เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์ /เกมข้ามรุ่น

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

เกมข้ามรุ่น

 

ราวสัก 10 กว่าปีมาแล้วครับ เจ เอส แอล เคยสร้างสรรค์เกมโชว์ขึ้นมารายการหนึ่งชื่อว่า “เกมข้ามรุ่น” เป็นควิซโชว์ ที่เป็นที่นิยมกันในยามนั้น

ชื่อบอกกลายๆ ว่า ต้องเกี่ยวพันกับคนหลายรุ่นแน่ๆ และก็เป็นตามนั้นครับ

กติกาง่ายๆ คือ ในทีมหนึ่งของผู้แข่งขันจะมี 3 คน ประกอบด้วยคนต่างรุ่นกัน มีรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง รุ่นเล็ก นั่นคือ อาจจะเป็นคุณลุงมากับคุณน้า และคุณหลานก็ได้ หรือคุณปู่มากับคุณพ่อและคุณลูกก็ได้

ที่กำหนดให้มีคนแข่งขัน 3 รุ่น เพราะคำถามที่ให้ตอบเป็นความรู้ทั่วไปในหลายๆ ช่วงชีวิต ที่แน่นอนว่าแต่ละรุ่นก็จะมีความรู้ความเข้าใจ มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน หากคำถามนั้นเหมาะกับรุ่นไหนตอบ ก็ส่งคนรุ่นนั้นมาเป็นคนทายคำตอบ

เช่น ในหมวดเพลง ทีมผู้แข่งขันต้องเลือกส่งมาก่อนว่า หมวดคำถามนี้ควรจะส่งสมาชิกในทีมรุ่นไหนขึ้นมาแข่งดี

และทีมก็เลือกเป็นคุณพ่อวัย 38 ปีซึ่งเป็นคนรุ่นกลางขึ้นมาแข่ง เพราะน่าจะรู้เรื่องเพลงครอบคลุมได้หลายรุ่นหน่อย และคำถามที่ได้รับคือ “เพลงนี้เป็นเพลงของนักร้องชื่ออะไร” คำตอบมีให้เลือก 4 ข้อ คือ ทูล ทองใจ, คำรณ สัมบุญณานนท์, พร ภิรมย์ หรือชาญ เย็นแข

คุณพ่อถึงกับเกาหัว เพราะหนักหนากว่าที่คิด แน่นอนว่าถ้าเป็นรุ่นใหญ่ขึ้นมาเป็นผู้ตอบ คงตอบได้สบายกว่ารุ่นกลางหรือรุ่นเล็กแน่นอน

ในขณะเดียวกัน เมื่อเจอคำถามที่เป็นเรื่องของคนในยุคปัจจุบัน คนรุ่นลูกรุ่นหลานยิ้มกริ่มแย่งกันตอบได้สบาย

หัวใจของเกมข้ามรุ่นนี้คือ การรู้จักประสานประโยชน์ของสิ่งที่มีให้เกิดผลที่สุด

เพราะคนแต่ละรุ่นมี “ประโยชน์” ต่างกัน มีจุดเด่น จุดด้อยต่างกัน

แต่เมื่อนำมารวมกัน และช่วยกันนำจุดแข็งของตนมาใช้ ก็ช่วยกันบรรลุถึงเป้าหมายได้

จำได้ว่า รายการตอนหนึ่งที่แจ๊กพ็อตแตก เป็นการตอบคำถามสุดท้ายโดยสมาชิกรุ่นเล็ก และคำถามนั้นไม่ง่ายเลยและไม่ใช่คำถามในช่วงวัยของตนเองด้วย แต่คนรุ่นเล็กที่ใฝ่หาความรู้รอบตัวที่เกินกว่าความรู้ปกติในวัยของตนจะพึงทราบ ก็สามารถคิดวิเคราะห์และทายคำตอบนั้นถูกจนนำมาซึ่งความดีใจของสมาชิกที่สามารถพิชิตแจ๊กพ็อตได้

ภาพคน 3 รุ่นกระโดดกอดกันดีใจ เป็นภาพแห่งความสุขของครอบครัวโดยแท้

 

ในวันนี้ สถานการณ์ของสังคมที่คุกรุ่นอยู่ตอนนี้ไม่ใช่ “เกมข้ามรุ่น” แต่เหมือนจะเป็น “เกมระหว่างรุ่น” ยังไงยังงั้น

ม็อบเยาวชนปลดแอก มีภาพเป็นการรวมตัวกันของคนในวัยศึกษาหาความรู้ ไม่แต่เฉพาะอุดมศึกษา แต่ลงไปถึงมัธยมศึกษา ที่ตอนหลังกระจายการแสดงออกในพื้นที่ในโรงเรียนของแต่ละคนไป รวมทั้งรวมตัวกันมาเป่านกหวีด ประกาศข้อเรียกร้องกันถึงกระทรวงศึกษาฯ อีกด้วย

แม้จะพัฒนาจากเยาวชนปลดแอก มาเป็นประชาชนปลดแอกแต่สมาชิกที่มาชุมนุมก็ยังเป็นภาพของคนรุ่นใหม่ปะปนไปกับคนรุ่นใหญ่ ที่มีมวลของคนรุ่นใหม่ปรากฏออกมาให้เห็นได้ชัดเจนอยู่ดี

การขึ้นปราศรัยบนเวที หรือการแสดงออกทางโลกโซเชียล ก็เป็นมุมมองและความคิดของคนรุ่นใหม่ ที่เหมือนเป็น “ยาขม” ของคนรุ่นใหญ่ไม่น้อย

เกิดเป็นการปะทะกันของ “วาทกรรม” ระหว่างวัยขึ้นมากมาย

มีการนำข้อมูลมาแสดงสนับสนุนความคิดของตน ซึ่งก็จะถูกอีกรุ่นนำข้อมูลอื่นมาหักล้างและแก้ต่างให้เห็นว่าไม่ใช่

บรรยากาศร้อนๆ นี้ลามไปถึงคนต่างวัยที่ใกล้ชิดผูกพันกันมาก่อน ทั้งศิษย์กับครู และลูกกับพ่อ-แม่ จนเกิดเป็นความแตกร้าวระหว่างคน 2 วัยที่น่าตกใจ และนึกไม่ถึง

ได้แต่เสียดายว่า สังคมเรากำลังจะกัดกร่อนตัวเองลง ด้วยการมุ่งเอาชนะคะคานกันถ่ายเดียว ทำไมถึงไม่หาทางที่จะ “ร่วมกันชนะ” เหมือนเกมข้ามรุ่นที่ร่วมกันทำแจ๊กพ็อตแตก ไม่ได้มาจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่มาจากการรวมตัวกันของคนทุกรุ่น

นึกๆ ดู ที่คนต่างรุ่นในเกมข้ามรุ่นรวมตัวกันได้ เพราะต่างมาจากครอบครัวเดียวกัน หรือเป็นกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน รักกัน ให้เกียรติกัน

แต่บรรยากาศของคนต่างรุ่นยามนี้ เป็นเหมือนศัตรูกัน

แกพูดแกทำอะไร ก็ดูจะขัดหูขัดตาไปซะหมด

แสดงออกอะไรก็ควรจะให้เกียรติกันบ้าง

อาบน้ำร้อนมาก่อน เลยโดนน้ำร้อนลวกไง

และ ฯลฯ

 

จะดีกว่าไหม ถ้าเราเริ่มต้นใหม่ โดยการเปลี่ยน “มุมมอง” ว่า เรานั้นคือ “ครอบครัวเดียวกัน” แล้วมองกันด้วยสายตาเป็นมิตร ด้วยเมตตา ด้วยความรักหวังดี สำคัญคือ ไม่ยึดติดกับตัวเอง และยินดีที่จะเปิดรับฟังคนอื่นด้วยใจเป็นกลาง

แม้จะมีมุมที่เห็นแตกต่างกัน ก็ต้องหาจุดร่วมกันให้มากที่สุด แล้วช่วยกันทำให้บรรลุในสิ่งที่ร่วมกันนั้นให้ได้ แล้วค่อยขยายไปสู่เรื่องที่อาจจะมองต่างกันมากๆ ทีหลัง

เพราะเมื่อคุยในรายละเอียดแล้ว หลายเรื่องที่คนรุ่นใหม่เรียกร้อง คนรุ่นใหญ่ก็เห็นด้วย เพราะเขาก็รู้สึกว่า “ต้องทน” กันมาแล้ว และทนมานานกว่าพวกรุ่นใหม่เสียอีก

หรือบางเรื่องที่คนรุ่นใหญ่เชื่อถือและให้ค่า คนรุ่นใหม่ก็ไม่ใช่ไม่ชื่นชมด้วย ยังชื่นชมและเห็นค่าด้วยเหมือนกันก็มี

จะว่าไปคนรุ่นไหนๆ ก็มีจุดประสงค์เหมือนกันคือ ประเทศชาติที่พลเมืองมีความแข็งแรง มีความสุข มีความยุติธรรม แต่ทั้งนี้อาจจะเป็นด้วยวิธีที่แตกต่างกัน ก็ต้องช่วยกันจับมือหาทางที่เหมาะสมที่สุด อาจจะไม่ถูกใจทุกคน แต่หากส่วนใหญ่เห็นตามนั้นก็ต้องช่วยกันผลักดัน

เมื่อนั้นแจ๊กพ็อตที่ตั้งไว้ก็อาจจะแตกได้ และเราก็จะได้กระโดดกอดกันด้วยความยินดีปรีดาสุดประมาณ

เพียงแต่ยามนี้เป็นแจ๊กพ็อตที่มีประเทศชาติเป็นเดิมพัน

กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)