หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘มึน’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือดาว - เหตุผลที่เสือดาวและเสือโคร่งใช้พื้นที่ร่วมกันได้ เพราะเสือดาวเลือกเหยื่อที่มีขนาดเล็กกว่า

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘มึน’

 

หลังเหตุการณ์ “ฆาตกรรม” เสือดำตัวหนึ่งในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ความจริงที่ว่า เสือดำและเสือดาว คือเสือชนิดเดียวกัน ก็ได้รับรู้มากยิ่งขึ้น

กรณีนี้ทำให้คนทำงานในป่าสลดใจ ไม่เพียงเพราะเป็นการกระทำอย่างอุกอาจในป่าอนุรักษ์ ไม่ใช่เพราะคนฆ่าดูจะเป็นผู้ร่ำรวยมีอิทธิพลเท่านั้น

แต่เพราะคนทำงานในป่ารู้ดีว่า เสือชนิดนี้ไม่ค่อยมี “มาด” ของความเป็นเสือนักหรอก นิสัยของพวกมันออกไปแนวน่ารักเสียมากกว่า

การตายของมันจึงดูน่าเวทนา การเข้ามาใกล้คนฆ่าขนาดนั้น อาจเพราะสงสัย อยากรู้ตามประสา

แต่ก็เถอะ ในความเป็นชีวิต เราสรุปอะไรได้ไม่ทั้งหมด วันนี้อารมณ์ดี พรุ่งนี้อารมณ์เสีย เป็นเรื่องธรรมดา บางวันสัตว์ป่าอนุญาตให้เข้าใกล้ บางวันมันแสดงท่าทีไม่ต้อนรับ บางตัวมีประสบการณ์แย่ๆ กับคน มันพร้อมเข้าโจมตีทุกคนที่พบใกล้ๆ ขณะหลายตัวเตลิดหนีแค่เพียงได้กลิ่นคน

สำหรับเสือดาว คนทำงานในป่า โดยเฉพาะคนในสถานีวิจัยสัตว์ป่า ลงความเห็นกันว่า คำจำกัดความที่เหมาะสมกับเสือดาวคือ

“มึน”…

 

“ชอบย่องเข้ามาตอนกลางคืน เดินอาดๆ ไปทั่ว บางทีมานั่งบนชานบ้านพัก และเอารองเท้าไปคาบเล่นเสมอ”

นี่ไม่ใช่คำพูดที่คนในสถานีวิจัยสัตว์ป่าพูดถึงหมาซึ่งเลี้ยงไว้ที่บ้าน แต่ผู้พูดหมายถึงเสือดาว เขาพูดแบบขำๆ

เรื่องที่ไม่ค่อยขำนักคือ กลิ่นเหม็นๆ ซึ่งเกิดบ่อยๆ เป็นกลิ่นจากซากเน่าของกวางที่เสือดาวล่าได้ใกล้บ้านพัก อาจเพราะมันยึดเอาบริเวณรอบๆ สถานีเป็นอาณาเขตด้วย จึงไม่ไปไหนไกล เช่น หลังครัว หลังบ้านพัก หรือหากล่าได้ไกลๆ ก็จะลากมาไว้ใกล้ๆ

วันหนึ่งมันล่ากวางได้ และลากมาไว้หลังครัว กลิ่นเกินจะทน จึงต้องลากซากไปไกล ดูเหมือนเจ้าของซากก็ไม่ว่าอะไร ตามไปกินจนหมด

สิ่งที่ผมเห็นที่นั่นคือ ระหว่างเสือกับคนอยู่ร่วมกันได้ในพื้นที่เดียวกัน…

 

เสือดาว หรือเสือดำได้รับการเรียกเช่นนี้มาจากลักษณะภายนอกที่มองเห็น

เสือดาวมีลำตัวสีน้ำตาลอมเหลือง หรือสีเหลืองมีลายจุดดำเรียงเป็นกลุ่มคล้ายกลีบดอกกุหลาบ ในตำราที่นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล เขียนว่า “ลายขยุ้มตีนหมา” ลายนี้กระจายอยู่แถวๆ หลัง และข้างลำตัว

ส่วนเสือดำมีพื้นลำตัวสีดำแทนสีเหลือง ทำให้มองเห็นลายไม่ชัดเจน แต่หากสังเกตดีๆ หรือมันอยู่ในสภาพแสงจ้า จะเห็นลายเช่นเดียวกับเสือดาว

เสือดาวเมื่ออายุมากขึ้น สีขนพื้นจะจางลง ฟันทู่หรือหัก ตามร่างกายและใบหน้ามักมีแผลเป็น รวมทั้งหูแหว่งขาดวิ่น สภาพเช่นนี้บอกให้รู้ว่า มันผ่านวันเวลามาอย่าง “โชกโชน” เพียงใด และนี่ย่อมเป็นอุปสรรคของการมีชีวิต เพราะเสือจะอยู่ได้นั้น นอกจากจะต้องมีเหยื่อให้ล่าแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ การล่านั้นต้องประสบผลสำเร็จ

สัตว์ป่าเมื่อถึงวัยชราก็เป็นเช่นนี้ ร่างกาย ริ้วรอยบนร่างกาย บ่งบอกถึงความโชกโชน บาดแผลบอกให้รู้ว่าผ่านอะไรมาบ้าง

คนคงไม่ต่างจากนี้ เพียงแต่ริ้วรอยบางบาดแผลไม่ได้ปรากฏอยู่ภายนอกให้คนได้เห็น…

 

สัตว์จำพวกแมว ได้รับพัฒนาการออกแบบตีนมาให้เคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว แต่เพียงระยะสั้นๆ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการวิ่งของเหล่าสัตว์กินพืช ซึ่งอยู่ในสถานภาพความเป็นเหยื่อ ที่วิ่งได้เร็วและระยะทางไกลๆ เป็นเหตุผลง่ายๆ ในอันจะทำให้สัตว์กินพืชหลบรอดคมเขี้ยวไปได้ ถ้าไม่อยู่ในระยะจวนตัวจริงๆ

ตีนสัตว์ผู้ล่ามีโครงสร้างอันซับซ้อนเช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมส่วนใหญ่ ประกอบด้วยชิ้นส่วนที่เป็นฝ่าตีน หรืออุ้ง และนิ้ว อุ้งตีนสัตว์จำพวกแมวมีลักษณะแตกต่างสัตว์จำพวกอื่น ที่สังเกตได้คือ อุ้งตีนแบ่งเป็นลอน และกรงเล็บมีโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงมาจากเส้นขนแบบเดียวกับเล็บของคน ประกอบด้วยสองส่วน คือด้านบนเป็นเล็บแข็งๆ และด้านในที่ติดผิวหนังมีความอ่อนนุ่มกว่า ตีนหน้ามีขนาดใหญ่กว่าตีนหลัง ทั้งนี้ เพื่อให้รับน้ำหนักหัวและช่วงคอ

ที่สำคัญอีกประการคือ สัตว์จำพวกแมว สามารถเก็บเล็บเข้าซองได้ เมื่อต้องการย่องไปเงียบๆ

 

จากที่เราเห็น เสือดาวได้รับการพัฒนาร่างกาย รวมทั้งทักษะมาอย่างเหมาะสมกับงานในหน้าที่

กับการล่า พวกมันเก่งไม่แพ้เสือโคร่ง แต่เลือกเหยื่อซึ่งมีขนาดย่อมกว่า เพื่อการอยู่ร่วมกันในพื้นที่ มันเลือกกวาง, เก้ง, หมูป่า

ส่วนกระทิง วัวแดง นั้นยกให้เป็นหน้าที่เสือโคร่ง

 

อาจเรียกได้ว่า เป็นความโชคดีที่เสือดาวอนุญาตให้ผมได้พบพวกมันในทุกอารมณ์ ตั้งแต่อารมณ์ดี นอนเล่นกับผีเสื้อ ตอนทำงาน ตอนโกรธๆ แยกเขี้ยวจ้องเขม็ง

ส่วนใหญ่ผมพูดถึงพวกมันเหมือนพูดถึงเพื่อนๆ

บางครั้งดูเหมือนมันห้าวเพราะกล้าเข้าไปกินเหยื่อที่เสือโคร่งล่าได้ ปกติเมื่อเสือโคร่งล่าเหยื่อได้แล้ว มันจะลากไปไว้ที่เหมาะๆ ก่อนลงมือกิน นอกจากนี้ ยังประกาศให้ผู้อื่นรู้ว่านี่คือเหยื่อของใครห้ามยุ่งเด็ดขาด โดยสเปรย์ หรือพ่นฉี่ รวมทั้งตะกุยดิน ต้นไม้ใกล้ๆ มันใช้เล็บแหลมตะกุยไว้เป็นรอยลึก

แต่ครั้งที่มันวิ่งหนีหมูป่าขึ้นต้นไม้นั่น ผมว่ามันดูแหยๆ

อาการแบบนี้ คำจำกัดความที่คนในสถานีวิจัยสัตว์ป่าใช้กับเสือดาว น่าจะใกล้เคียง…

 

คํ่าวันหนึ่ง ผมเดินจากบ้านพักในสถานีวิจัยสัตว์ป่า เพื่อไปที่จอดรถ ทีมมีภารกิจออกไปตรวจสอบตำแหน่งเสือโคร่ง ห่างจากบ้านพักสัก 10 เมตร เสือดาวตัวหนึ่งยืนขวางอยู่บนทาง มันยืนมองผมนิ่งๆ ผมฉายไฟดูเงียบๆ เช่นกัน คิดว่าสักพักมันคงหลบไป แต่สิ่งที่เสือดาวทำคือ ทรุดตัวนอนหมอบ ไม่มีท่าทีว่าจะหลบไปไหน

“ไม่หลบก็ไม่หลบสิ” ผมคิดในใจ ขณะเดินต่อโดยผ่านมันมาเฉยๆ เสือดาวตัวนั้นทำท่าเพียงเหลียวมองตามเท่านั้น

นั่นเป็นครั้งที่ผมเข้าใจถึงคำว่า เคารพ ให้เกียรติกัน

การอยู่ร่วมกันระหว่างเรา สัตว์กับคน ก็พอมีหนทาง

 

ผมเล่าให้คนอื่นฟังก่อนออกไปทำงาน

“มันมึนครับ” ถาวรให้ความเห็น

ส่วนอ่อนสา ผู้ช่วยนักวิจัย ซึ่งทำงานมานาน มองหน้าผมก่อนสรุปสั้นๆ อย่างได้ใจความว่า

“มึน” พอๆ กันแหละครับ…