หนุ่มเมืองจันท์ | คาถาสู้ชีวิต

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

เวลามีคนมาปรึกษาปัญหาธุรกิจจากไวรัสโควิด-19 ผมจะหวนรำลึกไปถึงช่วงวิกฤตลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อปี 2540 ทุกครั้ง

เพราะครั้งนั้นเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดของไทย

แม้สถานการณ์จะแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ ทุกอย่างเกิดขึ้นแบบคาดไม่ถึง

อะไรที่คิดว่าแย่สุดๆ

มันแย่กว่านั้นอีก

มี “ความรู้” หนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตทั้ง 2 ครั้งเหมือนกันก็คือ เรา “ไม่รู้” อะไรอีกมากมาย

คนเก่งหลายคนที่เคยคิดว่าเขาเก่ง เขารู้

บอกเลยว่าไวรัสโควิดทำให้ได้รู้ว่าเขาไม่รู้อะไรเยอะมาก

เมื่อไวรัสโควิดเป็นของใหม่ จินตนาการไปข้างหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้นอาจจะยากเกินไป

เมื่อทำนายอนาคตจากจินตนาการไม่ได้

เราก็ย้อนอดีตไปศึกษาประวัติศาสตร์ว่าเขาเคยแก้ปัญหาอย่างไร

เผื่อว่าจะมีบางบทเรียนสามารถนำมาใช้ได้ในวันนี้

ครับ ผมใช้วิธีการย้อนอดีตในการให้คำปรึกษาน้องๆ

ผมเคยคุยกับนักธุรกิจใหญ่หลายคนว่าฝ่าวิกฤตปี 2540 มาได้อย่างไร

ข้อแรก ที่ต้องดูคือ “เงินสด”

“เงินสด” เหมือน “ลมหายใจ”

การฝ่าวิกฤตเหมือนการดำน้ำ ใครจะกลั้นลมหายใจได้นานกว่ากัน

ธุรกิจไหนที่มี “เงินสด” ในมือเยอะ ย่อมได้เปรียบ

เพราะตอนวิกฤต ไม่มีสินทรัพย์อะไรมีค่าเท่ากับ “เงิน”

โฉนดที่ดินที่เป็นหลักทรัพย์ในการกู้แบงก์

ปี 2540 แบงก์ไม่รับนะครับ

ต่อให้ที่ดินอยู่ใจกลางเมือง ราคาแพงแค่ไหนก็ตาม

เรื่องนี้คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี รู้ดี

มี “ที่ดิน” มากมายแต่กู้แบงก์ไม่ได้

เขารอดตายเพราะ “สต๊อกเหล้าขาว” ครับ

เพราะแบงก์เชื่อว่าขายได้ ถ้าลูกหนี้ไม่จ่าย สามารถแปรเป็นเงินสด

แบงก์ยอมรับ “สต๊อกเหล้าขาว” เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน แล้วปล่อยกู้ให้

หรืออีกเรื่องหนึ่ง จำได้ว่าครั้งหนึ่ง ตอนที่ “โอสถสภา” เชิญคุณกรรณิการ์ ชลิตอาภรณ์ เข้าไปบริหารเมื่อหลายปีก่อน

หลังจากดูบัญชีและระบบงานได้พักหนึ่ง

เธอก็ประกาศว่าช่วงนี้ไม่เน้นยอดขาย แต่ให้ความสำคัญกับการเก็บเงิน เพราะมียอดหนี้คงค้างที่ยังไม่ได้ไปเก็บเงินเยอะมาก

เดือนนั้น ยอดขายไม่เพิ่ม แต่กำไรเพิ่ม

ดังนั้น นอกจากดู “เงินสด” ในมือแล้ว ให้ดูว่ายังมีอะไรที่แปรเปลี่ยนเป็น “เงินสด” ได้บ้าง

เจรจาแบงก์ขอปรับเรื่องหนี้ ขอวงเงินโอดีมากันไว้ก่อน-ลดรายจ่าย-ตามหนี้ที่คงค้าง-ลดการผลิตสินค้า-ขายของที่เหลือใช้ ฯลฯ

ที่ต้องระวังอีกเรื่องหนึ่งคือ “เครดิต”

ยอมลดราคาแล้วขายเงินสด

ปลอดภัยไว้ก่อน

เพิ่ม “เงินสด” หรือ “ลมหายใจ” ให้กับตัวเองให้มากที่สุด

เรื่องที่สอง ถ้าเป็นการรบ ช่วงนี้เหมือนการติดดาบปลายปืนแล้ว

เราต้องให้ความสำคัญกับการ “มองใกล้” มากกว่า “มองไกล”

เอาตัวรอดก่อน

วิสัยทัศน์เดี๋ยวค่อยว่ากัน

เหมือนกับเราอยู่กลางทะเล เจอคลื่นลมซัดกระหน่ำ

อย่าไปนึกถึงเป้าหมายตอนที่เรือออกจากท่าว่าเราจะไปไหนมากนัก

ให้คิดเพียงแค่ว่าจะฝ่าคลื่นสูงนี้อย่างไร ไม่ให้เรือล่ม

เอาตัวรอดจากคลื่นก่อน

เรื่องที่สาม ถ้าถึงเวลาต้อง “ขาย”

ให้รีบขาย

“เวลา” สำคัญกว่า “ราคา”

เป็นบทเรียนของคุณตัน ภาสกรนที และ “สุพจน์ ธีระวัฒนชัยโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง

ตอนปี 2540 เป็นหนี้ก้อนใหญ่

คุณตันขายตึกแถวชลบุรี ให้กับคนที่ให้เขากู้เงินนอกระบบ

ขายแบบถูกๆ

“สุพจน์” เลาะเครื่องจักรทั้งหลายขายทิ้ง

“ราคา” ไม่สำคัญเท่า “เวลา”

ยิ่งขายได้เร็ว ได้เงินสดเร็ว

จะได้เอาเวลาไปคิดทำมาหากินต่อ

คนส่วนใหญ่จะเสียดาย อยากขายให้ได้ราคาดีๆ

แต่ตอนเศรษฐกิจพัง “คนซื้อ” ทุกคนพร้อมรอ ไม่มีใครรีบซื้อ

มีของให้เลือกเยอะ

ยกเว้น “ราคา” จะจูงใจ

ส่วนในมุมของพนักงานหรือคนทำงาน

ช่วงนี้ต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างละเอียด จะได้รู้ว่าเรามีหนี้ก้อนไหนที่ดอกเบี้ยสูงๆ ต้องรีบจัดการบ้าง

ถ้าผ่อนบ้านอยู่ รีไฟแนนซ์ได้ไหม

ปรับให้เป็นการผ่อนยาวๆ แต่จ่ายต่อเดือนต่ำ

ค่าใช้จ่ายในบ้านทั้งหมด มีอะไรที่ลดได้ให้ทำเลย

ทำอย่างไรก็ได้ให้รายจ่ายต่อเดือนต่ำสุด

วางแผนแบบลงรายละเอียดเลยนะครับ

อะไรไม่จำเป็นขายทิ้งไป

ไม่ตายหาใหม่ได้

แล้วหันไปดูฝั่ง “รายได้” บ้างว่าตอนนี้มีเงินเก็บเท่าไร มีรายรับเท่าไร

“เงินสด” สำคัญมาก

จะหารายได้เพิ่มทางไหนได้บ้าง แบบลงทุนน้อยที่สุดหรือไม่ลงทุนเลย

ถ้าต้องควักเงินสดไปลงทุนต้องคิดเยอะๆ

และให้คิดล่วงหน้าไว้เลยว่า ถ้าถูกลดเงินเดือน 10-20-30% เราจะสู้ได้ไหม

ถ้าจะถอย ถอยอย่างไร

ให้คิดแบบเลวร้ายสุดๆ

และหากถูกเลิกจ้าง จะทำอย่างไร

วางแผนล่วงหน้าตั้งแต่ตอนที่ยังมีเงินเดือน สมองจะสดใสกว่าตอนที่ถูกเลิกจ้าง

คิดเรื่องตัวเองเสร็จก็หันกลับมาโฟกัสที่ “งาน”

ลุยให้เต็มที่

ทำงานเหมือนเป็นเจ้าของบริษัท

“ทัศนคติ” สำคัญที่สุดในเวลานี้

ถ้ามัวแต่เกี่ยงงาน เกี่ยงความรับผิดชอบ

ตายแน่

ให้ทำงานให้หนักกว่าเงินเดือนที่ได้รับ

มุมหนึ่ง นี่คือ “โอกาส” ในการโชว์ฝีมือ

ไม่มีโอกาสใดที่จะดีกว่านี้แล้ว

คิดแบบนี้เลยครับ

เข้าใจบริษัท เข้าใจผู้บริหารว่าช่วงนี้วิกฤตจริงๆ

เอาใจเขามาใส่ใจเรา

เพราะความเป็น “ทีม” สำคัญที่สุด

น้องถามว่า แล้วถ้าเหตุการณ์มันเลวร้ายกว่านั้น เลวร้ายแบบนึกไม่ถึง

ทำอย่างไรดี

ผมบอกว่า ให้ลองใช้คาถาสู้ชีวิตของ “แจ๊ส ชวนชื่น”

“แจ๊ส” เคยยากจน เคยลำบากมาก่อนกว่าจะมีวันนี้

มีคนถามว่าตอนที่แย่ที่สุด เขาฟันฝ่ามาได้อย่างไร

“แจ๊ส” บอกว่า คาถาของเขามี 2 ข้อ

ข้อแรก “ช่างแม่ง”

เขาเอาไว้ใช้ตอนที่ชีวิตแย่ๆ ไม่มีเงิน ไม่มีงาน

ผิดหวังมากๆ

ก็…ช่างแม่ง

ข้อที่สอง “สักวันหนึ่งต้องเป็นวันของกู”

เป็นคาถาสร้าง “ความหวัง”

ทำให้เขามีพลังในการสู้ต่อไป เพราะเชื่อว่าถ้าทำงานหนัก ทำงานจริง

วันหนึ่ง “ความสำเร็จ” หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาวิ่งไล่มาตลอด

มันจะยืนรออยู่ข้างหน้า

และปรบมือให้เขา

ปล่อยวาง และมีความหวัง

คือคาถาสู้ชีวิตของ “แจ๊ส” ครับ