ประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนของคนรุ่นเก่าที่ลดลงตามวันเวลา พร้อมๆ กับความคิดความเชื่อแบบเก่า

ยากจะหยุด “ความเชื่อใหม่”

“โควิด-19” กลับมาเป็นสาระแห่งชาติอีกครั้ง ด้วย “นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เริ่มพูดถี่ขึ้นเรื่อยๆ ถึงความน่ากังวลเรื่องการระบาดระลอก 2

แม้จะมีคนส่วนหนึ่งมองว่าเป็นแค่ “การอาศัยโรคระบาดมาเป็นเครื่องมือต่อสู้กับการชุมนุมทางการเมือง” แต่เมื่อวาระที่กำหนดโดยผู้นำรัฐบาล อย่างไรเสียก็หนีไม่พ้นที่จะเกิดความเคลื่อนไหวในทางระดมมาตรการเพื่อป้องกันการระบาดของโรค

อย่างไรก็ตาม แม้จะประกาศมาตรการป้องกันได้ แต่หากจะให้เป็นไปตามประกาศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าครอบครองความเชื่อในความคิดของคนส่วนใหญ่ให้ได้

ด้วยเหตุนี้เองจึงมีความน่าสนใจยิ่งว่า ระหว่าง “เอาโรคระบาดมาอ้างเพื่อใช้อำนาจขัดขวางการชุมนุม” กับ “การลดความเสี่ยงจากการระบาดของโรค” อะไรคือความคิดที่ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อมากกว่ากัน

และคำตอบดังกล่าวจะเป็นดัชนีชี้วัดว่าประกาศของนายกรัฐมนตรีจะได้ผลในทางปฏิบัติ คือเกิดความหวั่นเกรงการมารวมตัวกันเพื่อชุมนุมทางการเมืองหรือไม่

เมื่อเร็วๆ นี้ “นิด้าโพล” ทำสำรวจเรื่อง “ประชาชนยังกลัวโควิด-19 อยู่หรือไม่” ผลที่ออกมาน่าสนใจทีเดียว

ในคำถาม “ณ วันนี้ ท่านยังกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อโรคระบาดโควิด-19 หรือไม่” พบว่าคนส่วนใหญ่ยังกังวล คือ ร้อยละ 23.04 กังวลมาก ร้อยละ 36.81 ค่อนข้างกังวล มีร้อยละ 16.81 ไม่ค่อยกังวล และร้อยละ 23.34 ไม่กังวลเลย

หากเป็นไปตามนี้จะหมายความว่าคำขู่นั้นได้ผล

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า “หากเกิดการระบาดรอบ 2 คิดว่าประเทศไทยจะสามารถรับมือได้หรือไม่” ร้อยละ 79.24 เชื่อว่ารับได้ มีแค่ร้อยละ 10.95 เท่านั้นบอกว่าไม่สามารถรับมือได้

และในคำถาม” หากมีการระบาดรอบ 2 คิดว่าประเทศไทยจะมีระบบการแพทย์ และสาธารณสุขพอเพียงหรือไม่” ร้อยละ 68.14 เชื่อว่าพอ ร้อยละ 22.13 ที่บอกว่าไม่พอ

คำตอบดังกล่าวย่อมตีความได้ว่า “คนส่วนใหญ่ไม่กลัวว่าจะมีการระบาดรอบ 2 เพราะเชื่อว่าประเทศสามารถรับมือได้”

ความหมายโดยรวมก็คือ แม้จะมีความกังวลว่าจะเกิดการระบาดรอบใหม่ แต่ถึงที่สุดแล้ว “ไม่กลัว”

หากประเมินความรู้สึกนึกคิดของประชาชน น่าจะสรุปได้ว่า “ประกาศของนายกรัฐมนตรี” ที่ชี้นำประชาชนเรื่องจำเป็นต้องระมัดระวังโรคระบาด ซึ่งทำให้คนส่วนหนึ่งมองว่าเป็นการใช้สถานการณ์โรคเป็นข้ออ้าง หรือข่มขู่ไม่ให้เกิดการชุมนุมนั้น “ไม่ได้ผล”

เพราะ “ความกลัว” ไม่ได้เกิดขึ้นตามที่อยากให้เกิด

ยิ่งคนหนุ่ม-คนสาวที่เชื่อกันว่ามีความต้านทานโรคมากกว่า ยิ่งใช้สถานการณ์โรคมาข่มขู่เพื่อไม่ให้ชุมนุมไม่ได้

การต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง “คนรุ่นเก่า” กับ “คนรุ่นใหม่” นับวันจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า เป็นการต่อสู้ทางความคิด ความเชื่อ

การปล่อยให้คนรุ่นเก่าอยู่กับความเชื่อเดิมๆ และสร้างความคิดความเชื่อใหม่ให้เกิดขึ้นในสมองของคนรุ่นใหม่ ปิดทางไม่ให้ความเชื่อเก่าเข้ามาครอบงำความคิดของคนรุ่นใหม่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น

และนั่นหมายถึงความเป็นไปของประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนของคนรุ่นเก่าที่ลดลงตามวันเวลา พร้อมๆ กับความคิดความเชื่อแบบเก่าๆ จะจางหายไปกับวันเวลาเช่นกัน