มุกดา สุวรรณชาติ : ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ…2020 ถอยตั้งรับ…กลับถิ่นเดิม

มุกดา สุวรรณชาติ

Covid-19 ทำให้เกิดการอพยพ
หลบภัยเศรษฐกิจ 2020

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ทีมงานเราได้ประเมินว่าไวรัสโคโรนาจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งประเทศ แต่ผู้รับผิดชอบในรัฐบาลยังขยับตัวช้ามาก กว่าจะใช้มาตรการสกัดกั้นที่เด็ดขาดก็ช้าไปเป็นเดือน

แต่หลังจากนั้นก็ปิดเมือง ปิดประเทศมากเกินไปอีก ผู้คนเกิดการเดือดร้อนต่อการทำมาหากิน

เรามีความเห็นว่าควรเริ่มผ่อนคลายอย่างเป็นจังหวะมา 2-3 อาทิตย์แล้ว

แต่จนบัดนี้การผ่อนคลายเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นและบางเรื่องก็ดูไม่มีเหตุผล เช่น เคอร์ฟิว 22:00 น. ถึง 04:00 น. การปิดกั้นการทำมาหากินของประชาชนจะส่งผลเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงถ้าปิดนานเกินไป

หลายธุรกิจปิดแล้วอาจไม่กลับมาเปิดได้อีกเลย

ก่อนสงกรานต์ เรายกรูปธรรมความเดือดร้อนของปางช้าง ว่าที่สุดแล้วคนและช้างต้องกลับถิ่นเดิมเพราะไม่มีกิน วันนี้เราเห็นขบวนช้างกำลังเดินกลับ เราคิดว่าผู้คนที่เข้ามาทำมาหากินในเมืองใหญ่ก็ต้องถอยกลับถิ่นเดิมเช่นกัน

แต่เพราะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามคนเดินทางข้ามจังหวัด ภาพนี้จึงยังไม่ชัดเจน

ต้องดูที่ภูเก็ตก็เป็นตัวอย่างของการอพยพเมื่อเกิดสภาพว่างงานขึ้น

ขณะนี้ภาพผู้อพยพจากภาคกลางและ กทม. เพื่อกลับถิ่นเดิมก็เริ่มปรากฏให้เห็น มีทั้งรถกระบะ รถโดยสาร นั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์หอบข้าวของอีนุงตุงนัง บ้างก็ใช้รถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง มีแม้กระทั่งบางคนเดินเท้า แต่ที่ผ่านมาเป็นภาพเพียงเล็กน้อย

ในวันช่วงเวลาที่มีวันหยุดยาวมีคนออกต่างจังหวัดเยอะจนกระทั่งเห็นรถติด มีคนถามว่าพวกเขาไม่กลัวโรคระบาดกันหรืออย่างไร จริงๆ แล้วใครจะมีใจออกไปเที่ยวในช่วงนี้ พวกเขาไปเพราะต้องการกลับไปดูญาติมิตร พ่อ-แม่ พี่-น้อง หรือลูกๆ ที่ฝากปู่-ย่า ตา-ยายเลี้ยงไว้ว่าอยู่กันอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่

และที่สำคัญก็คือ เขาต้องการกลับไปดูลาดเลาว่าถ้าจำเป็นต้องกลับมาอยู่บ้านพ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยายที่ต่างจังหวัดจะกลับมาอยู่ได้ไหม สถานที่คับแคบ หรือกว้างขวางพออยู่ได้ ต้องปรับปรุงอะไรบ้าง

กลับมาแล้วจะทำมาหากินอะไรได้บ้าง

บางคนอยู่ในสภาพจนตรอกเพราะไม่มีค่าเช่า ค่ากิน ในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ ยังไงก็ต้องกลับก็เลยหอบข้าวหอบของติดรถกลับมา

คนที่ตกงานแน่นอนแล้วก็หวังว่าจะมาทำอะไรที่บ้านนอกได้ เหตุผลง่ายๆ ก็คือ ส่วนใหญ่พอจะมีบ้านเดิมให้คุ้มหัวมีที่นอนจึงอาศัยหลักว่า ถ้าบ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ ก็จะพอประทังชีวิตอยู่ได้ระยะหนึ่ง เศรษฐกิจฟื้นค่อยมาหางานทำใหม่

แต่คนที่ยังพอมีความหวัง บริษัทที่ตัวเองอยู่แม้สภาพไม่ค่อยดีแต่ยังไม่ได้ปลดพนักงาน ประเมินสถานการณ์แล้วอาจอยู่ได้ต่ออีก 2-3 เดือนก็อยากจะทนอยู่หาเงินจนนาทีสุดท้าย แล้วค่อยกลับบ้าน

ดังนั้น ชาวบ้านที่ย้อนกลับไปดูบ้านตัวเองช่วงนี้จึงไม่ใช่คนโง่ พวกเขารู้จักวางยุทธศาสตร์การถอยเช่นเดียวกับองค์กรใหญ่ๆ เพียงแต่ทางรอดของเขาเป็นช่องทางเล็กๆ โดยหวังว่าจะประคองตัวเองให้รอดไปใน 2-3 ปีนี้

ภาพคนอพยพกลับถิ่นจะมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลแจกเงินหมดสิ้นซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นปลายเดือนมิถุนายน ถึงเวลานั้นก็จำเป็นต้องตัดสินใจถอยกลับบ้านเดิม ในขณะเดียวกันบริษัทที่ประคองตัวเองมาตั้งแต่ต้นปีใครอยู่ได้ก็ประคองต่อ ใครอยู่ไม่ได้ก็ต้องตัดสินใจปิดตัวเองลงและเลิกจ้าง

ดังนั้น จากเดือนมิถุนายนเป็นต้นไปก็อาจจะต้องมีอีกหลายล้านชีวิตที่จำเป็นต้องถอยกลับเข้าฐานที่มั่นสำหรับคนที่ยังมีที่มั่นพอจะอาศัยอยู่ได้ แต่บางคนที่จะกลับไปบ้านนอกก็ไม่มี ชีวิตคนพวกนี้จะลำบากที่สุด

 

เศรษฐกิจไทยจะตกต่ำ
คนจะตกงานจำนวนมาก
ยากจะแก้ไข

การประเมินสถานการณ์หลังสถานการณ์การระบาดโควิด-19 การประเมินโดยทั่วไปแทบทุกประเทศการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่วัดด้วยตัวเลข GDP พบว่าจะติดลบประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์

สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะหดตัว 5.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งปรับลดลงจากก่อนหน้านี้มองว่าจะขยายตัว 2.8% โดยสาเหตุที่ปรับลดลงเพราะสถานการณ์โควิด-19 ยังมีความรุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทย

ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มาจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวราว 60% ในปีนี้

ทั้งนี้ ธปท.คาดว่าการส่งออกปี 2563 จะติดลบ 8.8% โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2563 จะติดลบ 1.0%

ตัวเลขคนตกงานขณะนี้ยังไม่ชัดเจน แต่คาดการณ์กันว่าจะมี 6.5-7.1 ล้าน และตัวเลขจะมีลักษณะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามกิจการที่ปิดตัวลงตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี 2563 และตลอดปี 2564 ยังมีส่วนที่เป็นนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ในระดับ ปวช. ปวส. ปริญญาตรีจำนวนมากและที่ตกงานค้างอยู่ 2-3 ปีที่แล้วอีกจำนวนมาก ทำให้อาจถึง 10 ล้านคนถ้าการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นใน 1 ปี

ส่วน SME ที่ปิดตัวลงคงไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ในระยะสั้นมาก

เมื่อรู้ว่าความหวังในการหางานยากมากขึ้น ไม่สามารถจะจ่ายค่าเช่าและค่าอาหารอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ได้ พวกเขาก็จำเป็นต้องถอยกลับบ้านเช่นกัน

ทุกประเทศแก้โดยอัดเม็ดเงินเข้าระบบ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

การที่หลายประเทศแจกเงินให้กับประชาชน ก็หวังจะกระตุ้นกำลังซื้อทำให้ระบบการผลิตและการบริการอยู่ได้ โดยใช้หลักการทั่วไปในช่วงนี้

การอัดฉีดเงินในระบบสาธารณสุขเพิ่มขึ้น เพื่อสู้กับโรคระบาดให้ได้

ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ลูกจ้างและธุรกิจต่างๆ เพื่อไม่ให้ธุรกิจล้ม คนตกงาน

ใช้ธนาคารกลางและงบประมาณของรัฐสนับสนุนเศรษฐกิจต่อไป

ต้องมีแผนฟื้นฟู ตั้งรับในช่วงแรก และฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้นและยาว

แต่มาตรการทั้งหมดไม่อาจฟื้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นๆ เพราะนี่เป็นคลื่น Tsunami เป็นสึนามิทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่

 

ควรวางแผนตามสถานการณ์จริง
ถึงเวลาของเศรษฐกิจพอเพียง

สถานการณ์ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม

ถ้ารัฐบาลยังหาเงินมาเยียวยาได้ เงินก็จะเข้าระบบไปช่วยเลี้ยงปากท้องของคนได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งบางคนอาจจะเพิ่งได้ บางคนไม่ได้ ถึงช่วงเวลานั้นคนที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจะแสดงปฏิกิริยามากขึ้น รัฐบาลจะต้องแก้ตรงนี้ให้ดี กลุ่มอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับเงินจะต้องได้ในเดือนมิถุนายน มิฉะนั้นปัญหาจะประดังเข้ามาสมทบกับกลุ่มที่ผิดหวัง กลายเป็นความโกรธ

คนกลุ่มนี้อาจเรียกร้องอยู่ก่อนแล้วและทนได้เพราะมีเงินเก็บ ถ้าเงินของเขาเองหมดแล้วคงมีปัญหาแน่ การคลายล็อกดาวน์ อาจทำให้คนทำมาหากินได้บ้าง แต่หลายกิจการเมื่อเปิดแล้วก็จะรู้ว่าไม่เหมือนเก่า จำนวนลูกค้าที่หายไปอาจเกิดเพราะคนกลัวโควิด

แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือคนที่เคยซื้อ ไม่มีเงินมากเหมือนเก่า กิจการบางอย่างที่ไม่ใช่ของกินของใช้ที่จำเป็น อาจฟื้นตัวได้ 50% ของยุคเดิม

และหลายอาชีพจำเป็นจะต้องย้ายสถานที่ ลดขนาด หรือปิดกิจการไป เจ้าของต้องอดทนและเสี่ยงต่อการขาดทุน อาจจะต้องรอยาวไปถึงปลายปี ใครจะมีสายป่านที่ยาวขนาดนั้น

ดังนั้น รัฐต้องประเมินว่าอาจมีคนต้องถอยกลับบ้านนอกถึง 10 ล้านคน

และเมื่อมีสถานการณ์ดีขึ้นในบางจุดก็อาจจะมีคนได้หมุนเวียนกลับมาทำงานที่เดิมหรืองานใหม่

ซึ่งอาจจะต้องกินระยะเวลาปี 2 ปี แต่อาจจะมีคนหางานได้เพียง 2-3 ล้านคนเท่านั้น

ดังนั้น ยุทธศาสตร์ใหม่ต้องอาศัยรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อประคองชีวิตคนจำนวนมาก เพราะเดิมแล้วคนเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญที่ส่งเงินกลับมาเลี้ยงพ่อ-แม่ ลูก-หลานที่อยู่ในชนบท

ดังนั้น เมื่อเขาตกงานมาเพียงตัวเขาหมายถึงคนในครอบครัวที่อยู่ในชนบทก็ขาดรายได้ไปด้วย เงินที่รัฐบาลแจกต่อให้ประทังอยู่ได้ 3 เดือนจริง

แต่ในเดือนที่ 4 หรือต่อให้อีก 1 ปี 2 ปี จะต้องคิดว่าคนเหล่านี้จะอยู่อย่างไร ต้องคิดเผื่อไว้ถึง 2-3 ปีข้างหน้า

เพราะรัฐบาลจะไม่มีทางหาเงินมาแจกได้เหมือน 3 เดือนที่ผ่านมา

 

ยุทธศาสตร์…การยกระดับคุณภาพชีวิต
ในชุมชนระดับตำบล

ตามชุมชนเล็กๆ ระดับ อบต. เทศบาลตำบล ต้องยกระดับคุณภาพชีวิตให้พวกเขาอยู่ได้ ไม่รู้สึกว่าอยู่แล้วยากลำบากคับแค้นจนต้องดิ้นรนออกไปสู่เมืองใหญ่อีก ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาสังคมและอาชญากรรมมากขึ้น ดังนั้น รัฐจะต้องพัฒนาความสะดวกในการใช้ชีวิตในการประกอบอาชีพ

ทั้งดิน…น้ำ…ลม…ไฟ

โดยอาศัยงบประมาณที่จะอัดเข้าสู่จังหวัดต่างๆ ตั้งแต่งบฯ กระตุ้นเศรษฐกิจ 400,000 ล้าน ที่ช่วยแก้ปัญหาจากโควิด-19 และการปรับปรุงงบประมาณ 2564 ก็ควรกำหนดยุทธศาสตร์นี้เข้าไปด้วย เพื่อให้การดำเนินงานต่อเนื่อง เพราะเราไม่สามารถหาเงินเพิ่มมาได้อีก

เรื่องน้ำจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ทุกบ้านจะต้องมีน้ำเพื่อบริโภคอุปโภคอย่างได้มาตรฐาน ไม่ใช่ซื้อน้ำจากรถน้ำมากินมาใช้ทั้งปี หรือได้บริโภคน้ำกร่อย น้ำขุ่น น้ำมีสนิม ต้องแก้ปัญหาเรื่องการขาดน้ำให้ได้

ต้องทำการขุดหาน้ำบาดาล สร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดต่างๆ พร้อมทั้งจัดระบบประปามาตรฐานให้คนในชุมชนใช้ ถ้าได้ตรงนี้ชีวิตพวกเขาก็จะดูใกล้เคียงกับการอยู่ในเมืองมากขึ้น ถ้าแล้งน้ำหรือระบบประปาไม่มีคุณภาพ โอกาสจะยกระดับคุณภาพชีวิตจะทำไม่ได้เลย

เรื่องดิน หมายถึงการจัดสรรหรือหาที่ทำกินให้กับคนที่ถอยกลับเข้าสู่ระบบชนบท โดยทำกินในที่เดิมที่มีอยู่แล้ว หรือหาที่ใหม่ให้ในรูปของการเช่า มีการออกเอกสารสิทธิ์อย่างชัดเจน โดยเร่งด่วนให้กับเจ้าของที่เดิม เมื่อมีความเป็นเจ้าของก็จะผูกพัน อยากทำมาหากิน เพื่อการทำการเกษตรหรือทำการค้าขายอย่างอื่นในชุมชน

เรื่องไฟ หมายถึงไฟฟ้า ต้องพยายามขยายเขตให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึงโดยที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ไฟตกไฟดับตลอดปี

เรื่องลม หมายถึงการแก้ปัญหาฝุ่นควันพิษ ถ้าเกิดมลพิษในอากาศ ปีละ 6-7 เดือน ประชาชนจะอยู่ลำบาก และถ้าเป็นเขตท่องเที่ยวก็จะไม่มีนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมเยือนทำให้ไม่สามารถทำอาชีพต่างๆ ได้

จะเห็นว่าเขตตำบลใดก็ตามสามารถปรับปรุงดิน น้ำ ลม ไฟได้สำเร็จ ก็จะมีอุตสาหกรรมขนาดเล็กได้ หรืออาจมีผู้มาลงทุนทำขนาดใหญ่ได้ ทำการค้าได้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ สร้าง OTOP มีโฮมสเตย์ มีรีสอร์ต เพิ่มจากสวน ไร่ นา

 

ยุทธศาสตร์ในการสร้างอาชีพและรายได้

แม้ในท้องถิ่นต่างๆ มีศักยภาพทรัพยากรที่แตกต่างกัน ในรัฐต้องกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์การประกอบอาชีพให้ประชาชนมองเห็นอนาคตในสถานการณ์ใหม่ของโลก เช่นขณะนี้โอกาสทางด้านสินค้าประเภทอาหารและยาน่าจะไปได้ดี การสนับสนุนสินค้าที่เป็นอาหาร พืชไร่ ข้าว ผลไม้และสมุนไพรควรได้รับการส่งเสริมอย่างมีเป้าหมายชัดเจน เช่น กัญชา กัญชง จะทำอะไรก็ต้องรีบ หลายประเทศเริ่มจะเดินหน้าไปแล้ว

แนวทางสร้างอุตสาหกรรมอาหารและยา โดยเพิ่มความสามารถให้กับชุมชน ให้สามารถแปรรูป เช่น การสกัดเป็นน้ำ ผลิตเป็นเม็ด มีการทำอาหารกระป๋อง การทำอาหารแห้ง ซึ่งสามารถสนับสนุนได้โดยสถาบันการศึกษาที่มีความรู้ด้านนี้

นี่เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างจริงจังสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ถ้าเขตพื้นที่ที่มีดินน้ำลมไฟพร้อม เมื่อมีผู้ลงทุน มีความรู้ก็จะสร้างได้

งบประมาณเป็นแสนๆ ล้านจะใช้จ่ายโดยไม่มีผลงานเลยได้อย่างไร

เป้าหมายในการถอยตั้งรับคือ ต้องทำให้คนที่ยากลำบากอยู่ได้ โดยมีน้ำสะอาด มีอาหาร ระบบสาธารณสุขเราดีอยู่แล้ว เติมระบบสื่อสารให้อีกหน่อย เพราะการถอยครั้งนี้อาจจะยาวหลายปี