คุยกับ “ยิ่งชีพ” iLaw มุมมองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นมาใน 6 ปี สังคมที่ไม่ปกติ ที่เขาพยายามกดให้เรารู้สึกว่า “ปกติ”

“ผมยังเห็นว่าทุกวันนี้คนไม่ได้ใช้ชีวิตปกติ แม้ว่าจะออกจากบ้านไปกินข้าว ไปทำงาน-กลับบ้านได้ ได้รับเงินเดือนบ้าง ไม่ได้รับเงินเดือนบ้าง แต่คนมีความรู้สึกอยู่ในใจตลอดเวลาว่าไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจหรือไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นที่เป็นปฏิปักษ์ แม้ว่าจะมีคนที่ยังแสดงความคิดเห็นอยู่ แต่เราก็ไม่แน่ใจว่าคนที่แสดงความคิดเห็นอยู่นั้นเขาได้ใช้มันอย่างเต็มที่หรือเปล่า เขาได้พูดทุกอย่างที่เขาคิดหรือเปล่า”

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw มองสภาวะการแสดงออกในยุครัฐบาลปัจจุบันที่หลายสิ่งหลายอย่างเสมือนถูกกดเอาไว้ ไม่มีใครได้แสดงออกแม้แต่กล้าลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาก็ตาม

ยิ่งชีพตั้งข้อสังเกตว่า การแสดงออกของประชาชนมีการระมัดระวังมาก หลายคนจึงเลือกที่จะ “เงียบ” บางคนอาจจะมีการด่าทอ จะมีการแสดงออกบางอย่าง แต่ก็เป็นสิ่งที่เขาพูดออกมาแล้วอาจจะมีบางอย่างที่อยู่ในใจที่ไม่ได้พูดอีกก็ได้

“สิ่งที่ผมสังเกตได้เลยว่าในสังคมปัจจุบันถ้าเรานั่งคุยกับใครก็ตามแล้วมีการเริ่มด่ารัฐบาลคุณประยุทธ์ มันจะมีชุดความคิดแซวกันว่าให้ระวังนะมีใครได้ยินหรือเปล่า เดี๋ยวโดนจับ หรือเวลาที่โพสต์ Facebook วิจารณ์รัฐบาล มีคนมาแซวว่าอยากจะกินโอเลี้ยงหรือข้าวผัดให้บอกไว้ได้”

“บรรยากาศที่ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้อำนาจแบบนี้มันมีอยู่อย่างปฏิเสธไม่ได้ วิธีการที่ คสช.มักจะทำ คือ สมมุติว่ามีคนด่ารัฐบาลเป็นล้านคน เขาก็ไม่จับทุกคนหรอก ไม่จำเป็นต้องจับเยอะเพราะต้องใช้ทรัพยากรตำรวจ ทหาร ศาล อัยการ เรือนจำมากขนาดนั้น เขาก็แค่ใช้วิธี “เชือดไก่ให้ลิงดู” คือเลือกจับบางคน”

“ซึ่งจากการติดตามดูเวลาเขาเลือกจับใครก็ไม่ได้มีเหตุผลอะไรในการเลือกว่าคนนี้พูดแรงกว่าคนนั้น คนนั้นพูดผิดชัดเจน จากคนที่ด่ากันเป็นแสนๆ จับมาปุ๊บก็มีการแถลงข่าวใหญ่โต เอาขึ้นศาลทหาร มีภาพนั่งโดยมีทหารยืนล้อม ทำแค่นี้คนก็กลัวแล้ว เขาก็ผลิตซ้ำสร้างบรรยากาศความกลัวขึ้นมาได้ โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องจับหมด ไม่จำเป็นต้องไปเคาะประตูบ้านทุกหลัง ซึ่งถือว่ามันก็สำเร็จ”

ชมคลิป

เมื่อถามว่าประชาชนทำอะไรได้

ผมก็ได้แต่บอกว่า “อย่ากลัว” เมื่อเขาอยากให้เรากลัว เราก็อย่าไปกลัว แต่คำว่าอย่ากลัวในที่นี้ไม่ได้แปลว่าต้องมุทะลุ ทำอะไรแบบไม่คิด เราเองก็ต้องทบทวนประเมินตัวเองว่า ควรแสดงออกด้วยเหตุและผลอะไร

เช่น รู้สึกว่าเรื่องนี้มันผิดจริงๆ ต้องด่าก็ต้องด่ามาแล้วเราก็ต้องประเมินว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่มันจะเกิดขึ้นกับเราได้ เราจะรับได้หรือไม่ หรือถ้าไม่ได้เราก็ลดเพดานลงมา

แต่จะว่าไป ตั้งแต่วันที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ครั้งที่ 1 ถึงยุคปัจจุบัน คนอาจจะว่าเขาจะหน้าด้านไม่ฟังเลย ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ตัวอย่างที่เห็นชัดอันหนึ่งคือ เรื่องการเคลื่อนไหววิจารณ์ผ่านสังคมออนไลน์ อย่างคัดค้าน CPTPP การสร้างโรงไฟฟ้า การจะซื้อนั่นซื้อนี่เมื่อมีกระแสมากมายรัฐบาลก็ถอยเหมือนกัน

ซึ่งในทางที่สมควรมันควรจะมีช่องทางที่เป็นทางการหรือช่องทางปกติให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นผ่านการเปิดช่องทางการรับฟังเสียงของประชาชน ส่งความคิดเห็นเข้ามาส่วนใหญ่ร้อยละเท่าไหร่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ รัฐบาลจึงถอนออกไป ซึ่งเป็นวิธีที่มองเห็นประชาชนมีพื้นที่ มีตัวตนอย่างเป็นทางการ

แต่ของเราใช้วิธีการ เช่น รมต.แกล้งลาป่วย ให้คนแจ้งถอนเรื่องออกไปแล้ว หรือแม้ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นสิ่งที่คนคิดกันไปเองเหมือนว่ารัฐไม่เคยพูด ออกแนวบ่ายเบี่ยง

แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีอีกหลายต่อหลายเรื่องที่ยังขยับไม่ได้ เพราะเสียงมันไม่ดังพอ หรือมันเป็นสิ่งที่เขา “ต้องการจะเอาให้ได้”

ตัวอย่าง เช่น แผนยุทธศาสตร์ 20 ปีมีคนด่าอยู่มากมาย แต่เขารู้สึกว่าเขาจะต้องเอาให้ได้เพราะว่านี่คือเครื่องมือที่ทำให้เขาได้อยู่ยาวได้อยู่ต่อ

ดังนั้น การด่าวิจารณ์หนักจากทุกภาคส่วนสังคมขนาดไหนก็ยังคงเปลี่ยนแปลงไม่ได้

ขณะเดียวกันในหมู่ประชาชนก็มี “ขบวนการล่าแม่มด” ผมก็มองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่ากังวล เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าการล่าแม่มดมันมีประสิทธิผลระดับหนึ่งที่ทำให้คนบางคนเลือกที่จะไม่พูดอะไรออกมาดีกว่า เพราะว่ากลัวการถูกตามล่าและชีวิตจะวุ่นวายเดือดร้อน

หลายๆ ครั้งจะเห็นว่าคนที่ถูกล่าแม่มดหรือคนที่ถูกเอาข้อมูลส่วนตัวออกมาเปิดเผย หลายคนไม่ได้ทำในสิ่งที่ผิดตามกฎหมายเลย

แต่การเอาเขาออกมาประจานบน Facebook หลายครั้งมันก็ไม่ได้นำไปสู่การดำเนินคดีทางกฎหมายเพราะว่าเขาไม่ได้ทำความผิด

แต่ทั้งมวลมันขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งทางจิตใจของคนที่ถูกล่าว่าเขาจะสามารถทนแรงเสียดทานจากอีกขั้วหนึ่งของสังคมได้มากขนาดไหน

บางคนแกร่งมาก ด่ามาด่ากลับ แต่บางคนพอโดนครั้งหนึ่งเงียบไปเลย คนรอบตัวก็ช่วยกันเงียบด้วย แล้วแต่วิธีการจัดการแต่ละคน

แต่ก็หวังว่าถ้าประเทศไทยเราจะมีระบบการเคารพสิทธิส่วนบุคคลมากกว่านี้ทั้งทางด้านกฎหมายและวัฒนธรรมอะไรแบบนี้ก็ไม่น่าจะเกิด

แล้วก็หวังด้วยว่าคนที่สนับสนุนคนที่โดนล่าแม่มดก็อย่าไปทำกลับ มันไม่ดีหรอก บางทีเราก็ชอบไปล่าคืน ก็ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรนอกจากจะเกลียดกันมากขึ้น

แต่ในบางครั้งมีการล่ากันถึงขั้นจะเอาบุคคลนั้นออกจากงาน ดังตัวอย่างที่เห็นกันหลายกรณี ซึ่งในทางกฎหมายก็เคลียร์อยู่ว่าถ้าคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้วถูกกลุ่มฝ่ายตรงข้ามเอาไปด่า บริษัทก็ไม่ได้มีอำนาจในการไล่ออกงาน

การไล่ออกจะต้องมีเหตุ เช่น ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย บางทีการแสดงความคิดเห็นมันไม่ทำให้นายจ้างเสียหาย มิหนำซ้ำคนที่เขาเห็นด้วยกับการแสดงความเห็นแบบนั้นอาจจะไปอุดหนุนด้วย

เพียงแต่ว่าบางบริษัทอาจจะหน้าบางเลือกตัดปัญหา เมื่อโดนกดดันก็ให้ออกพร้อมจ่ายค่าชดเชย มันก็เป็นผลกระทบที่ตามมาก็ไม่มีใครอยากจะเห็นหรอก

อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่ง iLaw ได้เปิดไว้คือสถิติการทำหน้าที่ของ ส.ว.ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีการขาดประชุมการลงมติกันเป็นว่าเล่น โดยเฉพาะคนที่มีตำแหน่งควบทั้งหลาย

ผมมองว่า ส.ว.ที่มีหน้าที่สำคัญ 2 ประการคือ การพัฒนากลั่นกรองกฎหมาย และการเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระหรือองค์กรอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ

ซึ่ง ส.ว.ควรเป็นองค์กรสูงสุดที่มีอำนาจในการตรวจสอบรัฐบาล

เราเองก็ดูเขา ในหลากหลายมิติว่าเขาพิจารณาเห็นชอบใครมาดำรงตำแหน่งอะไรไปบ้าง เขาพิจารณาไม่เห็นชอบไม่ให้ใครมาดำรงตำแหน่งอะไรบ้าง แต่ก็หาเหตุผลไม่ได้เพราะเขาไม่ได้เปิดเผยรายงานออกมา

เราก็จับตาดูว่าเขาผ่านกฎหมายอะไรไปบ้างด้วยมติเอกฉันท์ขนาดไหน ดูคำว่ามีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการเรื่องอะไร ทำเรื่องอะไร ลงพื้นที่ใช้งบประมาณไปเท่าไหร่ เราเองก็พยายามดู ส.ว.ในหลายมิติ

มองไปที่เรื่องการไม่เข้ามาทำหน้าที่ในการประชุมมันเป็นเรื่องที่คาดหมายได้อยู่แล้วว่า ส.ว.ที่เป็นผู้นำเหล่าทัพไม่มีเวลาว่างขนาดนั้นหรอก แต่ตำแหน่งที่ตั้งขึ้นให้ผู้นำเหล่าทัพมีทิศทางในทางการเมืองมากขึ้นก็ถูกแล้วที่เขาเหล่านั้นควรจะต้องเอาสมาธิและเวลาส่วนใหญ่ไปใช้ในการบริหารหน่วยงานของตัวเอง

ไม่ใช่เอาเวลาส่วนใหญ่มานั่งอยู่ในห้องประชุมสภาแล้วก็ปล่อยให้หน้างานปกติไปยังไงก็ได้ เขาเองก็รับเงินเดือนในฐานะผู้บัญชาการเหล่าทัพนั้น ซึ่งตัวเลขที่เราทำออกมาก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ผลว่ามันน่าจะเป็นแบบนี้ เราก็เลยเปิดเผยให้เห็นว่าคุณไม่ได้มาทำหน้าที่ ส.ว.หรอก แล้วคุณจะมาเป็น ส.ว.กันทำไม มันก็ไม่ควรจะต้องให้คนที่มีตำแหน่งอื่นอยู่แล้วมานั่งควบตำแหน่งอีก

สุดท้ายนี้ ผมก็รู้สึกว่าหลายคนก็เริ่มชินกับสภาวะทั้งหมดนี้ที่เขาพยายามสร้างเอาไว้ แล้วมันก็เลยเป็นหน้าที่ของคนที่ยังไม่ชินที่จะต้องช่วยกันพูดว่าสังคมแบบนี้มันไม่ปกตินะ

หลายเหตุการณ์ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคม แต่มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายพันหลายร้อยครั้งในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาจนคนเริ่มรู้สึกว่ามันเป็น “เรื่องปกติ”


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่