บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ/คดี ‘บอส อยู่วิทยา’ ตร. ‘เสกเป่า’ หลักฐาน-อัยการป้อแป้

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

คดี ‘บอส อยู่วิทยา’

ตร. ‘เสกเป่า’ หลักฐาน-อัยการป้อแป้

 

มักมีคำพูดหนึ่งที่นิยมพูดกันในเมืองไทยว่า “ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” ซึ่งความหมายของมันนั้น ตีความได้ทั้งแง่บวกและลบ

แง่บวกก็คือหากใช้ความพยายามอย่างเต็มที่และสุจริต แล้วในที่สุดตำรวจก็จะสามารถหาหลักฐานเอาผิดผู้กระทำผิดหรืออาชญากรได้เสมอ

ส่วนความหมายในแง่ลบก็คือ ตำรวจสามารถสร้างหรือลบพยานหลักฐานอะไรก็ได้ เพื่อช่วยเหลืออาชญากรให้พ้นผิด เพราะตำรวจมีอำนาจสอบสวนและแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อทำสำนวนยื่นต่ออัยการเพื่อสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหา

ด้วยเหตุที่ตำรวจในฐานะพนักงานที่มีอำนาจสอบสวนคดี คือต้นทางหรือต้นธารของกระบวนการยุติธรรม

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่จะเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายสำหรับคดีนั้นๆ ก็คือตำรวจจะเขียนสำนวนอย่างไร หากอยากช่วยเหลือผู้ต้องหาก็เขียนสำนวนให้อ่อน มีช่องโหว่เยอะๆ

โดยระหว่างที่ทำสำนวนก็อาจจะมีการตัดหรือสร้างพยานหลักฐานอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหา

เมื่อรู้กันว่าตำรวจสามารถเสกเป่าหลักฐาน หากด่านต่อไปเจออัยการที่ไม่เข้มแข็ง ไม่เที่ยงธรรม ความโชคร้ายก็จะตกแก่ผู้เสียหาย

ส่วนความโชคดีจะตกอยู่กับผู้ร้าย

 

การเสกเป่าหลักฐานเพื่อทำสำนวนอ่อน มักเกิดขึ้นกับคดีที่ผู้ต้องหาเป็นคนมีเงินหรือมีอิทธิพลสูง อย่างเช่นคดีของนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มตรากระทิงแดงและเรดบูล ซึ่งขับรถหรูเฟอร์รารี่ ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ ป.สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555

แต่คดีถูกยื้อและลากยาวมา 8 ปี จนมาจบด้วยการที่นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธทุกข้อหา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 (แต่เป็นไปอย่างเงียบเชียบ จนกระทั่งสื่อต่างประเทศเป็นผู้เปิดประเด็นนำเสนอข่าวนี้ขึ้นมา สังคมไทยจึงได้รับรู้) สร้างความช็อกและไม่พอใจให้กับสังคมไทยอย่างสูง ก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมของไทย เพราะระดับอัยการที่ประชาชนหวังจะพึ่งพาให้เป็นหน่วยงานที่ถ่วงดุลตำรวจ ก็กลับเป็นที่พึ่งพาไม่ค่อยได้

คำสั่งของนายเนตรในคดีนี้สร้างความแคลงใจต่อสาธารณชน เพราะพนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ในฐานะเจ้าของสำนวน มีความเห็นสั่งฟ้องนายบอสข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายไปแล้ว แต่นายเนตรกลับออกคำสั่งหักล้าง ไม่ฟ้องทุกข้อหา

การไม่ฟ้องนายบอส แบบค้านสายตาประชาชนเช่นนี้ ก่อให้เกิดแรงกดดันมหาศาลต่อตำรวจและอัยการให้ออกมาชี้แจงรายละเอียด

ถึงที่สุดแล้ว คดีนี้พบว่า ผู้มีอำนาจสูงสุดคือ ผบ.ตร.ดูเหมือนไม่ได้ใส่ใจติดตามคดีนี้ อ้างว่าไม่เคยเห็นสำนวนคดีนายบอส และไม่เห็นแย้ง เมื่อตอนที่รองอัยการสูงสุดส่งหนังสือแจ้งมาว่าสั่งไม่ฟ้อง

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แม้แต่ตำรวจเอง (ชั้นผู้น้อย) ในฐานะผู้รักษากฎหมาย ยังหาความยุติธรรมให้ตัวเองไม่ได้ เพราะตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นไปจนถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในสำนักงานตำรวจ ไม่ได้ให้ความใส่ใจที่จะปกป้องลูกน้อง จึงมีคำถามว่า ประชาชนธรรมดาจะหาความยุติธรรมได้จากใคร

 

วันที่ 4 สิงหาคม คณะทำงานที่อัยการสูงสุดแต่งตั้งขึ้นเพื่อคลายความสงสัยของสังคม แถลงว่าการสั่งไม่ฟ้องของนายเนตร นาคสุข เป็นไปตามระเบียบและอำนาจหน้าที่ทุกอย่าง

ก่อนหน้านั้น คุณณัฐวสา ฉัตรไพฑูรย์ อัยการพิเศษฝ่ายสถาบันกฎหมายอาญา ก็ได้ชี้แจงถึงสาเหตุไม่สั่งฟ้องว่าเป็นเพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ พนักงานอัยการสั่งคดีตามพยานหลักฐานในสำนวน ไม่ใช่ตามความรู้สึก อีกทั้งไม่สามารถนำข้อเท็จจริงจากสื่อมวลชนหรือแหล่งข้อเท็จจริงอื่นใดมาประกอบการสั่งคดี และไม่มีอำนาจสอบสวนหรือแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตัวเอง

จริงอยู่ไม่มีใครเถียง เรื่องที่อัยการไม่มีอำนาจสอบสวนหรือแสวงหาพยานหลักฐาน แต่ในเมื่อคดีนี้เป็นคดีใหญ่และอื้อฉาว และสื่อมวลชนมีการเสนอความไม่ชอบมาพากลของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องและผู้ต้องหาอย่างครึกโครม เป็นไปได้หรือไม่ที่อัยการจะตั้งการ์ดสูงไว้ก่อน คือระแวงสงสัยตำรวจไว้ก่อนว่าอาจทำสำนวนไม่ตรงไปตรงมา

อัยการควรจะตระหนักด้วยว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับคนมีเงิน ต้องใส่ใจเป็นพิเศษเรื่องความโปร่งใสของตำรวจ ถ้าอัยการเชื่อตำรวจไปทั้งหมด ก็เท่ากับว่าอัยการเป็นเพียงบุรุษไปรษณีย์ มีหน้าที่เพียงนำเรื่องฟ้องหรือไม่ฟ้องส่งต่อให้ศาลเท่านั้น

 

การที่อัยการบางคนอ้างว่าไม่สามารถนำข้อเท็จจริงจากสื่อมวลชนหรือแหล่งอื่นมาประกอบการสั่งคดีได้นั้น จะเป็นการปิดโอกาสที่จะสอบทานหรือถ่วงดุลตำรวจ เพราะการติดตามข่าวสาร หรือแสวงหาข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลอื่น จะช่วยให้อัยการมี “คลังข้อมูล” ของตัวเอง เพื่อใช้ทักท้วงหรือตั้งข้อสังเกตไปยังตำรวจได้เมื่อส่งสำนวนเข้ามา

อย่างประเด็นความเร็วรถ ที่ตำรวจแสดงหลักฐานที่มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ว่า น่าจะแค่ 76-79 ก.ม./ช.ม.นั้น แค่ใช้ความรู้ธรรมดาก็น่าจะรู้ได้ว่า ไม่มีทางที่จะขับแค่ 80 ก.ม./ช.ม. เพราะจากข้อมูลที่ตำรวจรายงานมาเองตอนตรวจที่เกิดเหตุระบุว่า เมื่อชนแล้ว ด.ต.วิเชียรถูกลากไปไกลถึง 200 เมตร

ปกติรถยนต์ที่ขับไม่เกิน 80 ก.ม./ช.ม. ระยะทางที่ใช้ในการเบรก คิดคร่าวๆ ตามกฎความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วรถและระยะทางในการเบรก ก็ไม่น่าเกิน 80 เมตร (ต่ำสุดคือ 54 เมตร) สำหรับรถธรรมดาทั่วไป ที่เบรกไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงเป็นพิเศษ แต่นี่เป็นรถเฟอร์รารี่ ราคาแพงหลักสิบล้าน คาดหวังได้ว่าประสิทธิภาพของเบรกน่าจะสูงกว่ารถทั่วไปมาก น่าจะใช้ระยะทางในการเบรกสั้นกว่ารถทั่วไป

เฟอร์รารี่เป็นรถแรง สมรรถนะสูง และในเวลาตี 5 กว่าๆ ถนนว่างโล่งเช่นนั้น เฟอร์รารี่ที่ไหนจะขับแค่ 80 ก.ม./ช.ม. เขาขับแค่ 120 ก.ม./ช.ม.ก็บุญเท่าไหร่แล้ว

ระยะทางที่ร่างของ ด.ต.วิเชียรถูกลากไป 200 เมตร สอดคล้องกับการคำนวณของ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่า นายบอสน่าจะขับด้วยความเร็วประมาณ 177 ก.ม./ช.ม.

อาจารย์สธนเป็นผู้ได้รับเชิญจากตำรวจให้ไปช่วยพิสูจน์ในที่เกิดเหตุ และได้รายงานตัวเลขดังกล่าวคือ 177 ก.ม./ช.ม. ส่งให้ตำรวจ แต่ตัวเลขของ ดร.สธนถูกตำรวจที่เกี่ยวข้องชักออกจากสำนวน

 

แม้คณะทำงานอัยการจะแถลงว่านายเนตร นาคสุข ทำถูกต้องตามระเบียบ แต่ที่สังคมคาใจคือ ในเมื่อเจ้าของสำนวนคือพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ มีความเห็นสั่งฟ้องนายบอสไปแล้ว มีความจำเป็นอะไรที่รองอัยการสูงสุด (นายเนตร) ไปเชื่อหลักฐานที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาในทางที่เป็นคุณกับผู้ต้องหา (ที่เป็นคนรวยล้นฟ้า) จนออกคำสั่งไม่ฟ้อง

ความคลุมเครือน่าสงสัยที่สุดของคดีนี้คือรอยต่อระหว่างคำสั่งของพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนที่สั่งฟ้องนายบอสหลายข้อหา ทั้งขับรถเร็วเกินกำหนด ขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ไม่หยุดช่วยเหลือหลังจากชน

แต่ข้อหาอื่นๆ ยกเว้นข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้คนอื่นตาย ได้หมดอายุความเพราะตำรวจไม่สามารถติดตามตัวนายบอสมาดำเนินคดี เหลือเพียงข้อหาทำให้คนอื่นตาย

พนักงานอัยการที่เป็นเจ้าของสำนวน สั่งฟ้องนายบอสตามความเห็นของพนักงานสอบสวน แสดงว่าสำนวนของตำรวจชุดนั้นได้ให้ข้อเท็จจริงอย่างที่ควรจะเป็นต่อพนักงานอัยการ

แต่ระหว่างที่พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนรอให้ตำรวจติดตามตัวนายบอสมาดำเนินคดีนั้น นายบอสได้ยื่นขอความเป็นธรรมหลายครั้ง ซึ่งอัยการสูงสุดก็เปิดโอกาสให้หลายครั้ง และอนุญาตให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

จุดนี้เองที่ทำให้เกิด “อภินิหาร” ในสำนวนชุดที่ส่งให้นายเนตร เพราะมีการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถยนต์เหลือ 79 ก.ม./ช.ม. โดยอ้างพยานหลักฐานใหม่ และในที่สุดนายเนตรนำมาใช้เป็นข้อมูลในการสั่งไม่ฟ้อง

อดีตผู้พิพากษาบางท่านตั้งคำถามว่า เป็นการสมควรและควรทำ ตลอดจนทำได้หรือไม่ กรณีที่อัยการคนอื่น (ในที่นี้คือนายเนตร) ไปออกคำสั่งเพิกถอนของพนักงานอัยการเจ้าของสำนวน เพราะว่าปกติเมื่อพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนมีคำสั่งอย่างใดก็ต้องถือว่ายุติ พนักงานอัยการคนอื่นไม่มีอำนาจไปสั่งเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลง