จัตวา กลิ่นสุนทร : มีแต่คำถามถึงเส้นทางก้าวลงจากอำนาจ?

กว่าข้อเขียนฉบับนี้จะได้รับการตีพิมพ์ปรากฏออกมา การชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” ได้ผ่านไปเฉียดสัปดาห์

ทำนายทายทักอะไรล่วงหน้าลำบากว่าผลจะออกมาอย่างไร?

เวลาเดินทางรวดเร็วสม่ำเสมอ เปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัวไปมากกว่าที่คาดหมาย

แต่เป้าหมายของ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” จะสัมฤทธิผลจนได้รับการตอบสนองหรือไม่?

หรือดำเนินไปสู่สถานการณ์อื่นๆ อันไม่พึงปรารถนา ประชาชนทั้งประเทศได้รู้ได้เห็นแล้ว

วันที่เขียนต้นฉบับยังไม่สามารถตกลงกันได้ระหว่างแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนปัจจุบันว่า จะอนุญาตให้ใช้บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ เป็นสถานที่ชุมนุมหรือไม่?

กลุ่มศิษย์เก่าของสถาบันอันทรงเกียรติเก่าแก่ยาวนาน เปิดหน้าเผยโฉมออกมามากมายทั้งสนับสนุนให้ใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัย และไม่เห็นด้วยกับการใช้สถานศึกษาอันเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ด้วยเหตุผลแตกต่างกันดังที่ปรากฏ

แต่คงคาดหมายได้ไม่ยากว่า ถึงอย่างไรการชุมนุมจะต้องดำเนินไปตามเวลานัดหมายยังสถานที่แห่งเดิม ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตหรือไม่ก็ตาม

วิเคราะห์ตามเหตุผลต่างๆ รอบด้านล่วงหน้าด้วยใจระทึกว่า ถ้าจะมีอะไรเกิดขึ้นมาจริงๆ ควรจะเป็นเรื่องที่ดีมีทางออกร่วมกันมากกว่าด้านเลวร้าย

เพราะดูฝ่ายที่กุมอำนาจ โดยเฉพาะ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี บอกว่า– “กลุ่มผู้ชุมนุมเป็นลูกหลานของพวกท่าน ต้องดูแลให้ทุกคนปลอดภัย ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรให้เกิดความรุนแรง”

 

ทุกอย่างปรากฏผ่านไปแล้ว แต่อยากนำความเห็นของคนระดับผู้นำที่ได้แสดงไว้ก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า– “ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในการดูแลให้เจ้าหน้าที่ดูแลลูกหลานของเรา และทุกคนต้องดูแลตัวเองด้วย โดยเฉพาะมาตรการต่างๆ ทั้งการตรวจสอบเรื่องอาวุธ และการแพร่ระบาดต้องให้เหมาะสมในการดูแล เพราะลูกหลานของท่านก็เหมือนลูกหลานของเรา”

นายกรัฐมนตรีพูดอีกว่า “ขอให้ทุกฝ่ายอย่าตกไปเป็นเครื่องไม้เครื่องมือของใคร การชุมนุมจะบริสุทธิ์หรือไม่จะต้องไปสืบหากันต่อไป พอจะมีข้อมูลอยู่บ้าง–“?

“ทุกอย่างทำตามกฎหมาย จะทำอะไรก็ต้องขออนุญาต เราดูแลให้เรียบร้อย เรื่องการเว้นระยะใกล้ทำเนียบรัฐบาล เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่–”

“อย่าเพิ่งไปคิดมาก ขอย้ำว่าทุกอย่างทำตามกฎหมายเพื่อไม่ให้มีการปะทะกัน ไม่กังวลเรื่องมือที่สาม ผมรู้ว่าจังหวัดไหนจะเดินทางมาบ้าง ซึ่งจำนวนเราพอรับมือได้ การสกัดกั้นเรื่องอาวุธในช่วงเวลานี้เจ้าหน้าที่เขาทำอยู่แล้ว”

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

 

การนัดชุมนุมวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2563 ตรงกับวันทำรัฐประหารรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (คปค.) เมื่อ 14 ปีที่ผ่านเลย

ห่างจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ปิดประตูยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 6 ปี

เวลา 6 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินแบบเบ็ดเสร็จด้วยอำนาจพิเศษ 5 ปี และวางแผนสร้างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 สืบทอดอำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมากระทั่งปัจจุบัน โดยตั้งเป้าหมายจะครองอำนาจอย่างยืดยาว โดยมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งแต่งตั้งมาเองไว้สนับสนุน

ไม่มีใครปฏิเสธว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี พ.ศ.2557 มีการคุกคามประชาชน นักการเมือง และผู้ที่คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ถูกนำเอาตัวไปปรับทัศนคติ นิสิต-นักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยก็ถูกคุกคาม ทำร้ายร่างกายโดยบุรุษลึกลับที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคยตามจับกุมคนร้ายได้เลย

เมื่อกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้หยุด “คุกคามประชาชน จัดร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ยุบสภา โดยไม่เอารัฐประหาร ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลแห่งชาติ” เป็นการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาทวงถามหาอนาคตของคนรุ่นเขาเอง พลังของคนรุ่นดังกล่าวได้ห่างหายไปนานหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ.2535

รัฐบาลทำท่าคล้ายจะตอบรับ แต่คงไม่ตอบรับ กลับวางแนวทางซื้อเวลาให้ยืดเยื้อออกไป โดยเฉพาะเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ขณะที่การยุบสภาแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

 

สภาพเศรษฐกิจ การเมืองปัจจุบันทรุดโทรมตกต่ำย่อมสืบเนื่องมาจากนโยบายรัฐบาลไม่ชัดเจนตอบโจทย์ประเทศ

ขณะเดียวกันถูกซ้ำเติมด้วยโรคระบาด ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องได้ผู้นำรัฐบาลที่มีความสามารถสูงเข้ามาบริหารบ้านเมือง

เพราะรัฐบาลชุดนี้ได้ใช้เวลามามากพอสมควร แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ไม่เป็นที่ยอมรับ

นักการเมืองฝ่ายค้าน ประชาชนทั่วไปต่างมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่ารัฐบาลไม่มีขีดความสามารถพอที่จะแก้ปัญหาของประเทศชาติให้ผ่านพ้นไปได้

แต่ยังกลับดื้อดึงจะอยู่ในอำนาจต่อไปยาวๆ

 

“นายกรัฐมนตรี” ของประเทศไทยเราที่เป็นนายทหารมาจากกองทัพมากกว่านายกรัฐมนตรีพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ตั้งแต่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (นายกฯ คนที่ 3) จอมพลถนอม กิตติขจร (นายกฯ คนที่ 10) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (นายกฯ คนที่ 11) พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (นายกฯ คนที่ 15) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (นายกฯ คนที่ 16) และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (นายกฯ คนที่ 24)

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เพียงท่านเดียวที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ยาวนานที่สุด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523-2531 และสามารถแก้ปัญหาประเทศชาติให้ผ่านพ้นจนกระทั่งเศรษฐกิจลืมตาอ้าปากได้

ท่านได้ก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยความสง่างาม ส่งไม้ต่อให้พรรคการเมืองที่พยายามยื้อขอร้องให้ท่านอยู่ต่อด้วยประโยคที่ว่า “ผมพอแล้ว”

ประวัติศาสตร์ประเทศนี้บันทึกการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มาจากกองทัพไว้ว่า ส่วนมากเมื่อถึงเวลาก้าวลงจากตำแหน่งค่อนข้างจะไม่ค่อยสง่างาม บางคนถูกขับไล่ให้ออกนอกประเทศ ถูกประณามว่าเป็นทรราช ถูกยึดทรัพย์และต้องระหกระเหินไปเสียชีวิตยังต่างบ้านต่างเมือง บางคนต้องตะเกียกตะกายทำทุกวิถีทางขอกลับมาตายในประเทศบ้านเกิด

กระทั่งเป็นที่มาของเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 นิสิต นักศึกษา ประชาชน ถูกกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกสังหาร บาดเจ็บ ล้มตาย สูญหาย คนไทยฆ่ากันเอง

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ซึ่งเข้าสู่การเมืองด้วยการทำรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2557 ใช้เวลา 5 ปีกับตำแหน่งผู้นำเผด็จการก่อนจะทนแรงกดดันจากประชาชนที่ต้องการเลือกตั้งต่อไปไม่ไหว จึงเปิดให้มีการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2562 บนเงื่อนไขกติกาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ร่วมด้วยช่วยกันวางแผนกระทั่งได้สืบทอดอำนาจมาจนถึงวันนี้ กระทั่งมีการกล่าวกันว่า “แพ้เลือกตั้ง แต่ได้จัดตั้งรัฐบาล”

คิดว่าไม่มีรัฐบาลชุดไหนที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนรวมตัวชุมนุมกันทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องให้ยุบสภาลาออกลงจากอำนาจไปได้แล้ว เพราะไม่มีความสามารถบริหารบ้านเมืองได้

มีคำถามถึงการก้าวลงจากอำนาจของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีที่มาจาก “กองทัพ” ด้วยการทำ “รัฐประหาร” ว่าจะเป็นไปอย่างไร? เหมือนนายกรัฐมนตรีทหารซึ่งมาจากแหล่งเดียวกันหรือไม่?

ตอบไม่ได้ ต้องรอชม