มุกดา สุวรรณชาติ : หลังการชุมนุมใหญ่ 19-20 กันยา ฝ่ายอนุรักษ์จะถือโอกาสเปลี่ยนหัว

มุกดา สุวรรณชาติ

เมื่อการชุมนุมใหญ่ครั้งที่สองจบลง

ทุกฝ่ายก็พอมองเห็นแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง

ใครขยับตัวช้าเสียเปรียบ

เพราะแรงกดดันทางการเมืองบีบเข้ามาแล้ว

 

1.จำนวนคนและความตั้งใจ ผู้มาร่วมชุมนุมคือแรงกดดัน

จำนวนคนเป็นไปตามคาดหมาย ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม (United Front of Thammasat and Demonstration) คือประมาณ 100,000 คน อยู่กระจัดกระจายไปทั่ว ทั้งในธรรมศาสตร์ ในสนามหลวง บนถนนหน้าศาลอาญา คลองหลอดบางส่วน บนถนนราชดำเนินตามแนวฟุตปาธตั้งแต่โรงแรมรัตนโกสินทร์จนถึง สี่แยกคอกวัว

แม้ฝนปรอยมาทั้งวัน แต่ก็มีคนทยอยเข้ามาชุมนุมตั้งแต่บ่ายจนถึงกลางคืนและก็มีคนทยอยกลับไป

ดังนั้น การวัดตัวเลขคนที่เข้ามาชุมนุม จึงเป็นเรื่องยากมาก แต่การออกมาร่วมชุมนุมทั้งที่รู้ว่าฝนตกพายุเข้า ถือเป็นความตั้งใจอย่างแรงกล้า และรู้เหตุผลด้วยว่า จำเป็นต้องมา

เพราะการมาแสดงตัวร่วมกันคือการสำแดงพลังที่แรงกว่าการนั่งดูจออยู่ที่บ้าน

จำนวนคนเรือนแสนวันที่ 19 ที่ท้องสนามหลวง ส่งผลให้มีแรงกดดันต่อการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องเป็นเรื่องถูกต้อง คนที่ขัดขวางก็เท่ากับขัดขวางระบอบประชาธิปไตย

ยิ่งจะมีการชุมนุมซ้ำที่รัฐสภา ในวันที่มีการอภิปรายเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ ก็จะเพิ่มแรงสนับสนุนให้ฝ่ายที่ต้องการแก้ไข

เพราะเงื่อนไขชี้ขาดอยู่ที่การมี ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 84 คน ต้องยอมรับการแก้ไขครั้งนี้

แต่ช่วงนี้มีแรงกดดันของฝ่ายที่ไม่ต้องการให้แก้ไข ทำให้ ส.ว.ส่วนหนึ่งไม่กล้าขยับตัวทั้งๆ ที่รู้ว่า ถ้าพวกเขาไม่ยอม รัฐธรรมนูญจะแก้ไขผ่านระบบรัฐสภาไม่ได้ และความรุนแรงจะต้องเกิดขึ้นแน่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นมาจากการรัฐประหาร เพื่อใช้สืบทอดอำนาจโดยกำหนดให้ ส.ว.เป็นเครื่องมือหลัก

ถ้าเกิดความรุนแรงใดๆ ขึ้นมาก็ตาม ส.ว.จะเป็นผู้รับบาปทันที เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่อยากจะรั้งอำนาจไว้กับตนเอง แรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจที่หนักมากขึ้นทุกวัน จะเหมือนกับเชื้อเพลิงกองใหญ่ที่รอประกายไฟจากความขัดแย้งทางการเมือง

 

2.การยกระดับความคิด กระจายกว้างแล้ว

ผู้คนที่เข้าร่วมและผู้ติดตามการถ่ายทอด มีความรู้เรื่องข้อเรียกร้องที่เป็นเป้าหมาย ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล รัฐธรรมนูญและสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ติดตามเหล่านี้สนใจรับฟังและติดตามอยู่แล้ว ครั้งนี้ยกระดับขึ้นไปสู่การถกเถียงว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ควรแก้ไขปรับปรุงอย่างไร

การถกเถียงเรื่องการเมืองแบบที่ใช้คำด่า หรือกล่าวหา ว่าหัวรุนแรง จาบจ้วง ฯลฯ ลดลงไปมาก แม้ไม่เห็นด้วยกัน แต่ก็มีการถกเถียงหาเหตุผลมากขึ้น

ในข้อเรียกร้องทั้งหมด ต้องมีผู้ที่ชุมนุมหลายคนที่ไม่เห็นด้วยทั้งหมดและมาโต้เถียงอย่างมีเหตุผล แต่ประเมินได้ว่าก็ยังเห็นด้วยกว่าครึ่งของข้อเสนอทั้งหมด

นี่เป็นนิมิตหมายที่ดีที่คนจะใช้เหตุผลมากกว่าแบ่งข้างแบ่งสี

การยึดหนังสือที่จะแจกในที่ชุมนุม 50,000 เล่ม ก็ไม่สามารถสกัดการแสดงความคิดเห็นและการถกเถียงในหมู่ประชาชนได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ได้แพร่กระจายไปตามระบบสื่อสารมีจำนวนมากกว่านับ 10 เท่า

ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขทุกปัญหาคือเปิดปัญหาออกมา และหาทางออกที่ดีที่สุด ที่เหมาะกับสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองปัจจุบัน ค่อยๆ แก้ไปทีละข้อ

ปัจจุบันไม่มีใครสามารถปกปิดความจริงได้แล้ว เราจึงได้เห็นข้อมูลว่าหน่วยงานกองทัพซื้อกางเกงในมาตัวละเท่าไร ถ้าซื้อผ่าน Lazada ราคาเท่าไร เราซื้ออุปกรณ์แต่ละอย่างจากบริษัทเดียวกัน ประเทศไหนซื้อถูกซื้อแพง การบริหารจัดการหน่วยงานต่างๆ ค่าใช้จ่ายมากน้อยเท่าไร

ยิ่งในวันที่ประเทศยากจน เงินภาษีก็มีน้อย จะใช้จ่ายต่างๆ ต้องกู้เงินมา คนก็จะยิ่งสนใจมากขึ้นว่าใครเอาเงินไปใช้อะไรเท่าไร

ถ้ารู้สึกว่าไม่เหมาะสมหรือเงินภาษี เงินกู้ถูกโกง ผู้คนก็จะโกรธมากขึ้น จะเข้าร่วมชุมนุมมากขึ้น

 

3.แนวคิด การวางแผน การจัดการ ชี้ว่าการชุมนุมใหญ่เกิดได้อีก

เป็นไปตามแบบของนักศึกษาอย่างแท้จริง รูปแบบใช้ได้ มีการยืดหยุ่นให้เหมาะกับสถานการณ์ มีแผนงานในการจัดการตามเป้าหมายได้อย่างดี

ยึดแนวทางสันติได้มั่นคงดีแม้จะถูกสกัด และก่อกวนตามจุดต่างๆ ตั้งแต่เช้า

การต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้สองชั้น ทั้งในกรอบรัฐธรรมนูญและนอกกรอบ คนในยุคก่อนๆ ไม่กล้าสู้ภายนอกกรอบรัฐธรรมนูญเพราะรู้สึกว่าตัวเองไร้อำนาจที่จะไปต่อกรด้วย แต่คนรุ่นใหม่คิดว่าต้องสู้ทั้งสองอย่างไปพร้อมกัน จึงจะแก้ปัญหาได้

ความคิดของคนสมัยก่อน คือต้องหลีกเลี่ยงการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามที่ใหญ่กว่าพร้อมกันทีเดียว 2 คน คนรุ่นใหม่มองว่าโดยสภาพความเป็นจริงทางการเมือง คู่ต่อสู้ทั้งสองคนต้องโจมตีเราอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่เลี่ยงไม่พ้น การปะทะทางความคิดจึงไม่มีขอบเขตแล้ว

ในทางยุทธวิธี ถ้าสังเกตให้ดีจะรู้ว่า เยาวชนเหล่านี้วางแผนมาแล้ว

ข่าวเจาะจากทางทีมงานเรา พอจะรู้ว่าพวกเขาไม่เดินทางไปทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ตอนกลางคืนแล้ว

แต่ยังคิดว่าพวกเขาจะเดินทางไปแค่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะคิดไว้ก็ได้ แต่เมื่อถูกตำรวจสกัดและฝนตกก็ไม่มีความจำเป็น)

แผนทั้งหมดไม่น่าเพิ่งถูกคิดขึ้นเพราะการหล่อหมุดทองเหลือง ที่มีแบบสวยงามนั้นคงไม่น่าใช้เวลาแค่ 2-3 วัน

ถ้าฝ่ายรัฐบาลเฉลียวใจ ควรจะคิดได้ว่าวันอาทิตย์ไม่มีใครทำงาน ผู้ชุมนุมจะเดินทางมาทำเนียบรัฐบาลทำไม แม้แต่พวกเดียวกันก็ยังถามว่าจะเดินไปทำไมวะ

การเข้าธรรมศาสตร์หรือไม่เข้านั้นก็เป็นแผนหนึ่ง เพราะจำนวนคนน้อยไม่เกิน 30,000 คนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เหมาะสม แต่ถ้ามากกว่านั้นก็ต้องสนามหลวง

ถ้าดูจากแผนและการจัดการครั้งนี้ก็ถือว่าพวกเขาสอบผ่านและต่อไปคงจะเก่งขึ้น

 

4.การมีรูปแบบการต่อสู้ที่พลิกแพลง สร้างผลทางการโฆษณาได้

เช่น การฝังหมุดประชาธิปไตยที่สนามหลวง เป็นเกมการเมืองพลิกแพลงที่ได้ผลสูง ลงทุนน้อยแต่มีผลสะเทือนทางการเมือง ข้อมูลกระจายไปทั่วทำให้คนนึกถึงหมุดดั้งเดิมของคณะราษฎร 2475 ที่หายไปและเมื่อมีข้อความใหม่ในหมุดใหม่ คนบางส่วนอาจจะรู้แล้วว่าข้อความเต็มคืออะไร แต่คนที่ไม่รู้จะเกิดสงสัยและไปค้นคว้าหาอ่าน

คนฝังรู้อยู่แล้วว่าหมุดจะต้องถูกถอนออกไป แต่ข่าวและข้อมูลจะไม่หายไป มีแต่จะถูกกระจายมากยิ่งขึ้น และดูเหมือนฝ่ายตรงข้ามก็ติดกับจริงๆ มีการมารื้อถอนภายในวันเดียว

สิ่งที่ตามมาคือมีหมุดเทียมทำด้วยพลาสติกเอามาวางไว้อีก ดังนั้น เมื่อถอนทองเหลืองออกไป 1 อัน ก็จะทำให้เกิดสารพัดหมุดที่ถูกผลิตขึ้นมาทั้งเป็นรูปพลาสติก เหรียญโลหะ สติ๊กเกอร์รูปภาพ เป็นหมื่นเป็นแสนชิ้น

หมุดประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่เดิมไม่มีใครสนใจ เมื่อมีคนไปขุดเอาออกไปเหมือนกับเป็นการขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และวันนี้ก็เป็นการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ 2475 ได้อย่างสมบูรณ์ จากนี้จะมีคนไปตามหาอ่านคำประกาศของคณะราษฎรและศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงนั้นเป็นล้านคน

ยิ่งมีการดำเนินคดีว่าเป็นการบุกรุกโบราณสถานก็มีคำถามตามมาทั้ง เรื่องหมุดดั้งเดิมที่หายไป และอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ซึ่งเคยตั้งอยู่กลางวงเวียนหลักสี่ ที่ใหญ่ขนาดรถบัส ว่าหายไปไหนทำไมไม่แจ้งความ

เยาวชนกลุ่มนี้เดินเบี้ยที่เป็นหมุดทองเหลืองตัวเดียวสะเทือนไปทั้งกระดาน

 

5.ช่วงเวลาการต่อสู้ของเยาวชนรุ่นนี้จะยาวนานมาก

จะเห็นว่าเด็กและเยาวชนรุ่นนี้อายุแค่ 15 ถึง 25 ปี ดังนั้น จะมีชีวิตเป็นนักสู้ไปอีกยาวนานไม่น้อยกว่า 40-60 ปี และประชาชนรุ่นนี้จะเป็นผู้ที่ทำงานใช้หนี้ของประเทศมากที่สุด

ส่วนคู่ต่อสู้ถ้าเป็นผู้สูงวัยก็จะล้มหายตายจากไปก่อน ถ้าลองมองย้อนกลับไปดู คนรุ่น 14 ตุลา และ 6 ตุลา สมัยนั้นก็อายุประมาณขนาดนี้และก็ได้สืบทอดการต่อสู้ ต่อเนื่องมาอีกหลายยุค หลายคนกลายมาเป็นผู้นำทางการเมือง

ดังนั้น เยาวชนคนรุ่นนี้จึงเป็นความหวัง ส่วนวงรอบของการต่อสู้ที่จะเห็นผล จะไม่ยาวนานถึง 40 ปี แต่จะมีลักษณะของการพัฒนาเป็นช่วงๆ ตามยุคสมัยของโลกที่พัฒนาเร็วมากในปัจจุบัน

ทีมงานไม่กล้าจะกล่าวว่าทุก 10 ปี เพราะการเปลี่ยนแปลงวันนี้เร็วมากจริงๆ

3 ปี 5 ปีก็อาจจะมีอะไรเปลี่ยน และก็จะเปลี่ยนไปอีกในไม่กี่ปี

คทาแห่งการต่อสู้ถูกส่งต่อ เหมือนแข่งวิ่งผลัด ซึ่งปัจจุบันมีการแข่งวิ่งผลัดผสม 4 x 400 เมตร (Mixed 4 x 400 metres relay) เป็นรายการใหม่ที่ถูกบรรจุในกรีฑาชิงแชมป์โลก 2019 เป็นครั้งแรก และจะมีการแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ 2020 ด้วย โดยมีกติกาหลักคือ ในทีมต้องประกอบด้วยนักกรีฑาหญิง 2 คนและชาย 2 คน โดยจะเรียงลำดับอย่างไรก็ได้…วันนี้เรามีนักสู้เสรีภาพหญิงเยอะมาก

(ที่เราเรียกว่า…ไม้…ที่ใช้ส่งต่อในการวิ่งผลัดภาษากรีฑาเรียกว่า…คทา)

นักต่อสู้รุ่นแรกเปรียบเหมือนไม้ 1 ออกสตาร์ตตั้งแต่ พ.ศ.2475 ประมาณ 40 ปีก่อน และก็ส่งต่อให้ไม้ 2 เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 อีก 40 กว่าปีต่อมาก็ถูกส่งต่อให้ไม้ 3 ตั้งแต่ปี 2562 โลกยุคสมัยใหม่ทำให้ไม้ 3 ออกสตาร์ตแรงมาก เป็นเด็กหนุ่ม-สาวทั้งสิ้น แต่ถ้าเทียบกันแล้วไม้ 2 เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วก็เป็นเด็กหนุ่ม-สาวทั้งนั้น แต่โลกที่เปลี่ยนไปทำให้แนวการต่อสู้ออกมาเป็นคนละสไตล์

ยุค 40 ปีก่อนพอถูกกดดันด้วยกำลังอาวุธ สุดท้ายก็ใช้อาวุธโต้ตอบก็กลายเป็น…ปืนต่อปืน มันยิงมาเรายิงไป ตายกันไปหลายพัน

แต่เยาวชนยุคใหม่ ติดอาวุธตั้งแต่หัวเท่ากำปั้นเป็นโทรศัพท์มือถือ พวกเขามีคนละเครื่อง แม้ไม่ใช่ปืน แต่มีกระสุนที่เป็นอาวุธ คือข้อมูลข่าวสาร บทวิจารณ์ ความคิดความเห็น ภาพจากสถานที่จริง

สามารถดึงข้อมูลและภาพอดีตและปัจจุบันมาเปรียบเทียบกันได้ การโกหกหลอกลวงและควบคุมสื่อ การบิดเบือนข้อมูล ของผู้มีอำนาจ มีเงิน ทำไม่ได้ง่ายเหมือนเก่าแล้ว และจะถูกเปิดโปงทันทีถ้าเป็นเรื่องโกหกหลอกลวง ผู้คนจึงตาสว่างกันมากขึ้น

นักต่อสู้ในยุคนี้ แม้เห็นว่าเป็นเด็ก แต่มีข้อมูลเพียบ มีทุกเพศ กล้าพูด กล้าวิจารณ์ กล้าเสนอ

เชื่อว่าเมื่อเขาส่งไม้ที่ 4 ซึ่งเป็นไม้สุดท้าย น่าจะเป็นการต่อสู้ในแบบศิวิไลซ์ที่ผ่านระบบรัฐสภา แบบประเทศที่เจริญแล้ว

ความหวังของคนรุ่นใหม่ในวันนี้ไม่มีทางไปถึงได้ ถ้าไม่เปลี่ยนโครงสร้างประเทศ แต่ในขณะที่เขาตะกายไปสู่เป้าหมาย ฝ่ายอนุรักษนิยมก็ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด

พวกอนุรักษนิยมรู้ดีว่าหัวขบวนเป็นจุดอ่อน ดังนั้น พวกเขาจะต้องฉวยโอกาสใช้แรงกดดันของม็อบเยาวชนในการปรับเปลี่ยนหัวขบวนตัวเอง แต่จะเปลี่ยนได้มากแค่ไหนไม่รู้ เพราะคนมีอำนาจก็ไม่ยอมลงง่ายๆ