ่มมีนักการทูตหญิงที่ออกไปทำงานในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เพราะการทำงานด้านการต่างประเทศนั้น มักต้องมีการโยกย้ายไปยังประเทศต่างๆ เสมอไม่มากก็น้อย และครอบครัวของนักการทูตก็จะต้องย้ายติดตามไปด้วย อันเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักสำหรับหน้าที่การงานของผู้ที่เป็นคู่สมรสของนักการทูต แต่มีงานหลายอย่างที่สามารถดำเนินต่อไปได้ทางไกล (distance) ไม่ว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหนก็สามารถทำงานได้”

“ช่วงนี้หลายองค์กรต้องปรับตัว หันหน้าพึ่งเทคโนโลยีดิจิตอลนำมาใช้ในการทำงานมากขึ้น ส่งผลให้เรื่อง Digital Transformations ที่เคยมีการพูดถึงมาอย่างยาวนานและเกิดขึ้นช้ามาก กลับถูกขับเคลื่อนได้เร็วขึ้นพร้อมกับวิถีชีวิตที่ยืดหยุ่นมากขึ้น”

ปัจจุบัน ท่านทูตอยู่กับสามี ชื่อแพทริก (Patrick Kavanagh) เป็นนักเขียนอาชีพ แจ็ก (Jack) ลูกชายอายุ 16 ปี ซึ่งเรียนชั้นมัธยมปลายที่ ISB ในกรุงเทพฯ และแมวตัวอ้วนกลมชื่อโม (MO) ที่ไปไหนไปด้วยจากประเทศจีน

ส่วนลูกสาวที่ยังไม่ได้ตามมาด้วยชื่อไมรี (Mairi) อายุ 18 ปี เพราะเหลือเวลาเรียนอีกเพียงหนึ่งภาคการศึกษาเท่านั้นและจะจบชั้นมัธยมปีสุดท้ายที่โรงเรียนในเมืองออตตาวา

ซึ่งท่านทูตหวังว่าจะได้มาอยู่ด้วยกันเมื่อการเดินทางระหว่างประเทศเป็นไปได้อีกครั้ง

 

สุดท้าย ท่านทูตซาราห์ เทย์เลอร์ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองในประเทศไทยว่า

“เราติดตามการเมืองในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เป็นการพัฒนาที่น่าสนใจมาก เรายินดีที่ได้เห็นประเทศไทยจัดการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว นั่นเป็นสิ่งที่เรามีเหมือนกันโดยมีการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วด้วย เพราะแคนาดาต้องการสนับสนุนประเทศไทยให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายต่างประเทศของเราทั่วโลก”

“เราสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่เราตระหนักดีว่า ทุกประเทศต่างก็สนับสนุนระบบการเมืองและนโยบายของตนเอง ดังนั้น คนไทยจึงเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าต้องการให้มีระบบการเมืองแบบใด และการอภิปรายทางการเมืองต้องอยู่ในหมู่คนไทย และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นการเจรจาเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งโดยสันติวิธี”

“ในแคนาดา เรามีความกระตือรือร้นอย่างมากมายและมีการถกเถียงทางการเมืองอย่างเข้มข้น อันเป็นเรื่องปกติสำหรับเรา เพราะนั่นคือส่วนหนึ่งของการเมือง ในมุมมองของเรา ผู้คนไม่ควรกลัวที่จะไม่เห็นด้วย เพราะเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ควรจะต้องมีมุมมองที่แตกต่างกัน สามารถแสดงความคิดเห็นเหล่านั้นและพูดคุยกันอย่างเปิดเผย เช่นแคนาดา ที่มีการถกเถียงกันมากมายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของเรา”

“ที่สำคัญคือ แสดงความต้องการอย่างเปิดเผยและเจรจากันอย่างสันติวิธี”