ว่าด้วย “ความไม่เท่าเทียม” “ความเท่าเทียม” และ “ความเที่ยงธรรม” | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

สามภาพนี้สะท้อนถึงความจริงของสังคมที่เราอาจจะมองข้ามกันบ่อยๆ

เราได้ยินได้ฟังคำว่า “ความเหลื่อมล้ำ” เป็นประจำ

เราเข้าใจว่ามันหมายถึงคนรวยกับคนจน คนมีกับคนไม่มี คนได้โอกาสกับคนไม่ได้โอกาส

เราคิดว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็คือการเพิ่มรายได้ให้กับคนที่ยังมีน้อย หรือให้คนรวยบริจาคเงินและความช่วยเหลือต่างๆ ให้คนที่มีน้อยกว่า

เราเชื่อว่าหากทำอย่างนั้นก็จะ “ลดช่องว่าง” ระหว่างคนรวยกับคนจน

แต่เราไม่เคยถามว่าทำไมรัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่าก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้เสียที

ตรงกันข้ามยิ่งวันเรายิ่งเห็นช่องว่างของคนกลุ่ม 1% กับ 99% ห่างกันมากขึ้นทุกที

สามภาพนี้อาจทำให้เราเห็นปัญหาที่ฝังลึกและสลับซับซ้อนกว่าที่เราคิด

ภาพแรกคือ Inequality หรือความไม่เท่าเทียมกัน

กรณีนี้ค่อนข้างชัดเจน “ความไม่เท่าเทียม” หมายถึงการที่คนบางกลุ่มในสังคมไม่มีโอกาสเข้าถึงโอกาสเหมือนคนอีกกลุ่มหนึ่ง

สาเหตุของความไม่เท่าเทียมนี้อาจจะมาจากกฎหมาย หรือนโยบายของรัฐ หรือการกระจายรายได้และโอกาสที่กระจุกอยู่กับคนเพียงกลุ่มเดียว

ที่เรียกว่า “รวยกระจุก จนกระจาย”

บางครั้งความไม่เท่าเทียมเป็นผลจากโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่เอื้อต่อคนบางกลุ่มมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ

ทำให้เกิด “ระบบอุปถัมภ์”

อันหมายถึงการที่คนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาคนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจและโอกาสในสังคมมากกว่า

พอกลุ่มหนึ่งมีอำนาจและบารมีมากกว่าคนส่วนอื่นๆ ของสังคม คนกลุ่มนี้ก็กลายเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจเพราะสามารถกำหนดความเป็นไปของสังคมได้เพราะมีเครื่องมือและสถานภาพตามกฎหมายหรือในสังคมนั้นๆ ในอันที่จะสั่งการให้อะไรเกิดหรือไม่เกิดก็ได้

ความไม่เท่าเทียมกลายเป็นเรื่องถาวรหากคนมีอำนาจไม่ยอมแก้ไขความเอียงกระเทเร่ของกลไกสังคมนั้นๆ

แต่หากความไม่เท่าเทียมนั้นหนักหน่วงรุนแรงมากถึงจุดหนึ่งก็จะเกิดการต่อต้านจากกลุ่มคนที่ไร้โอกาส

จนอาจกลายเป็นการก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในลักษณะรุนแรง

เพราะสังคมที่ไร้ความเท่าเทียมนั้นเหมือนกาน้ำเดือด ร้อนถึงจุดหนึ่งไอจากภายในก็จะระเบิดออกมาได้

ภาพที่สองเรียกว่า Equality? หรือ “ความเท่าเทียม?”

เป็น “ความเท่าเทียมในเครื่องหมายคำถาม”

ที่ต้องมีเครื่องหมายคำถามเพราะคำว่า “ความเท่าเทียม” ในที่นี้หมายถึงการแจกจ่าย “เครื่องมือ” หรือ “ความช่วยเหลือ” ให้กับทุกกลุ่มในสังคมเท่าๆ กัน

คนมีอำนาจแจกความช่วยเหลือให้คนอื่นๆ เหมือนๆ กันทั้งๆ ที่สถานภาพของความ “ไม่เท่าเทียม” นั้นมีความแตกต่างกันมาก

เมื่อสถานภาพของคนกลุ่มต่างๆ ไม่เท่ากัน และผู้มีอำนาจแจกความช่วยเหลือเหมือนๆ กันให้ทุกกลุ่ม

อ้างว่า “เท่าเทียมกัน” แล้ว

คำว่า “เท่าเทียม” ก็กลายเป็นคำที่ถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ของผู้มีอำนาจที่ต้องการอ้างว่าได้แก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมด้วยการแจกจ่ายความช่วยเหลือเท่าๆ กันแล้ว

แต่ในความเป็นจริงความไม่เท่าเทียมเดิม แม้จะมีเครื่องมือใหม่มา แต่เป็นเครื่องมือที่ใส่ในมือของคนกลุ่มต่างๆ (ที่ไม่เท่าเทียมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว) ก็ย่อมเกิดผลที่ “ไม่เท่าเทียม” อยู่ดี

เพราะคำว่า Inequality จะแปรเป็น Equality ด้วยการแจกเครื่องมือและความช่วยเหลือแบบ Equal นั้นผลสรุปก็ยังเป็น Inequality อยู่ดี

หรืออีกนัยหนึ่ง

คำว่า “ไม่เท่าเทียม” จะแปรเป็น “ความเท่าเทียม” ด้วยการแจกเครื่องมือและความช่วยเหลือ “เท่าๆ กัน” นั้นก็ยังจบลงด้วย “ความไม่เท่าเทียม” กันอยู่ดี

ดูจากภาพก็จะเห็นว่าเด็กสองคนที่มีโอกาสไม่เท่ากันในการที่จะได้เด็ดผลไม้จากต้นที่เอียงไปข้างหนึ่ง

หากแก้ปัญหาด้วยการส่งบันไดที่สูงเท่ากันให้เด็กทั้งสองคน ท้ายสุดความไม่เท่าเทียมก็ยังอยู่ในระดับเดิมอยู่ดี

สะท้อนได้ในโลกแห่งความเป็นจริงก็คือนโยบายการช่วยเหลือคนด้อยโอกาสของรัฐบาล

บ่อยครั้งแม้จะเป็นความตั้งใจดีของนโยบาย “ลดความเหลื่อมล้ำ” แต่หากผู้วางยุทธศาสตร์และผู้นำไปปฏิบัติมองไม่เห็นถึง “ช่องโหว่แห่งความเข้าใจ” ในปัญหานี้ก็จะแยกไม่ออกว่า

อย่างไรคือความไม่เท่าเทียม

และอย่างไรคือความเท่าเทียม

การส่งความช่วยเหลือออกไปในชนบทแบบ “เหวี่ยงแห” โดยไม่เข้าใจช่องว่างที่ต้องถมก่อนที่จะวางนโยบายเชิงปฏิบัตินั้นในที่สุดก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร

เพียงแค่ย้ายความไม่เท่าเทียมจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง

มิหนำซ้ำยังไปซ้ำเติมปัญหาข้างเคียงที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมซ้ำซากอีก

หรือนโยบาย “ตัดเสื้อโหล” จากส่วนกลางที่บังคับให้ทุกหมู่บ้านทำทุกอย่างให้เหมือนกันภายใต้กฎกติกาเดียวกัน มาตรฐานการประเมินผลเดียวกัน

เป็นนโยบายที่ล้มเหลว และทำให้ปัญหารุนแรงและหนักหน่วงกว่าเดิม

ภาพที่สามให้ชื่อว่า Equity ซึ่งภาษาไทยอาจจะแปลว่า “เสมอภาค” หรือ “เที่ยงธรรม” หรือ “ดุลภาค”

ไม่ใช้คำว่า “เท่าเทียม” เพราะอาจถูกตีความเป็นการให้ความช่วยเหลือสูตรเดียวกันไปสู่กลุ่มก้อนของคนที่ไม่เท่าเทียมกัน…ซึ่งก็เท่ากับเป็นการรักษา “ช่องว่างแห่งความไม่เท่าเทียม” เอาไว้เช่นเดิม

แต่คำว่า Equity หมายถึงการกระจายความช่วยเหลือตรงตามความต้องการและเสริมศักยภาพของแต่ละกลุ่มอย่างตรงเป้า

นั่นหมายความว่าผู้ด้อยโอกาสต้องการได้รับความช่วยเหลือและส่งเสริมในแต่ละด้านไม่เหมือนกัน

ในหลายๆ กรณีคนที่อยู่ในสภาพ “ไม่เท่าเทียม” กัน หรือ “เสียเปรียบ” คนกลุ่มอื่นอยู่เป็นทุนเดิมจะต้องได้รับความช่วยเหลือมากกว่าอีกบางกลุ่ม

หรือเครื่องมือกับความช่วยเหลือที่ให้ไปอาจต้องมีลักษณะพิเศษมากกว่า ขึ้นอยู่กับสถานภาพของแต่ละกลุ่ม

นั่นแปลว่า “ความเที่ยงธรรม” จะเกิดได้จะต้องไม่ใช่การช่วยเหลืออย่าง “เหวี่ยงแห” หรือ “เสื้อโหล”

จึงเป็นไปได้ว่าอะไรที่เรียกว่า “เท่าเทียม” อาจจะไม่ “เที่ยงธรรม” หรือไม่ “เสมอภาค” จริงก็เป็นได้

ตัวอย่างเช่น สองหมู่บ้านที่มีระดับความยากจนที่แตกต่างกัน มีสภาพสังคมและปัญหาที่ไม่เหมือนกัน มีโครงสร้างของสังคมท้องถิ่นที่สลับซับซ้อนต่างกัน

หากให้ความช่วยเหลือแบบเดียวกัน ในปริมาณเท่ากัน ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ผลที่ออกมาอาจจะไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้

เพราะความต้องการของทั้งสองหมู่บ้านไม่เหมือนกัน ความสามารถในการบริหารทรัพยากรที่ได้รับไปเท่าๆ กันก็ไม่เหมือนกัน

นี่คือข้อเปรียบเทียบที่เห็นได้ชัดระหว่างคำว่า “เท่าเทียม” แต่ไม่ “เที่ยงธรรม”

ความล้มเหลวของการพัฒนาชนบทของบ้านเรามายาวนานมีสาเหตุมาจากความไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างคำว่า “เท่าเทียม” กับ “เที่ยงธรรม”

บางหมู่บ้านที่ถูกทอดทิ้งมายาวนานเหมือนคนพิการ ไร้ภูมิต้านทาน ไร้เรี่ยวแรงที่จะริเริ่มกิจกรรมพัฒนาตนเอง

อีกหมู่บ้านหนึ่งมีความพร้อมมากกว่าเพราะมีสิ่งแวดล้อมต่างกัน มีโครงสร้างประชากรและทรัพยากรต่างกัน

พอโครงการพัฒนามาจากส่วนกลาง ให้เครื่องมือและความช่วยเหลือมาเท่าๆ กันก็ถือว่าเป็นการสร้าง “ความเท่าเทียม” แก้ปัญหาความ “เหลื่อมล้ำ”

หากเป็นเช่นนี้ เชื่อได้เลยว่าผลที่ออกมาจะไม่ใช่ “ความเท่าเทียม” หากแต่เป็นการตอกย้ำความ “ไม่เท่าเทียม” ให้หนักขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

การจะสร้าง “ความเที่ยงธรรม” ก็คือการที่จะต้องเสริมสร้างศักยภาพให้กับหมู่บ้านที่ด้อยกว่าให้อยู่ในระดับเดียวกับหมู่บ้านข้างเคียงก่อน

แล้วจึงเดินหน้าสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนนั้นๆ

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “ความไม่เท่าเทียม” จะแปรเป็น “ความเท่าเทียมที่แท้จริง” ได้ต้องวัดด้วย “ความเที่ยงธรรม” เท่านั้น!

อะไรที่ “ดูเหมือนเท่าเทียม” อาจจะเป็นเพียง “ความไม่เท่าเทียมซ่อนรูป” เท่านั้น