‘บิ๊กตู่’ เข้าสภา นำของบ’64 วงเงิน 3.3 ล้านล้าน แจงขอกู้อีก 6 แสนล้านตั้งงบขาดดุล

“บิ๊กตู่” นำครม.เข้าสภา ของบ’64 วงเงิน 3.3 ล้านๆ แจงขอกู้อีก 6 แสนล้าน ตั้งงบขาดดุล ยันหนี้สาธารณะยังอยู่ในกรอบ รับ ศก.อาจทรุดอีก หากโควิดยืดเยื้อ

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่รัฐสภา เกียกกาย มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงินไม่เกิน 3.3 ล้านล้านบาท ในวาระแรก ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการทรวงกลาโหม ชี้แจงหลักการ และเหตุผล ตอนหนึ่งว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะติดลบร้อยละ 5-6 โดยมีสาเหตุหลักจากสงครามทางการค้า และผลกระทบการระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4-5 ของจีดีพี เทียบกับปี 2563 มีแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศภายหลังการระบาดของเชื้อโควิด-19 ผ่อนคลายลง รวมถึงการฟื้นตัวของรายได้จากการส่งออก การท่องเที่ยว การผลิตภาคเกษตร และแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ ทั้งการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบรายจ่ายประจำปี การเบิกจ่ายภายใต้พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อโควิด-19

“สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง มีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ หากสถานการณ์การระบาดเชื้อโควิดยืดเยื้อและมาตรการควบคุมของประเทศต่างๆ ขยายระยะเวลาออกไป หรือปัญหาในภาคการผลิตลุกลามไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินการคลังในต่างประเทศ รวมทั้งในกรณีที่มาตรการกีดกันทางการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะเดียวกัน มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในกรณีที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 สามารถยุติลงได้อย่างสิ้นเชิงภายในไตรมาสแรกของปี 2564” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร รวมสุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2,798,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.2 จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 121,000 ล้านบาท คงเหลือรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,677,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.9 ของจีดีพี เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีงบประมาณใช้จ่าย ในการดำเนินภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเหมาะสม

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า งบประมาณฯ ปี 2564 นั้น มีวงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท เป็นการดำเนินงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ 2,677,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก 623,000 ล้านบาท วงเงินงบประมาณดังกล่าวจำแนกเป็นรายจ่ายประจำ 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76.5 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน 674,868 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.5 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 99,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3 ของวงเงินงบประมาณ โดยหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีจำนวน7,018,731.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.7 ของจีดีพี อยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 และยืนยันว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ควบคู่ไปกับส่งเสริมการสร้างรายได้ของประชาชนเพื่อกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง โดยให้กระทรวงต่างๆ ดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนปฏิรูปประเทศ และนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ ความเป็นธรรมทางสังคม เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลังเป็นสำคัญ