ในประเทศ / ตัวนำยวดยิ่ง

ในประเทศ

 

ตัวนำยวดยิ่ง

 

ตัวนำยวดยิ่ง (superconductor) คือธาตุหรือสารประกอบที่จะนำไฟฟ้าได้ร้อยเปอร์เซ็นต์โดยไม่มีความต้านทานไฟฟ้าและไม่มีการสูญเสียพลังงาน ภายใต้อุณหภูมิค่าหนึ่งหรือที่เรียกว่าอุณหภูมิวิกฤต ซึ่งถือเป็นสมบัติทางฟิสิกส์ที่สำคัญ (th.wikipedia.org)

นั่นคือ คำอธิบายในทางวิทยาศาสตร์ “ฟิสิกส์”

ส่วนในทางการเมือง

นาทีนี้ “อานนท์ นำภา” ได้ถูกอธิบายและเปรียบเทียบเป็นประหนึ่ง “ตัวนำยวดยิ่ง” ของมวลชนไปเรียบร้อยแล้ว

โดยเฉพาะการชุมนุม 19 กันยายน 2563 ที่จะเป็นหมุดหมายสำคัญของ “ขบวนการประชาชนปลดแอก” ว่าจะเดินหน้า หรือถอยหลัง

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะบอกว่า “เรื่องของการชุมนุม ซึ่งถ้าหากชุมนุมไม่รุนแรง ก็ว่าไปตามสิทธิของแต่ละคน”

เช่นเดียวกับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งเดินฝ่ากระแสข่าวลือ “รัฐประหาร” กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนในวันที่ 19 กันยายน เพียงสั้นๆ ว่า “ไม่น่าห่วง”

แต่ดูเหมือนความเคลื่อนไหวในฝั่งฟากรัฐบาล ตื่นและเต้นไปกับการนัดหมาย 19 กันยายน ไม่น้อย

หนึ่งในนั้น คือ ปฏิบัติการยื่นศาลอาญาให้ออกหมายเรียกเพื่อไต่สวนขอเพิกถอนการประกันตัวของนายอานนท์ นำภา “ตัวนำยิ่งยวด” และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์ ระยอง” แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก ผู้ต้องหา ในคดียุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 และข้อหาอื่นๆ รวม 7 ข้อหา ฐานไปขึ้นเวทีปราศรัยปลุกระดมอย่างต่อเนื่อง ถือว่ามีพฤติการณ์ทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว

โดยหวังว่า การจำกัดพื้นที่นายอานนท์และนายภาณุพงศ์ จะทำให้การปลุกกระแสการชุมนุมลดระดับลง

 

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้ประกบติดนายอานนท์และนายภาณุพงศ์อย่างใกล้ชิด

และเมื่อพบว่าหลังทั้งคู่ได้รับการประกันตัวไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม

ปรากฏว่า วันที่ 9 สิงหาคม ทั้งคู่ยังไปเข้าร่วมชุมนุมปราศรัยที่ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่

และวันที่ 10 สิงหาคม ร่วมชุมนุมปราศรัยที่ลานพญานาค ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

จึงได้ร้องถอนประกันตัว และศาลรับคำร้องไว้พิจารณา

พร้อมมีคำสั่งให้นัดไต่สวนในวันที่ 3 กันยายน

เมื่อถึงวันดังกล่าว ทั้งนายอานนท์และนายภาณุพงศ์ไปศาล

ผลการไต่สวนปรากฏว่า ศาลชี้ว่าพยานหลักฐานของผู้ร้อง เพียงพอและเชื่อว่าผู้ต้องหาได้กระทำจนอาจจะก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง กระทำผิดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวของศาลจริง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนนายภาณุพงศ์ เมื่อพิเคราะห์อายุและอาชีพการงานของผู้ต้องหาแล้ว ให้โอกาสกลับตัว ศาลจึงใช้ดุลพินิจ เพิ่มวงเงินประกันจาก 100,000 บาท เป็น 200,000 บาท และให้รายงานตัวทุก 15 วัน นับตั้งแต่วันนี้ หากกระทำผิดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวอีก ศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวต่อไป

แต่ปรากฏว่านายภาณุพงศ์ไม่ประสงค์จะยื่นประกันตัว

เช่นเดียวกับนายอานนท์นั้น ศาลเห็นว่า กระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวจริงเช่นกัน

จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการประกันตัวนายอานนท์ ทั้งนี้ ศาลไม่ตัดสิทธิการยื่นขอประกันตัวใหม่ แต่นายอานนท์แถลงว่า ไม่ขอยื่นประกัน

เจ้าหน้าที่จึงคุมตัวเข้าเรือนจำทั้ง 2 คน

 

ก่อนเข้าเรือนจำ นายอานนท์กล่าวถึงการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์เป็นแกนหลัก โดยตนจะมีการพิมพ์หนังสือแจกผู้ร่วมชุมนุม 1 แสนเล่ม และให้ผู้ชุมนุมเตรียมรองเท้าผ้าใบมา และจะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์ และน่าจะเป็นการแสดงพลังคนที่เห็นด้วยกับเรามากกว่าจะเป็นการชุมนุมใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา

พร้อมกันนั้น นายอานนท์ได้เขียนข้อความด้วยลายมือลงกระดาษ และได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า

“ยินดีที่ได้ต่อสู้กับทุกคน เราเดินมาไกล จงเดินต่ออย่างกล้าหาญ หน้าที่นอกคุกผมจบแล้ว ขอเดิมพันทั้งหมดเพื่อการเปลี่ยนแปลง 19 กันยายนนี้ ช่วยยืนยันทีว่าเรามาถูกทาง เชื่อมั่นในทุกๆ คน”

และ “ให้การขังผมในวันนี้เป็นใบเสร็จของการคุกคามประชาชน 19 กันยายน 2563 ไปเอาคืน เชื่อมั่นและศรัทธา”

เช่นเดียวกับนายภาณุพงศ์เขียนข้อความด้วยลายมือลงแผ่นกระดาษตอนหนึ่งระบุว่า

“หากขบวนการในการเดินทางครั้งนี้จะต้องขาดใครสักคน ขอทุกคนจงเชื่อมั่นในจุดมุ่งหมายที่เราร่วมทางกันมา อย่าหยุดรอใครให้เวลามันเดินไป อย่าเสียเปล่า แต่ขอจงสู้ต่อไป เพื่อนำชัยชนะมาสู่ขบวนการของพวกเรา การเสียสละอิสรภาพของใครคนใดคนหนึ่ง เป็นเพียงการต่อสู่ที่ต้องพบเจอของนักสู้ ผมเชื่อมั่นในตัวทุกคนว่า ถ้าผมไม่ได้รับอิสรภาพ ทุกคนจะเดินต่อไปได้ และจะพบชัยชนะตามที่เราต่อสู้มา”

 

ท่าทีและเป้าหมายของนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก ที่แสดงออก ไม่ยากที่จะ “วิเคราะห์”

ด้วยแสดงออกอย่างชัดแจ้งว่า พร้อมยอมสูญเสียอิสรภาพ เข้าสู่เรือนจำ

เพื่อที่จะแลกกับเสียงสนับสนุนจากมวลชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

เพราะนี่จะเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่จะยืนยันว่า การคุกคามประชาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยมีจริง

ขณะเดียวกัน ยังใช้เป็นเงื่อนไขเรียกร้องการตื่นตัวของประชาชนทั่วไป ให้ออกมาร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้

มิฉะนั้นจะถูกฝ่ายรัฐบาลที่กุมกฎหมายอยู่ในมือเข้าควบคุม บดขยี้ อย่างที่เห็น

ซึ่ง “ยุทธวิธี” ยอมสูญเสียอิสรภาพของบุคคลทั้งสอง ก็เริ่มมีมรรคผล

เพราะปรากฏการชุมนุมต่อเนื่อง

ทั้งที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรียกร้องให้ปล่อยนายอานนท์และนายภาณุพงศ์อย่างต่อเนื่อง

และยังลามไปถึงการชุมนุมที่หน้าศาลอาญา เรียกร้องให้ปล่อยนายอานนท์และนายภาณุพงศ์เช่นกัน

ข้อความ #freeอานนท์ #freeไมค์ ถูกเผยแพร่ออกไปในโลกโซเชียลอย่างกว้างขวาง

พร้อมกับคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย ว่า อำนวยความยุติธรรม จริงหรือ

มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการฝากขังว่าอาจขัดต่อหลักการที่ผู้ต้องหาต้องได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา

แต่นายอานนท์และภาณุพงศ์กลับถูกนำตัวไปขัง ซึ่งถือเป็นการขังล่วงหน้า ขังก่อนการฟ้องคดี

นอกจากนั้น เงื่อนไขการประกันตัวของทั้งสองที่ห้ามกระทำความผิดในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องคดีก็มีลักษณะเหมือนเป็นการพิพากษา เลยเถิดไปถึงการกระทำที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตของนายอานนท์กับนายภาณุพงศ์ที่อาจเป็นความผิด อาจเป็นคำสั่งที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม

ยิ่งกว่านั้น อำนาจที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม ที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน พลอยถูกตั้งคำถามด้วยว่า ถึงเวลาหรือยังที่ควรมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง ให้มีความยึดโยงกับประชาชนหรือยัง

 

เหล่านี้ ล้วนสะท้อนภาวะบานปลายของการคุมขังนายอานนท์และนายภาณุพงศ์

และอาจกลายเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้การชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน ร้อนแรงขึ้นเหนือการคาดหมาย

นี่จึงอาจเป็นเหตุผลให้ฝ่ายรัฐบาลต้องประเมินสถานการณ์ใหม่

เพราะได้น้อยกว่าเสีย หากยังปล่อยให้นายอานนท์และนายภาณุพงศ์อยู่ในเรือนจำต่อไป

ประกอบกับเป็นลักษณะพิเศษในการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนปลดแอกครั้งนี้

นั่นคือ ไม่มีแกนนำที่รวมศูนย์ ต่างกลุ่ม ต่างมวลชน เคลื่อนไหวในส่วนของตนเอง

การไปเก็บตัวผู้นำเพียงคนสองคนไว้ในเรือนจำ แทบจะไม่มีผลกระทบต่อขบวนการเคลื่อนไหว

ตรงกันข้าม กลับเป็นเงื่อนไข “ด้านลบ” ที่พุ่งกลับมาทิ่มแทงฝ่ายรัฐบาลเสียเอง ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ

นี่จึงเป็นเหตุผลโดยรวมที่ทำให้ตำรวจเปลี่ยนท่าที

ไปยื่นคำร้องต่อศาลว่าได้สอบสวนบุคคลทั้งสองและฝ่ายที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว

ไม่ขอฝากขังอีก ทำให้ศาลอาญามีคำสั่งเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นวันหยุด ให้ปล่อยตัวนายอานนท์และนายภาณุพงศ์

ถือเป็นการปล่อยตัวที่แม้แต่นายอานนท์และนายภาณุพงศ์บอกว่าไม่คาดคิดมาก่อน

 

จึงน่าจะคาดหมายได้ไม่ยากเช่นกันว่า ฟากรัฐบาลเองก็พยายามที่จะลดเงื่อนไขที่จะทำให้การชุมนุมร้อนแรงลง

เพราะเกิดวันที่ 19 กันยายน มีผู้ชุมนุมมาร่วมจำนวนมาก ประเด็นของนายอานนท์และนายภาณุพงศ์จะกดดันและบีบคั้นรัฐบาลอย่างหนักแน่นอน

การขจัด “เงื่อนไข” จึงจำเป็น

แม้ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. จะออกตัวว่า เป็นเพียงเพราะพนักงานสอบสวนเห็นว่า รวบรวมพยานหลักฐานเป็นเวลาตามสมควรแล้ว และผู้ต้องหาทั้งสองคนก็ไม่ได้มีการไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน มีอาชีพที่อยู่เป็นหลักแหล่ง พนักงานสอบสวนจึงร้องขอต่อศาลทำการปล่อยตัว แล้วก็ดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนโดยไม่มีอะไรเป็นพิเศษ

แต่ในความปกติ ก็แฝงความไม่ปกติอยู่อย่างเห็นได้ชัด

ด้วยเราได้เห็นการเตรียมแผนกรกฎ 52 ไว้ในการรักษาความสงบของตำรวจ

ได้เห็นเอกสารการจัดเตรียมสถานที่พักอาศัยรองรับกองร้อยควบคุมฝูงชน ในพื้นที่ บก.น.8 เป็นต้น

สะท้อนให้เห็นความไม่วางใจสถานการณ์

ด้วยขณะนี้ นายภาณุพงศ์ที่แม้เป็นเพียงเยาวชน แต่ก็มากด้วยแรงดึงดูดที่จะนำพาเยาวชนออกมาปลดแอกอย่างคึกคัก

ไม่ต่างกับนายอานนท์ นับจากการปราศรัยทะลุเพดานที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

            วันนี้ได้กลายเป็น ตัวนำยวดยิ่ง ที่ทุกฝ่ายไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไป