วัดใจ… “บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 ตั้งผู้เกษียณนั่งอธิการฯ!?!

อุณหภูมิในแวดวงราชภัฏกลับมาร้อนระอุอีกครั้งเมื่อ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวทำนองว่า “คสช. จะใช้ ม.44 เปิดทางให้ผู้เกษียณนั่งอธิการบดีได้”

การแถลงมีขึ้นหลังประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด

โดย พล.ท.สรรเสริญแถลงว่า ในอดีตสามารถเลือกใครก็ได้มาทำหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัย ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการที่ยังไม่เกษียณ แต่กฎระเบียบนั้นไปขัดกับระเบียบที่อธิการบดีต้องเป็นข้าราชการ

ดังนั้น คสช. จึงมีคำสั่งออกมาว่าบุคคลที่จะเป็นอธิการบดี จะเป็นข้าราชการหรือไม่เป็นข้าราชการก็ได้ เพื่อแก้ไขปัญหาคาราคาซังของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย

ขณะที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขยายความว่า กรณีที่ คสช. จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ปลดล็อกเปิดโอกาสให้คนที่ไม่เป็นข้าราชการสามารถเป็นอธิการบดีได้นั้น เรื่องนี้ ศธ. ไม่ได้เป็นผู้เสนอ แต่ คสช. เห็นปัญหาการบริหารงานในสถาบันอุดมศึกษา ที่ผ่านมามีการฟ้องร้องเรื่องการสรรหาอธิการบดี เมื่อศาลตัดสิน ก็จะพิจารณาเป็นรายกรณีไม่สามารถใช้ได้กับทุกมหาวิทยาลัย เพราะแต่ละแห่งมีกฎหมายและข้อกำหนดเป็นของตนเอง

ดังนั้น คำสั่งที่จะออกมาเพื่อให้การบริหารมหาวิทยาลัยสามารถเดินต่อไปได้ไม่หยุดชะงัก และไม่ได้ระบุถึงอายุด้วยว่าห้ามหรือไม่ห้ามผู้เกษียณอายุราชการ

“ขณะนี้มีหลายมหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างการสรรหาอธิการบดี บางแห่งกำลังเตรียมสรรหา บางแห่งสรรหาแล้ว แต่ก็มีการร้องเรียนและฟ้องศาลกัน ศธ. จะนำรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งก็ไม่ได้ มีผลให้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยต้องหยุดชะงัก ผมจึงได้หารือกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็เข้าใจปัญหา และขอยืนยันว่าการใช้คำสั่ง คสช. ก็เพื่อไม่ให้เกิดความโกลาหล และไม่ต้องมาร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ได้รับการสรรหากันอีกในภายหลัง”

รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ระบุ

 

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์

ว่าไปแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนนี้มีข่าวระแคะระคายมาแล้ว เพียงแต่หนนั้น นพ.ธีระเกียรติ ปฏิเสธการใช้มาตรา 44

มาหนนี้เมื่อ พล.ท.สรรเสริญเป็นผู้ออกมาให้ข่าวเอง จึงเป็นสาเหตุให้ นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) นำเข้าหารือที่ประชุมสมัยสามัญ ทปสท. ครั้งที่ 1/2560 ผลประชุมมีมติไม่เห็นด้วยพร้อมทั้งให้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เพื่อพิจารณาทบทวนการใช้มาตรา 44

และเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ได้มีการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ใจความว่า เนื่องจากปัจจุบันมหาวิทยาลัยของรัฐมี 2 แบบคือ

1. มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐหรือนอกระบบราชการ ซึ่งกฎหมายระบุให้สามารถออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลเอง และออกระเบียบว่าด้วยการใช้จ่ายงบประมาณเองได้ มหาวิทยาลัยกลุ่มนี้จึงสามารถแต่งตั้งอธิการบดีจากคนนอกหรือคนเกษียณอายุราชการได้ รวมทั้งสามารถออกระเบียบในการจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนอธิการบดีเองโดยชอบด้วยกฎหมาย

2. มหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ กฎหมายระบุให้ต้องบริหารงานบุคคลตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และบริหารงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณ จึงไม่สามารถแต่งตั้งอธิการบดีจากคนนอก หรือคนเกษียณอายุราชการได้ ซึ่งก็เป็นไปตามแนวคำพิพากษาศาลปกครอง ซึ่งคนนอกหรือคนเกษียณอายุราชการ หากมีความรู้ความสามารถ และประสงค์จะเป็นอธิการบดีก็สามารถเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยในกำกับได้อยู่แล้ว

หากมีการออกคำสั่งตามมาตรา 44 ดังกล่าวแล้วนำมาใช้บังคับกับมหาวิทยาลัยทั้งสองแบบ จะมีปัญหาและผลกระทบกับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ ใน 4 ประเด็นหลัก คือ ปัญหาด้านธรรมาภิบาล ปัญหาด้านการบริหารงานบุคคล ปัญหาด้านการบริหารงบประมาณ และปัญหาด้านคุณภาพการศึกษา

การแต่งตั้งคนที่ไม่มีสถานภาพข้าราชการพลเรือนหรือพนักงานมหาวิทยาลัย นอกจากจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลกระทบกับการบริหารงานในสถาบันอุดมศึกษาแล้ว ยังทำลายระบบราชการที่ทุกกระทรวงล้วนให้คนที่ดำรงตำแหน่งบริหารต้องเกษียณอายุราชการที่ 60 ปี

หากจะให้ต่ออายุราชการก็ให้ไปปฏิบัติงานอื่น เช่น สอน หรือวิจัย หรืองานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ไม่ใช่การดำรงตำแหน่งบริหาร รวมทั้งยังเป็นการทำลายขวัญกำลังใจ และปิดกั้นโอกาสของคนรุ่นใหม่ไม่ให้มีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารในสถาบันอุดมศึกษาอีกด้วย

“นายกรัฐมนตรีไม่ควรเอามาตรา 44 มาแก้ผิดให้เป็นถูก แก้ปัญหาคนส่วนน้อยที่ต้องการสืบทอดอำนาจแล้วทำลายระบบนิติธรรม คุณธรรม ขวัญและกำลังใจของบุคลากรอุดมศึกษาทั้งประเทศ คุณภาพอุดมศึกษาขึ้นอยู่กับคุณภาพอาจารย์ และคุณภาพอาจารย์ขึ้นอยู่กับความมั่นคงและเสรีภาพของอาจารย์ ตอนนี้อาจารย์ทั้งประเทศกำลังจับตาดูว่านายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจอย่างไร เพราะถ้าเลือกช่วยคนที่ทำผิดให้เป็นถูก ผลที่ตามมาคือต้องเบียดบังเงินรายได้จากค่าเทอมนักศึกษาไปจ่ายเป็นเงินเดือนและค่าตอบแทน และยังส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ สืบทอดอำนาจ สภาเกาหลัง ที่ยิ่งจะหนักกว่าเดิมแน่นอน”

นายรัฐกรณ์ระบุ

นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.)

รายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณอายุราชการ ที่ทาง ทปสท. ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ขอให้ชะลอการนำขึ้นทูลเกล้าฯ นั้น ประกอบด้วย นายประพันธ์ ธรรมไชย อายุ 68 ปี มรภ.เชียงใหม่, นายเรืองเดช วงศ์หล้า อายุ 69 ปี มรภ.อุตรดิตถ์, นายเฉลย ภูมิพันธ์ อายุ 63 ปี มรภ.ร้อยเอ็ด, นายนิวัตร กลิ่นงาม อายุ 64 ปี มรภ.สงขลา, นายณรงค์ พุทธชีวิน อายุ 64 ปี มรภ.สุราษฎร์ธานี, นายบัญญัติ ชำนาญกิจ อายุ 64 ปี มรภ.นครสวรรค์ และนางมาลิณี จุโฑปะมา อายุ 64 ปี มรภ.บุรีรัมย์

โดยในส่วนของ มรภ.บุรีรัมย์ ศาลปกครองชั้นต้นอยู่ระหว่างมีคำสั่งให้ทุเลาบังคับคดี พร้อมทั้งได้มีการฟ้องร้องเพิ่มเติมกรณีที่สภา มรภ.บุรีรัมย์ แต่งตั้ง นางมาลิณี นั่งรักษาการอธิการบดี ด้วยมองว่าคุณสมบัติของอธิการบดีและรักษาการอธิการบดีไม่ต่างกัน คือ ต้องมีสถานภาพเป็นข้าราชการพลเรือนหรือพนักงานมหาวิทยาลัยเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง คือ มรภ.เชียงใหม่ มรภ.มหาสารคาม มรภ.ร้อยเอ็ด โดยในส่วนของ มรภ.ร้อยเอ็ด นอกจากจะเสนอชื่อผู้เกษียณขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นอธิการบดีแล้ว นายเฉลย ภูมิพันธ์ ยังอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี มรภ.ชัยภูมิ ตามคำสั่งมาตรา 44 ด้วย เท่ากับว่าควบอธิการบดี 2 แห่ง รวมถึง มรภ.เทพสตรี อยู่ระหว่างการเตรียมการฟ้องร้องด้วย

ฉะนั้น งานนี้ต้องวัดใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ว่าจะเดินหน้าใช้มาตรา 44 หรือจะยอมฟังเสียงต้าน มิเช่นนั้นปัญหาย่อมลุกลามบานปลายอย่างแน่นอน…