กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร : “ต้นไม้ หรือ ฟองน้ำ”

เช้าตรู่วันหนึ่ง ณ ออฟฟิศใจกลางเมืองกรุง

กรวิชญ์ พนักงานรุ่นใหม่ไฟแรงขององค์กรขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง

กำลังโทรศัพท์พูดคุยกับ “คู่ค้า” ที่ประเทศอเมริกา

ที่กรุงเทพฯ และซานฟรานซิสโก มีความแตกต่างของเวลาถึง 15 ชั่วโมง

ถ้าที่กรุงเทพฯ เช้าตรู่ เวลาหกโมงเช้าแบบวันนี้

ที่ซานฟรานซิสโก ก็จะเป็นเวลาประมาณบ่ายสามโมง

ซึ่งเป็นเวลาทำงานปกติของคนที่อเมริกา

ในช่วงเวลาสองถึงสามเดือนที่ผ่านมา

กรวิชญ์ต้องทำงานในช่วงเวลาแปลกๆ

ไม่ว่าจะเป็นเช้าตรู่ หรือดึกๆ ดื่นๆ

เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกกับ “คู่ค้า” ที่ประเทศอเมริกา

กรวิชญ์กำลังจะนำเสนอแผนการสร้างธุรกิจกับ “คู่ค้า” ที่ยังไม่เคยมีใครในบริษัทได้เข้าถึงมาก่อน

เขารู้สึกตื่นเต้นกับงานที่ทำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

เชื่อว่า “เทคโนโลยี” ที่จะได้จาก “คู่ค้า” คนใหม่นี้

จะสามารถเป็น “อนาคต” ของบริษัทได้อย่างแน่นอน

เขาและทีมงานตั้งใจศึกษา “คู่ค้า” คนนี้อย่างดี

ไม่ใช่แค่เพียงการหาข้อมูลเชิงตัวเลข

แต่มีการ “พูดคุย” กับบริษัทที่เคยร่วมงานกับคู่ค้าผู้นี้

ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า นักลงทุน พนักงานต่างๆ นานา

เพื่อที่จะมั่นใจว่า “เลือกไม่ผิด”

 

ณห้องประชุมคณะกรรมการบริษัท

กรวิชญ์ยืนขึ้น นำเสนอการเข้าร่วมทุนกับ “คู่ค้า” คนใหม่

คำถามแรกที่ได้รับจากท่านผู้บริหารสุภาพสตรีคนเดิม

“พวกชั้นจะมั่นใจได้อย่างไรว่า พวกเธอดูมาดีแล้ว”

กรวิชญ์อึ้ง พร้อมตอบออกไปเบาๆ

“เราโทร.สอบถามกับบุคคลที่เคยทำมาก่อนแล้วหลายสิบราย และมั่นใจว่าได้ศึกษาครบถ้วน ไม่แตกต่างจากพวกเขาครับ หากมีข้อสงสัยในเรื่องใด ยินดีตอบครับ”

ผู้บริหารท่านเดิมบอก “ชั้นไม่เชื่อเด็กอย่างพวกเธอหรอก ทำไมไม่จ้างที่ปรึกษา”

กรวิชญ์ นึกในใจ “เป็นแบบนี้อีกแล้วสินะ”

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในระหว่างที่ผมเดินทางทำงานอยู่ในซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley)

ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ “อเล็กซ์ มิตทอล (Alex Mittal)” ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ระดมทุน ชื่อว่า “ฟันเดอร์ส คลับ (Funder”s Club)”

ที่เคยช่วยให้บริษัทเทคโนโลยีสตาร์ตอัพเกิดใหม่ อย่าง “Slack” โปรแกรมช่วยให้การพูดคุยติดต่องานภายในองค์กร เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

หรือ “Instacart” ซื้อขายอาหาร สินค้าจากตลาดสด ส่งถึงบ้าน

ที่ปัจจุบันทั้งคู่มีมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทแล้ว

ผมขอคำแนะนำเขาเกี่ยวกับ “การลงทุน” ในบริษัทสตาร์ตอัพ

เขามีเทคนิคอย่างไร

อเล็กซ์ตอบมาสองข้อ

หนึ่ง ถามคำถามให้ถูก

คนที่ลงทุนในสตาร์ตอัพ ควรรู้ว่าบริษัทเหล่านี้มีอัตราประสบความสำเร็จต่ำมาก

อาจจะหนึ่งในสิบ

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ตั้งบริษัท เขามีความเชื่อและหลงใหลในสิ่งที่ทำ

แต่เขายังไม่ใช่นักธุรกิจที่เก่ง

หลายครั้งเขาเห็นคนถามผู้ประกอบการเหล่านี้ ในหลายๆ เรื่อง

เช่น เรื่องลูกค้า เรื่องผลิตภัณฑ์ เรื่องแผนการเงิน เรื่องคน

สิ่งที่คุณจะได้จากการถามสิ่งเหล่านี้ก็คือ “การคาดเดา” จากผู้ประกอบการ

มันยังไม่ได้เป็นการ “ปิดความเสี่ยง” ที่จะล้มเหลวแต่อย่างใด

คุณต้องรู้ว่า คุณลงทุนกับสิ่งที่มี “ร้อยเหตุผล” ที่มันจะล้มเหลว

และถ้าคุณ “พุ่งเป้า” ไปที่สิ่งนั้น คุณจะไม่รู้สึก “สบายใจ” ที่จะลงทุนเลย

เพราะฉะนั้น จึงต้องตั้งคำถามใหม่

จากการถามว่า “จะทำอย่างไรให้สิ่งนี้สำเร็จ หรือไม่ล้มเหลว” ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะคาดเดา

กลายเป็น “ถ้าสิ่งนี้สำเร็จจริงๆ มันจะยิ่งใหญ่แค่ไหน”

ให้ “พุ่งเป้า” ไปที่ “โอกาส” ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง

ถ้าคุณ “ตื่นเต้น” กับมันทีนี้

ค่อยมาหาหนทางในการช่วย “ผู้ประกอบการ” นั้นๆ ให้ประสบความสำเร็จ

ซึ่งเกิดจากการ “ลงทุน” เล็กๆ แล้วช่วยพวกเขาไปจนสุดทาง

ข้อสอง นอกจากการ “ถามคำถาม” ที่ถูกแล้ว

คุณต้องเข้าใจว่า คุณลงทุนใน “คน”

ความคิดทางธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ ลูกค้า ตลาด

ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปจาก “วันแรก” ที่เขานำเสนองานคุณ

มีเพียง “กลุ่มคนผู้ก่อตั้ง” เท่านั้นที่จะไม่เปลี่ยน และไม่ควรเปลี่ยน ในช่วงแรก

คุณลงทุนในตัวพวกเขา ในวิสัยทัศน์ ความมีไฟ ความกล้าหาญ ความอดทน ความสามารถ และเวลาชีวิต ที่พวกเขาจะทุ่มให้กับสิ่งนี้ไปจนตลอดรอดฝั่ง

ไม่ใช่เพียงแค่ที่เห็นในวันนี้ แต่เป็นความเชื่อว่า พวกเขาจะ “เติบโต” ขึ้นได้

เพราะฉะนั้น หน้าที่ของ “นักลงทุน” คือ ให้คำแนะนำ และหาโอกาสทางธุรกิจมาให้แก่พวกเขา

แต่จงให้พวกเขา “ตัดสินใจ” และมีความเชื่อว่า “เขา” จะทำมันได้อย่างดี

โดยสรุป ถ้าคุณเป็น “นักลงทุน” ที่อยากจะสร้าง “สิ่งใหม่” ให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้

ไม่ว่าจะเป็น Google, Facebook, Uber ก็ล้วนมี “นักลงทุน” ที่เข้าใจในเรื่องเหล่านี้

คุณต้องมองถึง “ความเป็นไปได้” ก่อน “ความเสี่ยง”

และ “เชื่อ” ในตัว “คน” ที่คุณตัดสินใจ “ลงทุน” กับพวกเขาไปแล้ว อย่างไม่มีข้อแม้

 

หากลองมองย้อนกลับมาที่ “องค์กรขนาดใหญ่”

ก็เหมือนกับท่านผู้บริหารทั้งหลาย ที่ตัดสินใจ “เลือกคน” เข้ามาทำงาน

พนักงานหัวกะทิจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งหลาย

บางแห่งถึงกับส่งเสียให้ไปเรียนเมืองนอกเมืองนา

ออกไปสู้กับเขาใน “ระดับโลก”

แต่ส่วนใหญ่กลับมองพวกเขาเป็นเพียง “ฟองน้ำ”

รับคำสั่ง นำไปปฏิบัติ

ไม่ต่างจากฟองน้ำ ที่ดูดซับบางสิ่งจากแห่งหนึ่ง เพื่อจะนำไปปล่อยอีกแห่งหนึ่ง

พอใช้นานๆ เข้า จนดูดซึมคำสั่งได้ไม่ดี ก็เปลี่ยน “ก้อน” ใหม่ มาทำงานแทน

ของเก่าก็หมดสภาพไปตามกาลเวลา เป็น “ฟองน้ำ” แห้งๆ ถูกทิ้งไว้มุมต่างๆ ขององค์กร

แทนที่จะดูแล รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ให้พวกเขาได้ “เติบโต”

จาก “เมล็ดพันธุ์” กลายเป็น “ต้นไม้ใหญ่”

ให้อิสระในการแผ่กิ่งก้านสาขา คอยตัดแต่งกิ่ง ก้าน ให้สวยงาม ตามเหมาะสม

 

น้อยนักที่ “นักลงทุน” คนใดจะจ้างที่ปรึกษาภายนอกมาคอยกำกับสตาร์ตอัพของตนเอง

สตาร์ตอัพจะเกิดได้ ต้องมี “นักลงทุน” ที่เชื่อในตัวพวกเขาอย่างสุดใจ

พนักงานในองค์กรจะพัฒนาอะไรใหม่ๆ ได้ ก็ต้องการ “ผู้บริหาร” ที่เชื่อในตัวพวกเขาเช่นกัน

“ต้นไม้” นะครับ ไม่ใช่ “ฟองน้ำ”