“บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ-ประมูลปิโตรเลียม” 2 โจทย์ใหญ่แก้ปัญหาพลังงานไทย ในมือบิ๊กตู่

ภายหลัง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่ามีกลุ่มทหารกำลังพยายามจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเพื่อกำกับกิจการปิโตรเลียมทั้งระบบ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ การเป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) การเป็นผู้ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Operator) และจะเป็นผู้ขายและจัดจำหน่าย (Trader and distributor) จึงได้มีการสอดไส้อำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. … ด้วยการเพิ่มมาตรา 10/1 ให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษารายละเอียดรูปแบบและวิธีการจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในระยะเริ่มต้นให้กรมพลังงานทหารเป็นผู้บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปก่อน พร้อมย้ำว่า การกระทำดังกล่าวมาจากผู้มีอำนาจนอกคณะรัฐมนตรี (ครม.)

แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครออกมายอมรับว่าเป็นต้นเรื่องตามที่คุณชายอุ๋ยตั้งข้อสังเกต!!!

แต่แรงกระเพื่อมจากข้อมูลเชิงลึกของอดีตรองนายกรัฐมนตรีท่านนี้ ได้ทำให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มติเห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ด้วยคะแนน 227 ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง โดยให้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแนบท้าย พ.ร.บ.

และให้ ครม. แต่งตั้งคณะกรรมการภายใน 60 วัน เพื่อศึกษารายละเอียดรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมภายใน 1 ปี

ผลจากมติ สนช. นี้ มี 2 ประเด็นที่รัฐบาลต้องดำเนินการ!!

ประเด็นแรก คือ การตั้งคณะกรรมการภายใน 60 วัน เพื่อศึกษารายละเอียดรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมภายใน 1 ปี โดย สนช. ระบุว่าคณะรัฐมนตรีต้องดำเนินเรื่องนี้

โดยกรณีตั้งคณะกรรมการศึกษาบรรษัทน้ำมัน หากต้องการให้มีคำตอบชัดๆ ว่า ระบบนี้จำเป็นต่อประเทศไทยหรือไม่

อยากให้ภาครัฐเลือกหน่วยงานที่พร้อม และเต็มใจเข้ามาทำหน้าที่ เพราะผลที่ออกมาคือข้อมูลสำคัญของประเทศ อย่าให้ซ้ำรอยมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ที่ให้กระทรวงพลังงานกับกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการศึกษาข้อดีข้อเสียและแนวทางการดำเนินการให้ละเอียดรอบคอบในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)

แต่กระทรวงพลังงานให้ข้อมูลว่าได้มอบให้กระทรวงการคลังพิจารณา เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่กระทรวงอาจถูกเพ่งเล็งว่ามีส่วนได้เสีย สุดท้ายการศึกษาเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติครั้งนั้นจึงล้มไปอย่างเงียบๆ

อีกหนึ่งคือ การชิงประมูล 2 หลุมปิโตรเลียมที่กำลังหมดอายุสัมปทาน คือ แหล่งเอราวัณของเชฟรอน ซึ่งกำลังจะหมดอายุปี 2565 และแหล่งบงกชของ ปท.สผ. ซึ่งจะหมดอายุปี 2566

โดยกรณีการเตรียมเปิดประมูลนั้น ในเดือนเมษายนนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเตรียมจัดประชุมกลุ่มย่อย (โฟกัส กรุ๊ป) ด้วยการเชิญผู้มีส่วนได้เสีย คือ ผู้รับสัมปทานรายเดิม ผู้เชี่ยวชาญด้านปิโตรเลียม นักวิชาการ เข้ามาหารือว่า แหล่งเอราวัณ และบงกช ซึ่งจะหมดอายุปี 2565 และปี 2566 เหมาะที่จะเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบใด ระหว่างระบบสัมปทาน ระบบจ้างสำรวจและผลิต (เอสซี) และระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) จากนั้นจะนำข้อสรุปไปประกอบการจัดทำร่างรายละเอียดโครงการเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

คาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบได้ในเดือนมิถุนายนนี้

ขณะเดียวกัน ต้องเร่งจัดทำกฎหมายรองจำนวน 5 ฉบับ และประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมอีก 1 ฉบับ มารองรับการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ ประกอบด้วย

1. กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต (มาตรา 53/1)

2. กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขและระยะเวลาการให้ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตนำส่งค่าภาคหลวงแก่รัฐ (มาตรา 53/6)

3. กฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (มาตรา 53/2)

4. กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการได้มาซึ่งผู้รับสัญญาจ้างสำรวจและผลิต (มาตรา 53/9)

5. กฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต (มาตรา 53/10) และประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม “หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม…” โดยทั้งหมดจะเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้เช่นกัน

จากนั้นจะเริ่มเปิดประมูลในเดือนกรกฎาคม และจะได้ผู้ชนะการประมูลภายในเดือนธันวาคม 2560 หากไม่มีล็อกสเป๊กตามที่ นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยืนยัน ก็เชื่อว่าทุกฝ่ายจะให้การยอมรับ

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์

เรื่องนี้ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ความเห็นว่า การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ตามข้อสังเกตของ สนช. ยืนยันว่าจะดำเนินการอย่างเป็นกลางที่สุด รับฟังทุกเสียง แต่ก็ต้องมีเหตุผลมาคุยกัน

ส่วนประเด็นการเปิดประมูล 2 แหล่ง กระทรวงได้สั่งการให้หน่วยงานที่อยู่ในกำกับดูแล ศึกษาข้อมูลการลงทุนขุดเจาะหลุมปิโตรเลียม ราคาน้ำมัน ปริมาณสต๊อกในประเทศ เพื่อหาแนวทางเดินหน้าประมูลแหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่ง คือ เอราวัณและบงกชที่หมดอายุในปี 2565-2566 เนื่องจากล่าช้ามานานมากแล้ว คาดว่าจะสามารถรับทราบถึงรูปแบบการประมูลว่าจะใช้รูปแบบสัมปทาน รับจ้างผลิต หรือแบ่งปันผลผลิต ได้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2560 นี้ ก่อนจะเปิดยื่นซองประมูลได้ในเดือนกรกฎาคม 2560

สำหรับการเปิดสัมปทานแหล่งสำรวจแหล่งปิโตรเลียมรอบที่ 21 นั้น จะมีการดำเนินการหลังจากที่เปิดประมูล 2 แหล่งเสร็จก่อน โดยหลักดำเนินงานจะต้องนำกลับมาทบทวนกันอีกรอบ เนื่องจากเป็นการกำหนดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และอาจจะไม่ทันสมัยและไม่ครอบคลุมแปลงสำรวจบางจุด

ทั้งนี้ จะเดินหน้าในรูปแบบไหนนั้นตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้

นายเจน นำชัยสิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ด้านเอกชนต่างแสดงความเห็นต่อสถานการณ์ปิโตรเลียมไทย โดย นายเจน นำชัยสิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ สนช. แสดงความเห็นว่า เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ รัฐบาลควรเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เลยเพราะช้ามามากแล้ว รวมถึงการจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุสัมปทาน ไม่ต้องรอการศึกษาแนวทางจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ที่อยู่แนบท้าย พ.ร.บ. เนื่องจากการผลิตปิโตรเลียมต้องใช้เวลาเตรียมการ 1 ปี จึงจะเริ่มสำรวจได้ และเมื่อพบปิโตรเลียมจึงจะเริ่มลงทุนขุดเจาะ

นอกจากนี้ รัฐบาลควรเร่งจัดการสัมปทานในอ่าวไทยที่กำลังจะหมดอายุ 2 แหล่ง เพราะมีกำลังการผลิตคิดเป็น 70% ของก๊าซที่ผลิตได้ในอ่าวไทยทั้งหมด เพราะเหลืออีก 5 ปีก็จะหมดอายุสัมปทาน คือ 1.แหล่งเอราวัณ มีบริษัท เชฟรอน รับสัมปทาน ตั้งแต่ปี 2525 และจะสิ้นสุดอายุปี 2565 2.แหล่งบงกช มี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) รับสัมปทาน เริ่มผลิตแปลงแรกปี 2515 ต่อมาได้พื้นที่สัมปทานเพิ่ม และแปลงสุดท้ายจะสิ้นอายุปี 2566

รวมทั้ง นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธาน ส.อ.ท. อดีตผู้บริหาร ปตท. ระบุว่า อยากให้คณะกรรมการที่จะเข้ามาทำหน้าที่พิจารณามาตรา 10/1 นี้ เปิดใจกว้างไม่ยึดติดแต่มุมมองของตัวเอง ซึ่งหลังจากกฎหมายผ่าน เชื่อว่าการประมูลแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกชคงจะดำเนินการต่อไปได้ ส่วนจะเลือกแบบสัมปทานหรือแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) นั้น เมื่อ ครม. เห็นชอบก็ต้องยุติ อย่ากดดันอีก

ขณะที่กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) แสดงความผิดหวังต่อมติ สนช. และเตรียมเคลื่อนไหว ทั้งต่อกรณีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และการเดินหน้า 2 แหล่งปิโตรเลียมในไทยต่อไป

หลังจากนี้ต้องติดตามก้าวย่างของแต่ละฝ่ายอย่างใกล้ชิด ทั้งรัฐบาล และกลุ่มต้านคือ คปพ.

เพราะไม่ว่าผลการศึกษาบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และขั้นตอนการเปิดประมูล 2 แหล่งปิโตรเลียม จะเป็นอย่างไร จะถูกใจกองเชียร์และฝ่ายค้านหรือไม่

แต่หน้าที่ของรัฐบาลคือต้องชั่งน้ำหนักผลประโยชน์ของประเทศชาติซึ่งก็คือประชาชนให้มากที่สุด อย่าเกรงใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป จนกลายเป็นเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนบางกลุ่มจนเกินไป!