“คุก” ของใคร ครอบทับไว้เหนือ “หอคำ” | ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กรณีการสร้าง “คุก” หรือที่ภาษาเหนือเรียกว่า “คอก” ครอบทับ “หอคำ” (“คุ้มหลวง”) กลางเวียงมหานครเชียงใหม่นั้น เปรียบเสมือน “หนามยอกอก” ที่คอยทิ่มแทงจิตใจชาวเมืองเหนือมาตลอดหนึ่งศตวรรษเศษ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนเชียงใหม่เริ่มเคลื่อนไหวรณรงค์ขอย้ายคุก ซึ่งยังคงเหลือเฉพาะในส่วนของ “ทัณฑสถานหญิง” ให้ออกไปนอกเมืองตามอย่างทัณฑสถานชาย ณ พื้นที่ที่เหมาะสม

ไม่ใช่เอาคุกมาตั้งประจานไว้เด่นหราท่ามกลางแหล่งอารยธรรมอยู่เช่นนี้!

ปี พ.ศ.2544 ยุครัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เคยวางแผนให้ย้ายคุกดังกล่าวออกไปสร้างใหม่ที่อำเภอแม่แตง พร้อมกับมีโครงการให้รื้ออาคารทั้งหมดภายในคุกเพื่อจัดทำเป็น “ข่วงหลวง” หรือสวนสาธารณะลานคนเมือง

แต่จนแล้วจนรอดเกิดอะไรขึ้นก็ไม่ทราบ ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากกรมราชทัณฑ์ ทั้งๆ ที่เคยมีการจัดสรรงบประมาณก้อนแรกให้ดำเนินการย้ายนักโทษชายไปก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ไฉนยังคงเก็บนักโทษหญิงไว้ที่เดิม

ปริศนาเรื่อง “คุก” กับ “หอคำ” นี้ โคจรมาพัวพันกันได้อย่างไร ทำไมอยู่ดีๆ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เคยเป็นถึง “หอคำ” หรือปราสาทพระราชวังหลวง จึงถูกปรับเปลี่ยนสภาพจนตาลปัตรจากหน้ามือเป็นหลังเท้า กลายเป็น “คุก” ได้?

เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2468

หอคำ คุ้มหลวง เวียงแก้ว

ที่ตั้งของทัณฑสถานหญิงเมื่อครั้งอดีตย้อนกลับไปสู่ปี พ.ศ.1839 พระญามังรายปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ได้ใช้พื้นที่นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ จากแผ่นดินว่างเปล่าได้สถาปนาให้เป็นเขตพระราชฐาน หรือที่เรียกว่า “เวียงแก้ว”

ภายในเวียงแก้วเป็นที่ตั้งของ “คุ้มหลวง” หรือ “หอคำ” ซึ่งกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายทุกพระองค์ทรงประทับอยู่ที่นี่อย่างต่อเนื่องมาตลอด จนแม้กระทั่งช่วงที่เชียงใหม่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าและสยามสมัยต้นรัตนโกสินทร์แล้วก็ตาม บริเวณนี้ยังคงเป็นที่ตั้งของคุ้มหลวงอยู่

คำว่า “หอคำ” กับ “คุ้มหลวง” ตกลงจะใช้คำไหน เหมือนหรือต่างกันอย่างไรหรือไม่ ผู้รู้หลายท่านอธิบายไว้ชัดเจนว่า

สมัยก่อนนั้น ที่อยู่ของเจ้าเมืองในล้านนาเดิมเคยเรียกกันง่ายๆ ว่า “โรง” (อ่าน “โฮง”) อาจทำด้วยเครื่องไม้ หรือโรงดิน ค่อยๆ พัฒนามาเป็นอาคารที่ก่ออิฐถือปูน จึงเปลี่ยนไปเรียกว่า “หอ” ไม่เพียงแต่ชาวไทในล้านนาเท่านั้นที่เรียกวังว่า “หอ” แม้แต่คนไทอาหมแห่งรัฐอัสสัมของอินเดียตะวันออกซึ่งติดกับพม่า ก็เรียกที่อยู่ของเจ้าผู้ครองเมืองว่า หอนอน หรือ หอหลวง ด้วยเช่นกัน

ต่อมาคำว่า “โรง” ก็ดี หรือ “หอ” ก็ดี ถูกนำไปใช้เรียกอาคารอื่นๆ จนสับสนปนเปไปหมด เช่น โรงพระ หมายถึงกุฏิ หรือหอเจ้าที่ หอผี จึงทำให้มีการเปลี่ยนจาก “หอ” เฉยๆ เพิ่มฐานานุศักดิ์ขึ้นอีกนิดเพื่อแสดงความแตกต่างจากอาคารอื่นเป็น “หอคำ” หมายถึง “ปราสาททอง”

ส่วนคำว่า “คุ้มหลวง” ก็ใช้ในความหมายเดียวกันกับ “หอคำ” ทั้งเป็นคำที่ปรากฏในเอกสารตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ด้วย ซึ่งหมายถึง พระบรมมหาราชวัง นั่นเอง

หากใช้ว่า “คุ้ม” คำเดียว หมายถึงที่ประทับของเจ้านายองค์อื่นๆ ด้วยนอกเหนือจากกษัตริย์ คำว่าคุ้ม จึงหมายถึง “วัง” ในภาษาไทย กล่าวคือ คุ้มหรือวังมีได้หลายแห่งเพราะมีเจ้านายหลายคน

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุว่าพระญามังรายได้สร้างอาคารต่างๆ หลายหลัง กอปรด้วย หอนอน ราชวังคุ้มน้อย โรงคัล (สถานที่เข้าเฝ้า) โรงคำ (ท้องพระโรงที่เสด็จออกราชการ) เหล้ม (พระคลังมหาสมบัติ) ฉางหลวง (ที่เก็บเสบียง) โรงช้าง โรงม้า ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้รวมกันอยู่ในบริเวณหอคำ

ฉะนั้น คำว่าหอคำ จึงมีความหมายสองนัย นัยแรกหมายถึงเฉพาะหอที่ประทับ (คุ้มหลวง) ส่วนอีกนัยหมายถึงบริเวณทั้งหมดที่เป็นเขตพระราชฐานของกษัตริย์ (เวียงแก้ว)

สรุปแล้ว “คุ้มหลวง” กับ “หอคำ” มีความหมายเดียวกัน ชาวเชียงใหม่ ลำปาง (นครขนาดใหญ่) นิยมเรียกว่า “หอคำ” ตามภาษาเดิม ส่วนชาวล้านนาในนครขนาดเล็กลงมา เช่น ลำพูน แพร่ น่าน นิยมเรียกว่า “คุ้มหลวง” หรือ “คุ้มเจ้าหลวง”

อดีตทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่

คอกทับคุ้ม เท่ากับ “ขึด”!

และแล้ว การเข้ามาของระบอบการปกครองหัวเมืองประเทศราชในยุคมณฑลเทศาภิบาล สมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้จัดการรื้อคุ้มเจ้าหลวงหรือหอคำในล้านนาทิ้งลงหลายแห่ง เมื่อเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของแต่ละเมืองถึงแก่พิราลัย รัฐสยามได้ถือโอกาสส่งผู้ตรวจราชการมณฑลเทศาภิบาลเข้ามาดูแลหัวเมืองเหล่านี้แทนที่การแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครองค์ถัดไป

การปิดฉากบทบาททางด้านการบริหารบ้านเมืองของเจ้านายฝ่ายเหนือ ย่อมทำให้เกิดการอวสานของหอคำหรือคุ้มหลวงตามไปด้วย แต่แทนที่จะรื้อหอคำลงแบบธรรมดา หรือปรับเปลี่ยนไปเป็นศาลากลางจังหวัด ดังเช่นที่เมืองน่านและแพร่ แต่ในหลายเมืองกลับพบว่ามีการสร้าง “คุก” หรือ “คอก” ครอบทับพื้นที่หอคำเก่า

ปรากฏการณ์นี้ไม่น่าจะใช่เรื่องบังเอิญ เพราะไม่ได้เกิดขึ้นกับเชียงใหม่เพียงเมืองเดียวเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับนครลำปาง และลำพูนอีกด้วย

โชคดีที่นครลำปาง เทศบาลได้ทำการรื้อคุกที่มาตั้งประจานอยู่กลางเวียงเยื้องกับหอคำนั้นลงเสีย แล้วปรับพื้นที่ใหม่เป็นย่านตลาดร้านค้าทำให้พ้นจากสภาพทัศนะอุจาดไปได้แล้ว

ส่วนลำพูนนั้น คุกมิได้สร้างครอบทับ “คุ้มหลวง” หากแต่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น คุกยุคมณฑลเทศาภิบาลตั้งเด่นหราอยู่ตรงข้ามกับพระบรมธาตุหริภุญไชย ศูนย์รวมจิตใจชาวเหนือทั้งมวล โดยการรื้อ “วัดแสนข้าวห่อ” ซึ่งรัฐบาลยุคโน้นอ้างว่าบริเวณใจกลางเมืองเก่าลำพูนนั้นมีวัดเบียดแน่นมากเกินไป จึงได้วิสาสะทำการเปลี่ยนวัดให้กลายเป็นคุก

โดยหารู้ไม่ว่า การที่กลางเมืองลำพูนมีวัดชนวัดมากมายขนาดนี้ ก็เพราะคนในอดีตตั้งใจจะให้วัดพระธาตุหริภุญไชยเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางศาสนจักรแห่งลุ่มแม่น้ำโขง-สาละวิน จึงได้สร้างวัดบริวารรายรอบองค์พระธาตุซึ่งเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุไว้แปดวัด แทนการเผยแผ่ศาสนาไปยังทิศทั้งแปด ได้แก่

วัดช้างสี-ทิศเหนือ วัดศรีบุญเรือง-ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ วัดแสนข้าวห่อ-ทิศตะวันตก วัดไชยมงคล-ทิศตะวันตกเฉียงใต้ วัดสุพรรณรังษี-ทิศใต้ วัดธงสัจจะ-ทิศตะวันออกเฉียงใต้ วัดเปลือกเต้า-ทิศตะวันออก (ถูกรื้อไปแล้วกลายเป็นบ้านพักของสรรพากรจังหวัด) และวัดช้างรอง-ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

เหตุที่ไม่มีการศึกษาข้อมูลอย่างถ่องแท้ จึงได้มารื้อวัดแสนข้าวห่อ (รวมทั้งวัดเปลือกเต้า) ลง ทำให้วัดบริวารที่รายล้อมพระธาตุหริภุญไชยควรมีครบ 8 ทิศต้องเหลืออยู่เพียง 6 ทิศ!

วัดแสนข้าวห่อตกอยู่ในสภาพคุกอยู่นานหลายสิบปี จนกระทั่ง พ.ศ.2518 กรมศิลปากรมีดำริจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชยขึ้น จึงได้มีการย้ายเรือนจำออกไปสร้างใหม่ที่นอกเมืองแถวตำบลริมปิง

การสร้างคุกครอบทับหอคำเก่าที่เชียงใหม่และลำปาง หรือการเอาคุกมาวางประชิดกับองค์พระบรมธาตุศักดิ์สิทธิ์เช่นกรณีของลำพูนนั้น รัฐบาลสยามอ้างเหตุผลว่า เนื่องจากมีความจำเป็นต้องจัดให้นักโทษอาศัยอยู่ในบริเวณที่ใกล้กับศาลและสถานีตำรวจ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ล้วนมีที่ทำการอยู่กลางเวียง หากนักโทษจะหนีก็มิอาจรอดพ้นสายตาของทางการไปได้

แต่ทว่าในมุมมองของคนล้านนานั้น กลับเห็นต่าง คนที่มีอายุเกินครึ่งศตวรรษส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คุกที่เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เหล่านี้ แท้ที่จริงแล้ว ชาวสยามสร้างขึ้นเพื่อต้องการทำลายพระราชวังของกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายรวมไปถึงราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนของพระญากาวิละ

คนเหนือเรียกการกระทำเช่นนี้ว่า “ขึด”! กาลีบ้านกาลีเมือง หรือเสนียดจัญไร!

การเปลี่ยนหอคำให้กลายเป็นคุก ว่าไปแล้ว ก็คือการสร้างสัญลักษณ์ใหม่ขึ้นข่มขวัญคนพื้นเมือง เป็นการสาปให้เจ้าต้องกลายเป็นนักโทษชั่วนิรันดร์

คุกกลางเวียงจึงเท่ากับคมหอกที่ปักลงกลางอกของคนเมือง คือกรงที่ขังจิตวิญญาณของคนล้านนาไว้มิให้มีอิสรภาพ

ปัจจุบัน ชาวลำปาง ลำพูน ได้แปรสภาพคุกเป็นตลาดและพิพิธภัณฑ์แล้ว แต่สำหรับเชียงใหม่นั้น อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว และขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้อง

อดีตทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่
ภาพขยายแสดงพื้นที่เวียงแก้วและหอพระแก้วร้าง
การขุดค้นทางโบราณคดีที่ทัณฑสถานหญิงเดิม จ.เชียงใหม่ เพื่อตามหา “เวียงแก้ว” วังเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่