คนของโลก : มาร์ก รุตต์ จาก “มิสเตอร์ไนซ์กาย” สู่ “มิสเตอร์โน”

มาร์ก รุตต์ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ผู้ได้รับฉายามิสเตอร์ “ไนซ์กาย” จากประชาชนชาวดัตช์ ด้วยนิสัยส่วนตัวที่ร่าเริง และเป็นมิตรได้กับทุกฝ่ายในเวทีการเมืองอันแตกแยกของประเทศเนเธอร์แลนด์

ทว่าในการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อหาข้อสรุปในการอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือฟื้นฟูชาติสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19

มาร์ก รุตต์ กลับได้ฉายาใหม่ว่า “มิสเตอร์โน”

รุตต์ในฐานะผู้นำอย่างไม่เป็นทางการของ “กลุ่มประเทศฟรูกัล” ซึ่งประกอบไปด้วยเนเธอร์แลนด์ สวีเดน ออสเตรีย เดนมาร์ก และฟินแลนด์ มีส่วนสำคัญในการยืนหยัดเรียกร้องให้ลดสัดส่วนของงบประมาณช่วยเหลือให้เปล่าลง และเพิ่มสัดส่วนของงบประมาณกู้ยืมให้เพิ่มมากขึ้น

“เราไม่ได้มาอยู่ที่นี่เพื่อที่จะไปงานวันเกิดของคนอื่นตลอดชีวิตของพวกเราที่เหลือ พวกเรามาอยู่ที่นี่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศของพวกเราเอง”

รุตต์ระบุหลังการประชุมสุดยอดอียูเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา

 

การยืนหยัดในแนวคิดดังกล่าวส่งผลให้วาระการประชุมดังกล่าวกินเวลายาวนานถึง 5 วันก่อนจะได้ข้อสรุปในช่วงเช้าของวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยงบประมาณ 750,000 ล้านยูโรจากเดิมที่จะมีสัดส่วนเงินอุดหนุนให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 500,000 ล้านยูโร ถูกปรับลดลงเหลือ 390,000 ยูโร

นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ สายเสรีนิยม วัย 53 ปี เป็นหนึ่งในผู้นำชาติยุโรปที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดถึง 10 ปี เป็นนักการเมืองที่ประหยัด มัธยัสถ์ ขี่จักรยานไปทำงานจากอพาร์ตเมนต์ที่พักอาศัยมาตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย และมีรถยนต์ยี่ห้อ “ซาบ” มือ 2 ใช้เดินทางอีก 1 คัน

“เขาดูเหมือนจะไม่สนใจในการครอบครองสิ่งของนอกกายมากนัก” เปปิจน์ เบอร์เซน นักวิจัยจากโครงการยุโรป ที่แชตแฮมเฮาส์ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระบุ แนวทางซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนในประเทศที่ภูมิใจในประวัติศาสตร์ในฐานะมหาอำนาจทางการค้ามาอย่างยาวนาน

รุตต์ อดีตผู้จัดการฝ่ายบุคคลของบริษัทยูนิลีเวอร์ เป็นที่รู้จักในฐานะคนเป็นมิตรเข้ากับคนง่าย ทำให้รุตต์มีเพื่อนอยู่มากมายในทุกฟากฝั่งของการเมืองเนเธอร์แลนด์

คุณสมบัติที่ว่า เมื่อรวมเอาไว้กับสัญชาตญาณการตัดสินใจทางการเมืองที่เด็ดขาด ส่งผลให้รุตต์สามารถนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลผสมถึง 3 ยุค 3 สมัย นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา

 

ที่มาของแนวทางทางการเมืองในเวทียุโรปของรุตต์ที่นำไปสู่ชื่อเล่นใหม่อย่าง “มิสเตอร์โน” เริ่มต้นขึ้นหลังจากมีคลิปวิดีโอเผยแพร่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นคนขับรถบรรทุกชาวเนเธอร์แลนด์พูดกับนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ว่า “อย่าให้เงินพวกอิตาเลียนและสแปนิชแม้แต่สักแดงเดียวนะ” ก่อนที่รุตต์จะหัวเราะและตอบรับว่า “ไม่ ไม่ ไม่!”

การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศเนเธอร์แลนด์กำลังจะมีขึ้นในเดือนมีนาคม ปี 2021 รุตต์ได้รับการคาดหมายว่าจะลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 4 เพื่อต้านกระแสจากพรรคขวาจัดที่มีแนวคิดต่อต้านการรวมกลุ่มกับอียูด้วย

ท่าทีของรุตต์ในการคัดค้านการผ่านงบประมาณในครั้งนี้ กลายเป็นท่าทีที่สะท้อนฐานเสียงของคนในประเทศ และทำให้เนเธอร์แลนด์มีบทบาทแทนที่อังกฤษ ที่เพิ่งตัดสินใจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปไปก่อนหน้านี้

การออกมาคัดค้านงบประมาณ 750,000 ล้านยูโรก่อนหน้านี้สะท้อนท่าทีเดียวกันกับอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษอย่างเดวิด คาเมรอน รวมถึงมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ เองด้วย

รุตต์เองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเช่นกันว่า เนเธอร์แลนด์เองก็ทำให้อียูสูญเสียเงินจำนวนมหาศาล จากนโยบายยกเว้นภาษีให้กับกลุ่มคนหลายสัญชาติที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศ ขณะที่เนเธอร์แลนด์ได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าไปยังชาติอื่นๆ ในยุโรปที่เพิ่มมากขึ้น ที่ทำให้มองได้ว่าเนเธอร์แลนด์นั้นได้ประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว

ขณะที่ท่าทีแข็งกร้าวของรุตต์ กับกรณีหนี้สินของประเทศกรีซ และวิกฤตผู้อพยพครั้งใหญ่ของอียูเมื่อปี 2010 เอง ก็สร้างความไม่พอใจให้กับหลายๆ ชาติสมาชิกในอียูเช่นกัน