คนมองหนัง | “ไกล” โดย “มาโนช พุฒตาล” จาก “เพลงปลุกหวัง” ปลาย 2530 ถึง “เพลงเศร้า” ต้น 2560

คนมองหนัง

สถานะของเพลง “ไกล” ในปลายทศวรรษ 2530

ไม่ว่าจะนิยามเพลง “ไกล” เป็นผลงานแนวโปรเกสซีฟร็อก โอเปร่าร็อก ฯลฯ หรืออะไรก็แล้วแต่

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่หลายคนเห็นตรงกันคือ ผลงานเพลงดังกล่าวเป็นการเปิดตัว “สื่อมวลชน” ชื่อ “มาโนช พุฒตาล” ในฐานะนักดนตรี-นักแต่งเพลงฝีมือเยี่ยมอย่างหมดจดงดงาม

“ไกล” เข้ามาสร้างความแหวกแนวให้แก่อุตสาหกรรมเพลงไทยในช่วงครึ่งหลังทศวรรษ 2530 ด้วยเนื้อหาเชิงปรัชญาที่ลึกซึ้ง คมคาย ชวนขบคิด และด้วยความยาว (เกือบ 24 นาที) เกินมาตรฐานเพลงตามท้องตลาดทั่วไป

แม้แนวทางดนตรีที่ปรากฏในเพลงนี้จะจัดเป็นวิถี “โอลด์สกูล” ไม่ได้เป็นงาน “อัลเตอร์ฯ” ตามสมัยนิยมยุคนั้น

เพลง “ไกล” คือก้าวย่างแรก ซึ่งนำไปสู่ก้าวย่างที่สอง อันได้แก่ คอนเซ็ปต์อัลบั้มชุด “ในทรรศนะของข้าพเจ้า”

โดยเพลงอย่าง “หมอผีครองเมือง” และ “ลำธาร” ก็คือส่วนเสี้ยวในบทเพลงดั้งเดิม ที่ถูกนำมาขยายต่อเติมและพัฒนาจนกลายเป็นเพลงใหม่ที่มีชีวิตมีบทตอนของตัวเอง

ขณะที่ “ไกลรำลึก” อาจเป็นคล้ายภาคต่อสั้นๆ เศร้าๆ (ที่ยังไม่จบ?) ของ “ไกล”

ไม่อาจปฏิเสธว่าทั้ง “ไกล” และ “ในทรรศนะของข้าพเจ้า” ล้วนเป็นผลงานเพลงที่น่าจดจำในทศวรรษ 2530 และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนฟังกลุ่มเล็กๆ อย่างนิ่งลึก

ท่ามกลางความฟูเฟื่องของค่ายเพลงป๊อปยักษ์ใหญ่สองค่าย และสีสันหวือหวาประดุจแสงดอกไม้ไฟของกระแสดนตรีอินดี้

“ไกล” : แรกฟัง

ตลอดช่วงเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ผมฟังเพลง “ไกล” ในฐานะ “บทเพลงปลุก/ปลอบความหวัง”

แม้เนื้อหาของเพลงจะขึ้นต้นด้วยเรื่องราวของ “วันสุดท้ายที่น่าเวทนา” และไร้ความหวัง

แม้เนื้อร้องโดย “มาโนช” ผ่านเสียงแหบเสน่ห์ทรงพลังของ “กฤตยา จารุกลัส” จะเฆี่ยนโบยเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยถ้อยคำพร่ำบ่น อาทิ

“ภาระอันหนักหนา หาใครช่วยแบกหาม ได้แต่แหงนหน้าถามฟ้า คำสั่งจากแดนสวรรค์ แข่งขัน ดุจเข่นฆ่า ก้าวข้ามหัวใครมา ฉันจึงมาหา ที่มาของสายน้ำ สายน้ำแห่งความหมาย ต่อสู้อย่างอดทน ดิ้นรนจนแทบตาย ยังฉันยังไม่พบสิ่งใด”

หรือ “เพื่อนเอยฉันอยู่ไหน สุดท้ายไปไม่ถึง เซื่องซึมและสิ้นหวัง ฉันเห็นโลกแปลกหน้า ยาพิษในอาหาร สุสานบนถนน คนบ้าถือกงล้อ เด็กน้อยถือปืนผา อาสาสู้ศึกร้าย เพื่อนเอยฉันอยู่ไหน สุดท้ายก็หลงทาง ได้แต่หวังเพียงกลับบ้าน”

และแม้เรื่องราวของบทเพลงจะพาเราดั้นด้นไปเผชิญหน้ากับ “หมอผีครองเมือง” ผ่านสภาวะ “คนจนยิ่งจน ยากจนเพราะคนร่ำรวย ร่ำรวยเพราะคนยากจนสร้างให้รวย คนดีต้องตาย เพราะเหล่าร้าย พวกเหล่าร้าย เขียนกฎหมาย ให้คนร้ายเป็นคนดี หลายสิ่งที่เป็น แต่ที่เห็น เป็นภาพลวง เป็นภาพหลอน เฉกเช่นหนอนกลายเป็นเกลือ”

ทว่าอย่างน้อยที่สุด การเดินทางไกลของเพลงเพลงนี้ก็ยังนำพาเราไปสัมผัสกับปัญญา เหตุผล ความดีงาม การแบ่งปัน และชัยชนะตามประสา “เพลงการเมืองยุคหลัง 2535” ดังปรากฏผ่านเนื้อร้องท่อนที่ว่า

“อยากบอกให้รู้ความดียังมีอยู่ วางจิตรับรู้เข้าใจด้วยเหตุผล ดื่มดับกระหาย สายน้ำของทุกผู้คน หยุดความสับสน เลือกหนทางเดิน สัจธรรมจริงแท้ มั่นคงดำรงอยู่ ปัญญาความรู้เท่าทันความเศร้าหมอง ดื่มเถิดเพื่อนผอง สายน้ำของการแบ่งปัน ร่วมกันสร้างฝันบนพื้นฐานความจริง”

และ “วิถีเหตุผล พาหลุดพ้น ฤทธิ์เวทมนตร์ หมอผีร้าย สูญสลายในพริบตา”

“ไกล” : ฟังใหม่หลังโศกนาฏกรรม

ไม่ว่าหญิงสาวรายหนึ่ง ซึ่งมีสถานะเป็น “เพื่อนร่วมสังคม/ประเทศ/ชาติ/โลก” และ “เพื่อนมนุษย์” ของเรา จะตัดสินใจปิดฉากชีวิตของตนเอง เพราะความสิ้นหวังทางเศรษฐกิจในยุคโควิดแพร่ระบาด ความโกรธแค้นที่มีต่อผู้นำประเทศ หรืออาจร่วมด้วยความกดดันอื่นๆ

และไม่ว่าเธอจะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทแล้วหรือไม่ก็ตาม

สิ่งสำคัญที่บทความชิ้นนี้สนใจ คือการที่หญิงสาวพยายามทบทวนย้อนรำลึกถึงเนื้อหาบางส่วนของเพลง “ไกล” ในห้วงคำนึงหรือการไตร่ตรองสะท้อนคิดท้ายๆ ของตนเอง

ส่งผลให้ผมลองกลับไปนั่งฟัง “บทเพลงปลุก/ปลอบความหวัง” เพลงนี้ซ้ำๆ อยู่หลายรอบ เพื่อจะสำรวจตรวจตราถึงมิติแห่งโศกนาฏกรรมที่อาจแฝงเร้นอยู่

แล้ว “ความเศร้า” บางอย่างก็พลันปรากฏขึ้น (แม้อาจจะเป็นคนละ “ความเศร้า” กับที่หญิงสาวผู้นั้นสามารถสัมผัสหยั่งถึงได้)

“ผมสงสัยอยู่ว่า ทำไมจึงเป็นตัวของตัวเองไม่ได้ เป็นอย่างสัตว์ป่าสักตัว สัตว์โทน อยู่ตามลำพังในป่า หิวก็กิน เหนื่อยก็นอน ไม่ต้องกินสิ่งที่ไม่อยากกิน ไม่ต้องนอนในที่ที่ไม่อยากนอน ไม่ต้องเชื่อในเรื่องที่ไม่อยากเชื่อ”

หลายคนคงรู้สึกอยู่เสมอมาว่าคำพูดส่งท้ายเพลง “ไกล” จากน้ำเสียงของ “มาโนช” ดังปรากฏข้างต้นนั้นสามารถส่งมอบความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและอิสรภาพบางประการให้แก่ผู้ฟังได้อย่างทรงพลัง

แต่ผมเพิ่งเกิดคำถามในใจเมื่อเร็วๆ นี้เองว่า สภาวะ “สัตว์โทน” ที่ถูกใฝ่ฝันถึง ณ ช่วงท้ายเพลง “ไกล” นั้นสื่อถึงอะไรกันแน่?

ระหว่างความมีอิสระทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ ผนวกด้วยการปราศจากพันธะจองจำต่างๆ ทางสังคม ใน “วิถีธรรมชาติ” ของสิ่งมีชีวิต (ความหมายนี้น่าจะสอดคล้องกับการตีความของคนแต่งเพลงเช่น “มาโนช” ตลอดจนคนฟังหลายๆ ราย)

หรือหมายถึง “ชีวิตที่เปลือยเปล่า” ซึ่งไม่มีศักดิ์ ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีปากเสียง ไม่มีตัวตนในทางการเมือง เป็นชีวิตที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้ทรงอำนาจ และไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองทั้งจากรัฐและสังคม

กระทั่งนี่อาจเป็นการโยนมนุษย์กลับคืนสู่โลกธรรมชาติ ซึ่งต่างคนต่างต้องดูแลช่วยเหลือตัวเอง ราวกับไม่เคยมี “สังคมการเมือง” หรือ “สัญญาประชาคม” ใดๆ ดำรงอยู่

ไปๆ มาๆ ภาวะ “สัตว์โทน” ดังกล่าวจึงเป็นทั้งสิ่งที่พึงปรารถนาและไม่น่าพึงปรารถนาไปพร้อมๆ กัน

ไม่ต่างอะไรกับความโรแมนติกของห้วงยาม “ปลดปล่อยตนเองไปตามลำธารเปลี่ยว” ซึ่งมิอาจแยกขาดจากความรู้สึก “โดดเดี่ยวคนเดียว เหลียวมองดูรอบกาย โดดเดี่ยวเดียวดาย กระหายพบเพื่อนร่วมทาง โลกที่อ้างว้าง เส้นทางที่ไกล”

จากการเป็นเพลงแห่งความหวังในช่วงปลายทศวรรษ 2530 “ไกล” ได้ค่อยๆ กลายสภาพเป็นบทเพลงแห่งโศกนาฏกรรม ตามการตีความใหม่ๆ ในบริบทของสังคมไทยช่วงต้นทศวรรษ 2560

ที่กำลังถูก “ความสิ้นหวัง” รุมเร้าและกัดกิน