รายงานพิเศษ/ โชคชัย บุณยะกลัมพ/มหาอำนาจเร่งวิจัย 6 G ชิงความได้เปรียบสงครามการค้า

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

มหาอำนาจเร่งวิจัย 6 G

ชิงความได้เปรียบสงครามการค้า

เทคโนโลยีสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่โทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคแรก ซึ่งใช้งานระบบอะนาล็อก จนถึงยุคปัจจุบันที่โทรศัพท์กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม

การใช้งานอินเตอร์เน็ตเป็นไปด้วยความรวดเร็วและแพร่หลาย

อย่างไรก็ตาม ความต้องการในการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงรองรับการใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อสนองต่อการพัฒนาสังคมดิจิตอล สามารถรองรับการใช้งานที่ต้องการอัตราการส่งข้อมูลที่สูง รองรับอุปกรณ์เชื่อมต่อกับระบบจำนวนมหาศาล รวมทั้งยังสามารถนำมาใช้ในกิจการที่ต้องการการส่งข้อมูลที่รวดเร็วและทันที โดยเฉพาะกิจการที่ต้องการความแม่นยำสูง

เพื่อการรองรับการใช้งานเหล่านี้ได้ จำเป็นต้องใช้เทคนิคใหม่ๆ รวมถึงจำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ในปริมาณมากขึ้น

 

จากระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ผ่านมา ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการรองรับการติดต่อสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลของคนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

แต่ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับความต้องการในการติดต่อสื่อสารของสรรพสิ่งในภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจ เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง ภาคการเงิน หรือภาคของสื่อ

แนวโน้มอุตสาหกรรมจะมีการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ในการทำงานแบบอัตโนมัติจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ และถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี

อุตสาหกรรมจะมีความแข็งแกร่งขึ้น รวดเร็วขึ้น และฉลาดขึ้น

เทคโนโลยีสื่อสารจะไม่เป็นเพียงแค่ส่วนประกอบหนึ่งในวิถีชีวิตของเราอีกต่อไป แต่จะเป็นสิ่งจำเป็นที่เราขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน

รวมทั้งจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการรวบรวมข้อมูลเป็นฐานความรู้ขนาดใหญ่

ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะในด้านเศรษฐกิจหรือสังคม

และจะมีบทบาทสำคัญในด้านต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม ยานยนต์ การขนส่ง สิ่งก่อสร้าง พลังงาน การเงิน สุขภาพ อุตสาหกรรมการผลิตการบันเทิง ความมั่นคงปลอดภัย

 

ขณะที่หลายประเทศเริ่มกำลังพัฒนาเทคโนโลยี 5 G

แต่มีประเทศมหาอำนาจได้วิจัยเรื่อง 6 G กันแล้ว

เพื่อชิงความได้เปรียบและสร้างมาตรฐานให้กับเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคต่อไป ถึงแม้ว่ายังไม่ได้กำหนดมาตรฐานของเทคโนโลยี 6 G แต่คาดการณ์ว่าในปี 2023 จะมีความชัดเจน และการใช้งานเทคโนโลยี 6 G ในเชิงพาณิชย์ได้จริงอีก 7 ปีข้างหน้า หรือในปี 2027

เริ่มจากเกาหลีใต้ที่ตั้งเป้าจะเป็นประเทศแรกที่ให้บริการ 6 G

สองบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของประเทศ ทั้ง SAMSUNG และ LG ตั้งศูนย์วิจัยในกรุงโซลแล้ว อาจใช้งบประมาณในการวิจัยกว่า 976 พันล้านวอน หรือประมาณ 2.52 หมื่นล้านบาท

จีนเองก็มี Huawei เริ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี 6 G ในการพัฒนาโครงข่ายและสถานีฐานวิจัย คาดว่าจะเริ่มวิจัยในเดือนพฤศจิกายนนี้

ญี่ปุ่นเองก็ประกาศแผน Beyond 5 G เพื่อรุกเทคโนโลยีฐานและอุปกรณ์เครือข่าย รวมถึงผลักดันบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นในการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีคมนาคม

เพื่อความหวังว่าจะสามารถกลับมาชิงส่วนแบ่งด้านเทคโนโลยี 6 G ตั้งเป้าว่าจะต้องมีส่วนแบ่งการตลาดของอุปกรณ์ส่งสัญญาณ 6 G ประมาณ 30% จากที่ปัจจุบันญี่ปุ่นสามารถมีส่วนแบ่งการตลาดอุปกรณ์ได้เพียง 2% เท่านั้น

และที่ขาดไม่ได้คือ สหรัฐอเมริกาก็ต้องการเป็นผู้นำด้าน 6 G เช่นกัน ด้วยการพัฒนาชิพประมวลผลสำหรับใช้ในสถานีฐาน 6 G

 

ในเบื้องต้น 6 G น่าจะทำความเร็วได้มากกว่า 1 เทเลบิตต่อวินาที เร็วกว่า 5 G ถึง 10 เท่า คาดว่าน่าจะได้เห็นมาตรฐานเครือข่ายความเร็วของ 6 G ที่ประกาศในปี 2023 และจะเปิดใช้งานได้เร็วที่สุดในปี 2027

สงครามการค้าแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดของอุปกรณ์ส่งสัญญาณ 6 G  ที่ญี่ปุ่นคาดหวัง แต่ยังรวมไปถึงการเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นต้องการเป็นเจ้าของสิทธิบัตรให้ได้ 10% จากที่ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นเจ้าของสิทธิบัตรในเทคโนโลยี 5 G เพียง 5.5% เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่า Samsung จากเกาหลีใต้ที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตร 5G 8.9% Huawei จากจีน 8.3% และ Qualcomm จากสหรัฐ 7.4%

ดังนั้น การแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่พัฒนาได้ไวและเร็วที่สุด พัฒนาการความท้าทาย จะกลายเป็นสงครามในรูปแบบไร้สาย หรือ “สงครามเทคโนโลยี”

ใครจะครองตลาดในอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะกลายเป็นชาติมหาอำนาจที่มีบทบาทสำคัญในเวทีการค้าการลงทุนระดับโลก “เจ้าแห่งเทคโนโลยี”