มงคล วัชรางค์กุล : ทำไมคนแก่อเมริกัน ติดเชื้อโคโรนาไวรัสตายเยอะ

เมื่อแรกเริ่มการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสในอเมริกา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม 2020 นั้น

ตัวเลขคนติดเชื้อเสียชีวิตในอเมริกาเริ่มไต่ขึ้นสูงจนน่ากลัว โดยเฉพาะเมื่อมีคนตายถึง 58,365 คนเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2020

ตัวเลขนี้มากกว่าทหารอเมริกันที่ตายในสงครามเวียดนาม 58,220 คน (ปี 1955-1967)

และที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านั้นคือ คนอเมริกันที่ติดเชื้อเสียชีวิต ณ ขณะนั้น 49% เป็นคนแก่

หรือกล่าวอีกอย่างคือ เกือบครึ่งของคนอเมริกันที่ตายเพราะโคโรนาไวรัสในช่วงแรกเป็นคนแก่

ทำไมคนแก่อเมริกันจึงติดเชื้อตายเยอะ

 

น.ส.พ. Wall Street Journal ฉบับต้นเดือนพฤษภาคม 2020 ทำสกู๊ปอธิบายเรื่องคนแก่อเมริกันติดเชื้อตายเยอะว่า

เมื่อมีคนแก่และคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ติดเชื้อไวรัส โรงพยาบาลรักษาจนหายดีหรือทุเลาแล้ว จะ Discharge ส่งคนไข้ไปที่ Nursing Home สถานสงเคราะห์คนชราหรือบ้านพักคนชรา รวมทั้งที่ Extended Facilities สถานสงเคราะห์ผู้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

ดังนั้น ใน Nursing Home จึงไม่ได้มีเฉพาะคนแก่อย่างเดียว ยังมีคนที่ไม่ใช่คนแก่แต่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่มีลูกหลานดูแล มาอยู่ร่วมด้วย

Nursing Home มี 2 เกรด เกรดดีจะเป็นอพาร์ตเมนต์คนแก่ อยู่เป็นห้องหรูหรา มีคนคอยดูแลอาหารการกินและความเป็นอยู่อย่างดี คนดูแลเป็นพยาบาลชั้นดี

อพาร์ตเมนต์ระดับนี้ค่าเช่าแพงมาก

ส่วน Nursing Home ธรรมดา คนแก่จะอยู่กันอย่างแออัด มี Registered Nurse (RN) พยาบาลที่สำเร็จการศึกษาแล้ว เป็น Front line คอยดูแล ทำหน้าที่เป็น Manager

พนักงานระดับรองลงมาบางคนเป็น Licensed Practical Nurse (LPN) ผู้ช่วยพยาบาล ไม่ได้เรียนจบพยาบาลมาโดยตรง เพียงแต่ผ่านการอบรมพยาบาลเท่านั้น พวกนี้ระดับต่ำกว่า RN ทำงานภายใต้การบัญชาของ RN พวกนี้ไม่มี degree บางคนยังเป็นนักเรียนพยาบาล

ระดับต่ำสุดคือ Nursing Home Workers (NHW) พวกคนงานที่คอยเช็ดเนื้อเช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า เช็ดอุจจาระ เช็ดปัสสาวะให้คนแก่ คนพวกนี้ไม่ผ่านการอบรมพยาบาลใดๆ บางคนจบแค่ไฮสกูล

ข้อใหญ่ใจความ ปัญหาของทั้ง RN, LPN และ NHW คือ พวกนี้เงินเดือนน้อยมาก ไม่พอใช้ จึงต้องวิ่งรอกทำงาน Per diem เข้ากะตามสถาน Nursing Home ต่างๆ หมุนเวียนกันไป

RN อาจจะเงินเดือนสูงหน่อย แต่มีเวลาเหลือไม่ได้ทำงานทุกวัน จึงทำงาน Per diem ด้วยเหมือนกัน

การทำงาน Per diem เข้ากะหลายแห่งของเหล่าพยาบาลและพนักงานสถานสงเคราะห์คนแก่ คือสาเหตุหลักที่นำพาเชื้อมาติดคนแก่ใน Nursing Home เพราะทำงานหลายแห่ง รับเชื้อมาได้ง่าย

จนคนแก่อเมริกันติดเชื้อล้มตายเป็นใบไม้ร่วง

ถ้าพวกพยาบาลและพนักงานทำงานอยู่เป็นที่เป็นทางแห่งเดียว จะช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อได้

 

ประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อทราบปัญหานี้ ก็บอกว่าจะรีบแก้ปัญหา โดยให้สภาคองเกรสพิจารณาเพิ่มเงินเดือนให้พวกทำหน้าที่พยาบาลและพนักงานในสถานสงเคราะห์คนชราให้พอกินพอใช้ ไม่ต้องวิ่งรอกทำงานเข้ากะ เอาเชื้อมาติดคนแก่

แต่กว่าจะเพิ่มเงินเดือนได้สำเร็จ คนแก่อเมริกันในสถานสงเคราะห์ก็แทบจะล้มหายตายจากไปหมดแล้ว

มีกฎเพิ่มเติมว่า พยาบาลที่ทำงานใน Nursing Home ต้องตรวจเชื้อสัปดาห์ละ 2 หน

ในแคนาดามีปัญหาพวกพยาบาลและเจ้าหน้าที่ในสถานสงเคระห์คนแก่ได้เงินเดือนน้อย ต้องวิ่งรอกเข้ากะทำงาน Per diem นำเชื้อไปติดคนแก่ล้มตายเหมือนในอเมริกา

แต่แคนาดาแก้ปัญหาได้รวดเร็วกว่าอเมริกา รัฐบาลแคนาดาเพิ่มเงินเดือนบวกเงินพิเศษเข้ากะให้พยาบาลและเจ้าหน้าที่ทุกคนทันที

ทำให้พยาบาลและเจ้าหน้าที่แคเนเดียนหยุดทำ Per diem ไม่นำเชื้อไปแพร่ให้คนแก่อีกต่อไป

 

Bloomberg Business Week ฉบับต้นเดือนพฤษภาคม 2020 รายงานว่า

ผู้ว่าการนิวยอร์ก Cuomo มีคำสั่งให้โรงพยาบาล Discharge คนแก่ที่รักษาไวรัสจนหายป่วยหรือทุเลาแล้ว ออกไปอยู่ที่ Nursing Home ทำให้คนแก่ไปติดเชื้อตายที่นั่น จนทำให้สถิติคนตายในนิวยอร์ก อายุ 51 ปีขึ้นไปจะเพิ่มเป็นสองเท่าของคนอายุน้อยกว่า 51 ปี

หมายความว่า คนแก่อายุ 51 ปีขึ้นไปตายมากกว่าคนอายุน้อยเกินสองเท่า

ถ้า New Normal เกิดขึ้นสมบูรณ์ คนอายุเกิน 51 ปีในนิวยอร์กจะตายหมด

นิวยอร์กจะเป็นเมืองคนหนุ่ม-สาว อายุน้อยกว่า 51 ปี

วันที่ 6 พฤษภาคม 2020 รัฐนิวเจอร์ซีย์มีคนติดเชื้อไวรัสมากเป็นอันดับสองในอเมริกา รองจากนิวยอร์ก ถึงวันนั้นรัฐนี้มีคนตาย 8,549 คน เป็นคนตายในสถานพักฟื้น (Long – term care facilities) 4,261 คน ส่วนใหญ่เป็นคนแก่

หรือเกือบครึ่งของคนติดเชื้อตายในนิวเจอร์ซีย์เป็นคนแก่

 

นั่นคือเหตุการณ์เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2020

ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้วันสิ้นเดือนกรกฎาคม 2020 คนที่ติดเชื้อไวรัสเสียชีวิตในอเมริกามีจำนวนมากขึ้น กลับเป็นคนหนุ่ม-สาว อายุระหว่าง 20-45 ปี

เหตุผลคือคนหนุ่ม-สาวไม่แคร์และไม่กลัวการติดเชื้อ พากันออกไปเที่ยวเตร่ สังสรรค์ ดื่มกิน ตามผับ ตามบาร์ จัดปาร์ตี้ โดยไม่เว้นระยะห่างทางสังคม Social distancing และไม่สวม Masks

ช่วงวันแม่ในอเมริกาที่ผ่านมาเมื่อ 10 พฤษภาคม ไม่มีการไปเยี่ยมโอบกอดแม่ที่ Nursing Home แต่ให้แม่มานั่งหน้า Nursing Home แล้วให้ลูกขับรถผ่าน โบกมือเซย์ ไอ เลิฟ ยู กับแม่

รักแม่ ห้ามกอดแม่ เพราะแม่อ่อนแอ ติดเชื้อง่าย