ในประเทศ / ฉุก เฉินนนน…

ในประเทศ

 

ฉุก

เฉินนนน…

 

มีการคาดหมายว่า สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการมากที่สุดตอนนี้

ไม่พ้นเรื่องการดำรง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่จะหมดอายุสิ้น 31 พฤษภาคมนี้ ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

เพราะด้านหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลคงเห็นว่า อำนาจ “เต็มไม้เต็มมือ” จาก พ.ร.ก.ดังกล่าวหากทำภารกิจการป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 สำเร็จ

รัฐบาลก็จะได้รับการยกย่องจากทั้งในและนอกประเทศ ว่าเป็นชาติที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา

เกียรติภูมิก็จะตกอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์เต็มๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ในทางการเมือง การที่อำนาจถูกดึงโดย พ.ร.ก.ให้มาอยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์เต็มๆ

ทำให้ที่ผ่านมา สามารถใช้กลไกข้าราชการประจำ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ถนัดและคุ้นเคย ควบคุมและบริหารอำนาจได้โดยเบ็ดเสร็จ

ลดอำนาจและแรงกดดันจากฝ่ายนักการเมืองลงได้อย่างชะงัด

สภาวะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ย่อมอยากให้ดำรงสืบไป

 

โดยเฉพาะห้วงหลังจากวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ที่จะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญ

ซึ่งประเมินว่าจะมีประเด็นการเมืองเข้ามาก้าวก่ายการบริหาร

ทำให้อำนาจการนำถดถอยลง แถมยังจะถูกต่อรองขอแบ่งปันอำนาจจากฝ่ายการเมืองไป

อันจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ยากในการบริหารมากขึ้น

แต่ถ้ามี พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุมอยู่ ย่อมบรรเทาภาวะดังกล่าวลง และทำให้ดูแล “การเมือง” ง่ายขึ้น

อาจจะสยบกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ที่จะมีนักการเมืองบางกลุ่มออกมาเรียกร้องอีกครั้ง เพื่อกระจายโควต้าของมุ้งการเมืองในห้วงทำงานครบรอบ 1 ปี

นี่จึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์อยากให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินดำรงอยู่

 

แต่กระนั้น ในภาวะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 คลายลง

รวมทั้งประชาชนจำนวนมากต้องการให้ผ่อนคลายการประกอบธุรกิจหลายประเภทลง เพื่อคลายวิกฤตเศรษฐกิจ

กระแสการเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงมีสูงมากขึ้น

แม้ภาครัฐมีความต้องการจะควบคุมสถานการณ์ไว้ก่อน ด้วยข้ออ้างว่าเพราะไม่มั่นใจว่าจะมีการระบาดซ้ำรอบ 2

แต่กระนั้น กระแสให้ผ่อนคลายก็ทวีขึ้นตามลำดับ

จนรัฐบาลต้องหาเหตุผล และหาข้ออ้างอันชอบธรรม ที่จะตรึงอำนาจของตนเองไว้

 

นี่จึงเป็นที่มาของกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.)

สั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

จัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ภายหลังมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มากกว่า 1 เดือน เพื่อดูผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชน

รวมถึงขอความคิดเห็นว่า เห็นควรให้คง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือยกเลิก เพื่อเป็นแนวทางให้ ศบค.ตัดสินใจ

โดยมีเสียงสะท้อนมาจากสังคมในหลายความคิดเห็น

  1. ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก็ลดลงตามลำดับและอยู่ในความสามารถของเจ้าหน้าที่ที่จะควบคุมได้
  2. ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ยังไม่อยากให้นักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
  3. ให้คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้ก่อน เพราะห่วงจะมีการระบาดของ COVID-19 อีกรอบ แต่ขอให้ผ่อนคลาย เช่น ยกเลิกประกาศเคอร์ฟิว หรือขยายเวลาเคอร์ฟิว จากเดิม 22.00-04.00 น. อาจจะเป็น 23.00-04.00 น.

 

โดยตามกระแสข่าวระบุว่า พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เสนาธิการทหารบก ในฐานะ เสธ.กอ.รมน. จะเป็นผู้พิจารณาเนื้อหาแบบสอบถามประชาชน

ทั้งนี้ เมื่อเช้าวันที่ 11 พฤษภาคม Pages Facebook “ลุงตู่ตูน” เพจที่สนับสนุนการทำงานของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีก็ได้ขานรับทันที

มีการเผยแพร่ข้อความรวมทั้งรูปแบบโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน

โดยเนื้อหาในเพจดังกล่าวมีข้อความว่า “ร่วมส่งแบบสอบถาม ร่วมพิชิตโควิด-19 ไปด้วยกัน โดยการสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วเข้าไปทำแบบสอบถาม โดยแฮชแท็ก #ลุงตู่ #ลุงตู่ตูน #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ”

อันสะท้อนให้เห็นว่ามีการเคลื่อนไหวขานรับเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

 

แทบจะทันทีที่เรื่องนี้กระจายสู่สาธารณะ

เกิดคำถามและคำวิจารณ์จากหลายๆ ฝ่ายเช่นกัน

โดยเฉพาะฝั่งฟากการเมือง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะฝ่ายค้าน หากแต่ยังมีพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ตั้งคำถามถามนายกฯ ว่าทำไมถึงให้ กอ.รมน.ทำโพล จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะได้ผลที่เป็นธรรม เป็นไปตามหลักวิชาการ

หรือให้ กอ.รมน.ทำโพลเป็นเพียงพิธีกรรม เพื่อนายกฯ จะอ้างผลโพลนี้เป็นความชอบธรรมในการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้หรือไม่

“สถานการณ์ล่าสุดของไทยถือว่าดีขึ้นมาก สถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่เลขหลักเดียวมาเป็นสัปดาห์แล้ว ผู้ป่วยสะสมลดน้อยลง ไม่มีเหตุผลที่จะคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้

เรายังมี พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่ใช้ในการควบคุมโรคได้อยู่ ใช้กำหนดมาตรการต่างๆ ได้อย่างมียุทธศาสตร์ ไม่ใช่การใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

หมดยุคใช้อำนาจเผด็จการแก้ปัญหาแล้ว” นายวิโรจน์ระบุ

ขณะที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประชาชนไม่มั่นใจ กอ.รมน. ว่าจะมาทำโพล หรือทำไอโอกับประชาชนกันแน่

กอ.รมน.ถูกตั้งคำถามมาตลอดว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของนายกฯ

การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้เป็นการกระชับอำนาจ ตัดตอนรัฐมนตรี และพรรคร่วมรัฐบาล ป้องกันไม่ให้ประชาชนเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ยิ่งคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้นานเท่าไหร่

พล.อ.ประยุทธ์ยิ่งได้ประโยชน์

 

ฟากฝั่งรัฐบาล นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเรื่องนี้มีวาระซ่อนเร้นก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่า สำรวจเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีอำนาจ หรือเพื่อหวังผลทางการเมืองมากกว่าเอาผลการสำรวจมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก้ไขปัญหาโควิด-19 จะทำให้เกิดปัญหาใหม่ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองทับซ้อนปัญหาเก่าเพิ่มขึ้นอีก

“การให้ กอ.รมน.สำรวจอาจไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม อาจถูกมองว่ารับงานเพื่อสนองความต้องการของนายกฯ เพื่อผลทางการเมือง จึงควรหาหน่วยงานทางวิชาการทำการสำรวจ และควรคิดหาเครื่องมือที่สร้างการยอมรับได้ ให้ได้มาตรฐานทางวิชาการ เพื่อได้ผลที่ไม่บิดเบี้ยว

ขอฝากนายกฯ ให้พิจารณาทำสำรวจกรณีนี้ด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ไร้การแอบแฝง เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นผลการสำรวจ และเป็นประโยชน์ในการทำงานสู้ภัยโควิด-19 อย่างแท้จริง” นายองอาจกล่าว

สอดคล้องกับนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า จะมาทำโพลให้สิ้นเปลืองงบประมาณและเสียเวลาทำไม รัฐบาลควรจะแยกแยะ เรียงลำดับความสำคัญให้ได้ว่า เรื่องใดบ้างที่ควรรับฟังความเห็นของประชาชนโดยตรง หรือทางอ้อม ที่ผ่านมามี ส.ส.หลายคนออกมาแสดงความเห็นที่ดี มีข้อเสนอและให้คำแนะนำต่อรัฐบาลมากมาย

แต่รัฐบาลไม่ได้รับฟังความเห็นและนำไปปฎิบัติเลย

 

เพราะถูกรุมต้านดังกล่าวหรือไม่

ไม่ทราบ

แต่เพียงข้ามวัน พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

ได้ออกมาชี้แจงถึงการทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ต่อการต่ออายุ หรือยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า

  1. พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้สั่งการ หรือมีนโยบายให้ทำโพลสำรวจความคิดเห็นในเรื่องนี้
  2. สมช.ไม่ได้สั่งการให้ กอ.รมน.ทำโพลสำรวจความคิดเห็นในเรื่องการต่ออายุ หรือยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ แต่อย่างใด
  3. ในการพิจารณาว่าจะต่ออายุ หรือยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 31 พฤษภาคมนี้ หรือไม่นั้น ให้เป็นไปตามสถานการณ์ด้านสาธารณสุข สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด เป็นสำคัญ ไม่ใช่ยึดจากโพลการสำรวจความคิดเห็น

เช่นเดียวกับเพจ “ลุงตู่ตูน” ซึ่งเผยแพร่ข้อความรวมทั้งรูปแบบโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “ขอชี้แจงการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะพิจารณาข้อมูลจากสาธารณสุขเป็นหลัก #ลุงตู่ #ลุงตู่ตูน #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ”

พร้อมกับจบเรื่องลงเฉยๆ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ให้สัมภาษณ์ปฏิเสธเช่นกัน

โดยบอกว่า การจะต่ออายุ พ.ร.ก. หรือไม่นั้น อยู่ที่การพิจารณาของ ศบค.

ต้องคำนึงถึงมาตรฐานในการด้านสาธารณสุขเป็นหลัก

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีผลสำรวจความคิดเห็น หรือโพลของใครทำมาก็แล้วแต่ ก็เป็นเรื่องของโพลไป

“เท่าที่ทราบก็มีสื่อบางสำนักได้ทำในขณะนี้ ทราบว่ามีผู้เห็นชอบให้ต่ออายุของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 88% และมีผู้ไม่เห็นชอบให้ยกเลิก 12% จึงขอย้ำอีกครั้งว่า เรื่องนี้เป็นการทำของสื่อ ผมไม่ได้ทำทั้งสิ้นและไม่ได้สั่งการให้ใครไปทำ ข่าวที่ออกมาอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

 

สร้างความมึนงงให้กับสังคมพอสมควร ถึงการกลับไปกลับมาดังกล่าว

ซึ่งก็พบบ่อยครั้ง ในห้วงที่รัฐบาลและ ศบค.เผชิญวิกฤต

แต่ก็น่าสังเกตเรื่องนี้มีการถอย หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก

โดยดูท่าทีแล้ว ในกรณีนี้ฝ่ายปฏิบัติก็รับกรรมไปตามระเบียบ

ส่วนฝ่ายนโยบายก็ลอยตัวสบายๆ

แต่ก็อยากให้พิจารณาท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์

นั่นคือ ถึงจะบอกว่าไม่ได้สั่งให้ทำโพล แต่ก็โยนไปให้ “สื่อบางสำนัก” ว่าได้ทำโพลในเรื่องนี้

แถมเน้นผลสำรวจให้เสียด้วยว่าให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ออกไปถึง 88%

การที่พ่วงประเด็นนี้ทั้งที่บอกไม่ได้ทำโพลนั้น

ก็อดทำให้หลายคนคิดไม่ได้ว่า ที่ พล.อ.ประยุทธ์ขับเน้นประเด็น “ให้ต่อ พ.ร.ก.” นี้

สะท้อนความต้องการในใจอย่างปิดไม่มิดนั่นเอง

คืออยากให้ฉุกเฉินนนน…

            ยาวๆ นานๆ