เศรษฐกิจ / พปชร.เปลี่ยนแม่ทัพกลางศึก ‘เก่าไปใหม่มา’ คุมทีมเศรษฐกิจ พิสูจน์ฝีมือแก้วิกฤตรอบ 100 ปี

เศรษฐกิจ

 

พปชร.เปลี่ยนแม่ทัพกลางศึก

‘เก่าไปใหม่มา’ คุมทีมเศรษฐกิจ

พิสูจน์ฝีมือแก้วิกฤตรอบ 100 ปี

 

เมื่อ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คนใหม่อย่างเป็นทางการ แทนอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำให้ภาพของการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โละทีม 4 กุมาร และพ่อของกุมาร สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ชัดเจนขึ้น!!

แม้หลายฝ่ายวิจารณ์การทำงานดูแลเศรษฐกิจของนายสมคิดและทีมกุมาร ประกอบด้วย อุตตม สาวนายน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง แต่ต้องไม่ลืมว่านายสมคิดไม่ใช่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้

หลังจากมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง สมคิดคุมเพียง 5 กระทรวงได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงการต่างประเทศ กำกับดูแลสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อสมท. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

มีรองนายกฯ อีก 2 คนดูแลกระทรวงเศรษฐกิจตามโควต้าพรรคร่วมรัฐบาลคือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ดังนั้น หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจึงต้องเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นัดประชุม ครม.เศรษฐกิจในช่วงวันศุกร์ของบางสัปดาห์ สะท้อนภาพการทำงานของทีมเศรษฐกิจที่ผ่านมาจึงยังไม่ค่อยราบรื่นนัก มีความไม่เข้าใจ ไม่ถูกใจหลายครั้ง มาตรการเศรษฐกิจหลักๆ ออกมาจากทีมของสมคิด โดยได้พลังจาก 4 กุมารคอยช่วยเหลือ และหลายมาตรการทีมกุมารหารือตรงและทุบโต๊ะโดย พล.อ.ประยุทธ์

 

เมื่อกระแสปรับ 4 กุมารพ้นทีมเศรษฐกิจ เริ่มมาพร้อมกับคนในพรรค พปชร.ดันบิ๊กป้อมขึ้นหัวหน้าพรรค

ทำเอาสมคิดน็อตหลุดกลางงานมอบนโยบายของหน่วยงานหนึ่ง โดยกล่าวถึงกระแสการปรับ ครม.ว่า ไม่ต้องพูดถึงปรับ ครม.ใครจะมา เก่าไป ใหม่มา เก่าไม่ไป ใหม่ไม่มา ไม่ต้องพูดไม่มีอะไรสำคัญ สำคัญว่าเก่าอยู่ หรือใหม่มา ต้องทำงานได้ ถ้าคนเก่าอยู่แล้วไม่สามารถทำได้ก็ไม่ควรอยู่ ถ้าคนใหม่มา ทำไม่เป็น ทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องมา มาทำอะไร

สมคิดค่อนข้างมั่นใจว่าทีมของตัวเองทำงานดี คิดอะไรใหม่ตลอด แถมได้รับแรงหนุนจาก พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้การเปลี่ยนตัวทีมกุมารอาจไม่ง่ายนัก

การทาบทามคนนอกมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทนอุตตม ยังไม่สำเร็จ

คนที่ถูกนำเสนอชื่อแบบโยนหินถามทาง ทั้งประสาร ไตรรัตน์วรกุล ปรีดี ดาวฉาย บุคคลในแวดวงการเงิน การคลัง ที่มีความรู้ ความสามารถ และบารมีพอเทียบชั้นสมคิด อุตตม ปฏิเสธที่จะเข้ามารับตำแหน่ง

อีกชื่อล่าสุด เมื่อ พปชร.โยนชื่อ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถูกส่งเสริมขึ้นเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค

เพียงไม่กี่ชั่วโมงเกิดกระแสตีกลับทันที เมื่อสื่อหลายสำนักพาดหัว “ยี้” ผู้ที่มีชื่อเสียงจากหลายวงการแสดงความเห็นผ่านโลกออนไลน์และสำนักข่าวต่างๆ ว่า ไม่เอาๆ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ต่างยกเหตุผลเทียบชั้นชื่อต่อชื่อ นฤมลยังเป็นรองทีม 4 กุมาร

 

สื่อหลายสำนักพยายามบอกว่านฤมลเคยทำงานการเมืองที่กระทรวงการคลัง เป็นคนคิดมาตรการ “บัตรคนจน” ซึ่งวงในยืนยัน บัตรคนจนคิดค้นจากทีมข้าราชการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นผลงานวิชาการ ‘เงินโอน แก้จน คนขยัน (Negative Income Tax : NIT)’ ที่เสนอในสมัยอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เป็นข้อเสนอตั้งแต่ยังไม่มีพรรค พปชร. ก่อนนฤมลจะเข้ามาทำงานที่กระทรวงการคลัง ซึ่งอภิศักดิ์เห็นด้วยและผลักดัน เพราะต้องการช่วยเหลือประชาชนให้ถูกฝาถูกตัว ลดการรั่วไหล ทำให้ประหยัดงบประมาณ โดยได้นำเรื่องบัตรคนจนไปเชื่อมกับนโยบายอีเพย์เมนต์ที่อภิศักดิ์ประกาศผลักดันตั้งแต่วันที่เข้ามารับตำแหน่งเพื่อลดการใช้เงินสดลง แต่แบงก์อิดออดเข้าร่วม เพราะค่าต๋งลดลงไป บัตรคนจนเป็นโครงการบัตรเดบิตขนาดใหญ่ จึงช่วยผลักดันให้เกิดเป็นอีเพย์เมนต์ ดังนั้น คนผลักดันคืออภิศักดิ์ ไม่ใช่นฤมล

โดยนฤมลเคยทำงานในฐานะผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยอภิศักดิ์เป็นขุนคลัง ด้วยความเป็นส่วนตัว อภิศักดิ์ไม่ชอบยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เมื่อพรรค พปชร.นำเรื่องบัตรคนจนชูเป็นผลงาน ต้องลงพื้นที่เอาใจประชาชน

อภิศักดิ์จึงมอบให้นฤมลเป็นผู้ดำเนินการแทน

ในการหาเสียงนอกจากบัตรคนจนของ พปชร. ชูนโยบายมารดาประชารัฐ นโยบายลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง 10% มีเสียงแว่วมาว่าคิดโดยนฤมล จนถึงล่าสุด 2 นโยบายดังกล่าวยังไม่สามารถดำเนินการเป็นรูปธรรม เพราะผลการศึกษาและพิจารณาพบว่าทำจริงอาจสร้างผลกระทบต่อรายได้รัฐบาลอย่างมหาศาล ได้ไม่คุ้มเสีย แม้อุตตมพยายามผลักดันในช่วงที่มารับตำแหน่งใหม่ๆ แต่สุดท้ายต้องถอย เมื่อได้เห็นผลกระทบจะเกิดขึ้น

มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่นฤมลพยายามให้กระทรวงการคลังลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ผ้าอนามัย ตรงนี้อาจเกี่ยวข้องกับกรณีเกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ เข้าใจผิดเกี่ยวกับการเก็บภาษีผ้าอนามัย ถูกจัดในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือยว่าต้องเสียภาษีสรรพสามิต ทั้งที่กรมสรรพสามิตไม่ได้เก็บภาษีดังกล่าว ตอนนั้น ภาษีผ้าอนามัยกลายเป็นกระแสใหญ่ และโยงการเมือง ช่วงนั้นนฤมลอยากดับกระแสร้อนภาษีผ้าอนามัย ด้วยการพยายามให้กระทรวงการคลังลดแวตให้

จึงวันนี้ภาษีผ้าอนามัยเงียบหายไป

 

ที่แน่ชัดอย่างไรก็มีการปรับ ครม.ตู่ 2/2 ผู้ที่จะมาคุมทีมเศรษฐกิจ จึงถูกจับตามอง เมื่อในพรรค พปชร.เปลี่ยนตัวบุคคลสำคัญ ผู้คุมทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ถูกคาดหวังต้องมีฝีมือพอสมควร เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะแย่สุดในประวัติศาสตร์

เห็นจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ลบหนัก 8.1% จากที่เคยประเมินไว้ ลบ 5.3% ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลก จนส่งออกยาก ภาคท่องเที่ยวหายหมด ตกงานเพิ่ม หนี้เสียแยะ จนกำลังเหลือน้อยนิด เศรษฐกิจจึงหดตัวมากกว่าเดิม

ตัวเลขจีดีพีลบ 8.1% เป็นตัวเลขต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ และเลวร้ายกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่จีดีพีลบ 7.6% เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้ กระทบวงกว้าง ตั้งแต่กิจกรรมเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก กระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ รูปแบบการทำธุรกิจ วิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน

ธนาคารโลกประเมินว่าโควิด-19 จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั่วโลกหนักที่สุดใน 100 ปี และลบถึง 5.2% นับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 2473 ส่วนการค้าโลกหดตัว 13.4% รุนแรงครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2552

เดิมหลายฝ่ายเคยหวังการเมืองไทยจากการเลือกตั้ง ทำให้เศรษฐกิจที่กำลังบอบช้ำกับปัญหาการเมืองในช่วงหลายปีก่อนดีขึ้น

หากการเมืองนิ่งจะทำให้มีเวลาในการจัดการโรคระบาด ดูแลเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนที่กระทบจากพิษโควิด-19

สุดท้ายการเมืองยังไม่มีวี่แววจะสดใส

สิ่งที่คิดคงไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง ล่าสุดเกิดปัญหาการเมืองจากพรรคแกนนำรัฐบาล ถ้ารุนแรงมากไปกว่านี้ ผู้นำไร้ฝีมือ ผสมโรงกับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 อาจทำให้เศรษฐกิจไทยกู่ไม่กลับ

ช่วงเกิดโรคระบาดแทนที่นักการเมืองจะมุ่งแก้ปัญหาปากท้อง แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ช่วยเหลือประชาชน แต่กลับมาแย่งอำนาจ จนทำให้ประชาชนเอือมระอา

สุดท้ายหวังภาวนาให้บรรดานักการเมืองนึกถึงประเทศชาติและเศรษฐกิจไทย มากกว่าอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัว

            รวมถึงหวังให้หน้าตาทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ไม่ “ยี้” เพื่อรับมือวิกฤตในรอบ 100 ปี