วิเคราะห์ : “โควิด-19” ให้บทเรียนต่อชีวิตมนุษย์อะไรบ้าง

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 จนกระทั่งถึงวันนี้ คุกคามทั่วโลก 211 ประเทศ เป็นเวลาเกือบๆ 4 เดือนแล้ว มีผู้สังเวยชีวิตกว่า 1.6 แสนคน ยอดผู้ป่วยทะลุ 2.4 ล้านคน ในช่วงเวลาเพียง 24 ชั่วโมงชาวโลกติดเชื้อเพิ่ม 2 หมื่นคน สถานการณ์จึงรุนแรงไม่มีวี่แววว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่

บางประเทศการแพร่เชื้อทำท่าจะลดลง แต่จู่ๆ มีคนไข้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนต้องหันกลับมาใช้มาตรการปิดเมือง “ล็อกดาวน์” เข้มข้นอีกครั้ง

ปิดเมือง หยุดกิจกรรมเศรษฐกิจ เลี่ยงการสัมผัสซึ่งกันและกัน ขีดเส้นให้ผู้คนเว้นระยะห่าง

บังคับให้อยู่ในบ้าน กลายเป็นมาตรการหลักใช้กันเกือบทั้งโลก

 

“โควิด” เป็นบทเรียนสอนให้ผู้คนรู้จักเข้าใจตัวเองมากขึ้น รักตัวเองมากขึ้น

วันนี้จะไปเดินเพ่นพ่านในหมู่คนจำนวนมากเหมือนเก่าไม่ได้แล้ว เพราะการรวมหมู่โอกาสอาจติดเชื้อกลับมาแพร่ในบ้านทำลายความสุข ความรักของครอบครัว

บางคนเปรียบเทียบการติดเชื้อโควิดเหมือนเจอโทษหนักยิ่งกว่าติดคุกเสียอีก

ติดคุกยังได้เจอเพื่อนนักโทษ มีผู้คุมพัศดีคอยเฝ้าดูความประพฤติ

แต่คนป่วยโควิดต้องอยู่ในห้องควบคุมเชื้อ ใส่เครื่องช่วยหายใจ ห้ามใครเข้าไปเยี่ยม

แม้แต่หมอ-พยาบาล จะเข้าไปก็ต้องใส่อุปกรณ์เสื้อผ้ารัดกุมป้องกันไม่ให้เชื้อเล็ดลอดเข้ามา

ใครติดเชื้อโควิดต้องต่อสู้ภายในร่างกายขนานใหญ่ ภูมิต้านทานที่มีอยู่แห่กันมาสกัดปราบเชื้อร้าย ถ้าภูมิต้านทานแข็งแรงก็รอดตาย แต่ถ้าภูมิต้านทานอ่อนกำลัง ร่างกายสู้ไม่ไหว เมื่อสิ้นลมหายใจ ศพไร้วิญญาณกลายเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม

บางแห่งใช้กรรมวิธีซับซ้อน ทั้งล้างเช็ดถูทำความสะอาดและห่อหุ้มศพอย่างมิดชิด ห้ามลูก-เมียหรือสามีและญาติมิตรเข้าไปเคารพศพในระยะใกล้ชิด

ในยุโรปผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด นอกจากห่อหุ้มด้วยถุงพลาสติกชนิดพิเศษถึง 3 ชั้น การทำพิธีสวดส่งวิญญาณเป็นไปอย่างรวบรัดรวดเร็ว ให้รถขนศพแล่นผ่านหลวงพ่อที่ยืนสวดมนต์อยู่ห่างๆ ก็เป็นเสร็จสิ้น ญาติๆ ไม่มีโอกาสเข้าร่วมพิธี

บ้านเราไม่ต่างกันเท่าไหร่ เหยื่อโควิดกลายเป็นศพโดดเดี่ยว บางวัดปฏิเสธรับ ญาติมิตรวังเวง ความเมตตาเอื้ออาทรซึ่งเป็นแกนหลักสำคัญของพุทธศาสนาเสื่อมหายอย่างเหลือเชื่อ ไม่เว้นแม้กระทั่งพระสงฆ์ผู้ทรงศีล

 

นอกจากโควิดสอนให้รักตัวเองแล้ว ยังสอนให้รู้จักความสะอาด บังคับให้ล้างมือ ล้างหน้า ใช้แอลกอฮอล์เช็ดถูฆ่าเชื้อโรคในทุกครั้งที่ไปสัมผัสกับสิ่งของผู้อื่น เมื่อออกนอกบ้านก็ต้องใส่หน้ากากอนามัยปิดปาก ใครไม่ใส่กลายเป็นคนประหลาด

ร้านค้าบางร้านห้ามคนไม่ใส่หน้ากากเข้าไปจับจ่ายซื้อของ ถึงแม้มีเงินอยู่ในกระเป๋าแต่ไม่มีหน้ากากก็ไร้ความหมาย

บางร้านตรวจทั้งหน้ากาก ตรวจอุณหภูมิร่างกาย ใครใส่หน้ากาก แต่อุณหภูมิสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส ก็ไม่อนุญาตให้เข้าร้าน

มาตรการปิดเมืองหรือล็อกดาวน์สามารถหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด จำนวนคนป่วย คนเสียชีวิตลดลง แต่เกิดผลข้างเคียงจากการหยุดนิ่งของเศรษฐกิจ ผู้คนจำนวนมากตกงาน ไม่มีรายได้ กลายเป็นแรงบีบทางสังคม

มีหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาเจอล็อกดาวน์ บังคับให้อยู่แต่ในบ้าน ห้างร้านปิดเรียบ ทางการจัดแบ่งปันอาหาร ต้องขับรถไปเข้าคิวยาวเหยียดรอเป็นวันๆ กว่าจะได้กล่องยังชีพ

แต่ในบางรัฐ ผู้คนทนไม่ไหวกับการล็อกดาวน์ เพราะงานไม่มี สตังค์ก็หมดเกลี้ยง ถึงกับลุกฮือชุมนุมประท้วงให้เปิดเมือง คนเหล่านี้ยอมติดเชื้อดีกว่าอดตาย

ในยุโรป เช่น เยอรมนี ก็มีปัญหานี้เหมือนกับสหรัฐซึ่งถือเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

 

จะว่าไปแล้วทั่วโลกมองวิกฤตโควิดด้วยมุมมองคล้ายๆ กัน ส่วนใหญ่ยึดเอาระบบการแพทย์นำหน้า เพื่อหยุดยั้งการแพร่เชื้อให้ได้เป็นเรื่องแรก ผลักปัญหาเศรษฐกิจ สังคมเอาไว้ลำดับตามมา

ประเทศไหนสร้างสมดุลในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนติดเชื้อน้อย คนเสียชีวิตไม่มีหรือมีแค่นิดเดียว และควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดไปทั่วได้ ขณะที่ผู้คนยังมีอาหารการกินพร้อม รัฐจัดสวัสดิการดีมีเงินอุดหนุนช่วยเหลือระหว่างอยู่บ้าน ประเทศนั้นก็รอดพ้นจากความปั่นป่วนวุ่นวาย

บ้านเราความปั่นป่วนวุ่นวายเพราะคนไม่มีอะไรกินเพิ่งเริ่มต้น เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ยังไม่นานเป็นเดือน

แต่ถ้าเมื่อไหร่รัฐบาลเอาไม่อยู่ เชื้อโควิดยังลุกลาม คุกคามผู้คนอย่างหนักหน่วง แล้วยังล็อกดาวน์โดยไร้มาตรการเยียวยาให้คนมีกิน ท้องอิ่ม วันนี้ความอลหม่านจะตามมา

หันไปดูความเคลื่อนไหวของนักวิจัยเชื้อ “โควิด” กันมั่ง ในขณะนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าจุดกำเนิดของเชื้อร้ายมาจากไหน

นักวิจัยบางคนตั้งข้อสังเกตมาจากค้างคาวที่แพร่เข้าไปในตัวนิ่มซึ่งอยู่ในป่าแล้วกลายพันธุ์เป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีความรุนแรงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลก

เมื่อคนจับตัวนิ่มมากินเป็นอาหาร เชื้อแพร่จากสัตว์สู่คนแล้วเกิดการแพร่ระบาดในตลาดอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน เมื่อปลายปีที่แล้ว

นี่เป็นการสันนิษฐานเบื้องต้นในหมู่นักวิจัย

 

ในอีกมุม นักวิจัยของมหาวิทยาลัยอาร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก และมหาวิทยาลัยแห่งเซียนา ประเทศอิตาลี ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างมลพิษทางอากาศกับเชื้อโควิด ตีพิมพ์ในวารสารว่าด้วยมลพิษทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Pollution) พบมีความเป็นไปได้ว่าผู้เสียชีวิตจากเชื้อโควิดมีความสัมพันธ์กับมลพิษทางอากาศ

ยิ่งอากาศเป็นพิษมากเท่าไหร่ เชื้อโควิดจะมีระดับความรุนแรงและคุกคามผู้ป่วยสูงขึ้น

การศึกษาเรื่องนี้อ้างอิงข้อมูลเบื้องต้นผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจในประเทศจีน อิตาลีซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิดเป็นจำนวนมาก

จากข้อมูลของรัฐบาลอิตาลี พบว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดมีความสัมพันธ์กับสภาพภูมิประเทศ

พื้นที่ทางตอนเหนือของอิตาลี เช่น ในแคว้นลอมบาร์ดี้ หรืออิมิเลีย โรมาเนีย เชื้อโควิดมีระดับความรุนแรงทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 12 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ของอิตาลีซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตราว 4.5%

ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่า แคว้นลอมบาร์ดี้ และอิมิเลีย โรมาเนีย มีประชากรสูงอายุอยู่ในสัดส่วนที่สูงมาก

ขณะเดียวกันในข้อมูลภาพถ่ายทางดาวเทียมของนาซ่าและดัชนีคุณภาพอากาศของสำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรประบุว่า ทั้งสองแคว้นมีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในอิตาลี สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ในยุโรป

ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศเข้มข้น การระบาดของเชื้อมีระดับความรุนแรงมากขึ้นและภูมิต้านทานของผู้ป่วยต่ำกว่าผู้ป่วยในพื้นที่ที่มีอากาศสะอาดกว่า

ก่อนหน้านี้มีการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจจะมีภูมิต้านทานต่ำมากและเกิดการอักเสบรุนแรง

การตั้งข้อสันนิษฐานของนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยอาร์ฮุสและเซียนา ไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย เพราะยังต้องค้นหาข้อมูลมาพิสูจน์ให้ชัดเจนมากกว่านี้