นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ผลัดผ้า ผลัดตัวตน

นิธิ เอียวศรีวงศ์

การแต่งกายนั้นไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับผู้แต่งเพียงอย่างเดียว แต่บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมและยุคสมัยของผู้แต่งอีกเหลือคณานับ ดังนั้น ประวัติศาสตร์การแต่งกาย (sartorial history ซึ่งไม่ได้หมายความเพียงประวัติศาสตร์แฟชั่น) จึงน่าสนใจไม่น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับอีกบางประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เช่น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย) ยังไม่มีงานศึกษาเรื่องนี้สำหรับไทย

เฉพาะวัสดุที่ใช้ทำเครื่องแต่งกายเพียงอย่างเดียว ก็บอกให้เรารู้ถึงกระบวนการผลิต และจากกระบวนการผลิตก็อาจนำเราไปเข้าใจมิติอื่นๆ ของชีวิตผู้คนได้อีกหลายด้าน งานศึกษาการผลิตผ้าในภาคเหนือของอาจารย์ Katherine Bowie นำเราไปสู่การแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวางในเศรษฐกิจยังชีพ ซึ่งมักเข้าใจกันว่าไม่ค่อยมีการแลกเปลี่ยน

การแต่งกายของคนไทยก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 แปรเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ ซึ่งก็ไม่ต่างจากสังคมร่วมสมัยอื่นๆ เช่น มีหลักฐานว่าคนไทยหรืออย่างน้อยชนชั้นปกครองไทยเคยไว้ผมยาว ทั้งหญิงและชาย ถ้าดูจากศิราภรณ์ที่พบในกรุ ก็น่าจะเกล้าผมเป็นมวยด้วย แต่จะมาเปลี่ยนเป็นไว้ผมสั้นเมื่อไรไม่ทราบ เพราะรายงานของคนต่างชาติที่ยังเหลือตกทอดถึงเราล้วนกล่าวว่า คนไทยไว้ผมสั้น

เปลี่ยนเมื่อไรก็ไม่รู้ เปลี่ยนทำไมยิ่งไม่รู้ขึ้นไปอีก บางท่านสันนิษฐานว่า เพราะเกิดภัยสงครามบ่อยขึ้น จึงไว้ผมสั้นเพื่อสะดวกในการหลบหนีหาความปลอดภัย แล้วใครสั่งให้ทำอย่างนั้นล่ะครับ อย่าว่าแต่รัฐสมัยนั้นเลย แม้แต่รัฐไทยสมัยปัจจุบันก็ไม่มีสมรรถภาพจะทำได้ทั่วถึงขนาดนั้น

ความเปลี่ยนแปลงในด้านการแต่งกายนั้นสำคัญ เพราะมันสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าแฟชั่น เช่นความคิดเกี่ยวกับ “ความเหมาะสม” หรือ propriety, พื้นที่, ชนชั้น, เพศสภาพ, หรือแม้แต่อัตลักษณ์ของกลุ่ม ฯลฯ ก็คงเปลี่ยนไปเหมือนกัน ผู้คนจึงลุกมาแต่งตัวต่างจากที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายของตัวเคยแต่งมา

นี่คือเหตุผลที่ผมสนใจความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการแต่งกายครั้งใหญ่ในประเทศไทย “สมัยใหม่” คือนับจากกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรือประมาณรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เพราะมันมีข้อมูลมากและหลายด้านพอที่จะทำให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงด้านอื่นที่มากกว่าเสื้อผ้าหน้าผม แม้กระนั้นก็ยังผิวเผินมาก เพราะไม่ได้นั่งลงรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างจริงจัง

จากข้อมูลน้อยนิดที่ผมมี การแต่งกายของคนไทย (ภาคกลาง) ก่อนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 แม้ว่ามีรูปแบบเหมือนๆ กัน แต่บอกความคิดของผู้แต่ง (หรือของสังคม) สามด้านที่คงมีนัยยะสำคัญของคนสมัยนั้น นั่นคือเพศสภาพ, สถานะ และพื้นที่

ผมอยากจะเดาว่า แต่งกายเพื่อให้รู้ว่าเป็นหญิงหรือชาย น่าจะเป็นปรกติธรรมดาของทุกวัฒนธรรมกระมัง เพราะเพศสภาพทำให้เกิดโอกาส, สิทธิ, ข้อบังคับ, ความได้เปรียบ-เสียเปรียบ, สถานะ, ความเหมาะสม ฯลฯ แก่แต่ละเพศสภาพต่างกัน (แน่นอน อย่างไม่เท่าเทียมกัน) จึงเป็นส่วนหนึ่งของพื้นฐานความสัมพันธ์ทางสังคมในทุกวัฒนธรรม

แต่น่าประหลาดที่ฝรั่ง (ทั้งโปรตุเกส, ดัตช์, อังกฤษ และฝรั่งเศส) มักมองไม่ค่อยออกว่ามีความแตกต่างระหว่างการแต่งกายของหญิงหรือชายอย่างไร จนบางคนสรุปว่าไม่มีความแตกต่างในด้านเครื่องแต่งกายระหว่างหญิง-ชายในหมู่คนไทย ผมเองก็ไม่เคยเห็น แต่ไม่เชื่อหรอกครับ แม้ว่าพื้นฐานการแต่งกายคือผ้านุ่งเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างในรายละเอียดต่างๆ อีกมาก เช่น ผู้หญิงไม่เคยนุ่งผ้าลอยชายในที่สาธารณะเลย ดังนั้น ผ้านุ่งของผู้หญิงจึงน่าจะเป็นผืนใหญ่กว่าของผู้ชาย และอื่นๆ อีกมากซึ่งสายตาของคนต่างวัฒนธรรมมองไม่เห็น

สถานะเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในสังคมไทยซึ่งจัดองค์กรทางสังคมด้วยช่วงชั้นของสถานะที่แตกต่างกัน ดังนั้น การแต่งกายจึงต้องแตกต่างกันระหว่างคนต่างสถานะ นอกจากวัสดุที่ใช้ของเครื่องแต่งกายจะต่างกันตามฐานะทางเศรษฐกิจ, สังคม และการเมืองแล้ว คนในบางสถานภาพที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐสูง ยังมี “เครื่องยศ” ที่ทำให้เห็นความต่างจากคนธรรมดาสามัญได้อย่างชัดเจน เช่น คานหาม, บริวารแบกเครื่องยศเดินเป็นขบวน ฯลฯ ในหลักฐานฝรั่งบางชิ้นบอกว่า มีคนเดินตะโกนข้างหน้าบอกให้ผู้คนหลบไปให้พ้นทาง คือไม่ได้แยกเฉพาะเครื่องแต่งกาย แต่แยกพื้นที่ออกจากกันอย่างเด็ดขาดด้วย

นั่นคือรากฐานทางวัฒนธรรมหรือที่มาของการปิดถนน, รถตำรวจนำ และแผงเหล็ก ที่จัดให้คนใหญ่คนโต ซึ่งเชื่อมโยงกับรัฐมากไปถึงน้อยได้แยกออกไปจากสามัญชน แม้แต่เป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ยังยากที่จะเดินจ่ายตลาดตามสบาย

ทั้งหมดเหล่านี้มันล้นเกินจากเรื่องของความปลอดภัยเพียงอย่างเดียว

การเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ทำให้การแต่งกายของไทยสะท้อนอะไรอื่นๆ อีกหลายอย่างในสังคม ทั้งที่มีมาแต่เดิมและสำนึกใหม่ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงด้านการแต่งกายในสังคมอุษาคเนย์เกิดขึ้นกับคนส่วนน้อยก่อน โดยเฉพาะคนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษาแผนใหม่ ซึ่งย่อมเป็นคนจากครอบครัวจำนวนน้อยที่มีโอกาสทำรายได้ส่วนใหญ่เป็นเงินตรา เช่น ได้ทำงานในระบบราชการของอาณานิคม เป็นพ่อค้าส่งออก เป็นนายทุนเงินกู้ ฯลฯ แต่คนส่วนน้อยในเมืองไทยมักมากับครอบครัวที่เชื่อมโยงกับรัฐซึ่งกำลังเปลี่ยนตนเองไปเลียนแบบรัฐอาณานิคมของตะวันตก ดังนั้น แทนที่จะเป็นคนชั้นกลางเริ่มต้นเปลี่ยนการแต่งกาย จึงกลายเป็นชนชั้นสูงเป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อน

(ชนชั้นสูงชวายืนยันที่จะแต่งกายคล้ายเดิมมากที่สุด จนเมื่อคนหนุ่มสาวเริ่มขับเคลื่อนขบวนการชาตินิยมในต้นศตวรรษที่ 20 แล้ว พวก “ระเด่น” ก็ยังยืนยันที่จะแต่งกายให้เห็นได้ทันทีว่าเป็น “ระเด่น”)

ผมไม่ทราบหรอกว่าชนชั้นสูงไทยปรับเปลี่ยนเครื่องแต่งกายทำไม ถ้าเพียงเพื่อให้ดูทันสมัยไม่เป็นที่ดูหมิ่นของฝรั่งอย่างที่กล่าวกัน ก็นับเป็นเรื่องประหลาดอยู่ เพราะในสภาวะของความสัมพันธ์ในราชสำนัก หรือแม้แต่บ้านขุนน้ำขุนนางชั้นผู้ใหญ่ก็ยังคงเดิม (ตามความเข้าใจของผม ซึ่งอาจจะผิด เพราะไม่เคยเห็นงานศึกษาเรื่องนี้ในครอบครัวของ “ผู้ดี” โดยตรง) แต่งกายแบบใหม่แล้วใช้ชีวิตในบริบททางสังคมแบบเก่า ดูพิลึกอยู่

แม้จะเริ่มต้นที่ชนชั้นสูง แต่การแต่งกายแบบใหม่นี้สอดคล้องกับโลกทัศน์และชีวทรรศน์ของคนชั้นกลางซึ่งขยายตัวขึ้นตามลำดับ ทำให้แบบแผนการแต่งกายสมัยใหม่แพร่ขยายไปยังคนชั้นกลางในเขตเมือง แต่ก็ไม่ใช่การลอกเลียนเครื่องแต่งกายของชนชั้นสูงอย่างเซื่องๆ หากได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับโลกทัศน์และชีวทรรศน์ของตนด้วยจำนวนที่มากกว่าของคนชั้นกลางทำให้พวกเขามีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้นทุกที ในที่สุดคนชั้นกลางนี่แหละได้กลายเป็น “ผู้นำแฟชั่น” ที่แท้จริงของสังคม ทั้งไม่ใช่แฟชั่นของเครื่องแต่งกายเท่านั้น ยังรวมไปถึงแฟชั่นของการใช้ชีวิตด้วย (ยังความระคายเคืองแก่ชนชั้นสูงพอสมควร เหยียดวิถีชีวิตและการแต่งกายเช่นนั้นว่าเป็นของคนไม่มีสกุลรุนชาติ พระราชนิพนธ์จำนวนหนึ่งของ ร.6 ที่ประณามวิถีชีวิตของคนชั้นกลางก็เป็นส่วนหนึ่งของปฏิกิริยาอันนี้)

“เซเลบ” คือคนชั้นกลาง และเป็นไอดอลของคนชั้นกลาง เซเลบนี่แหละคือคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของชนชั้นสูง เพราะเซเลบแย่งอำนาจนำทางวัฒนธรรมไปจากชนชั้นสูง จนในที่สุดชนชั้นสูงเองก็ต้องเดินตามแฟชั่นที่เซเลบวางเอาไว้

กลับมาเรื่องของการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายในยุคสมัยแห่งการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเดินตามฝรั่งเฉยๆ แต่มันสะท้อนความเปลี่ยนแปลงด้านโลกทัศน์และชีวทรรศน์ของคนชั้นกลางไทยด้วย ผมขอพูดเพียงบางเรื่องเป็นตัวอย่างเท่านั้น ด้วยความหวังว่าสักวันจะมีคนทำวิจัยและให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ได้แทนความกะพร่องกะแพร่งในบทความชิ้นนี้

กางเกงเป็นอย่างแรกๆ ของความเปลี่ยนแปลงในการแต่งกายของผู้ชายไทย จะว่ามันมากับกองทหารแบบใหม่ซึ่งเริ่มสร้างขึ้นในต้นรัชกาลที่ 5 ก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่มากับกางเกงคือความเคารพที่ให้แก่ความกระฉับกระเฉง, การเอางานเอาการ และสมรรถภาพการเป็นผู้นำ (ในช่วงที่ช่างตัดเย็บกางเกงฝรั่งยังมีน้อย คุณสมบัติดังกล่าวยังรวมอยู่กับกางเกงแพรจีนซึ่งราคาถูกกว่าด้วย) ความเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มในราชสำนักแล้วขยายลงมาข้างนอกทีหลัง ฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า กางเกงสะท้อนความเปลี่ยนแปลงเชิงบุคลิกภาพของผู้นำในอุดมคติไทย

กษัตริย์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ขึ้นไป ออกขุนนางหรือ “ว่าราชการ” ด้วยการนั่งๆ นอนๆ บนพระที่นั่งในลักษณะที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตั่ง” ความสุขสบายที่จะไม่ต้องสำรวมอิริยาบถคือเครื่องหมายแห่งบารมีและอำนาจสูงสุด ที่มีอยู่เหนือเหล่าขุนนางซึ่งหมอบคลานอยู่กับพื้นพระราชฐานอย่างสำรวมระมัดระวัง (เช่น แม้แต่หมอบพับเพียบแล้ว ก็ยังต้องเก็บเท้าของตนให้ดี) ลองเปรียบเทียบภาพนี้กับเมื่อ ร.5 ประทับนั่งบนพระเก้าอี้ที่หัวโต๊ะ อาจเสด็จประทับยืนเป็นบางครั้ง ในที่ประชุมเสนาบดี รับสั่งอนุมัติให้ทำตามข้อเสนอของเสนาบดี หรือให้แก้ไขปรับปรุงตรงนั้นตรงนี้ หรือไม่อนุมัติเลยเพราะเหตุใด

เป็นผู้นำที่มีบุคลิกคนละอย่างคนละเรื่องไปเลย

กางเกงจึงไม่ใช่เพียงแค่แต่งตามฝรั่ง แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงในด้าน “ผู้นำ”, “การนำ”, “สมรรถภาพ” และคุณสมบัติของผู้ชายด้วย (ผู้หญิงไทยไม่นุ่งกางเกงจนหลังสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว ตอน “กางเกงสามส่วน” เข้ามาแรกๆ ยังฮือฮากันน่าดู ไม่เกี่ยวกับโป๊นะครับ แต่เกี่ยวกับบุคลิกภาพตามอุดมคติความเป็นหญิงของไทยต่างหาก)

เมื่อพูดถึงผู้หญิงแล้ว ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า แม้ผู้หญิงไทยเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย (รวมทั้งการไว้ผม-แต่งหน้าด้วย) มานานเหมือนกัน แต่เครื่องแต่งกายใหม่ไม่เปลี่ยนมโนภาพของสังคมที่มีต่อความเป็นหญิง แม้ว่าเสื้อลูกไม้, ผ้าพาดไหล่, ผมที่ยาวขึ้น ฯลฯ จะบ่งบอกความ “ทันสมัย” แต่ผู้หญิงก็เป็นเครื่องประดับของตระกูล, ของสามี, ของราชวงศ์, เป็น “ศรีบ้าน ศรีเมือง” ที่ทันสมัยเท่านั้น จนถึงประมาณ ร.6 ลงมา การแต่งกายของผู้หญิงจึงเป็นการตัดสินใจของผู้หญิงเองมากขึ้น (รูปแบบ, สี, โอกาส) และถึงตอนนั้นต่างหากที่จะมีนิตยสารผู้หญิงที่ประกาศคุณค่าของผู้หญิงต่อการสร้างชาติ, ต่อบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงในสังคมสมัยใหม่ รวมทั้งมีเนติบัณฑิตหญิงคนแรกด้วย

ในช่วงหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ผู้ชายมีส่วนอย่างมากในการ “ปั้น” ผู้หญิงทันสมัยขึ้นด้วยเครื่องแต่งกาย ปรากฏการณ์อันนี้พบในฟิลิปปินส์ (ซึ่งมี “ชุดประจำชาติ” ของผู้หญิงมาเป็นนานก่อนจะมีของผู้ชาย), อินโดนีเซีย, กัมพูชา, พม่า และผมคิดว่าไทยด้วย ในประเทศเหล่านี้ มีบทความในนิตยสารซึ่งผู้ชายเขียนเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การแต่งกายที่เปลี่ยนไปของผู้หญิง ส่งเสริมให้เปลี่ยนบ้าง คอยห้ามมิให้เปลี่ยนมากเกินไปบ้าง

อันที่จริงการเข้าสู่สมัยใหม่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ทั้งความเป็นชายและความเป็นหญิง การที่ผู้ชายในสังคมต่างๆ เหล่านี้พยายามจะไปกำหนดการแต่งกายของผู้หญิง แท้จริงแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของการนิยามความเป็นชายของตนเอง (เรานิยามตนเองจากความต่างของคู่ตรงข้าม) ผู้ชายใฝ่ฝันจะเป็นอะไร ก็ไปสร้างสิ่งตรงข้ามไว้กับผู้หญิง

 

การสวมรองเท้าที่แพร่หลายขึ้น มีผลต่อการแบ่งพื้นที่ในชีวิตของผู้คนให้ต่างไปจากเดิม ในขณะเดียวกันก็เปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับความสะอาด-สกปรกในวัฒนธรรมเดิม มาสู่วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ของปัจจุบันด้วย มีผลต่อภูมิทัศน์ของเมือง นับตั้งแต่ห้ามทิ้งหมาตายลงน้ำใน ร.4 จนถึงสุขาภิบาลใน ร.5 และฝ่ายสาธารณสุขของเทศบาลในปัจจุบัน

แน่นอน การแต่งกายที่ “เลือก” ได้ย่อมเปิดโอกาสให้แต่ละบุคคลแสดงตัวตนของตัวตามที่ตนนึกฝัน ย่อมชี้ให้เห็นว่าสำนึกความเป็นปัจเจกของคนไทยมีความสำคัญแก่ตัวเขาเองมากขึ้น และย่อมปรารถนาให้นโยบายสาธารณะต่างๆ เอื้อหรือสอดคล้องกับตัวตนในจินตนาการของเขา ความคิดความต้องการของผู้ใต้ปกครองจึงกลายเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องเปิดทางให้มากขึ้นเรื่อยๆ

เสื้อผ้าหน้าผมจึงอวดโฉมของคนและสังคมไปพร้อมกัน