สมชัย ศรีสุทธิยากร | ส.ส.ร. ต้องรอนานแค่ไหน ?

สมชัย ศรีสุทธิยากร

เสียงเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อนำมาใช้แทนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาจบลงด้วยข้อสรุปที่ตรงกันว่า สมควรมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ทำหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญ

เพราะเห็นแล้วว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีความรู้ประสบการณ์มามากเพียงไร แต่เมื่อผู้มีอำนาจสั่งได้ รัฐธรรมนูญที่เป็นผลผลิตของผู้มากประสบการณ์ดังกล่าวก็ไม่แตกต่างอะไรกับกฎหมายไร้ค่าที่รอวันแก้ไข

กระบวนการในการแก้ไขเพิ่มเติมที่กำหนดไว้ในมาตรา 256 แม้จะเป็นด่านแรกของการแก้ไขที่ต้องอาศัยเสียงจากวุฒิสภาหนึ่งในสามมาสนับสนุน

แต่ด้วยกระแสที่โหมแรงในปัจจุบัน การปล่อยผ่านให้มี ส.ส.ร. หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาเป็นผู้ร่างแก้ไข น่าจะเป็นทางออกที่ลดแรงกดดันของสังคมที่สมาชิกวุฒิสภาพึงรับรู้และยอมปล่อยผ่าน เพราะเชื่อว่ากระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาที่ยาวนาน และในช่วงเวลาอนาคตนั้นยังมีเวลาเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรอีกได้

การเกิดขึ้นของ ส.ส.ร.ในอดีตของประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีหลากหลายรูปแบบด้วยการแต่งตั้ง การเลือกตั้งทางตรงและทั้งทางอ้อม โดยหากค้นย้อนไป ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 4 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 พ.ศ.2511 พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550 บางฉบับร่างกันเป็นสิบปี เช่น รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ร่างกันตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 เป็นต้น และบางฉบับก็มีระยะเวลาใช้สั้นมาก เช่น รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 ใช้ได้เพียงสองปีเศษก็ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร

ในโอกาสที่คาดว่าน่าจะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งที่ 5 ของประเทศ ส.ส.ร.ที่จะมีขึ้นใหม่ควรจะมีหลักของการดำเนินการอย่างไรบ้าง เป็นสิ่งที่สมควรช่วยกันออกแบบ

1.ควรเลือกตรงจากประชาชนหรือเลือกโดยอ้อม

ส.ส.ร.ชุดแรกตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2491 มีสมาชิก 40 คน เลือกจาก ส.ส.และ ส.ว.อย่างละ 10 และเลือกจากผู้สมัคร 4 ประเภท ประเภทละ 5 คน

ส่วนชุดที่สอง แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ในปี พ.ศ.2502 จำนวน 240 คน ชุดที่สาม เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2539 มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งคนรวม 76 จังหวัด 76 คน รวมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์อีก 23 คน เป็น 99 คน และชุดที่สี่ เกิดขึ้นในปลายปี พ.ศ.2549 โดยให้มีการสรรหาจากทุกภาคส่วนเป็นสมัชชาแห่งชาติ 1,982 คน และให้ลงมติเลือกกันเองให้เหลือ 200 คน จากนั้นให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทำการคัดเลือกให้เหลือ 100 คน

จะเห็นได้ว่าแต่ละชุดมีที่มาแตกต่างกันคนละแบบ และมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันทั้งในด้านการมีต้นทุนค่าใช้จ่าย และการสร้างผลงานที่ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นที่ยอมรับ

แต่งตั้งนั้นถูกสุด เลือกตั้งนั้นแม้จะต้นทุนสูง แต่ประชาชนจะรู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นรัฐธรรมนูญที่ฟังเสียงประชาชน ดังนั้น หากเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนได้น่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด

2.คุณสมบัติของ ส.ส.ร.

สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญควรเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ในเรื่องการร่างกฎหมาย มีประสบการณ์ทางการบริหารต่างๆ มามากเพียงพอที่จะมาเป็น ส.ส.ร.หรือไม่ หากมองวิธีการคิดในอดีต ส.ส.ร.ชุดแรกแม้จะมีการเลือกตั้งแยกเป็น 4 ประเภท แต่คุณสมบัติกำหนดไว้เป็นแบบที่ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิเข้าถึง เช่น ต้องเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตรัฐมนตรี เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรืออธิบดี และมีวุฒิการศึกษาปริญญาตรี

ส่วนชุดที่สองนั้น แทบไม่ต้องกล่าวถึง เพราะ 240 คนที่เป็น ส.ส.ร.นั้นเป็นทหารทั้งนายพันทั้งนายพล มีงานราชการประจำเกินกว่าครึ่ง ร่างกันยืดยาวเกือบสิบปีตั้งแต่ พ.ศ.2502 ถึง พ.ศ.2511 จึงจะเสร็จ ดูจากรายงานการประชุมแล้วประชุมไป 66 ครั้ง เท่ากับปีละประมาณ 6 ครั้ง

ชุดที่สามและสี่ ดูจะเปิดกว้าง แต่ดูจากรายชื่อแล้วก็ยังจำกัดในกลุ่มผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองค่อนข้างมาก มีภาคประชาสังคมเจือเข้าไปบ้างให้ดูว่าประชาชนมีส่วนร่วม

การพิจารณาในเรื่องคุณสมบัติของ ส.ส.ร.ในอนาคต จึงสมควรเปิดกว้าง ไม่จำกัดด้วยคุณวุฒิ อาชีพ และอายุ เพื่อให้ได้องค์ประกอบของเสียงที่มาจากภาคส่วนต่างๆ อย่างแท้จริง คนรุ่นใหม่ควรมีตัวแทนเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อชีวิตในอนาคตของเขา เช่นเดียวกับกลุ่มหลากหลายต่างๆ ที่เราแทบจะไม่รับรู้หรือเข้าใจความยากลำบากในการดำรงชีวิตของพวกเขาก็สมควรมีตัวแทนเข้ามาในสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ส่วนที่กังวลว่าจะมีความสามารถในการเขียนกฎหมายยากๆ ได้อย่างไร คงไม่ต้องเป็นห่วง เพราะการตั้งคณะทำงานยกร่างหรือกรรมาธิการยกร่าง สามารถใช้บุคลากรจากภาครัฐที่มีความรู้ความสามารถมาสนับสนุนได้อยู่แล้ว

3.ส.ส.ร.ควรมีจำนวนเท่าไร

40 คน 240 คน 99 คน หรือ 100 คน นี่คือตัวเลขที่เคยใช้ในอดีต การมีจำนวนมากเป็นข้อดีที่ทำให้คนมีส่วนร่วมมากขึ้นและสามารถใช้กลไกดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

แต่ในขณะเดียวกันหากมีจำนวนมากเกินไปก็เป็นภาระด้านต้นทุนค่าใช้จ่ายและเกิดกรณีมากหมอมากความ

พื้นฐานที่ใช้ในการคำนวณจำนวน ส.ส.ร. คือ ทุกจังหวัดต้องมี ส.ส.ร.อย่างน้อยหนึ่งคน แต่หากมีถึงสองคนก็ยิ่งจะเป็นการดีเพราะสามารถร่วมมือกันทำกิจกรรมและแบ่งบทบาทหน้าที่ระหว่างการทำงานในส่วนกลางและการรับฟังความคิดเห็นในระดับจังหวัดได้ ดังนั้น 77 จังหวัด x 2 คน ก็เท่ากับ 154 คนแล้ว ส่วนที่มาจากผู้เชี่ยวชาญน่าจะมาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมือง ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านฝ่ายละ 12 คน น่าจะเพียงพอ

ตัวเลขที่ผมเสนอ จึงน่าจะอยู่ที่ 154+24 คือ 178 คน หรืออาจบวกลบได้ตามเห็นสมควร

ในจำนวนดังกล่าวก็ไปตั้งคณะทำงานยกร่าง หรือคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นแบบ กมธ.วิสามัญที่เปิดโอกาสให้มีคนนอกเพิ่มเติมที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายอีกไม่ต้องมากที่สภาร่างเห็นชอบ มาช่วยกันยกร่างน่าจะประสบความสำเร็จได้โดยไม่ยากนัก

4.จะร่างกันยาวนานเพียงไร

ส.ส.ร.ชุดที่หนึ่ง มีกรอบการทำงาน 180 วัน สามารถร่างเสร็จใน 166 วัน ส่วนชุดที่สอง ใช้เวลาร่างไปทั้งสิ้น 9 ปี 4 เดือน 17 วัน ชุดที่สาม มีกรอบเวลาทำงาน 240 วัน ใช้เวลาในการร่างจริง 232 วัน และชุดที่สี่ มีกรอบเวลาในการทำงาน 180 วัน แต่ใช้เวลาทำงานยาวไปจนถึงการออกเสียงประชามติ รวม 229 วัน

การกำหนดเวลาในการร่างที่ 180 วันน่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมเพียงพอสำหรับการร่างและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

แต่หลังจากร่างเสร็จ ส.ส.ร.ควรยังต้องมีบทบาทหน้าที่ในการชี้แจงให้ประชาชนทั่วประเทศเกิดความรู้ความเข้าใจและตอบคำถามทุกคำถามเพื่อเป็นข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ

5.การคงอยู่ของ ส.ส.ร. แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

รัฐบาลจะอยู่หรือจะไป จะยุบสภาหรือมีการเลือกตั้งใหม่

การทำงานของ ส.ส.ร.ต้องทำต่อเนื่อง มิฉะนั้นจะเกิดการเสียเปล่า

ดังนั้น ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมีท่าทีเห็นชอบให้มี ส.ส.ร.

จะต้องระบุถึงการคงอยู่ของ ส.ส.ร.ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วย

6.ส.ส.ร.ควรไม่รับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้

เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ผู้ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญจะร่างโดยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ได้ร่างเพื่อประโยชน์ของตน การกำหนดให้ ส.ส.ร.ต้องปลอดจากการเมือง เช่น ไม่สามารถเป็น ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรี หรือตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ตลอดจนการไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น ภายใน 2 ปี หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ น่าจะเป็นความสง่างามและเงื่อนไขที่บอกให้ผู้คิดเข้ามาทำหน้าที่ร่างได้ทราบล่วงหน้า

ทั้งนี้ เพื่อให้ได้คนที่ตั้งใจเข้ามาทำหน้าที่สำคัญของบ้านเมืองนี้

ส่วนจะมี ส.ส.ร.ได้เร็วช้าเพียงไร ต้องรอนานแค่ไหน ต้องถามใจคนในรัฐสภา ไม่เกินกลางเดือนกันยายนนี้ น่าจะทราบ