หนุ่มเมืองจันท์ | ทีมที่ 3

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน ฟังคุณสุทธิชัย หยุ่น สัมภาษณ์ท่านทูตของประเทศเพื่อนบ้าน

ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม

ข้อมูลที่ได้มาน่าสนใจมากครับ

แต่ละประเทศไม่ธรรมดาเลย โดยเฉพาะมาตรการควบคุมการแพร่เชื้อไวรัสโควิด

เพราะตัวเลขคนติดเชื้อแต่ละประเทศน้อยมาก

มีบางเรื่องที่จำได้ คือ ลาวปิดพรมแดนติดกับจีนตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม

ก่อนเกิดเหตุที่ “อู่ฮั่น” อีก

และที่น่าสนใจที่สุดคือ “เวียดนาม” ครับ

มีคนติดเชื้อ 300 กว่าคน

และ 30 กว่าวันแล้วที่ตัวเลขคนติดเชื้อในประเทศเป็น 0

ท่านทูตบอกว่า เวียดนามกำลังเตรียมประกาศชัยชนะกับ “โควิด”

เตรียมเปิดประเทศ

วางแผนเชิญชวนนักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ กลับมาได้

และในขณะที่ไตรมาสแรกของทุกประเทศ GDP ติดลบ และคาดการณ์ว่า GDP ของปีนี้จะติดลบเยอะมาก

ของไทย GDP ไตรมาสแรก -1.8%

และทั้งปี สภาพัฒน์คาดว่าจะติดลบประมาณ -5-6%

แต่เชื่อไหมครับว่า เวียดนามไตรมาสแรก GDP โต 1.5%

และคาดว่าทั้งปีจะโต 5%

ที่น่าสนใจก็คือ รัฐบาลเวียดนามเริ่มวางแผนยุทธศาสตร์ชาติหลังโควิด

มองหา “โอกาส” ท่ามกลาง “วิกฤต”

เขารู้ว่ายุทธศาสตร์โลกกำลังเปลี่ยน

“โควิด” ทำให้หลายประเทศเริ่มคิดถึงการโยกย้ายฐานการผลิต

ซัพพลายเชน หรือห่วงโซ่การผลิตของแต่ละอุตสาหกรรมที่เคยคิดว่าโลกนี้เป็นหนึ่งเดียว

ตั้งอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลกนี้

“โควิด” ทำให้ทุกคนรู้ว่าวิธีคิดนี้ไม่ปลอดภัยแล้ว

ยิ่งซัพพลายเชนอยู่ห่างกันมากเท่าไร พอมีปัญหาขึ้นมาการขนส่งสินค้าก็ติดขัด โรงงานก็ไม่สามารถผลิตสินค้าได้

จีนน่าจะเจอผลกระทบมากที่สุด

จากประเทศที่เคยเป็นโรงงานของโลก

ตอนนี้ทุกประเทศเริ่มคิดแล้วว่าตั้งโรงงานอยู่จีนไม่ปลอดภัย

ทั้งจากปัญหาโควิดและสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

หลายบริษัทเริ่มคิดถึงการโยกย้ายฐานการผลิต

“อาเซียน” เป็นทำเลที่น่าสนใจมาก

เพราะทำเลทางภูมิศาสตร์เหมาะสมมากในการขนส่งสินค้า

“เวียดนาม” อาศัยจังหวะนี้ชักชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามา

“นินเทนโด” ของญี่ปุ่นมาแล้ว

โรงงานผลิต “แอร์พอดส์” ของค่ายแอปเปิล จากไต้หวันก็ย้ายมาแล้ว

ไม่แปลกที่ราคาที่ดินเขตอุตสาหกรรมของเวียดนาม ปรับตัวสูงขึ้นเยอะมาก

ฟังแล้วน่ากลัวจริงๆ

เพราะตอนนี้ประเทศไทยยังเพิ่งเริ่มต้นคลายล็อกประเทศเอง

แต่ “เวียดนาม” มองไปไกลแล้ว

วิธีคิดที่น่าสนใจของการเผชิญวิกฤต คือ นอกจากจะสู้เพื่อรักษาลมหายใจเอาไว้ให้ได้แล้ว

ยังต้องมองเผื่ออนาคตด้วย

คุณธนินท์ เจียรวนนท์ บอกว่า “ทุกวิกฤตมีโอกาส”

แฮ่ม…ถ้าเรารอด

เพราะในยามวิกฤตจะมีคนล้มหายตายจากเยอะมาก

แค่เรารอดจากวิกฤต คู่แข่งก็น้อยลงแล้ว

ถือเป็น “โอกาส” อย่างหนึ่ง

เขาจะย้ำเสมอว่า ช่วงที่สู้กับวิกฤตต้องหาเวลาคิดด้วยว่าหลังวิกฤตผ่านพ้นไปแล้ว

เราจะทำอะไร

อะไรคือ “โอกาส” ของเรา

เพราะไม่เช่นนั้นเมื่อฟ้าเปิด เราจะช้ากว่าคู่แข่ง

ผมนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมา เมื่ออ่านบทสัมภาษณ์ของคุณชฎาทิพ จูตระกูล ของ “สยามพิวรรธน์” ใน “ประชาชาติธุรกิจ”

“สยามพารากอน-สยามเซ็นเตอร์-ดิสคัฟเวอรี่-ไอคอนสยาม” เจอมรสุมครั้งใหญ่จาก “ไวรัสโควิด”

คุณชฎาทิพบอกว่าเธอโชคดี

โชคดีที่ผ่านวิกฤตต่างๆ มากมาย

ตั้งแต่ลดค่าเงินบาท 2 ครั้ง

ลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540

หรือเหตุการณ์ชุมนุมที่ราชประสงค์ของ “ม็อบ” ต่างๆ

ทุกวิกฤตล้วนให้ “บทเรียน”

ตอนนี้ที่ “สยามพิวรรธน์” ไม่มีปัญหาการเงิน เพราะได้บทเรียนจากปี 2540

หนี้เพิ่มขึ้น 3 เท่าแค่ชั่วข้ามคืน

เหตุการณ์นั้นทำให้รู้ว่า “เงินสด” สำคัญเพียงใด

และการกู้เงินไม่ควรเกินหน้าตัก

นอกจากนั้น การผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ มาแล้วหลายครั้ง ทำให้พอเจอวิกฤตครั้งนี้จึงไม่ตื่นตระหนกมากนัก

ก็แค่ “วิกฤต” ครั้งใหม่เท่านั้นเอง

คุณชฎาทิพไม่ได้พูดนะครับ ผมคิดแทนให้

เจอวิกฤตครั้งนี้ สิ่งแรกที่ทำก็คือ ปรับแผนการบริหารใหม่เป็น crisis management

แบ่งทีมเป็น 3 ทีม

ทีมแรก มีหน้าที่คุยกับคนภายนอกองค์กร ร้านค้าที่เช่า คู่ค้าต่างๆ

คนรับผิดชอบตัดสินใจได้เลย

เพราะเป็นคนหน้างาน รู้ดีที่สุด

ทีมที่สอง จัดการปัญหาในองค์กร

การทำงานที่บ้านทำอย่างไร

ระบบไอทีรองรับได้ไหม

และที่ผมชอบมาก คือ ทีมที่สามครับ

ทีมที่สาม ภาระหน้าที่ชัดเจนมาก

ไม่ต้องสนใจการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ทำสมองให้ปลอดโปร่ง

คิดไปข้างหน้า

ถ้าเป็นรถ รถคันนี้ก็ไม่มีกระจกหลัง

ทุกคนมองไปข้างหน้าอย่างเดียว

ทีมนี้คุณชฎาทิพเลือกกลุ่มผู้บริหารใหม่

next gen leader

คิดว่าหลังจากโควิดผ่านพ้นไปจะเกิดอะไรขึ้น

“สยามพิวรรธน์” ควรทำอะไร

ควรนำเสนออะไรให้กับลูกค้าบ้าง

การที่ต้องแยกทีมนี้ออกมาจากปัญหา เพราะถ้ายังให้ทำงานทั้งแก้ปัญหาและคิดหาโอกาส

“ปัญหา” จะดึงให้เรามองใกล้

จนมองไกลไม่เห็น

วิธีคิดของ “เวียดนาม” หรือของ “ธนินท์-ชฎาทิพ” ไม่ใช่เรื่องใหม่

แต่มักเป็นเรื่องที่เราลืมเวลาเจอกับปัญหา

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจ

หรือชีวิต

ฟ้ามืดย่อมมีวันสว่าง

ต้องเตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่ก่อนฟ้าเปิด

ธุรกิจหรือชีวิตก็เช่นกัน