ต่างประเทศอินโดจีน : เมื่อแผ่นดินถูกจับจอง

ความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกิน พื้นที่ป่าของหมู่บ้านเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนดูเหมือนไม่มีวันสิ้นสุดที่กัมพูชา

ล่าสุด เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา องค์กรรณรงค์เพื่อสิทธิ 2 แห่งที่ปฏิบัติงานอยู่ที่นั่น ออกมากล่าวหาอีกครั้งว่า บริษัทข้ามชาติกำลังทำลายวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนพื้นเมืองเดิมลงอย่างเลือดเย็น

ผืนดินที่เป็นปัญหาในครั้งนี้ ไม่ได้มีขนาดเล็กๆ แต่เป็นผืนดินกว้างใหญ่เนื้อที่ 4,637.5 ไร่ ครอบคลุมถึง 4 หมู่บ้านในจังหวัดรัตนคีรี ทางตอนเหนือของประเทศ

เอควิเทเบิล แคมโบเดีย กับอินคลูซีฟ เดเวลอปเมนต์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไอดีไอ) กล่าวหาว่าบริษัทเอกชนต่างชาติเข้ามาทำลายพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเดิมเป็นป่าเขาและพื้นที่เพาะปลูกทำกินเล็กๆ น้อยๆ ของชาวบ้านจนเตียนโล่ง มีสภาพเหมือนที่เห็นอยู่ในภาพที่ตีพิมพ์ประกอบไว้ให้เป็นประจักษ์

ภูเขาสองลูก ซึ่งคนพื้นถิ่นให้ความเคารพนับถือมาเนิ่นนาน, พื้นที่ชุ่มน้ำ, พื้นที่ป่าสำหรับล่าสัตว์ และพื้นที่สุสานสำหรับกลบฝังวงศาคณาญาติมาโดยตลอด ตกอยู่ในสภาพเตียนโล่งหมดสิ้น

นอกจากจะเป็นการทำลายผืนป่าเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยไม้เติบใหญ่เต็มที่แล้ว ยังเป็นการสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและจิตใจของชาวบ้านเหล่านั้นมากมายมหาศาล คิดเป็นมูลค่าไม่ได้อีกด้วย

 

ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำการครั้งนี้คือ ฮองอันห์ยาลาย ยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจเวียดนาม ที่ลงทุนทั้งทางด้านอสังหาริมทรัพย์, เกษตรกรรม, พลังงานและสโมสรฟุตบอลระดับหัวแถวของประเทศ

เรื่องนี้เกี่ยวพันไปถึงธนาคารโลกด้วยอีกต่างหาก เนื่องจากบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) ที่เป็นส่วนลงทุนในเอกชนของธนาคารโลก มีสัดส่วนลงทุนอยู่ในวีพีแบงก์ และทีพีแบงก์ 2 ธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับฮองอันห์ยาลาย

ปัญหาพื้นที่ป่ารัตนคีรี เริ่มต้นจากสัมปทานเมื่อปี 2009 เมื่อฮองอันห์ยาลายได้สัมปทานพื้นที่สำหรับทำการเกษตรราว 19,000 เฮกตาร์ ซึ่งเดิมเคยเป็นของชุมชน 12 ชุมชนในรัตนคีรี

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อพบว่า ณ วันที่ 6 มีนาคมนี้ บริษัทสาขาของฮองอันห์ยาลาย 6 บริษัทเข้าไปจับจองพื้นที่รวมแล้วมากถึง 54,000 เฮกตาร์

พื้นที่ส่วนหนึ่งในจำนวนนี้เกิดจากการให้สัมปทานเพิ่มเติมในปี 2012 กระนั้น อีกหลายพันไร่ก็ไม่ได้อยู่ในสัญญาสัมปทานใดๆ และจำเป็นต้องคืนให้กับชาวบ้าน

ผู้ว่าราชการจังหวัดรัตนคีรีทำจดหมายไปยังกระทรวงเกษตร, ป่าไม้และประมง ยืนยันว่าบริษัทต้องคืนพื้นที่ให้กับชาวบ้าน 4 หมู่บ้าน คือมวย, อิน, มาส และกัก เพราะถูกบวกเพิ่มเข้าไปในสัมปทาน “อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม” เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง

เอียง วุทธี ประธานเอควิเทเบิล แคมโบเดีย ระบุว่า ก่อนหน้านั้นมีการเจรจากันหลายครั้ง มีอย่างน้อย 2 ครั้งที่ตัวแทนของบริษัท “วอล์กเอาต์” จากโต๊ะเจรจา

 

เดวิด เพรด ผู้อำนวยการของไอดีไอ ชี้ให้เห็นว่า ในเมื่อรู้อยู่แก่ใจว่าพื้นที่ผืนนี้ยังคงมีปัญหาขัดแย้ง ถึงขั้นมีการร้องเรียนไปที่รัฐบาลและที่ไอเอฟซี ทำไมบริษัทถึงต้องเข้าไปหักร้างถางพงเคลียร์พื้นที่ทั้งหมดด้วย?

ทั้งๆ ที่รู้ว่าปัญหาทั้งหมดยังจำเป็นต้องสะสางให้กระจ่างผ่านตัวแทนของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ตั้งแต่บริษัท, ตัวแทนรัฐบาล, ตัวแทนชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของไอเอฟซี ทำไมต้องเร่งทำลายผืนป่าทิ้งอย่างนี้? ทำไมบริษัทไม่ดำเนินความพยายามแม้แต่ครั้งเดียวที่จะยับยั้งการทำลายป่าของชาวบ้าน

เดวิด เพรด เชื่อว่าคำอธิบายเพียงอย่างเดียวที่พอจะเป็นเหตุเป็นผลได้ก็คือ นี่คือการตอบโต้ แก้แค้นชาวบ้านของบริษัท

ที่กระทำต่อชาวบ้านตาดำๆ อย่างเยือกเย็นและเลือดเย็นถึงขีดสุดนั่นเอง

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่