ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ชื่อ “นครราชสีมา” ไม่เกี่ยวกับชื่อเมือง “โคราฆะปุระ” ในอินเดีย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงตั้งข้อสันนิษฐานไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวตามทางรถไฟ” ซึ่งเล่าถึงคราวเสด็จไปตรวจราชการโดยทางรถไฟเมื่อ พ.ศ.2445 เอาไว้ดังความที่ว่า

“ในท้องที่อำเภอสูงเนิน มีเมืองเรียกกันว่าเมืองเก่า (อยู่ไม่ห่างทางรถไฟนัก) ประมาณระยะทางห่างจากเมืองพิมายมาทางทิศตะวันตกประมาณ 80 กิโลเมตรแห่ง 1

เมืองอันอยู่ในท้องที่อำเภอสูงเนินที่กล่าวมานี้เป็น 2 เมือง เรียกกันว่า “เมืองเสมาร้าง” (เห็นจะเป็นเมืองตั้งก่อน) อยู่ทางฝั่งใต้ลำตะคองเมือง 1 อีกเมือง 1 (เห็นจะสร้างภายหลัง) เรียกกันว่าเมืองโคราช หรือเมืองเก่า (สันนิษฐานว่าเดิมจะชื่อเมืองโคราชบุรี ตามชื่อเมืองในอินเดียเช่นเดียวกับชื่อเมืองอโยธยา เมืองลพบุรี เมืองเพชรบุรี และเมืองราชบุรี) อยู่ทางฝั่งเหนือลำตะคอง เมืองนี้ที่เป็นเมืองโคราชเดิม” (จัดย่อหน้าใหม่ ให้อ่านง่าย สบายมากโดยผู้เขียน)

พูดง่ายๆ ว่า กรมพระยาดำรงฯ ทรงเชื่อว่า “เมืองโคราชเก่า” ก็คือ “เมืองโคราชบุรี” ซึ่งเป็นชื่อที่พระองค์เดา (สันนิษฐานเป็นศัพท์วิชาการของคำว่า “เดา”) เอาเองว่า ตั้งชื่อตามเมืองในอินเดีย แถมยังต่อท้ายคำว่า “บุรี” ให้อีกด้วย

แถมพระองค์ยังทรงสันนิษฐานต่อไปในหนังสือเล่มเดียวกันนี้อีกด้วยว่า เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช “…ในครั้งนั้นให้ย้ายเมืองโคราชจากเมืองเดิมซึ่งอยู่ชายดงไปสร้างเป็นป้อมปราการขึ้นใหม่ในที่เมืองเดี๋ยวนี้ เอานามเมืองเดิมทั้งสองคือ เมืองโคราชกับเมืองเสมามาผูกกันเป็นนามเมืองใหม่ว่าเมืองนครราชสีมา แต่คนทั้งหลายยังเรียกนามตามเคย จึงคงเรียกกันว่าเมืองโคราชจนทุกวันนี้”

 

แต่เกี่ยวกับเรื่องกำเนิดของเมืองโคราชนี้ กรมพระยาดำรงฯ ไม่ได้ทรงสันนิษฐานเอาไว้เฉพาะในพระนิพนธ์ “เที่ยวตามทางรถไฟ” เพราะยังมีข้อสันนิษฐานอย่างละเอียดพิสดารยิ่งขึ้นในพระนิพนธ์อีกเรื่องคือ “นิทานโบราณคดี” ซึ่งทรงเริ่มเขียนตั้งแต่ พ.ศ.2483 แต่มาตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2485

ดังความที่ปรากฏอยู่ในนิทานเรื่องที่ 16 คือเรื่อง ลานช้าง ที่ว่า

“เมื่อฉันไปพักแรมที่บ้านสูงเนิน เขาบอกว่าในอำเภอนั้นมีเมืองโบราณอยู่ 2 เมือง ฉันจึงให้เขาพาไปดู เห็นเป็นเมืองย่อมๆ ไม่สู้ใหญ่โตนัก แต่ก่อปราการด้วยศิลาและมีของโบราณอย่างอื่น แสดงว่าเป็นฝีมือสร้างสมัยขอมทั้ง 2 เมือง

เมืองหนึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายลำตะคอง อันเป็นลำธารมาแต่เขาใหญ่น้ำไหลไปตกลำน้ำมูล อีกเมืองหนึ่งอยู่ทางฝั่งขวาลำตะคอง ไม่ห่างไกลกันนัก เมืองทางฝั่งซ้ายเรียกว่า “เมืองเสมาร้าง” เมืองทางฝั่งขวาเรียกชื่อว่า “เมืองเก่า”

สังเกตดูเครื่องหมายศาสนา ดูเหมือนผู้สร้างเมืองเสมาร้างจะถือศาสนาพราหมณ์ ผู้สร้างเมืองเก่าจะถือพระพุทธศาสนา ฉันยังจำได้ว่ามีพระนอนศิลาขนาดใหญ่อยู่ที่เมืองเก่าองค์หนึ่ง”

จะเห็นได้ว่า กรมพระยาดำรงฯ ทรงเปลี่ยนจากให้เมืองเสมาอยู่ทางใต้ มาเป็นฝั่งซ้ายของลำตะคอง และเปลี่ยนเมืองเก่า หรือที่เดิมทรงเรียกว่าเมืองโคราชบุรี จากทางเหนือมาอยู่ทางขวาของลำตะคอง ซึ่งก็ถูกต้องตามข้อมูลทางภูมิศาสตร์

แต่สิ่งที่ทรงสับสนก็คือ “พระนอน” ที่กล่าวถึงนั้นอยู่ที่ฝั่งเมืองเสมาต่างหาก ในขณะที่ทางฝั่งเมืองเก่า ทางด้านขวาของลำตะคองนั้นเต็มไปด้วยศาสนสถานพราหมณ์-ฮินดู เช่น ปราสาทเมืองแขก ปราสาทโนนกู่ และปราสาทเมืองเก่า โดยพระองค์ทรงคาดเดาว่า ในสมัยหนึ่งเมืองเสมาได้ถูกทิ้งร้างลง ในขณะที่พื้นที่ส่วน เมืองกว่าทางฝั่งขวาของลำตะคองได้เจริญขึ้นแทน

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสันนิษฐานถึงชื่อเมืองนครราชสีมาต่อไปด้วยว่า

“ข้อนี้ที่ฉันคิดเห็นว่าเมื่อสร้าง “เมืองเก่า” ในสมัยขอมพวกพราหมณ์คงเอาชื่อเมือง “โคราฆะปุระ” ในมัชฌิมประเทศ อันอยู่ข้างใต้ไม่ห่างกับเมืองกบิลพัสดุ์ ที่พระพุทธองค์เสด็จประทับเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์มาขนาน อย่างเดียวกันกับเอาชื่อเมืองอื่นๆ ในอินเดียมาขนานในประเทศนี้มีอีกหลายเมือง เช่น เมืองอยุธยาและเมืองลพบุรี เป็นต้น

เมืองเก่านั้นเดิมคงเรียกว่า “เมืองโคราฆะปุระ” อันเป็นมูลของชื่อที่เรียกเพี้ยนมาว่า “เมืองโคราช” ยังคิดเห็นต่อไปอีกว่า ชื่อที่เรียกเมืองใหม่ว่า “เมืองนครราชสีมา” น่าจะเอาชื่อ “เมืองโคราฆะ” กับ “เมืองเสมา” มาผสมกันประดิษฐ์เป็นชื่อ “เมืองนครราชสีมา” ด้วย”

 

จากข้อความข้างต้นที่ผมยกมาข้างต้นทั้งหมดนั้น จะเห็นได้ว่า ชื่อ “โคราฆะ” เป็นเพียงการคาดเดาของกรมพระยาดำรงฯ ซ้ำร้ายยังเป็นการคาดเดาที่ผิดฝาผิดตัว เพราะทรงเข้าใจว่า “เมืองเก่า” ที่อยู่ทางฝั่งขวาของลำตะคองเป็นเมืองพุทธ จึงนำเอาชื่อเมืองสำคัญของพุทธศาสนามาจับยัดเอาไว้ ทั้งๆ ที่แต่เดิมชาวบ้านเรียกพื้นที่ส่วนนี้ว่า “เมืองเก่า” เท่านั้นเอง แน่นอนว่านี่ย่อมลดทอนความน่าเชื่อถือของข้อสันนิษฐานของพระองค์เรื่องชื่อ “นครราชสีมา” มาจากการนำชื่อเมืองทั้ง 2 มาผูกเข้าด้วยกันไปด้วยในตัว

นอกจากนั้นแล้ว ข้อสันนิษฐานของกรมพระยาดำรงฯ ดูจะไม่ค่อยสอดคล้องกับข้อมูลจากบันทึกการสำรวจของนักสำรวจ ควบตำแหน่งนักโบราณคดีรุ่นบุกเบิกชาวฝรั่งเศสอย่าง เอเตียง อายมอนีเย่ร์ (Etienne Aymonier) ซึ่งเดินทางเข้ามาสำรวจเมืองเสมาเมื่อราว พ.ศ.2426 (ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่กรมพระยาดำรงฯ จะเสด็จไปนครราชสีมา) แล้วได้ตีพิมพ์ลงหนังสือที่ได้รับการแปลออกมาเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ The Khmer Heritage in Thailand (มรดกขอมในประเทศไทย) ในหัวข้อ “เมืองโคราชเก่า” ดังความที่ว่า

“เดินเท้าหนึ่งวันไปทางทิศตะวันตกของเมืองโคราช และขึ้นเหนือไปอีก 2 ไมล์จากสองเนิน (ปัจจุบันเรียก สูงเนิน) ซึ่งเป็นหมู่บ้านใหญ่ของพวกลาว ที่มีฝูงวัวเลี้ยงเป็นของตนเอง และมีห้วยตะคองไหลผ่าน จะพบซากเมืองโคราชเก่าตั้งตระหง่านอยู่

สิ่งปลูกสร้างโบราณจำนวนมากมีอยู่ทางทิศใต้ของเมือง โดยส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นจากหินทรายเนื้อละเอียด ซึ่งก็มีทั้งหินทรายแดงและหินทรายขาว เช่น โนนกู่ ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปเพียง 2 ไมล์ทางทิศใต้ของเมืองเก่าโคราช และอยู่ไม่ห่างจากตะคอง ซึ่งเป็นเนินดินขนาดสูง 2 เมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เมตร ถูกปกคลุมไปด้วยก้อนหินทราย, กุดหิน ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือ ก็มีร่องรอยของซากโบราณสถาน แอบซ่อนอยู่ภายในดงต้นกระบองเพชร เครือเถาวัลย์ และต้นไผ่ ดังจะเห็นได้จากซากเสาหลายต้น หินที่ผ่านการขัดแต่ง อิฐจำนวนมาก กับซากภาชนะดินเผาสีขาวและแดง, ที่ควรอ้างถึงอีกแห่งคือ โคกพระยา หรือโนนพระยา แปลว่าเนินของขุนนาง ซึ่งอาจได้พบซากปรักหักพังด้วย

และท้ายที่สุด ได้แก่ บ้านหินตั้ง ซึ่งหมายถึง หมู่บ้านของหินตั้ง ที่พบอิฐและก้อนหินที่ผ่านการขัดแต่งรูปทรงเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับแผ่นหินตั้งที่ทำขึ้นจากหินทรายแดง ที่บางชิ้นยังคงตั้งอยู่ ส่วนบางชิ้นก็ล้มลงกับพื้นเสียแล้ว

กำแพงเมืองโคราชเก่า หรือเมืองเสมาเก่า ซึ่งแปลว่าเมืองแห่งหินเสมาอย่างที่ชาวสยามเรียก ตั้งอยู่ใกล้กับบ้านหินตั้งที่ว่านี้ มุมกำแพงทุกด้านตั้งเป็นมุมฉาก โดยกำแพงแต่ละด้านยาวประมาณ 1,000 เมตร ตัวกำแพงก่อขึ้นจากดิน ผสมกับหินทรายขัดแต่งเป็นบล็อก กำแพงเมืองแต่ละด้านสูงประมาณ 4 เมตร แต่หลายส่วนได้พังทลายลงมา”

(สำนวนแปล และจัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน)

 

พูดง่ายๆ ว่า อายมอนิเย่ร์ระบุว่า “เมืองเสมา” นั่นแหละคือ “เมืองโคราชเก่า” ซึ่งก็แน่นอนว่า อายมอนิเย่ร์จะไปรู้ได้อย่างไรเล่าครับว่า เมืองโบราณแห่งนี้เรียกว่าเมืองเสมา และคือเมืองโคราชเก่า ถ้าเขาไม่ได้ไปถามชาวบ้านในละแวกนั้นมา ซึ่งนั่นก็หมายความด้วยว่า ผู้คนบริเวณในยุคที่อายมอนิเย่ร์เดินทางไปสำรวจนั้น คิดว่าเมืองเสมาต่างหากที่เป็นเมืองโคราชเก่า ไม่ใช่เมืองโคราชบุรี ที่อยู่เหนือแม่น้ำลำตะคองขึ้นไปทางเหนือ อย่างที่กรมพระยาดำรงฯ ทรงสันนิษฐานไว้ในภายหลัง

หลักฐานที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งมาจากการขุดค้นของนักโบราณคดีที่เมืองเสมา เมื่อ พ.ศ. 2545 ซึ่งควบคุมการขุดค้นโดย คุณทนงศักดิ์ หาญวงศ์

ผลการขุดค้นของคุณทนงศักดิ์ พบคันดินรูปสี่เหลี่ยม ในบริเวณส่วนที่เรียกกันว่า “เมืองนอก” (เพราะเชื่อกันว่าเป็นส่วนสร้างขยายภายหลังของเมืองเสมา) ซึ่งมีลักษณะเสมือนเป็นพื้นที่ส่วน “วัง” ของเจ้าเมือง

นอกจากนี้ ยังพบร่องรอยของสถูปเจดีย์และเครื่องมือเครื่องใช้อายุหลัง พ.ศ. 2000 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา

ข้อมูลจากการขุดค้นทางโบราณคดีจึงแสดงให้เห็นว่า เมืองเสมาไม่ได้ถูกทิ้งร้างอย่างที่กรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงสันนิษฐานไว้ แถมยังถูกใช้เป็นศูนย์กลางของเมืองโคราชเดิมมาโดยตลอด

แต่ที่ผู้คนเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า “เมืองเสมา” คงเป็นเพราะพบใบเสมามาก และตั้งทับซ้อนอยู่ที่ “บ้านหินตั้ง” ซึ่งก็หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีดั้งเดิมที่จะพัฒนาต่อไปเป็น “ใบเสมา” ในศาสนาพุทธนั่นเอง

ในขณะที่เขตพื้นที่ “เมืองเก่า” ทางฝั่งขวาของลำตะคอง ที่กรมพระยาดำรงทรงฯ ตั้งชื่อให้ใหม่ว่าเมืองโคราชบุรี หรือโคราฆะปุระในภายหลังนั้นเป็นเพียงส่วนขยายออกมาจากเมืองเสมา หรือเมืองโคราชเก่าเท่านั้น

ต่อมาโดยตลอดจนกระทั่งหลัง พ.ศ.2000 แล้วค่อยย้ายไปอยู่ที่เมืองใหม่คือเมืองนครราชสีมาในปัจจุบันนี้ ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์

ส่วนที่มาของชื่อ “นครราชสีมา” นั้น ก็คงยังไม่มีคำอธิบายที่ดีกว่าที่นักปราชญ์รุ่นหลังกรมพระยาดำรงฯ อย่าง อ. มานิต วัลลิโภดม และจิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายว่า เป็นคำเดียวกับคำว่า “โคราช” ตามสำเนียงที่ชาวเขมรออกเสียงคำว่า “นครราช” ว่า “คอนเรียด” นั่นแหละครับ