วิรัตน์ แสงทองคำ : Lalisa Manoban

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เรื่องราว “ดารา” สาว ผู้มีพื้นเพอีสาน เป็นปรากฏการณ์ยุคสมัย ว่าด้วยความสัมพันธ์ระดับโลกที่มีความซับซ้อน ซ่อนเงื่อน

จากเด็กสาวชาวบุรีรัมย์ ผู้มีบิดาบุญธรรมเป็นชาวสวิส สู่ดารา K-pop โด่งดังระดับโลก เป็นเรื่องดราม่าน่าทึ่ง

และดูดราม่ามากขึ้น เมื่อเธอเพิ่งเซ็นสัญญาเป็น brand spokesperson ให้กับผลิตภัณฑ์เครือข่ายธุรกิจใหญ่แห่งสหรัฐอมริกา ซึ่งปักหลักค้าขายในจีนแผ่นดินใหญ่

เรื่องราวที่เป็นไปในช่วงเวลาไม่ปกติอย่างยิ่ง

 

ข้าม “ระบบ” ไทย

ในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ซึ่งปะทุขึ้นในไทยเมื่อปี 2540 ใครๆ เรียกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ขณะขยายวงเชิงลบกว้างขวางพอสมควร ก็มีอิทธิพลเชิงสร้างสรรค์สัมพันธ์กันอยู่ด้วย

ลลิษา มโนบาล หรือ Lisa เกิดที่บุรีรัมย์ จังหวัดในภาคอีสานใต้ ใช้ชีวิตเยาว์วัยส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ กับมารดาและบิดาบุญธรรมชาวสวิส ผู้มีอาชีพเป็นเชฟ มีประสบการณ์ทำงานมาทั่วโลก ก่อนจะมาปักหลักในเมืองไทยในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูในก่อนหน้าวิกฤตการณ์ที่ว่าจะมาถึง

เธอมีการศึกษาแค่ระดับมัธยมในประเทศไทย พัฒนาตนเองควบคู่กับความฝันใฝ่ในอาชีพ ได้กำหนดเส้นทางชีวิตอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้น

เป็นแนวทางก้าวข้าม ทั้งระบบการศึกษาไทยพื้นฐานที่ควรเป็น ทั้งอุตสาหกรรมบันเทิงไทยซึ่งมีบุคลิกเฉพาะ ด้วยระบบที่ข้อจำกัด ทั้งโอกาสและมุมมอง

 

K-Pop

วัฒนธรรมซึ่งต่อยอดจาก Popular music ย้อนกลับไปยุคหลังสงครามเกาหลี ซึ่งได้แบ่งแยกเหนือ-ใต้ออกจากกัน ด้วยอิทธิพลที่มาจากโลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีฐานทัพในเกาหลีใต้ ต่อเนื่องมาอีกอย่างยาวนาน Korean pop หรือ K-Pop มีบุคลิกเฉพาะ ด้วยขยายจินตนาการแห่งนิยามที่กว้างออกไป

อันที่จริง K-Pop ปัจจุบัน ถือเป็นยุคใหม่ เริ่มต้นอย่างคึกคักในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 เช่นกัน หลังจากผลกระทบครั้งใหญ่จางหายไปพอสมควร K-Pop เฟื่องฟูอย่างชัดเจน ในราวๆ ปี 2546 ได้ขยายอิทธิพลข้ามน้ำข้ามทะเลสู่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนขยายตัวไปทั่วโลก เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ด้วยพลังเชิงขยายแห่งอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ หรือที่เรียกกันในภาพกว้างขึ้นว่า Korean Wave

Lisa เติบโตมาท่ามกลางอิทธิพล K-Pop ในเมืองไทยในเวลานั้น อายุเพียง 13-14 เธอได้โอกาสเข้าร่วมงานกับธุรกิจบันเทิงเกาหลีใต้ ว่าไปแล้ว YG Entertainment เพิ่งก่อตั้งในยุคใหม่ K-Pop คาบเกี่ยวกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจเดียวกันที่กล่าวถึงมาแล้ว

เมื่อเปรียบกับกรณีไทย อย่าง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถือว่า YG มาทีหลังนับทศวรรษ แต่ปัจจุบันด้วยโอกาสที่กว้างกว่า YG มีรายได้มากกว่าจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ราวๆ 30%

Lisa ผ่านระบบ K-Pop อันเข้มงวดในช่วงฝึกฝน เปิดตัวด้วยประสบความสำเร็จ โด่งดังอย่างรวดเร็วใช้เวลาพอๆ กันกับช่วงฝึกฝนราว 5 ปี เธอกลายเป็นดารา K-Pop ที่โด่งดังที่สุดในเวลานี้ตามมาตรฐานแห่งยุคสมัยใช้ social media

ขณะที่อาจถือได้ว่าเธอเป็นดาราไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุด อย่างที่ไม่มีใครทำได้มาก่อนในประวัติศาสตร์วงการบันเทิงไทย

 

K-Pop กับจีน

เมื่อจีนแผ่นดินใหญ่เปิดประตูกว้างขึ้น K-Pop ในกระแส Korean Wave ในเอเชียในช่วงปี 2552-2553 ได้ผนวกรวมจีนแผ่นดินใหญ่เข้าไปด้วย เป็นไปตามกระแสการเติบโตทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางการเกิดขึ้นและขยายตัวเป็นขบวนของบริษัทจีนยุคใหม่ ซึ่งมีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก

โดยเฉพาะโมเดล Alibaba และ Tencent ก่อตั้งขึ้นท่ามกลางช่วงเวลาพลิกผันและสับสนในภูมิภาค ช่วงเดียวกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” และการส่งคืน “ฮ่องกง” ให้ทางการจีน (ปี 2540) โดย Tencent ก่อตั้งขึ้น (ปี 2541) ก่อน Alibaba (ปี 2542) เพียงปีเดียว ทั้งสองอ้างอิงบางสิ่งจากโลกตะวันตก เพื่อ “ก้าวกระโดดครั้งใหญ่ เมื่อ Tencent เข้าตลาดหุ้นฮ่องกง (Stock Exchange of Hong Kong หรือ HKEX) ในปี 2547 …ขณะที่ Alibaba ก้าวไปขั้นใหญ่เข้าตลาดหุ้นนิวยอร์ก (New York Stock Exchange หรือ NYSE) ในปี 2557 กลายเป็นกรณีครึกโครม… กลายเป็นผู้นำ ผู้กำกับ สื่อใหม่ในสังคมจีน Weibo แอพพลิเคชั่น Social media ของ Alibaba เปิดบริการในจีนปี 2552 ขณะ WeChat ของ Tencent เปิดตัวขึ้นในปี 2554” (อ้างจาก “ค้าปลีกออนไลน์จีน” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13-19 กันยายน 2562)

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าความสัมพันธ์ระหว่าง K-Pop กับจีนจะราบรื่น ความคุกรุ่นในคาบสุมทรเกาหลีในปี 2559 เกิดขึ้น จนทำให้เกาหลีใต้จำต้องติดตั้งระบบอาวุธป้องกันขีปนาวุธ ซึ่งจัดซื้อมาจากสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า Terminal High Altitude Area Defense (THAAD) สร้างความไม่พอใจให้จีนอย่างมาก ถึงขั้นแบน K-Pop จนมีอาการซวนเซไปบ้างเป็นปี

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Lisa เข้าจีนได้ ในบทบาทหลากหลาย กลายเป็นจุดเริ่มต้นใหม่อย่างจริงจัง กระแส K-Pop ขึ้นสูงในจีนแผ่นดินใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

 

P&G ในจีน

Procter & Gamble Company (P&G) เครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ของโลกในสินค้าคอนซูเมอร์ ก่อตั้งมากว่าศตวรรษในสหรัฐอเมริกา มีสินค้าแบรนด์ต่างๆ มากกว่า 300 รายการ ด้วยเครือข่ายทั่วโลกไม่น้อยกว่า 80 ประเทศ เข้าสู่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่ในปี 2530 ในยุค Deng Xiaoping ผู้สถาปนาแผนการใหญ่อันพลิกผัน เปิดประเทศจีน นำพาสู่ความทันสมัย

ในที่สุด P&G กลายเป็นหนึ่งในฐานะผู้นำตลาดสินค้าคอนซูเมอร์ในประเทศจีน โดยมีสำนักงานใหญ่แห่งภูมิภาคอยู่ที่ Guangzhou มณฑล Guangdong P&G ในจีนมีความสำคัญในภาพใหญ่ สามารถทำรายได้ราว 1 ใน 10 ของรายได้ทั้งหมด โดยมีสัดส่วนถึง 30% ของรายได้ทั้งหมดเครือข่าย P&G นอกสหรัฐอเมริกา ขณะตลาดจีนมีบุคลิกที่แตกต่าง เนื่องจากรายได้มากถึง 35% มาจากการค้าขายผ่าน ecommerce platforms ขณะที่ในสหรัฐอเมริกามีเพียง 7%

หลังจาก P&G ในจีนผ่านช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 มาได้ เปิดฉากอย่างตื่นเต้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมเพิ่งผ่านมา Lisa มาเป็น brand spokesperson สินค้าสำคัญของ P&G ในแบรนด์ Downy

ตามมาด้วยการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในแบบฉบับจีน ด้วยการ LIVE ขายของใน Weibo แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน ภายใต้เครือข่าย Alibaba

ว่ากันว่าเป็นเรื่องที่แตกต่างอยู่บ้างด้วยปัญหา COVID-19 สถานที่ถ่ายทำที่ว่าจึงอยู่ในเกาหลีใต้ เพื่อถ่ายทอดไปยังกลุ่มเป้าหมายในจีนแผ่นดินใหญ่

อย่างไรก็ได้ผลตอบรับตอบสนองเป็นไปอย่างดีทีเดียว

 

แม้เป็นเรื่องฮือฮาในสังคมบริโภคจีนแผ่นดินใหญ่ ขยายวงส่งผลสะเทือนไปยังอีกหลายประเทศก็ตาม อย่างไรก็เป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กๆ ชิ้นหนึ่งแห่งปรากฏการณ์อันซับซ้อน ท่ามกลางความเป็นไปในภาพใหญ่ซึ่งน่าวิตก

ท่ามกลางความสัมพันธ์อันร้าวฉานระหว่างสหรัฐ-จีน ในสงครามการค้า เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เปราะบาง ต่อสังคมธุรกิจระดับโลกมาพักใหญ่ๆ ขยายปัญหามากขึ้นด้วยวิกฤตการณ์ระดับโลก COVID-19 กระทบถึงผู้คนในสังคมวงกว้างสู่ปัจเจกทั่วโลกอย่างไม่เคยปรากฏ เป็นความผันแปรไม่แน่นอน ที่ว่ากันว่ามีโอกาสเป็นวิกฤตการณ์ใหญ่อันยืดเยื้ออย่างยากจินตนาการ

กรณี Lisa ให้ภาพโลกาภิวัตน์อันสมบูรณ์ (perfect) ขณะเดียวกันดูเหมือนว่าโลกาภิวัตน์ได้เดินมาไกล จนอาจจะถึงทางแยกแล้วก็ได้ ได้ผ่านช่วงเว้นวรรควิกฤตใหญ่มาราวๆ 3 ทศวรรษ หลังยุคสงครามเย็น (Cold War) เป็นช่วงเวลาเผชิญหน้าระหว่างอภิมหาอำนาจ สหรัฐอเมริกา-สหภาพโซเวียต ซึ่งแบ่งโลกเป็นขั้วยาวนานพอสมควร (2517-2534)

เมื่อ COVID-19 คลี่คลายไป ผู้คนกำลังปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงใหม่ที่เรียกว่า New Normal อาจจะเรียกว่า New War ก็เป็นไปได้

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่