วิกฤตศตวรรษที่21 : มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น : จากเติ้งเสี่ยวผิงถึงสีจิ้นผิง

ยูเรเซียในมุมมองของจีน-จากเติ้งเสี่ยวผิงถึงสีจิ้นผิง

ความคิดปักหมุดที่ยูเรเซียของจีน มีความชัดเจนในสมัยสีจิ้นผิง (ขึ้นสู่การนำปี 2012 ถึงปัจจุบัน) ซึ่งเป็นการสืบทอดนโยบายมาตั้งแต่สมัยเติ้งเสี่ยวผิง (1978-1992) ลำดับพัฒนาการทางความคิดของฝ่ายนำจีน

สรุปได้ดังนี้

สมัยเหมาเจ๋อตง จีนวางตัวเป็นประทีปแห่งการปฏิวัติสังคมนิยมสำหรับโลกที่สาม ต่อต้านทั้งโลกสังคมนิยมที่นำโดย สหภาพโซเวียต และโลกทุนนิยมที่นำโดยจักรวรรดินิยมอเมริกา

สมัยเติ้งเดินหนทางทุนนิยม เข้าร่วมเวทีโลกที่นำโดยสหรัฐ

สมัยสีจิ้นผิง จีนแสดงบทบาทในการดูแลเวทีโลกและขับเคลื่อนกระบวนโลกาภิวัตน์

ทฤษฎีเติ้งประกอบด้วยเนื้อหาสำคัญคือ

AFP PHOTO / POOL / Lintao Zhang


1)นโยบาย “สี่ทันสมัยใหม่” (1978) ได้แก่

(ก) อุตสาหกรรมทันสมัย เข้าร่วมระบบเศรษฐกิจโลก นโยบายเปิดประตูสำหรับนักลงทุนภายนอกโดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป การเติบโตทางเศรษฐกิจ จากการส่งออก สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ลดบทบาทของรัฐวิสาหกิจ เพิ่มความสำคัญแก่ตลาดและวิสาหกิจ ที่ไม่ใช่ของรัฐ สร้างวิสาหกิจในระดับหมู่บ้านและเมือง

(ข) การเกษตรทันสมัยเลิกระบบคอมมูน สร้างระบบครอบครัว รับผิดชอบ ใช้เทคโนโลยีทันสมัยเพิ่มผลผลิตต่อหน่วย เปิดให้เกษตรกรสามารถเช่าที่ดินระยะยาว 50 ปี

(ค)วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทันสมัย การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้วยประการต่างๆ ออกกฎหมายสิทธิบัตร ตั้งเป้าให้จีนมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเทียบเท่าระดับโลก

(ง) การทหารทันสมัย ทำให้การทหารเป็นเชิงอาชีพ ไม่ใช่ทหารแดงแบบเดิม เพิ่มค่าตอบแทนแก่ทหารให้ใกล้เคียงกับพลเรือน ปรับการจัดตั้งและการบังคับบัญชาใหม่ให้เป็นเอกภาพ และบูรณาการเข้าด้วยกัน

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับสี่ทันสมัยบางประการ ได้แก่

(ก) นโยบายนี้ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ช่องว่างทางสังคม การคอร์รัปชั่นและการเสพติดความเติบโต

(ข) การทำสี่ทันสมัยนี้ถึงปัจจุบันก็ยังทำอยู่ เช่น มีข่าวว่าจีนจะลงทุนด้านการเกษตรอีก 450 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2020 เพื่อพัฒนาการเกษตร (ดูรอยเตอร์ 04.09.2016)

(ค) มีการทำให้ทันสมัยอีกอย่างที่เพิ่มความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ คือการเงินทันสมัย เช่น การตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB)

(ง) มีการรับช่วงและขยายผลงานต่อเนื่อง เช่น นโยบายมุ่งตะวันตก สู่โครงการ “ถนนแพรไหมใหม่” ของสีจิ้นผิง

2)สี่หลักการใหญ่ ได้แก่

(ก) รักษาหนทางสังคมนิยม เช่น ระบบตลาดแบบสังคมนิยม สังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีน

(ข) ยึดมั่นในเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ภายหลังแก้ไขให้อ่อนลงว่า เผด็จการประชาธิปไตยประชาชน เมื่อถึงสมัยสีจิ้นผิงมีการพูดถึงเรื่องการเป็นประชาธิปไตยแบบจีนและการปกครองของกฎหมายมากขึ้น

(ค) ยึดมั่นในการนำของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นหลักการที่ปฏิบัติสืบทอดมั่นคงที่สุดจนถึงปัจจุบัน และมีการแก้ไขลักษณะของพรรคเป็นแบบ “สามตัวแทน” ในสมัยเจียงเจ๋อหมิน

(ง) ยึดมั่นในลัทธิมาร์กซ์-ลัทธิเลนิน ความคิดเหมาเจ๋อตง ในสมัยสีจิ้นผิง มีการเพิ่มคุณค่าวัฒนธรรมจีนเดิมขึ้นโดยเฉพาะลัทธิขงจื๊อ ชี้ว่าลัทธิขงจื๊อใหม่มีบทบาทในการช่วยสร้างสันติภาพและการพัฒนาในโลกได้ ทั้งนี้ โดยอาศัยพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นผู้สืบทอดและส่งเสริมวัฒนธรรมเดิมอันละเอียดอ่อนของจีน

(ดูบทความของ Jin Kai ชื่อ The Chinese Communist”s Party Confucian Revival ใน thediplomat.com 20.09.2014)


3)คำชี้แนะบางประการ

(ก) “ให้บางคนรวยก่อน” ชี้นำในการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ

(ข) “ไม่ว่าแมวขาว หรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี” “หาสัจจะจากความเป็นจริง” ชี้นำให้ยึดมั่นในการปฏิบัติและผลของมัน ไม่ใช่อุดมการณ์

(ค) “สุขุม ซ่อนตัว ไม่นำ คิดใหญ่” ชี้นำการปฏิบัติตัวในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อลดทอนการต่อต้านจากมหาอำนาจ การหวาดระแวงจากประเทศเพื่อนบ้าน จนมีการสร้างคำขวัญเรื่อง “การรุ่งเรืองอย่างสันติของจีน” (2004 สมัยประธานาธิบดีหูจิ่นเทา) “โลกบรรสาน” (2005 หูจิ่นเทาปราศรัยที่องค์การสหประชาชาติ ก่อนหน้านั้นเสนอ “สังคมบรรสาน”) เป็นต้น

แต่เมื่อถึงสมัยสีจิ้นผิง จีนใหญ่เกินกว่าที่จะซ่อนตัว จำต้องก้าวออกมามีบทบาทนำ ในโลกที่มีความปั่นป่วน ทั้งทางเศรษฐกิจ สงคราม การก่อการร้าย ความคิดแบ่งแยกดินแดน ลัทธิสีจิ้นผิงและยูเรเซีย

สำหรับผู้สนใจในรายละเอียดว่าความคิดของสีจิ้นผิงเป็นอย่างไร ควรจะได้อ่านหนังสือของเขาฉบับแปลเป็นไทย ชื่อ “สีจิ้นผิง : ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน (ตุลาคม 2016) รวมงานที่ประกอบด้วยสุนทรพจน์ ถ้อยแถลง ปาฐกถา บทสัมภาษณ์ โอวาท คำชี้แนะ เป็นต้น ตั้งแต่เริ่มเข้ารับตำแหน่งบริหาร เดือนพฤศจิกายน 2012 ถึงเดือนมิถุนายน 2014 (ดูบทความของ พนิตา สงวนเสรีวานิช ชื่อ “สีจิ้นผิง : การบริหารประเทศ” ใน นสพ.มติชนรายวัน 10 ต.ค. 2559)

ในที่นี้จะกล่าวพอสังเขป โดยเน้นในด้านภูมิรัฐศาสตร์ยูเรเซีย

อนึ่ง ควรอธิบายเกี่ยวกับ “ลัทธิ” บางประการดังนี้คือ

(ก) ลัทธิทั้งหลาย หากมีการนำมาปฏิบัติจริงย่อมมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้สอดรับกับความเป็นจริง

(ข) ลัทธิหนึ่งดำรงอยู่ในกลุ่มของลัทธิจำนวนมาก ต่างแข่งขันหาพันธมิตรและปรับปรุงตัวเพื่อความอยู่รอด สิ่งที่ลัทธิอื่นทั้งที่เป็นมิตรและปรปักษ์มองเห็นมีความสำคัญไม่แพ้เนื้อหาที่ลัทธินั้นนำเสนอ

กล่าวอย่างสั้นคือลัทธิมีเลือดเนื้อชีวิต เป็นพลวัตและจำต้องปรับตัวเสมอ

ลัทธิสีจิ้นผิงสรุปได้ดังนี้คือ

(1) ความฝันของชาวจีน เป็นอุดมการณ์ร่วมของประชาชนและประชาชาติจีน เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคมจำนวนมาก และการก้าวเดินต่อไป โดยเฉพาะเยาวชนต้องกล้าฝัน (เสนอ 2012) ใจความสำคัญคือการคืนพลังหรือฟื้นเยาวภาพของประชาชาติจีน ซึ่งรวมการปฏิรูปและการพัฒนาหลายด้านหลายประการไว้ด้วยกัน รวมทั้งด้านการทหาร

(2) การสร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างมหาอำนาจที่สำคัญกับสหรัฐ เพื่อการยอมรับผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย การพึ่งพากัน และการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน (เสนอ 2012) เมื่อถึงเดือนมกราคม 2017 ทรัมป์ที่กำลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และที่ได้แสดงความทดท้อการแบกภาระขับเคลื่อนกระบวนโลกาภิวัตน์ที่เปิดโอกาสให้ชาติอื่นตักตวงความมั่งคั่ง ต้องการหันมาใช้ลัทธิกีดกันการค้าเพื่อสร้างงานและความไพบูลย์ให้แก่สหรัฐ สีจิ้นผิงก็ได้ปาฐกถานำในที่ประชุม “สมัชชาเศรษฐกิจโลก” ประกาศว่าโลกาภิวัตน์เป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ และก็ไม่ได้สร้างปัญหามากมายอย่างที่กล่าวกัน สีเน้นว่า “เราจำต้องส่งเสริมการค้าและการลงทุน การเปิดเสรีและการสนับสนุนโดยผ่านนโยบายเปิดประตู ปฏิเสธลัทธิกีดกัน” และลงท้ายกว่า “(จีน) ไม่อิจฉาความสำเร็จของชาติอื่น และเราก็จะไม่บ่นว่าผู้อื่นที่ได้รับประโยชน์ เราต้อนรับทุกชาติขึ้นขบวนรถไฟด่วนแห่งการปฏิวัติของจีน” (ดูบทความของ Anna Bruce-Lockhart ชื่อ Top Quotes by China President Xi Jinping at Davos 2017 ใน weforum.org 17.01.2017)

(3) การรื้อฟื้นเยาวภาพของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีความสำคัญระดับต้น เพราะพรรคเป็นผู้ธำรงรักษาและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ-การเมืองของจีน ถ้าปราศจากการนำของพรรค ก็ไม่มีจีนที่มั่งคั่ง และเป็นประเทศพัฒนาแล้วเต็มตัวในอนาคต

การฟื้นเยาวภาพของพรรคกระทำได้หลายประการได้แก่

(ก) การสร้างเอกภาพทางนโยบาย ไม่ให้เกิดกรณี “ป๋อซีไหล” ที่ปฏิเสธการปฏิรูปเศรษฐกิจขึ้นอีก

(ข) การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ระบาดทั้งในพรรคและรัฐ

(ค) รับมรดกทางวัฒนธรรมที่มีค่าของจีนมาใช้ปฏิบัติ

(4) เส้นทางแพรไหมในศตวรรษที่ 21 หรือ “หนึ่งสายทาง หนึ่งถนน” เป็นโครงการใหญ่อเนกประสงค์ สนองตั้งแต่

(ก) ความฝันของชาวจีนที่จะได้เห็นประเทศจีนที่เคยเป็นศูนย์กลางโลก กลับมาเป็นศูนย์กลางใหม่อีกครั้ง

(ข) ฟื้นเยาวภาพทางเศรษฐกิจ สนับสนุนการค้าและการลงทุนที่เริ่มซบเซา ส่งเสริมการปฏิรูปเศรษฐกิจต่อไป และการทำให้การลงทุนในนโยบาย “มุ่งตะวันตก” โดยเฉพาะที่ซินเกียงและทิเบตคุ้มค่าขึ้น

(ค) การเข้าไปคุมพื้นที่ภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียกลาง เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง มหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดีย เพื่อต้านอิทธิพลสหรัฐ และคานอิทธิพลของรัสเซียพร้อมกัน

เส้นทางแพรใหม่มีทั้งทางบกและทางทะเล ทางบกผ่านไปทางเอเชียกลาง ถึงตะวันออกกลาง จนถึงยุโรปตะวันตกซึ่งเป็นข่าวอยู่มาก แต่ความสำคัญแท้จริงอยู่ที่ทางทะเล ได้แก่ พื้นที่ทางแปซิฟิกตะวันตก (ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้) และมหาสมุทรอินเดีย เพราะว่าการค้าของจีนเกือบทั้งหมดผ่านมหาสมุทรทั้งสองนี้ จีนได้ทำการค้าทางทะเลมาแต่โบราณ จากเมืองท่าสำคัญที่กวางตุ้งผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปซีลอน (ศรีลังกา) อินเดีย ตะวันออกกลาง จนถึงยุโรป (ดูบทความของ Ivon A. Donnelly ชื่อ Early Chinese Ships and Trade (เม.ย. 1925) ใน library.uoregon.edu)

ทั้งนี้ก็ควรถือว่าเส้นทางแพรไหมทางทะเลนี้เป็นเหมือน “ถนน” ในทะเล แต่การลงทะเลของจีนก็เผชิญกับการต้านทานใหญ่ที่แปซิฟิกตะวันตก เผชิญหน้ากับสหรัฐที่มหาสมุทรอินเดียสร้างความหวาดระแวงให้แก่อินเดีย

ในเส้นทางแพรไหมใหม่ จีนได้ทำเส้นทางลงมหาสมุทรอินเดียแล้วที่ประเทศพม่า เช่น ท่อก๊าซและการเข้าถึงเมืองท่า และจุดสำคัญอยู่ที่เมืองท่าน้ำลึกที่ชิตตะเว รัฐยะไข่ซึ่งรัฐบาลอินเดียก็มีความสนใจ และให้เงินช่วยเหลือขยายท่าเรือหลายร้อยล้านดอลลาร์

แต่ที่สำคัญกว่าคือโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน ซึ่งจีนถือว่าเป็นหัวขบวนของโครงการ “หนึ่งสายทาง หนึ่งถนน” จุดสำคัญอยู่ที่ท่าเรือกวาดาร์ ในทะเลอาหรับ ประเทศปากีสถาน ซึ่งจีนได้ครอบงำกิจการตั้งแต่ปี 2013

โครงการนี้ประกอบด้วยข่ายการขนส่งหลายแบบทั้งถนน รถไฟ ทางน้ำ มีการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าหลายแห่ง เป็นการปักหลักในมหาสมุทรอินเดียอย่างมั่นคงของจีน

ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน

กับเสียงสะท้อนจากปากีสถาน

ปากีสถานเป็นพันธมิตรที่สนิทที่สุดของจีน ได้รับการสนับสนุนจากจีนมายาวนาน โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน มูลค่า 51 พันล้านดอลลาร์ ที่คาดว่าจะยิ่งกระชับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น แต่ก็ยังก่อความหวาดระแวงขึ้นได้

ในที่นี้จะใช้รายงานข่าวและบทความในหนังสือพิมพ์ “รุ่งอรุณ” ซึ่งอยู่ในกลุ่มสื่อใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของปากีสถาน ในเดือนมีนาคม 2017

หนังสือพิมพ์ “รุ่งอรุณ” รายงานการชี้แจงของซีอีโอบริษัทไฟฟ้าระหว่างประเทศของจีนเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า “เรามาปากีสถานไม่ใช่เพียงเพื่อติดตั้งอุปกรณ์และหากำไร เราให้ความสำคัญอย่างสูงต่อการปรับปรุงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตระดับสูงของท้องถิ่น ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน” (ดูข่าวชื่อ Our interest in Pakistan is not focused on profit, says China”s top power sector boss ใน dawn.com 28.032017)

แต่ชนชั้นนำของปากีสถานส่วนหนึ่งไม่คิดเช่นนั้น ในเดือนตุลาคม 2016 วุฒิสมาชิก ตาฮีร์ มาชฮาดี ประธานกรรมาธิการวุฒิสภาด้านการวางแผนและพัฒนา กล่าววิจารณ์อย่างแรงว่า โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน อาจกลายเป็นเหมือนบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ที่เริ่มต้นด้วยการค้า ลงท้ายด้วยการยึดครองอินเดียเป็นอาณานิคม

ที่ประชุมคณะกรรมาธิการชุดนี้ตั้งประเด็นปัญหา เช่น

(ก) เหตุใดโครงการเกือบทั้งหมดในระเบียงเศรษฐกิจจึงใช้ทุนภายในประเทศ ไม่ใช่การลงทุนจากต่างประเทศ

(ข) เหตุใดโครงการผลิตไฟฟ้าบางแห่งไม่อยู่ในแผนของโครงการ แต่กลับถูก “ยัดไส้” เข้ามา

(ค) ปากีสถานต้องแบกภาระโครงการนี้มากเกินไป เงินกู้จากจีนก็ต้องจ่ายด้วยประชาชนที่ยากจนของปากีสถาน

(ง) โครงสร้างพื้นฐานที่สร้างที่เมืองท่ากวาดาร์ เป็นประโยชน์แก่รัฐบาลจีนและรัฐบาลปัญจาบ ไม่ใช่ชุมชนที่นั่น (ดูบทความของ Syed Irfan Raza ชื่อ “CPEC could become another East India Company” ใน Dawn.com 18.10.2016)

ในเดือนมีนาคม 2017 ผู้อำนวยการสภาธุรกิจปากีสถาน (คล้ายสภาอุตสาหกรรมของไทย แต่ตั้งในรูปบริษัท) นายเอห์สัน มาลิก สรุปปัญหาเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า

(ก) การสร้างงานมีความสำคัญเป็นอันดับแรกของประเทศแต่ไม่ได้กล่าวถึงเท่าที่ควรในโครงการนี้

(ข) ไม่ได้คาดการณ์ถึงการไหลเข้า-ออกของเงินทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้เท่าที่ควร เช่น มีการคาดว่ามีเงินไหลออกระหว่าง 3-5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี การส่งออกของเราในโครงการจะสูงถึงหรือไม่

(ค) การคำนวณด้านสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการนี้จะทำใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นสำคัญ ผลกระทบจะเป็นอย่างไร

(ง) นักลงทุนจีนจะได้ประโยชน์ในด้านภาษีพลังงาน และการอำนวยความสะดวกเป็นเวลา 20 ปี ขณะที่กิจกรรมของสหภาพแรงงานถูกจำกัด จะเป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจที่ดำเนินอยู่ในประเทศหรือไม่

นายมาลิกสรุปว่า มีแนวโน้มที่ผู้มีส่วนได้เสียจะมองโครงการนี้เหมือนเป็นม้าที่ได้เป็นของขวัญ

นั่นคือเราจะไม่เปิดปากตรวจดูสุขภาพความแข็งแรงของมัน แต่ “ม้าที่เป็นของขวัญก็อาจกลายเป็นม้าแห่งเมืองทรอยได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความโปร่งใส” (ดูบทความของ Afshan Subohi ชื่อ CPEC : Looking a gift horse in the mouth ใน dawn.com 27.03.2017)

ในโครงการใหญ่แบบนี้ มักปรากฏว่ามีบางคนได้มาก บางคนได้น้อย บางคนได้มาง่ายๆ บางคนได้มายาก และส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้อะไร ดังนั้น ย่อมก่อให้เกิดอิจฉา ความไม่พอใจ การเพ่งโทษ เป็นประเด็นจุดชนวนความปั่นป่วน ยุ่งยาก

ดังนั้น ถ้าจีนต้องการแสดงบทบาทผู้นำโลก ก็จำต้องปฏิบัติตัวมากกว่าเป็นพ่อค้านักลงทุนธรรมดา สหรัฐที่แสดงบทบาทนี้มาราว 70 ปีตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ขณะนี้เริ่มท้อใจแล้ว