มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น : การแย่งชิงพื้นที่ยูเรเซียอันกว้างไพศาล

การแย่งชิงพื้นที่ยูเรเซียอันกว้างไพศาล

ยูเรเซียเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ขนาดใหญ่ รวมดินแดนทั้งทวีปยุโรปและเอเชีย ครอบคลุมเนื้อที่ราว 55 ล้าน ตร.ก.ม. มีประชากรราว 5 พันล้านคน หรือราวร้อยละ 70 ของประชากรโลก

อารยธรรมของโลกเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในยูเรเซีย ยูเรเซียเป็นศูนย์การเคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์มาตลอดหลายพันปี

การที่สหรัฐที่เป็นเกาะอยู่ภายนอก ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของโลกและเข้ามามีอิทธิพลสูงในยูเรเซียช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นสิ่งยกเว้นและจักดำรงอยู่ได้ไม่นาน

ความรู้เกี่ยวกับ “ยูเรเซีย” ที่นำมาใช้ประโยชน์ทางยุทธศาสตร์เป็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ปัจจุบันมี 3 ชุดใหญ่ด้วยกันที่ต่อสู้และร่วมมือกันอย่างเข้มข้น

ชุดแรก เป็นของอเมริกา-อังกฤษ เสนอตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20

ชุดที่สอง เป็นของรัสเซีย แสดงเป็นรูปธรรมในการจัดตั้ง “สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย”

ชุดที่สาม เป็นของจีน แสดงรูปธรรมที่ “เส้นทางแพรไหมใหม่” หรือ “หนึ่งทาง หนึ่งถนน”

สองชุดหลังในขณะนี้สามัคคีเป็นหนึ่งเดียว เพื่อต่อต้านอิทธิพลของอเมริกันในยูเรเซีย

มีนักทฤษฎีทางภูมิรัฐศาสตร์บางคนเห็นว่า เส้นทางแพรไหม เป็นดุมล้อประวัติศาสตร์สำคัญกว่าแนวคิดเรื่องยูเรเซียที่พูดกัน (ดูบทความของ R. James Ferguson ชื่อ Geopolitics of Silk Roads : Beyond Mahan and Mackinder ใน international-relations.com 2007)

ยูเรเซียขณะนี้ได้เป็นสมรภูมิใหญ่ที่ร้อนแรง มีจุดเดือดหลายจุด เช่น ทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ คาบสมุทรเกาหลี ยูเครน ยุโรปตะวันออก คาบสมุทรบอลข่าน ทะเลบอลติก มหาตะวันออกกลาง ที่อาจระเบิดเป็นสงครามใหญ่ได้

นอกจากนี้ จีนและรัสเซียยังพยายามรุกคืบเข้าไปในอเมริกากลางและใต้ โดยไม่คำนึงถึงว่าที่นั่นเป็นสนามหลังบ้านของสหรัฐอีกต่อไป และอาจกลายเป็นจุดเดือดใหญ่เพิ่มขึ้น

 

ยูเรเซีย-มองแบบอเมริกา-อังกฤษ

อเมริกาเป็นทวีปต่างหากไปจากยูเรเซีย ทัศนะทางภูมิรัฐศาสตร์เน้นเรื่องความเป็นเจ้าสมุทร ประเทศอเมริกาเองก็เกิดจากการเป็นเจ้าสมุทรของมหาอำนาจในยุโรป ได้แก่ สเปน ฝรั่งเศส และอังกฤษ เป็นต้น ที่สามารถส่งกองเรือแบบต่างๆ มายึดครองดินแดนเป็นอาณานิคม

หลังทำสงครามปฏิวัติ ประกาศเอกราชจากอังกฤษแล้ว สหรัฐก็ได้ขยายดินแดนของตนทั้งโดยการทำสงครามและการซื้อดินแดน จนกระทั่งเมื่อถึงปลายศตวรรษที่ 19 ก็ได้สร้างทฤษฎีภูมิ รัฐศาสตร์ของตนขึ้น โดยมีนักคิดสำคัญได้แก่ อัลเฟริด เทเยอร์ เมยัน (1840-1914) เขียนหนังสือสำคัญชื่อ อิทธิพลของอำนาจทางทะเลต่อประวัติศาสตร์, 1660-1873 (เผยแพร่ปี 1890) ซึ่งส่งอิทธิพลต่อยุทธศาสตร์ของสหรัฐในด้านการสร้างแสนยานุภาพทางทะเลที่ใหญ่โตจนไม่มีใครเทียบได้

แนวคิดของเขายังส่งอิทธิพลต่อนักยุทธศาสตร์ในเยอรมนีอีกด้วย

ชัยชนะทางทะเลของสหรัฐในสงครามโลกครั้งที่สอง ยังคงเป็นที่จดจำจนถึงทุกวันนี้ เช่น การยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดีในแอตแลนติก ยุทธนาวีมิดเวย์ในแปซิฟิก (ทั้งสองเหตุการณ์มีการสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง ทั้งมีการสร้างภาพยนต์ชุดทางโทรทัศน์ชื่อ “ชัยชนะที่ท้องทะเล” ออกอากาศ 1952-1953 ด้วย) ไปจนถึงญี่ปุ่นยอมลงนามแพ้สงครามบนเรือรบมิสซูรี

มีนักวิชาการบางคนวิจารณ์ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์เองก็หวนคิดถึงชัยชนะทางทะเลเหล่านั้น เมื่อเขาไปตรวจเยี่ยมบนเรือบรรทุกเครื่องบินเจอร์รัล อาร์ ฟอร์ด ขนาดยักษ์ลำล่าสุดขับเคลื่อนด้วยพลังปรมาณู ในตอนต้นเดือนมีนาคม 2017

ทรัมป์ปราศรัยว่า “พวกท่านทั้งหลายคงจะได้รู้เรื่องสงครามมิดเวย์ ที่ซึ่งทหารเรือของกองทัพสหรัฐได้สู้รบด้วยความกล้าหาญ ซึ่งจะเป็นที่จดจำไปตลอดกาล วีรชนอเมริกันจำนวนมากพลีชีพในวันนั้น และด้วยการเสียสละของพวกเขา ได้พลิกโฉมสงครามในแปซิฟิกไป”

ความหลงใหลในชัยชนะอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ น่าจะเป็นแรงจูงใจของทรัมป์ต่อการกำหนดนโยบายและเพิ่มงบฯ ทางทหารของเขา

ก่อนหน้านั้น เมื่อเขาประกาศนโยบายเพิ่มงบฯ ทางทหารในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทรัมป์กล่าวว่า “เราต้องกลับมาชนะสงครามอีกครั้ง ผมต้องพูดว่าเมื่อผมยังเด็กอยู่ในโรงเรียนและวิทยาลัย ทุกคนเคยพูดว่าเราไม่เคยแพ้สงคราม เราไม่เคยแพ้สงคราม จำได้ไหม?”

แต่ความจริงตอนที่ทรัมป์ยังเด็กและเริ่มเข้าโรงเรียน (เขาเกิดปี 1946) สหรัฐไม่ได้ชนะสงคราม ในทศวรรษ 1950 สหรัฐเข้าไปติดอยู่ในสงครามเกาหลีที่ไม่ชนะ

ต่อมาเข้าไปติดหล่มในสงครามเวียดนามที่ต้องพ่ายแพ้ในที่สุด

สหรัฐชนะสงครามแต่ในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดและภาพยนตร์ชุดในโทรทัศน์เท่านั้น และสงครามเหล่านั้นก็ได้ล้าสมัยไป สำหรับศตวรรษที่ 21 เมื่อเกิดสงครามลูกผสมที่รัสเซียปฏิบัติอยู่อย่างได้ผล (ดูบทความของ Michael T. Klare ชื่อ Trump”s Military Nostalgia (or Victory at Sea All Over Again) Rebuilding a Last-Century Military to Fight Last-Century War ใน tomdispatch 14.03.2017)

ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองมา เห็นได้ว่าไม่เพียงน่านน้ำเท่านั้นที่สำคัญ หากยังมีน่านเวหาที่จะต้องครองความเหนือกว่า และในยุคข่าวสารยังมีย่านอวกาศ และไซเบอร์สเปซ ที่เป็นสมรภูมิชี้เป็นชี้ตายด้วยเช่นกัน

แต่ว่าเมื่อเป็นแผ่นดินแล้วยังคงเป็นยูเรเซีย อังกฤษเป็นชาติที่สร้างวิชาภูมิรัฐศาสตร์ที่ปฏิบัติได้ผลสูง ซึ่งส่วนสำคัญเกิดจากการเข้าร่วมสืบทอดของสหรัฐ จนกระทั่งนำมาสู่การสร้างแกนอเมริกัน-อังกฤษ-อิสราเอลขึ้น

 

ยูเรเซียกับแกนอเมริกัน-อังกฤษ-อิสราเอล

ความรู้ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เน้นยูเรเซียได้มีการพัฒนาไปมากในอังกฤษในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เนื่องจากเหตุปัจจัย ได้แก่

ก) อังกฤษเป็นจักรวรรดิใหญ่ที่สุด และวิชาภูมิรัฐศาสตร์ก็มีประโยชน์มากในการรักษาจักรวรรดิไว้

ข) เกิดจักรวรรดิใหม่ขึ้นในยุโรปและเอเชีย อิทธิพลทางทะเลของอังกฤษถูกท้าทายจากจักรวรรดิเยอรมนีรุนแรง ทำให้อังกฤษปฏิบัติหน้าที่ใหญ่ในการถ่วงดุลอำนาจของยุโรปได้ยากขึ้นทุกที ต้องการยุทธศาสตร์ใหม่ที่ชัดเจนปฏิบัติได้

นักยุทธศาสตร์เด่นของอังกฤษขณะนั้นได้แก่ ฮัลฟอร์ด แม็กคินเดอร์ (1861-1947) เขาเสนอทฤษฎีดินแดนหัวใจ ในบทความชื่อ “ดุมล้อประวัติศาสตร์เชิงภูมิศาสตร์” (1904) มีเนื้อหาใจความว่า

ก) ผืนทวีปยุโรป เอเชีย ต่อเนื่องกันเป็นเหมือนเกาะโลก ยูเรเซียเป็นดินแดนที่มีความสำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์และสถานการณ์ปัจจุบันของโลก

ข) ในยูเรเซีย ดินแดนที่สำคัญเรียกว่า “ดินแดนหัวใจ” จากทะเลบอลติกถึงทะเลดำทางตะวันตกถึงไซบีเรียทางตะวันออก ทางเหนือจากทะเลอาร์กติกถึงเทือกเขาหิมาลัยทางใต้ ซึ่งกำลังทางเรือเข้าถึงยาก ในอดีตมีอัตติลาแห่งชนเผ่าฮั่น สร้างจักรวรรดิฮั่นขึ้น มีส่วนสำคัญที่ทำให้จักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลาย เและชนเผ่ามองโกลที่มีเจงกิสข่านเป็นผู้นำ รุกรานยุโรป สร้างจักรวรรดิใหญ่ที่สุดขึ้น ทั้งสองเผ่ามีถิ่นกำเนิดจากทุ่งหญ้าสเต็ปอันกว้างใหญ่ในยูเรเซีย ในตอนนี้เป็นที่ตั้งของจักรวรรดิรัสเซียที่ทรงอิทธิพล

ค) รอบดินแดนหัวใจมี “ดินแดนรูปพระจันทร์เสี้ยว” โอบล้อมอยู่ วงในได้แก่ ดินแดนในยุโรปและเอเชีย มีประเทศจีน อินเดีย อังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมนี เป็นต้น วงนอกได้แก่ ทวีปแอฟริกา อเมริกาเหนือและใต้ และออสเตรเลีย

ง) สรุปเชิงทฤษฎีได้ว่า “ผู้ที่ปกครองยุโรปตะวันออกจะควบคุมดินแดนใจกลางได้ ผู้ปกครองดินแดนใจกลางได้จะควบคุมเกาะโลกได้ ผู้ที่ปกครองเกาะโลกจะควบคุมทั้งโลกได้”

แม็กคินเดอร์ยังได้เสนอสิ่งที่สำคัญกว่า นั่นคือนโยบายทางยุทธศาสตร์ใหญ่ 4 ประการได้แก่

ก) ขัดขวางไม่ให้เยอรมนีพัฒนากำลังทางนาวีซึ่งไม่สำเร็จมาก

ข) ป้องกันไม่ให้เยอรมนีและรัสเซียเป็นพันธมิตรกัน ซึ่งทำสำเร็จจนถึงทุกวันนี้และตราบเท่าที่สหรัฐยังคงยึดครองเยอรมนีอยู่ ก็เป็นไปได้ยากที่เยอรมนีกับรัสเซียจะสนิทสนมกันโดยสหรัฐไม่ยินยอม

ค) รักษาการควบคุมดินแดนพระจันทร์เสี้ยวทั้งวงในและวงนอก

ง) สร้างพันธมิตรทางทะเลในดินแดนตอนกลางซึ่งทำได้สำเร็จ ที่สำคัญคือการสร้างแกนอเมริกา-อังกฤษขึ้น เริ่มตั้งแต่การกระชับความสัมพันธ์ใหญ่ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1895-1915) การกระชับความร่วมมือก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อสู้วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ ลัทธิฟาสซิสม์ ลัทธินาซีและความวุ่นวายในยุโรป จนมาถึงความสัมพันธ์พิเศษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประกาศโดย วินสตัน เชอร์ชิล ปี 1946

แต่ความสัมพันธ์พิเศษนี้กำลังถูกทดสอบครั้งใหญ่ เนื่องจากสถานการณ์ในสหรัฐและของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

สหรัฐเข้ารับบทบาทการจัดระเบียบโลกแทนมหาอำนาจตะวันตกเดิม และต้องต่อสู้กับสหภาพโซเวียตที่ขยายจักรวรรดิของตนไปยังยุโรปตะวันออก จำต้องจัดการกับดินแดนยูเรเซียนี้อย่างได้ผล

มีนักรัฐศาสตร์สหรัฐเชื้อสายฮอลันดาคนสำคัญได้แก่ นิโคลัส จอห์น สปิกแมน (1893-1943) เขาคัดค้านลัทธิปลีกตัว เห็นว่านโยบายนี้รังแต่จะล้มเหลว ได้ชี้ว่าดุลอำนาจในยูเรเซียมีผลกระทบโดยตรงต่อสหรัฐ

สปิกแมนได้ปรับทฤษฎีของแม็กคินเดอร์ใหม่ ให้ความสำคัญแก่ดินแดนริมขอบ ได้แก่ ชายฝั่งทะเลของยุโรปตะวันออกกลาง และเอเชีย (แม็กคินเดอร์เรียกว่าดินแดนวงพระจันทร์เสี้ยว) สรุปเป็นทฤษฎีว่า

“ผู้ควบคุมดินแดนริมขอบปกครองยูเรเซีย ผู้ปกครองยูเรเซียควบคุมชะตากรรมของโลก”

ความคิดของเขามีอิทธิพลสูงระหว่างปี 1940-1944 โดยเฉพาะต่อ จอห์น เอฟ. ดัลเลส รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศและคณะผู้วางรากฐานยุทธศาสตร์สหรัฐ ในการปิดล้อมสหภาพโซเวียต สงครามเย็น และยังสืบทอดมาจนถึงหลังสงครามเย็น

(ดูบทความของ Eldar Ismailov and Vladimer Papava ชื่อ The Heartland Theory and the Present-Day Geopolitical Structure of Central Eurasia ใน silkroadstudies.org 2005)

 

สหรัฐเริ่มรับอิสราเอลเข้าร่วมแกนอเมริกา-อังกฤษในภายหลัง ในสมัยประธานาธิบดี ลินดอน บี. จอห์นสัน (ดำรงตำแหน่ง 1963-1969) เห็นชัดใน “สงครามหกวัน” (1967)

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและอิสราเอลไม่ได้เป็นไปอย่างสนิทสนมมาเนิ่นนานอย่างที่เข้าใจกัน แท้จริงมีความรู้สึกต่อต้านชาวยิวลึกๆ อยู่ในสหรัฐ

เช่น ในเดือนกุมภาพันธ์ 1939 สภาคองเกรสได้ตีกลับกฎหมายที่อนุญาตในเด็กชาวยิวจำนวน 20,000 คน ลี้ภัยสงครามและการกวาดล้างของพวกนาซี

ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน มีเรือบรรทุกชาวเยอรมันยิวจำนวนหลายร้อยคน ถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นฝั่งที่อเมริกา และถูกส่งกลับไปยังยุโรปในที่สุด

ในวิกฤติคลองสุเอซ ปลายปี 1956 ที่อิสราเอลวางแผนร่วมกับอังกฤษและฝรั่งเศส รุกรานอียิปต์หวังยึดคลองสุเอซคืน ก็ถูกสหรัฐขัดขวาง

สหรัฐเข้าถือหางอิสราเอลจริงจังจนถึงขั้นทุ่มสุดตัว เมื่อความปรารถนาในการเข้าครอบงำตะวันออกกลางเริ่มสั่นคลอน เนื่องจากประเทศเหล่านี้เริ่มเข้มแข็งและรวมตัวกัน เช่น การรวมตัวเป็นกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือโอเปค (1960) เรียกร้องผลประโยชน์เพิ่มขึ้น และขึ้นราคาน้ำมันอยู่เนืองๆ

อิสราเอลขณะนั้นเชี่ยวชาญการทำสงครามกับพวกอาหรับ ประกอบกับอิสราเอลได้สร้างองค์กรเคลื่อนไหว เพื่อส่งอิทธิพลด้านต่างๆ ในสหรัฐขึ้นมาหลายองค์กร เช่น คณะกรรมการกิจการสาธารณะอเมริกัน-อิสราเอล (AIPAC) สถาบันชาวยิวเพื่อกิจการความมั่นคงแห่งชาติ (JINSA)

ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 สหรัฐให้การช่วยเหลือแก่อิสราเอลสูงต่อเนื่องมา เฉลี่ยปีละราว 3 พันล้านดอลลาร์

แต่ในท่ามกลางการช่วยเหลืออย่างหนักนี้ สถานการณ์ก็ยังไม่เป็นใจ ฐานะของอิสราเอลที่ครั้งหนึ่งเคยสูงเป็นเหมือน “ประทีปของนานาชาติ” เป็นแบบอย่างของการอุทิศตนและการสร้างชาติ ในวงล้อมประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นอริ ตกต่ำลงเป็นประเทศผู้รุกรานและเหยียดเชื้อชาติ และกลายเป็นภาระของสหรัฐในการอุ้มชู

เมื่อถึงปี 2010 นายพลเดวิด เพเทรียส ผู้บัญชาการกองบัญชาการกลางให้ปากคำแก่คณะกรรมาธิการกิจการกองทัพของวุฒิสภาว่า อิสราเอลได้กลายเป็นหนี้สินของสหรัฐ (ดูบทความของ Ramzy Baroud ชื่อ US and Israeli Codependent Relationship is Not Just about Money ใน informationclearinghouse.info 16.03.2017)

อย่างไรก็ตาม ดูจากความเป็นมาในทางยุทธศาสตร์คาดหมายว่ายังคงรักษาแกนอเมริกา-อังกฤษ-อิสราเอลไว้ เช่น ยังคงให้ความช่วยเหลือมูลค่าสูงแก่อิสราเอลต่อไป ไม่ทิ้งภูมิภาคยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลางไปง่ายๆ

แม้ในสมัยทรัมป์ที่ประกาศว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงล้มล้างทางทหารในประเทศใด

แต่ในทางเป็นจริง เดือนกุมภาพันธ์ 2017 อนุมัติแผนปฏิบัติการทางทหารที่เยเมน ทหารสหรัฐเสียชีวิต 1 นาย เดือนมีนาคมเพิ่มกำลังนาวิกโยธิน 400 นาย เพื่อสู้รบที่เมืองรัคคาในซีเรีย และหน่วยรบพิเศษของกองทัพบกจำนวนหลายสิบนายไปรบที่เมืองแมนบิชในซีเรียเช่นกัน ซึ่งประธานาธิบดีอัสซาดแห่งซีเรียประกาศว่านี่คือการรุกราน

นิยายรักระหว่างทรัมป์-ปูตินคงจบลงด้วยการแยกทางเดิน มีเหตุการณ์ชิมลาง

เช่น เมื่อทรัมป์กล่าวว่า รัสเซียควรคืนแหลมไครเมียให้แก่ยูเครน (14 กุมภาพันธ์ 2017) ปูตินก็ตอบโต้ด้วยการสั่งให้เจ้าหน้าที่ยอมรับเอกสารประชาชนที่รัฐบาลกลุ่มแยกดินแดนนิยมรัสเซียในมณฑลดอนเนตสก์และลูฮันสก์ (เรียกรวมๆ ว่าดอนบาสส์) ทางตะวันออกของยูเครนออกให้ มีพาสปอร์ต เป็นต้น โดยอ้างเหตุทางมนุษยธรรม แต่สามารถมองได้ว่าเป็นการยอมรับฐานะการเป็นรัฐของกลุ่มนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2017)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงยูเรเซียจากมุมมองของรัสเซียและจีน