นิธิ เอียวศรีวงศ์ | พม่าเมื่อชำเลืองมอง (2) ว่าด้วยเศรษฐกิจ,ชนชั้นกลาง และ การเปิดช่องของกองทัพ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ย้อนอ่านตอน

คนประมาณ 15% ของประชากรซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นคนชั้นกลางพม่านี้ เป็นใครมาจากไหน ผมขอไล่ตั้งแต่ระดับบนลงไปสู่ระดับล่าง

เมื่อพม่าเริ่มเปิดประเทศตั้งแต่ทศวรรษ 1990 มาจนถึงทศวรรษ 2000 โอกาสที่ใครจะเข้าถึงทุนในพม่าได้นั้นมีน้อยมาก ยกเว้นแต่ช่องทางที่กองทัพเปิดไว้ให้ ฉะนั้นคนชั้นกลางระดับบนสุดในพม่าจึงเป็นนายทหาร (ทั้งในและนอกราชการ), คนจีน และคนพม่าเชื้อสายจีน

นายพล โดยเฉพาะกลุ่มที่ใกล้ชิดกับผู้ถืออำนาจ คือคนที่สามารถเข้าถึงทุนได้ง่ายสุด ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มประกอบการทางเศรษฐกิจของตนเอง โดยเฉพาะนายทหารเกษียณอายุ ซึ่งสามารถประกอบการได้เต็มที่ ส่วนนายทหารประจำการได้เบี้ยบ้ายรายทางในตำแหน่งหน้าที่ เช่นค่าต๋งจากอุตสาหกรรมเหมืองของจีน หรือธุรกิจจีนอื่นๆ ในท้องที่ซึ่งตนเป็นผู้บัญชาการทหารอยู่ ก็อาจเอามาลงทุนหรือให้ญาติพี่น้องลงทุน

ทหารพม่านั้นมีประสบการณ์การดำเนินธุรกิจทั้งสว่างและมืดมาก นโยบายของกองทัพก็คือ หน่วยทหารทั้งหลายต้องเลี้ยงตนเองเพราะไม่มีงบประมาณส่งไปให้ ดังนั้นหน่วยทหารทั้งหลายจึงต้องทำธุรกิจแม้อย่างง่ายๆ เช่นปลูกผักเลี้ยงหมูไว้บริโภคเอง ไปจนถึงเก็บค่าต๋งจากพ่อค้ายาเสพติด เมื่อจีนรุกเข้ามาหากำไรในพม่าเพิ่มขึ้น ก็เปิดโอกาสให้กองทหารพม่าหากินได้สะดวกขึ้น เช่นไล่ประชาชน (โดยมากคือชนกลุ่มน้อย) ออกไปจากพื้นที่ทำกิน เพื่อให้จีนลงทุนทำสวนกล้วยหรือสวนผลไม้อื่นๆ ส่งกลับไปขายเมืองจีน หรือกวาดต้อนประชาชนมาเป็นแรงงานทำเหมืองให้แก่บริษัทจีน

“บริการ” เหล่านี้มีราคาที่ธุรกิจจีนต้องจ่าย ส่วนหนึ่งคงใช้เลี้ยงทหารในบังคับบัญชา แต่อีกส่วนหนึ่งย่อมเอาเข้ากระเป๋าเป็นธรรมดา

เพื่อความเป็นธรรมแก่กองทัพพม่า ควรกล่าวด้วยว่า ก่อน 1988 หรือก่อนเปิดประเทศ นักวิชาการด้านพม่าศึกษาต่างมีความเห็นตรงกันว่า คอร์รัปชั่นในกองทัพพม่ามีไม่มากนัก แต่กองทัพพม่าให้สวัสดิการทหารเหนือประชาชนอย่างลิบลับ เช่นกองทัพเปิดโรงเรียนที่มีคุณภาพให้แก่ครอบครัวของกำลังพล โรงพยาบาลของกองทัพมีความเพียบพร้อมในประเทศที่รัฐจัดงบประมาณด้านสาธารณสุขไว้ไม่ถึง 25 เซนต์ (8.60 บาท) ต่อหัวต่อปี กองทัพจ่ายค่าตอบแทนแก่ทหารดีที่สุด ทำให้พอจะเลี้ยงดูครอบครัวได้ ความใฝ่ฝันของครอบครัวชาวพม่า คือสามารถส่งลูกหลานเข้าเป็นทหารได้

เรื่องนี้น่าตระหนกนะครับ ถ้าคิดว่าการให้อภิสิทธิ์แก่กลุ่มประชากรที่ถืออำนาจ แม้กระทำอย่างถูกกฎหมาย ก็เป็นคอร์รัปชั่นอย่างหนึ่ง การคอร์รัปชั่นจึงฝังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเอาชีวิตรอดในสังคมพม่า … ไม่ต่างจากที่พ่อ-แม่ไทยอยากให้ลูกได้มีความสัมพันธ์กับ”เส้น”มาแต่เด็ก เพื่อเข้าถึงอภิสิทธิ์ในการทำมาหากินและการใช้ชีวิตในภายหน้า… แต่ในพม่ายังน่าเห็นใจกว่า เพราะเป็นเรื่องเอาชีวิตให้รอดจริงๆ

แต่หลัง 1988 กองทัพพม่าขยายกำลังอย่างรวดเร็ว จากกำลังพลเกือบ 200,000 นาย บัดนี้กองทัพพม่ามีกำลังพลประมาณครึ่งล้าน ทำให้สามารถขยายการควบคุมของตนไปได้ในทุกมณฑล (division) ของพม่า และทุก “รัฐ” (state) ของชนกลุ่มน้อย ธุรกิจจีนที่แผ่ลงมาอย่างรวดเร็วหลังนโยบายเปิดประเทศ เปิดโอกาสการหากำไรให้แก่นายทหารอย่างไม่เคยมีมาก่อน และทำให้นายทหารและลูกนายทหาร กลายเป็นคนชั้นกลางระดับสูงรุ่นแรกๆ ของสังคมพม่า

หลังรัฐประหาร 2490 นายทหารประจำการในกองทัพไทยก็ยังอยู่ห่างจากการคอร์รัปชั่นเป็นส่วนใหญ่ มีนายทหารนอกประจำการและผู้คุมกำลังพลไม่มากนักที่ได้โอกาสสะสมทุนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เมื่อผมเป็นเด็กมัธยม จำได้ว่ามีคำขวัญของทหารอันหนึ่งว่า เมียทหารนับขวด (เหล้า) เมียตำรวจนับแบ๊งก์ แต่การเปิดประเทศครั้งใหญ่ในสมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้ค่าต๋ง ค่าคอมมิชชั่นซื้ออาวุธ, ค่าสัมปทาน ฯลฯ ปลิวว่อนในวงการผู้มีอำนาจ ซึ่งก็คือกองทัพและระบบราชการ การรัฐประหารของกองทัพหลัง 2500 เป็นต้นมา ล้วนผลิตนายพลผู้มั่งคั่งออกมาจำนวนมาก

นี่เป็นส่วนหนึ่งที่พม่าเดินตามหลังประเทศไทยมาไม่ไกลนัก

คนชั้นกลางอีกกลุ่มหนึ่งคือคนจีน ซึ่งพากันเข้ามาทำธุรกิจต่างๆ จำนวนมาก การลงทุนของจีนในพม่าไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานโดยตรงมากนัก เพราะจีนขนแรงงานไร้ฝีมือของตนลงมาจำนวนมาก ทั้งนี้ยังไม่นับช่างเทคนิคและแรงงานทักษะอีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่อาจหาคนพม่าได้ แม้กระนั้นก็ทำให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการในตลาดเพิ่มขึ้น บางส่วนก็ตกอยู่ในมือของคนพม่า เช่นขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง, เป็นช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์และจักรยาน, ขายอาหาร ฯลฯ ทำให้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น แต่อีกส่วนหนึ่งซึ่งน่าจะใหญ่อยู่พอสมควรก็มีชาวจีนอพยพจำนวนอีกไม่น้อยลงมาทำธุรกิจของตนเอง ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ผมไม่ทราบชัด แต่อยากเดาด้วยว่า แรงงานจีนที่ตามบริษัทจีนลงมา เมื่อสะสมทุนได้จำนวนหนึ่งแล้ว ก็คงออกมาประกอบการของตนเอง (อย่างที่บรรพบุรุษของเขาได้ทำในภูมิภาคอุษาคเนย์มาหลายชั่วคนแล้ว)

อย่างไรก็ตาม ผมอยากเตือนไว้ด้วยว่า คนจีนอพยพรุ่นใหม่ซึ่งเราได้พบในพม่า, ไทย, ลาว ฯลฯ นั้น คงแตกต่างจากจีนอพยพรุ่นก่อน พวกเขาไม่ได้มีแต่เสื่อผืนหมอนใบอย่างแต่ก่อนแล้ว จำนวนไม่น้อยเป็นนายทุนใหญ่เลยทีเดียว อีกกลุ่มหนึ่งพอมีเงินที่เอามาลงทุนในประเทศใหม่ด้วย สำเร็จบ้างล้มเหลวจนต้องอพยพกลับบ้าง

จีนอพยพรุ่นนี้จึงไม่ได้หนีความอดอยากในบ้านเกิดเหมือนรุ่นก่อน พวกเขาเข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้มีช่องว่างมหึมาอย่างเศรษฐกิจอาณานิคมและกึ่งอาณานิคม ซ้ำยังต้องมาเผชิญกับการแข่งขันอย่างเข้มข้นของจีนอพยพรุ่นเก่า ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นพลเมืองของประเทศไปแล้ว จะสะสมทุนเพื่อแทรกเข้าไปค้าเหล้า, ค้าผลิตผลการเกษตร, ค้าสิ่งทอ ฯลฯ ไม่ได้ง่ายอีกแล้ว อุปสรรคไม่ได้อยู่ที่เขาเป็นพลเมืองหรือเป็นต่างด้าว (เพราะนั่นใช้เงินซื้อได้) แต่อยู่ที่ประสบการณ์และเส้นสายกับอำนาจรัฐ ซ้ำเป็นอำนาจรัฐที่ไม่มีเสถียรภาพเท่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบอบอาณานิคมเสียด้วย

ประวัติศาสตร์ของจีนอพยพรุ่นนี้คงแตกต่างจากพวก”อึ่งตี่เกี้ย”รุ่นก่อน

คนชั้นกลางระดับสูงกลุ่มสุดท้ายคือคนพม่าเชื้อสายจีน รวมคนจีนอพยพรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจจึงซื้อบัตรประชาชนกลายเป็นพลเมืองพม่าไปด้วย

เช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่น คนกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงทุนที่เป็นทางการเหมือนกัน แต่ประเพณีจีนมีการจัดการทุนผ่านแซ่, สมาคมจีนท้องถิ่น ทั้งด้านภาษาถิ่น และบ้านเกิด, วงเปียแชร์ ฯลฯ จึงทำให้สามารถเข้าถึงทุนผ่านประเพณีจีนได้ และกลายเป็นกลุ่มที่สามารถตอบรับเศรษฐกิจเปิดได้ก่อนกลุ่มอื่น อีกบางคนในกลุ่มยังสร้างเส้นสายกับนายพล และบริษัทของกองทัพ ทำให้กลายเป็นเสี่ยสมุนทหาร (crony) ที่รวยอู้ฟู่ และพร้อมจะประชารัฐกับกองทัพได้ทุกเมื่อทุกเรื่อง (แม้แต่แอบสนับสนุนพรรคเอ็นแอลดีในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ตามคิวที่นายพลบางคนให้มา)

ทั่วทั้งอุษาคเนย์ ไม่มีสังคมใดที่ “ไม่รังเกียจ” จีนเท่าสังคมพม่าอีกแล้ว อาจไม่ถึงกับต้อนรับ แต่ไม่รังเกียจเท่าไรนัก ในภาษาพม่านอกจากเรียกจีนว่า “ตะโย้ก” แล้ว (ว่ากันว่ามาจากคำว่าตรุกหรือโตรกซึ่งปรากฏในจารึกไทยเหมือนกัน รากคำคือตุรกี) ชาวพม่ายังเรียกจีนว่า pouk phow อ่านอย่างไรก็ไม่ทราบนะครับ แต่ความหมายตามศัพท์คือคนที่ร่วมบรรพบุรุษกับผู้พูด เพียงแต่ใช้กับจีนโดยไม่เน้นความหมายความเป็นญาติเท่านั้น เปรียบเทียบกับแขกอินเดีย (บังกลาเทศและปากีสถานด้วย) พม่าเรียกว่ากะลา (คนละความหมายกับที่ครอบประเทศไทยอยู่ทุกวันนี้นะครับ ว่ากันว่ามาจากบังกลา หรือเบลกอล ตรงกับคำว่ากุลาในคำว่ากุลาร้องไห้ของไทย) แปลตามศัพท์ก็คือคนต่างชาติ แต่เป็นต่างชาติที่น่าเหยียดหยาม เพราะพม่ามักเรียกฝรั่งว่าโบ (ไทยออกเสียงว่าโป่) แปลว่านายร้อยหรือหัวหมวด

ว่ากันตามที่จริง พวกเราไม่มีโอกาสกินอาหารร่วมภัตตาคารกับคนชั้นกลางระดับสูงทั้งสามกลุ่มนี้หรอกครับ เพราะวิถีชีวิตของเขาสูงเกินกว่าพวกเราจะเอื้อมถึง (ยกเว้นคนจีนซึ่งเข้ามาทำธุรกิจขนาดไม่ใหญ่นัก ซึ่งภรรยาผมได้พูดคุยกับเขาด้วยภาษาจีนกลางที่เธอรู้อย่างงูๆ ปลาๆ) แต่ผมมีข้อสังเกตว่า เหมือนคนชั้นกลางระดับสูงในเมืองไทย คนเหล่านี้เติบโตและสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้อย่างมั่นคงภายใต้เผด็จการทหาร จนถึงทุกวันนี้ก็ยังเติบโตต่อไปภายใต้อุปถัมภ์ของกองทัพ พวกเขาจึงมีความไว้วางใจระบอบทหารที่สุดเป็นธรรมดา แม้แต่จะเติบโตต่อไปในอนาคตข้างหน้าที่พอมองเห็นได้ พวกเขาก็อยากได้อำนาจของกองทัพคอยควบคุมบ้านเมืองให้ “ปรกติสุข” คือไม่มีเหตุจลาจลวุ่นวายจนมีภัยต่อการทำมาค้าขายของเขา ค่าแรงถูกกดให้ต่ำในอัตราที่ทำให้เขาสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ปฏิรูปการศึกษาก็ดีเหมือนกัน แต่ต้องค่อยทำค่อยไป เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านการผลิตของเขา อย่าได้ผลิต “กบฏผู้มีการศึกษา”ขึ้นมาตกงานจำนวนมาก

ที่เศรษฐกิจพม่าจะคึกคักขึ้นอย่างผิดหูผิดตา เต็มไปด้วยการซื้อขายทั่วทุกหัวระแหงเช่นนี้ได้ ก็ต้องมีคนชั้นกลางกลุ่มอื่นอีกจำนวนมากจนรวมกันเป็นประมาณ 15% ของพลเมือง เฉพาะลูกจ้างของบริษัทห้างร้านทั้งของชาวต่างชาติและชาวพม่าที่เปิดขึ้นใหม่หลังเปิดประเทศ ก็คงประกอบกันขึ้นเป็นคนสักล้านคน ผมเห็นนิตยสารแจกฟรีด้านธุรกิจที่มีในโรงแรมแห่งหนึ่ง ก็ได้พบธุรกิจใหญ่ๆ จำนวนมากในย่างกุ้ง รวมทั้งบริษัทใหญ่ของไทยก็ไปเปิดกิจการที่นั่นด้วยหลายบริษัทด้วยกัน ด้วยชื่อเดิมในเมืองไทยบ้าง ด้วยชื่อใหม่ที่พอเดาออกบ้าง บริษัทห้างร้านและแหล่งประกอบการเหล่านี้ต้องจ้างงานชาวพม่า และจ่ายเงินเดือนในอัตราไม่ต่ำกว่า 120 เหรียญสหรัฐต่อเดือน นี่คือคนชั้นกลางพม่าซึ่งอาจกินอาหารร่วมกับเราในภัตตาคาร

นอกจากกินอาหารในภัตตาคารแล้ว คนเหล่านี้ยังมีความต้องการใช้บริการอื่นๆ ในชีวิตอีกด้วย เช่นลูกป่วยก็คงส่งไปคลินิกของแพทย์มากกว่าส่งโรงพยาบาลรัฐ คนในวิชาชีพแพทย์ (และวิชาชีพอื่นๆ) มีตลาดที่พอจะซื้อบริการของตนได้ หรือต้องรีบเดินทางไปธุระในเมือง ก็ต้องใช้แท็กซี่มอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ ทำให้มีคนขี่คนขับเป็นผู้มีรายได้ถึง 120 เหรียญต่อเดือนเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะการศึกษาที่ด้อยคุณภาพซึ่งรัฐจัดอยู่ ทำให้โรงเรียนกวดวิชา หรือแม้แต่รับจ้างกวดวิชา และธุรกิจโรงเรียนเอกชน มีความต้องการในตลาดสูง เมื่อมีคนชั้นกลางเพิ่มขึ้นเช่นนี้ ก็อาจเรียกค่าบริการสูงขึ้นด้วย ทำให้คนในอาชีพนี้ก็เลื่อนตัวเองขึ้นมามีรายได้เกิน 120 เหรียญต่อเดือนอีก

การท่องเที่ยวซึ่งเฟื่องฟูขึ้นหลังเปิดประเทศก็ทำเงินให้ผู้คนอีกมาก เช่นคนขับรถของเราซึ่งเป็นเจ้าของรถเองด้วย เขาเริ่มงานในโรงแรมแห่งหนึ่ง (ซึ่งทำให้ภาษาอังกฤษของเขาดีกว่าชาวพม่าที่มีการศึกษาระดับเดียวกันทั่วไป) ต่อมาก็ลาออก สะสมเงินมาวางดาวน์รถมือสองจากญี่ปุ่น ร่วมกับพรรคพวกตั้งเป็นบริษัทนำเที่ยวเล็กๆ ขึ้น ทำรายได้ต่อเดือนมากกว่า 120 เหรียญมากพอดู เพราะดูเขาจะติดงานแทบทุกวันในรอบเดือน นี่ก็เป็นคนชั้นกลางใหม่ที่ผุดขึ้นในพม่าเหมือนกัน

วงจรของการใช้จ่ายและการจ้างหมุนไปในพม่าปัจจุบัน สะพัดเอาคนชั้นกลางออกมาถึง ๑๕% ดังที่กล่าวแล้ว และเมื่อประเมินด้วยตาเปล่า ก็เชื่อว่าจะเพิ่มจำนวนสูงขึ้นกว่านี้อีกในอนาคตอันใกล้ข้างหน้า

ที่น่าสนใจจนควรจับตามองก็คือ การใช้จ่ายนี้จะสะพัดเอาคนระดับล่างไปกว่านี้ขึ้นมาสู่ปริมณฑลของคนชั้นกลางหรือไม่

ส่วนใหญ่ของคนชั้นกลางระดับล่างในเมืองไทย ซึ่งเป็นจำนวนมากสุดของคนชั้นกลางไทย งอกขึ้นมาจากภาคเกษตร หลายทศวรรษที่ผ่านมา รายได้ของประชากรในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นจากงานจ้าง ทั้งในไร่นา, ในภาคบริการ และในโรงงาน รวมทั้งในโครงการต่างๆ ซึ่งรัฐนำเข้าไปสู่หมู่บ้าน ในที่สุดหลายครอบครัวสามารถสะสมทุนจนกลายเป็นผู้ประกอบการเอง ลูกหลานได้เรียนหนังสือไปถึงระดับสูง กลายเป็นนักวิชาชีพหรือช่างเทคนิคหรือเถ้าแก่น้อย

ข้อมูลที่ผมมีไม่บ่งชี้ว่าภาคเกษตรของพม่าได้ปรับเปลี่ยนมาสู่การปลูกพืชเศรษฐกิจมากนัก ยกเว้นข้าวซึ่งซบเซามานาน เพราะรัฐบาลทหารสมัยเนวินบังคับซื้อข้าวในราคาถูกมาอย่างต่อเนื่อง ซ้ำยังละเลยไม่ทำนุบำรุงระบบชลประทานในภาคใต้ซึ่งเป็นอู่ข้าวของพม่าเสียอีก

พืชเศรษฐกิจที่ได้เห็นมากคือข้าวโพด ซึ่งบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ของไทยนำไปให้ชนกลุ่มน้อยในเขตภูเขาซึ่งยากจนอย่างยิ่งได้ปลูกเพื่อขายผลผลิตในราคาถูกให้แก่บริษัท จะมีพืชเศรษฐกิจอื่นอีกหรือไม่ และมากน้อยเท่าไร ผมไม่ทราบ

ถึงอย่างไร พม่าคงไม่โชคดีเท่าไทยที่ในระยะแรกเมื่อไทยเริ่มปลูก ราคาพืชผลการเกษตรเหล่านี้กำลังมีราคา และคงที่มาหลายปี แต่ช่วงนี้พืชผลเกษตรเหล่านี้ราคาตกและคงตกลงอย่างต่อเนื่องด้วย นายทุนที่จะมาต่อยอดพืชเศรษฐกิจเช่นทำโรงมันอัดเม็ด โรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ หรือโรงงานน้ำมันปาล์มก็คงไม่มี จะมีก็แต่นายทุนต่างชาติที่เข้ามาใช้ทรัพยากรและแรงงานราคาถูกในการผลิตพืชผลการเกษตรที่ตัวสามารถนำไปต่อยอดในบ้านตัวเองได้เท่านั้น

โอกาสที่คนจะเงยหน้าอ้าปากขึ้นมาจากภาคเกษตรจึงเกิดขึ้นได้ยาก

ความสำเร็จของประเทศไทย (ถ้ามองว่านี่คือความสำเร็จ) เกิดขึ้นจากแรงงานภาคเกษตรล้นเกิน หัตถอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานสูงจึงสามารถดึงคนจากท้องนามาได้ในราคาต่ำในปริมาณล้นเหลือ ในช่วงนั้นก็ไม่มีคู่แข่งข้างบ้าน พอที่แรงงานจากท้องนาจะหนีข้ามแดนไปทำงานในต่างประเทศเสียด้วย ประชาธิปไตยแม้ใต้เงาทมิฬของกองทัพ ยังทำให้รัฐบาลต้องเบนงบประมาณไปสนับสนุนคนชนบทมาก ไม่ใช่แค่โครงการรับจำนำข้าว แต่รวมถึงขยายการศึกษา, ถนนดำเข้าหมู่บ้าน, ทำโครงการในหมู่บ้าน (เช่นสหกรณ์หมู่บ้าน ซึ่งแม้ล้มเหลว แต่ก็ทำให้มีเงินก้อนหนึ่งกระจายเข้าไป) ฯลฯ

ความรู้ของผมไม่พอที่จะพูดได้ว่า พม่าสามารถเดินตามเส้นทางนี้ได้ หรืออาจเลือกเส้นทางอื่นที่จะไปได้เร็วกว่าไกลกว่าหรือไม่ แต่ถ้ามองเส้นทางที่ไทยเดินมาแล้วอย่างเดียว คงต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรกว่าพม่าจะเดินมาถึงจุดที่ไทยมาถึงในบัดนี้ ภาคอุตสาหกรรมของพม่ามีแรงดึงแรงงานจากภาคเกษตรไม่สูงเท่าไรนัก ส่วนหนึ่งเพราะค่าแรงในประเทศไทยยังสูงกว่าพม่าถึง 3 เท่าตัว อุตสาหกรรมที่ไปลงทุนในพม่ายังไม่พร้อมจะจ่ายค่าแรงระดับนี้ (เช่นทอผ้าราคาถูกไปขายในตลาดล่างของโลก) แต่ผมเคยพบคนไทยที่เป็นเจ้าของโรงงานรองเท้ายี่ห้อสากลคนหนึ่ง เขาบอกว่าเขาขยายโรงงานผลิตของเขาไปชายแดนพม่า ด้วยความตั้งใจจะหาแรงงานราคาถูก แต่มาพบว่าคนงานพม่าขยันและรับผิดชอบงานมากกว่าคนงานไทย (คำอธิบายของเขาก็คือรายได้ค่าแรงมีความสำคัญต่อชีวิตของชาวพม่ามากกว่าไทย ซึ่งอาจไปหางานอื่นได้) แต่ที่สำคัญกว่าก็คือแรงงานพม่าฝึกได้ง่ายกว่า

การเย็บรองเท้าต้องการ “ฝีมือ” และความประณีต ถ้าบริษัทรองเท้า (เสื้อผ้า, กระเป๋า, เป้ ฯลฯ) ยี่ห้อนานาชาติ ซึ่งกระจายการผลิตไปยังประเทศด้อยหรือกำลังพัฒนา เพื่อผลิตสินค้าป้อนตลาดล่างๆ หน่อย มองเห็นศักยภาพในแง่นี้ของชาวพม่า ยอมลงทุนพัฒนาฝีมือแรงงานพม่า ก็อาจทำให้พม่ากลายเป็นแหล่งผลิตสินค้ายี่ห้อสากลสำหรับตลาดสูงได้ และด้วยเหตุดังนั้นก็อาจจ่ายค่าแรงสูงขึ้นได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคนบอกว่า ฝีมือการผลิตและความประณีตมักมากับการศึกษา ผมจึงไม่แน่ใจว่าจะสามารถพัฒนาฝีมือแรงงานพม่าอย่างกว้างขวางได้หรือไม่ เพราะแม้แต่ไทย, กัมพูชา, เวียดนาม ซึ่งประชากรมีการศึกษาสูงกว่าพม่า ก็ยังถูกใช้เป็นแหล่งผลิตสินค้าที่ค่อนไปทาง “ชุ่ย” อยู่ (แม้กระนั้นสินค้าที่ผลิตในไทยยังได้รับความเชื่อถือด้านคุณภาพในเวียดนาม, กัมพูชา, ลาว และพม่า กว่าสินค้าจีน และขายในราคาแพงกว่าจีนด้วย) สินค้ามือสองจากญี่ปุ่น, เกาหลี, สหรัฐ, เยอรมนี ฯลฯ จึงเป็นที่นิยมในหมู่คนไทยอย่างมาก เป็นธุรกิจ “ขยะ” หลายพันล้านทีเดียว