มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น : ยูเรเซียจากมุมมองของรัสเซียและจีน

ยูเรเซียจากมุมมองของรัสเซียและจีน

รัสเซียและจีนมีมุมมองต่อยูเรเซียต่างกับอเมริกา-อังกฤษ

เนื่องจากดินแดนนี้เป็นที่อยู่อาศัยของตน ดังนั้น ย่อมมีเป้าประสงค์สำคัญเพื่อการให้ดินแดนนี้สงบ มีการค้าไหลรื่น เกิดความไพบูลย์

ขณะที่สำหรับอเมริกา-อังกฤษ เป็นดินแดนขอบนอกที่ต้องการจะแผ่อิทธิพลเข้ามาครอบครองในรูปแบบต่างๆ มีความโน้มเอียงที่จะไม่สนใจว่าต้องก่อสงครามกี่แห่ง

มุมมองของทั้งสองกลุ่มนี้จึงขัดแย้งและยากที่จะพูดจาให้เข้าใจกันได้

สมรภูมิในยูเรเซียเป็นแนวรบที่ดุเดือดที่สุด

สงครามโลกครั้งที่สามที่หวาดเกรงกัน น่าจะมาจากการพิพาทในบริเวณนี้ที่จุดใดจุดหนึ่ง หรือหลายจุด แล้วลามไปทั่วโลก

รัสเซียที่ตั้งอยู่ใน “ดินแดนหัวใจ” ของยูเรเซีย ได้พัฒนาทฤษฎียูเรเซียขึ้นมาชุดหนึ่ง เป็นพื้นฐานแก่การดำเนินนโยบายทั้งภายในและต่างประเทศ ที่เป็นรูปธรรม เช่น การร่วมมือกับจีนก่อตั้ง “องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้” (2001 รวมตัวกันตั้งแต่ปี 1996 ในชื่อ “เซี่ยงไฮ้ห้า”) และสถาปนา “สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย” (ปี 2015 เริ่มเจรจากันตั้งแต่ปี 1994) ซึ่งเป็นแกนสำหรับการขยายความสัมพันธ์ทั่วโลก

สำหรับจีนนั้นอาศัยเส้นทางค้าเดิม ได้สร้างนโยบายและยุทธศาสตร์สำคัญ คือ “เส้นทางแพรไหมศตวรรษที่ 21” หรือ “หนึ่งทาง หนึ่งถนน”

จากความพยายามของแกนรัสเซีย-จีนดังกล่าว คาดกันว่าจะเป็นการเริ่มต้นของ “ศตวรรษแห่งยูเรเซีย” ขณะที่เป็นขาลงของเจ้าสมุทรอย่างอเมริกา-อังกฤษ

เราจะพบว่าทั้งรัสเซียและจีนมีความกล้าในการเผชิญหน้ากับอเมริกา และแสดงบทบาทบนเวทีโลกด้วยความมั่นใจขึ้น

ตัวอย่างหนึ่งดูได้จากคำปราศรัยของปูตินในการรับทูต 18 ประเทศกลางเดือนมีนาคม 2017 ความตอนหนึ่งว่า “รัสเซียค้านความพยายามใดๆ ที่จะทำลายความมั่นคงและสร้างความอ่อนแอแก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เพราะสิ่งนี้จะนำไปสู่ภาวะโกลาหลและสถานการณ์ที่ควบคุมได้ยากขึ้น และเลื่อนไหลไปสู่ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในโลก

เราสนับสนุนการปฏิบัติร่วมกันในการสร้างระเบียบโลกที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรม ที่มีพื้นฐานบนการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเข้มงวด นั่นคือบทบัญญัติแห่งองค์การสหประชาชาติ ยอมรับอย่างปราศจากเงื่อนไขต่อคุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรมและอารยธรรม อธิปไตยแห่งชาติ และสิทธิของประชาชาติทั้งหลายในการตัดสินอนาคตของตนอย่างเสรี โดยปราศจากการกดดันจากภายนอก”

(ดูบทความของ Paul Kaiser ชื่อ Putin Urges Nations to Reject “Chaos”. Join Russia in Creation of “Fair” World ใน russia-insider.com 16.03.2017)

เมื่อพิจารณาจากคำปราศรัยของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในพิธีปฏิญาณตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ (20.01.2017) จะพบว่าบรรยากาศและอารมณ์ความรู้สึกในสหรัฐ เต็มไปด้วยความหวาดกลัว ความผิดหวังไม่พอใจ กลับตาลปัตรไปอีกด้านอย่างเหลือเชื่อ

ทรัมป์ปราศรัยในช่วงเกริ่นนำว่า …ฟ้าใหม่ของอเมริกาเกิดขึ้นแล้ว เมื่อได้สลัดพ้นจากระบบอำนาจรัฐเดิม “ที่คุ้มครองแต่ตนเอง แต่ไม่ใช่พลเมืองและประเทศของเรา”

และว่า สหรัฐตกอยู่ในสภาพที่น่าเศร้าใจ

“เป็นเวลายาวนานหลายสิบปีแล้วที่เราได้สร้างความมั่งคั่งให้แก่อุตสาหกรรมต่างประเทศ แต่อุตสาหกรรมอเมริกันเสียเปรียบ เราช่วยสนับสนุนกองกำลังทหารต่างประเทศ ขณะที่เราปล่อยให้กองกำลังทหารของเราถูกลดอำนาจลงอย่างน่าเศร้าใจยิ่ง เราไปช่วยประเทศอื่นปกป้องเขตแดน แต่เราปฏิเสธที่จะปกป้องเขตแดนตนเอง เราใช้เงินนับล้านล้านดอลลาร์ในต่างประเทศ ขณะที่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของเรากำลังอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่และถดถอย เราช่วยให้ประเทศอื่นร่ำรวย ขณะที่ความร่ำรวย ความแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นในประเทศเราเหือดหายไป โรงงานปิดตัวเองทีละแห่ง และงานตามโรงงานถูกส่งไปให้ต่างประเทศทำโดยไม่มีการคำนึงถึงคนงานอเมริกันนับล้านๆ คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ความมั่งคั่งของชนชั้นกลางถูกขโมยไปจากครอบครัวอเมริกันและถูกกระจายไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก”

หลังจากกล่าวโทษระบบอำนาจเดิมในสหรัฐและประเทศทั่วโลกแล้ว ทรัมป์ก็ได้ประกาศว่า

“นับแต่วันนี้เป็นต้นไป จะมีเพียงอเมริกาเท่านั่นที่เป็นที่หนึ่ง (อเมริกาก่อนชาติอื่น) และผลประโยชน์ของอเมริกาจะมาก่อน ทุกการตัดสินใจในด้านการค้า ด้านคนต่างด้าว ด้านการต่างประเทศ จะถูกตัดสินเพื่อผลประโยชน์ของแรงงานอเมริกันและครอบครัวชาวอเมริกัน…การปกป้องคุ้มครอง (ลัทธิกีดกัน) จะนำไปสู่ความรุ่งเรืองและความแข็งแกร่ง…อเมริกาจะเป็นผู้ชนะอีกครั้งและจะชนะอย่างที่ไม่เคยชนะมาก่อน”

ทรัมป์ปิดท้ายว่า “เราจะทำให้อเมริกาแข็งแกร่งอีกครั้ง เราจะทำให้คนอเมริกันภูมิใจในอเมริกาอีกครั้ง เราจะทำให้อเมริกาปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง เราจะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง”

(ดูคำปราศรัยของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในพิธีปฏิญาณตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐ ใน voathailand 21.01.2017)


ยูเรเซียจากมุมมองของรัสเซีย

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย (1991) รัสเซียที่เป็นรัฐสืบทอดต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ที่มีการกล่าวถึงกันน้อย นั่นคือวิกฤติอุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ปฏิบัติมานานกว่า 70 ปีถูกทิ้ง ขณะที่หาอุดมการณ์ใหม่ยังไม่ได้

รัสเซียที่อ่อนแอภายใต้การนำของ บอริส เยลต์ซิน (1991-1999) ที่เกลียดชังคอมมิวนิสต์ เดินนโยบายเสรีนิยมแบบตะวันตกอย่างเต็มที่ หวังว่าจะเป็นหนทางให้รัสเซียกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง รับเอาลัทธิแอตแลนติกของสหรัฐและสหภาพยุโรป เช่น เข้าร่วมโครงการหุ้นส่วนสันติภาพของนาโต้ (ปี 1994)

และในปี 1997 ทำข้อตกลงนาโต้-รัสเซีย ที่จะร่วมมือทางการเมืองในระดับสูงสุดเพื่อ “สร้างสันติภาพที่ถาวรและทั่วถึงในภูมิภาคยุโรป-แอตแลนติก บนหลักการของประชาธิปไตยและความร่วมมือด้านความมั่นคง”

มีนักวิชาการบางคนวิเคราะห์ว่าลัทธิแอตแลนติกได้แปรโฉมเป็นลัทธิแอตแลนติกใหม่

ลัทธิแอตแลนติกเก่าเกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น มีเป้าหมายเพื่อปิดล้อมสหภาพโซเวียตไม่ให้มีอิทธิพลเลยเขตแดนยุโรปตะวันออก และรุกล้ำเข้าไปในยุโรปใต้และตะวันออกกลาง

แต่ลัทธิแอตแลนติกใหม่เกิดขึ้นหลังสงครามเย็น มีเป้าหมายเพื่อปิดล้อมรัสเซียรุกคืบเข้ามาในยุโรปตะวันออกและรัฐที่เคยร่วมสหภาพโซเวียต ลัทธิแอตแลนติกใหม่ย่อมปฏิบัติการต่างๆ เพื่อครอบงำรัสเซีย สร้างความยากลำบากใหม่แก่รัสเซีย และก่อให้เกิดการต่อต้าน (ดูบทความของ Richard Sakwa ชื่อ The New Atlanticism ใน globalaffairs.ru 21.09.2015)

แต่รัสเซียก็เรียนรู้อย่างรวดเร็ว ในเดือนพฤศจิกายน 2000 ประธานาธิบดีปูตินผู้นำคนใหม่ (ดำรงแหน่งประธานาธิบดีสองสมัย สมัยแรกระหว่างปี 2000-2008 กลับมาดำรงตำแหน่งนี้อีกครั้งในปี 2012 ถึงปัจจุบัน) กล่าวถึงรัสเซียแห่งยูเรเซีย รัสเซียที่เป็นส่วนหนึ่งของยูเรเซีย

ซึ่งเป็นสัญญาณว่ารัสเซียได้ค้นพบอาวุธทางอุดมการณ์ในการต่อสู้กับลัทธิแอตแลนติกของสหรัฐแล้ว แม้ว่าในตอนต้นจะปฏิบัติอย่างไม่ค่อยมั่นใจ

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาลัทธิยูเรเซียได้แก่ อเล็กซานเดอร์ ดูกิน (เกิดในครอบครัวทหาร ปี 1962) นักปรัชญานักสังคมวิทยาและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง มีประสบการณ์โชกโชน ได้พบปะกับผู้คนระดับนำหลากหลาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความซับซ้อนทั้งทางความคิด ทางวิชาการ และการปฏิบัติ รวมความคิดทั้งฝ่ายซ้าย เป็นกลาง ฝ่ายขวา หรือขวาใหม่ที่เห็นว่าเป็นขวาจัดเข้าด้วยกัน แต่สามารถนำเสนอให้เข้าใจง่ายสำหรับผู้คนทั่วไป

แรงบันดาลใจของดูกิน ได้แก่ สถานการณ์พิเศษของการล่มสลายของสหภาพโซเวียต การสร้างรัสเซียใหม่

และปรัชญาความคิดเบื้องหลังการเคลื่อนไหวทางของกลุ่มการเมืองและตัวบุคคลชั้นนำจำนวนหนึ่ง สามารถจำแนกได้เป็นสามส่วน ได้แก่

ก) ภายในประเทศ คือลัทธิบอลเชวิก มี เลนิน สตาลิน เป็นต้น เป็นตัวแทนลัทธิชาตินิยม ซึ่งตัวแทนที่มีชื่อ เช่น อเล็กซานเดอร์ โซลเซนิตซิน (1991-2008) ผู้ได้รางวัลโนเบลด้านวรรณกรรม ที่มีความคิดชาตินิยมเชิงวัฒนธรรม และเน้นประชาชน (Narod ในภาษารัสเซีย) ไม่ใช่มวลชน

ข) กระบวนขวาใหม่ในยุโรป ที่เริ่มเข้มแข็งขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ในหลายประเทศในยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เบลเยียม เป็นต้น ซึ่งเมื่อถึงทศวรรษ 1980 และ 1990 ก็ได้พัฒนาเป็นโครงข่ายระหว่างประเทศ ดูกินได้ใช้การเปิดประเทศสมัยกอร์บาชอฟเดินทางไปยุโรปในปี 1989 พบปะกับกลุ่มนำเหล่านี้ ร่วมสร้างเครือข่ายขวาใหม่ของยุโรป

ค) ลัทธิฟาสซิสต์-ลัทธินาซีกับปรัชญาของ มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (1889-1976) นักปรัชญาชาวเยอรมันผู้มีความคิดกว้างขวางลึกซึ้งกว่าลัทธินาซีที่เขาเข้าร่วมระหว่างปี 1933-1945 เป็นอันมาก

ความคิดของดูกินมีการพัฒนาและตกผลึกให้มีความลึกซึ้งและกว้างขวางอยู่สามขั้นด้วยกัน ได้แก่

(1) ลัทธิเชิงประชาชาติ โดยในปี 1993 เขาร่วมก่อตั้งกลุ่มลัทธิบอลเชวิกเชิงประชาชาติ ที่เสนอให้มีการรวมเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์กับลัทธิชาตินิยมของรัสเซียเข้าด้วยกัน เขายกย่องสหภาพโซเวียต แต่ก็สนับสนุนค่านิยมของครอบครัวและศาสนา เมื่อถึงปี 1997 เขาก็แยกจากกลุ่มนี้

(2) ลัทธิยูเรเซียใหม่ ดูกินได้อธิบายความคิดนี้ในหนังสือชื่อ “ภูมิรัฐศาสตร์พื้นฐาน-อนาคตทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซีย” (เผยแพร่ปี 1997) และได้พัฒนา เผยแพร่ ขยายเครือข่ายความคิดนี้เรื่อยมา จนมีอิทธิพลสูงในวงการการเมือง-การทหารในรัสเซีย

ดูกินชี้ให้เห็นความขัดแย้งและสงครามที่เลี่ยงได้ยาก ระหว่างอารยธรรมแห่งทะเล หรือลัทธิแอตแลนติกที่นำโดยสหรัฐ มีลักษณะเป็นทุนเสรีที่ปฏิเสธและทำลายประเพณีกับอารยธรรมแห่งแผ่นดิน ได้แก่ สังคมหลากหลายบนแผ่นดินที่มีประวัติเก่าแก่และประเพณีที่ยาวนาน

ลัทธิแอตแลนติกสามารถใช้ความคิด ปัจเจกชน เสรี ละลายพันธะและข้อผูกพันทางสังคม ลดทอนคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม และทำลายโครงสร้างทั้งหมดที่ทำให้สังคมประเพณีตั้งอยู่ได้ ทำให้อารยธรรมแผ่นดินอ่อนแอ ไม่สามารถต่อต้านการเข้าครองความเป็นใหญ่ของลัทธิแอตแลนติกได้

ทางแก้ก็คือ อารยธรรมแผ่นดินจะมีจิตสำนึกใน “พื้นที่อันกว้างใหญ่ที่มีการสัมพันธ์ทางอำนาจที่ซับซ้อน มี “แกนทางยุทธศาสตร์” และหน่วยย่อยลำดับชั้น ที่มีพื้นฐานบนวัฒนธรรมและประวัติที่ปกครองตนเอง” ศูนย์กลางมีหน้าที่ในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการทหารระหว่างหน่วยปกครองย่อยนี้

(3) “ทฤษฎีการเมืองที่สี่” ดูกินอธิบายในหนังสือชื่อ “ทฤษฎีการเมืองที่สี่” (เผยแพร่เป็นภาษารัสเซียปี 2009 แปลเป็นภาษาอังกฤษปี 2012) สรุปความได้ว่า ในโลกสมัยใหม่ มีอุดมการณ์สำคัญตามลำดับสามประการ ได้แก่ เสรีนิยม สังคมนิยม และลัทธิฟาสซิสต์ ซึ่งอุดมการณ์ทั้งสามได้เสื่อมถอย จำต้องหาอุดมการณ์ใหม่ที่เกิดจากการผสมอุดมการณ์ทั้งสามเข้าด้วยกัน

ซึ่งทฤษฎีการเมืองที่สี่ไม่เพียงใช้ได้กับรัสเซียเท่านั้น หากยังใช้ได้กับ “วัฒนธรรมและประชาชนอื่นทั้งในยุโรปและเอเชีย เป็นทฤษฎีที่ใช้เป็นอุดมการณ์ของ “สหภาพยูเรเซียใหม่” ได้ การเข้าถึงทฤษฎีการเมืองที่สี่ เริ่มต้นด้วยลัทธิบอลเชวิกเชิงประชาชาติ ทำให้สังคมนิยมเป็นอิสระจากแนวคิดวัตถุนิยม อเทวนิยม (ไม่ถือศาสนา)

รวมทั้งลักษณะสมัยใหม่ต่างๆ ที่ขาดจิตวิญญาณ ขณะเดียวกันก็ขจัดลัทธิเชื้อชาติ ลัทธิชาตินิยมที่คับแคบ (ดูบทความของ Andrey Tolstoy & Edmund McCaffray ชื่อ Mind Games : Alexander Dugin and Russia”s War of Ideas ใน worldaffairjournal.org มีนาคม/เมษายน 2015 บทปริทัศน์หนังสือ ชื่อ Aleksandr Dugin”s Foundations of Geopolitics โดย John B. Dunlop ใน www2.gwu.edu 31.01.2014 และบทปริทัศน์หนังสือ ชื่อ A Review of Dugin”s “The Fourth Political Theory” โดย James Heiser ใน thenewamerican.com 31.19.2014)

วิจารณ์กันว่าดูกินเป็นมันสมองของปูติน แต่ความจริงปูตินและดูกินน่าจะพึ่งพากันและกันมากกว่า

ดูกินที่ได้รับการสนับสนุนจากปูติน สามารถเผยแพร่อิทธิพลทางความคิดของเขาในวงการต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ

ปูตินอาศัยการเคลื่อนไหวของดูกินเพื่อสร้างกลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงที่เป็นแบบชาตินิยมและต่อต้านเสรีนิยมในประเทศ ทำให้ชนะการเลือกตั้งและความนิยมสูง

ในต่างประเทศอาศัยดูกินสร้างเครือข่ายลัทธิขวาใหม่ในการต่อต้านลัทธิเสรีนิยมของสหรัฐ พบว่านโยบายและยุทธศาสตร์ประการต่างๆ ที่เสนอในหนังสือ “ภูมิรัฐศาสตร์พื้นฐาน” สามารถทำให้เป็นจริงได้ง่ายขึ้นมาก โดยอาศัยขบวนขวาใหม่ในประเทศนั้นๆ เช่น

ก) การตัดอังกฤษออกจากยุโรป

ข) การสร้างแกนรัสเซีย-เยอรมนี

ค) การสร้างกลุ่มเยอรมนี-ฝรั่งเศส (เป็นไปได้เมื่อฝ่ายขวาใหม่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสองประเทศนี้)

ง) การผนวกยูเครน (ขณะนี้ทำได้เพียงผนวกคาบสมุทรไครเมีย)

จ) การสร้างแกนรัสเซีย-อิหร่าน ทำสำเร็จแล้ว

ฉ) ในสหรัฐ กระตุ้นปัญหาเชื้อชาติคนอเมริกัน-แอฟริกัน ตลอดจนปัญหาด้านชนชาติ การแบ่งดินแดน ความขัดแย้งทางสังคมและเชื้อชาติ (สำหรับการที่ทรัมป์ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีถือเป็นลาภลอยชิ้นใหญ่ของรัสเซีย)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงยูเรเซียจากมุมมองของจีน และสัญญาณสงครามการค้า