ศิลปินผู้หยิบวัฒนธรรมบนท้องถนนมาเปลี่ยนเป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

“ศิลปะควรเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ปลดปล่อยจิตวิญญาณของคุณให้เป็นอิสระ, กระตุ้นจินตนาการ และผลักดันให้ผู้คนก้าวเดินไปข้างหน้า”

ในเดือนพฤษภาคมนี้เป็นเดือนเกิดครบรอบ 62 ปี (ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่) ของศิลปินชาวอเมริกันระดับตำนาน เจ้าของผลงานป๊อปอาร์ตสไตล์กราฟฟิตี้ ที่เติบโตจากวัฒนธรรมบนท้องถนนของนิวยอร์กในช่วงยุค 1980s ผู้กล่าวประโยคข้างต้นนี้

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

คีธ แฮริ่ง (Keith Haring) (4 พฤษภาคม 1958 – 16 กุมภาพันธ์ 1990)

จิตรกร ประติมากร และศิลปินกราฟฟิตี้ ผู้หยิบเอาองค์ประกอบในวัฒนธรรมบนท้องถนนและวัฒนธรรมสมัยนิยมที่ก่อนหน้านั้นถูกมองว่าเป็นของชั้นต่ำ ไร้รสนิยม และไม่ได้รับการยอมรับจากคนในวงการศิลปะ

มาทำให้กลายเป็นผลงานศิลปะที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างได้ในที่สุด

ด้วยการใช้เทคนิควาดภาพบนท้องถนนอย่างกราฟฟิตี้ และภาพวาดฝาผนังกำแพง ด้วยสีสันที่สดใสจนสามารถดึงดูดสายตาและสร้างความเพลิดเพลินเจริญใจให้กับผู้ชม

เขากับศิลปินร่วมรุ่นอย่างฌอง มิเชล บาสเกีย (Jean-Michel Basquiat) และเคนนี ชาฟ (Kenny Scharf) ร่วมกันเปิดพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ ในการทำให้สิ่งที่ดูง่ายๆ บ้านๆ อย่างภาพการ์ตูนที่หัดวาดด้วยตัวเอง กลายเป็นผลงานศิลปะที่ผู้คนทุกชนชั้นหลงรักและเข้าถึงได้ไม่ยาก

ในช่วงปี 1981 แฮริ่งเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากผลงานภาพวาดกราฟฟิตี้ลายเส้นชอล์ก รูปคน สุนัข และภาพลายเส้นเก๋ไก๋บนกระดานดำติดป้ายโฆษณาในสถานีรถไฟใต้ดินของนิวยอร์ก เขากล่าวว่า

“วันหนึ่งในขณะที่กำลังนั่งรถไฟใต้ดิน ผมเห็นพื้นที่ว่างบนกระดานดำสำหรับติดป้ายโฆษณาในสถานี เวลานั้นผมตระหนักทันทีว่า นั่นเป็นที่ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับวาดภาพ”

คีธแฮริ่งวาดภาพในสถานีรถไฟใต้ดินนิวยอร์กราวปี 1981 ภาพจากhttps://bit.ly/2ypLPzz

หลังจากมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่สาธารณชน เขาเริ่มสร้างสรรค์ผลงานขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่หลากสีสัน ที่คนว่าจ้างให้เขาทำหลายต่อหลายชิ้น ทำให้ผลงานของเขากลายเป็นที่รู้จักและจดจำอย่างกว้างขวาง

ภาพและข้อความในผลงานของเขาเรียบง่ายแต่บาดลึก วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรมได้อย่างทรงพลัง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโรคเอดส์ การติดยา ความรักที่แหกขนบสังคม และการเหยียดสีผิว

ในฐานะศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางสังคม แฮริ่งแสดงให้เห็นว่าการสื่อสารประเด็นที่หนักหน่วงจริงจังก็สามารถเป็นอะไรที่สนุกสนานและสดใสได้เหมือนกัน

คีธแฮริ่งปี 1986 ภาพจากhttps://bit.ly/2ysHCuR

ด้วยเส้นสายที่เรียบง่ายสะอาดตา แฮริ่งวาดภาพที่แสดงเรื่องราวและรูปลักษณ์ที่ตรงข้ามกับศิลปะนามธรรม และคอนเซ็ปช่วลอาร์ตที่กำลังเฟื่องฟูในยุคก่อนหน้าอย่างสุดขั้ว และเปิดเส้นทางใหม่ๆ ในการทำงานศิลปะขึ้น

เขายังเป็นศิลปินคนแรกๆ ที่สร้างความเป็นไปได้ในการใช้สถานที่สาธารณะ ที่ปกติไม่ค่อยถูกใช้ทำงานศิลปะอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะศิลปะสื่อสารทางการเมืองกับผู้คนจำนวนมาก

เขายังยกระดับศิลปะบนท้องถนนให้ขึ้นไปมีพื้นที่ในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินสตรีตอาร์ตและกราฟฟิตี้รุ่นหลังอย่างมาก

ตลอดอาชีพการทำงานอันรุ่งโรจน์และแสนสั้นของเขา ในช่วงยุค 1980s ผลงานของเขาถูกแสดงในนิทรรศการเดี่ยวและกลุ่มกว่า 100 นิทรรศการ

ในปี 1986 เพียงปีเดียว มีเรื่องราวของเขาลงตีพิมพ์สื่อหนังสือพิมพ์และนิตยสารกว่า 40 ฉบับ

คีธแฮริ่งวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พิพิธภัณฑ์ Stedelijk อัมสเตอร์ดัม (1986)

เขาถูกเชื้อเชิญให้ร่วมงานในโครงการต่างๆ กับศิลปินทั้งในแขนงเดียวกันและต่างแขนงมากหน้าหลายตา ทั้งแอนดี้ วอร์ฮอล, เจนนี โฮลเซอร์ (Jenny Holzer), โยโกะ โอโนะ ไปจนถึงนักร้องนักแสดงอย่างมาดอนน่า, เกรซ โจนส์ ฯลฯ

ด้วยการนำเสนอประเด็นทางเพศที่พัฒนาไปสู่ประเด็นทางสังคมการเมือง ทั้งแนวคิดเรื่องการเกิด ความตาย ความรัก เซ็กซ์ และสงคราม ด้วยเส้นสายอันเรียบง่าย และการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ทำให้เขาสามารถดึงดูดผู้ชมในวงกว้าง และสามารถสื่อสารประเด็นต่างๆ ผ่านภาพวาดได้อย่างทรงพลัง

ผลงานของเขากลายภาษาทางภาพอันโดดเด่นเป็นสากลและเป็นที่จดจำมากที่สุดในศตวรรษที่ 20

แฮริ่งยังอุทิศตัวให้กับการทำงานสาธารณะที่สอดแทรกประเด็นทางสังคมและการเมืองอย่างชัดเจน ระหว่างปี 1982-1989 เขาผลิตผลงานศิลปะสาธารณะมากกว่า 50 แห่งในหลายเมืองทั่วโลก ผลงานหลายชิ้นเป็นงานสาธารณกุศลที่เขาทำให้มูลนิธิ, โรงพยาบาล, ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก และสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นภาพฝาผนัง Crack is Wack (1986) ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดในนิวยอร์ก

ภาพฝาผนัง Crack is Wack (1986), ภาพโดย Stan Wiechers, ภาพจากhttps://bit.ly/2WsRrkD

หรือภาพฝาผนังที่วาดในโอกาสเฉลิมฉลอง 100 ปี อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพในปี 1986 ที่เขาทำร่วมกับเด็กๆ จำนวน 900 คน

หรือภาพฝาผนังบนอาคารโรงพยาบาลเด็ก Necker ที่ปารีสในปี 1987 และภาพฝาผนังที่เขาวาดบนกำแพงเบอร์ลินฝั่งตะวันตก ก่อนที่กำแพงจะถูกทลายไปในอีก 3 ปีให้หลัง

เขายังทำเวิร์กช็อปศิลปะร่วมกับเด็กๆ ในโรงเรียนและพิพิธภัณฑ์ในนิวยอร์ก, อัมสเตอร์ดัม, ลอนดอน, โตเกียว และบอร์โดซ์ และสร้างสรรค์สื่อเพื่อการเรียนรู้สำหรับโครงการสาธารณะอีกมากมาย

ภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยคีธแฮริ่งที่บาร์เซโลนาภาพโดย Alberto-g-rovi, ภาพจากhttps://bit.ly/2WvveT8

ในปี 1988 คีธ แฮริ่ง ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเอดส์ หลังจากนั้นในปี 1989 เขาก่อตั้งมูลนิธิ Keith Haring Foundation ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อหาทุนสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ให้แก่องค์กรโรคเอดส์และโครงการของเด็กๆ ผ่านการจัดนิทรรศการศิลปะ, สื่อสิ่งพิมพ์ และการขายลิขสิทธิ์ผลงานของเขา

ในช่วงท้ายของชีวิต เขาออกบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับอาการป่วยของตนเอง และสร้างผลงานที่สื่อสารประเด็นเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกันและโรคเอดส์ เพื่อสนับสนุนการมีเซ็กซ์อย่างปลอดภัย และเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ ผ่านสัญลักษณ์อันโดดเด่นในผลงานของเขา

คีธ แฮริ่ง เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคเอดส์ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1990 ด้วยวัยเพียง 31 ปี

ภายหลังจากที่เขาเสียชีวิต ชื่อของเขายังคงถูกกล่าวขานถึงอยู่เรื่อยมา

Ignorance = Fear (1989), โปสเตอร์ที่วาดโดยคีธแฮริ่ง, ภาพจากhttps://bit.ly/2Wo4Vh

ในปี 2014 เขาเป็นหนึ่งในผู้ได้รับเกียรติให้ประทับชื่อบน Rainbow Honor Walk หรือถนนแห่งเกียรติยศของชาว LGBTQ ในซานฟรานซิสโก จากการเป็นชาว LGBTQ ผู้สร้างคุณูปการสำคัญบนเส้นทางของตัวเอง

ในปี 2019 เขาได้รับการยกให้เป็นหนึ่งใน 50 นักบุกเบิกและวีรบุรุษคนสำคัญชาวอเมริกัน ผู้ถูกจารึกชื่อบนกำแพงแห่งเกียรติยศแห่งชาติอเมริกันของชาว LGBTQ ที่อนุสาวรีย์แห่งชาติ Stonewall National Monument (SNM) ใน Stonewall Inn กรีนิชวิลเลจ นิวยอร์ก

ผลงานของเขายังคงถูกพบเห็นได้ในนิทรรศการและคอลเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลก รวมถึงปรากฏให้เห็นในสื่อร่วมสมัยต่างๆ นับไม่ถ้วน จวบจนกระทั่งทุกวันนี้

ข้อมูล www.haring.com, https://bit.ly/2W1cJH3, https://bit.ly/2YzBtrs