เศรษฐกิจ / ผลประกอบการ Q1 กอดคอทรุด กูรู เตือน ยก 2 เข้าขั้นโคม่า โควิด-น้ำมันดิ่ง-แล้ง ผสมโรงฉุด ศก.ต่อ

เศรษฐกิจ

 

ผลประกอบการ Q1 กอดคอทรุด

กูรู เตือน ยก 2 เข้าขั้นโคม่า

โควิด-น้ำมันดิ่ง-แล้ง ผสมโรงฉุด ศก.ต่อ

 

สัปดาห์นี้จะเริ่มเห็นการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของไทย ประจำไตรมาส 1/2563 สร้างความปั่นป่วนได้พอควร

แม้ตลาด (นักลงทุน) และผู้ทำธุรกิจจะเผื่อใจไว้บ้างแล้วว่า ภาพรวมผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้คงออกมาไม่สดใส ต่างก็ลุ้นในหลายแบบ ทั้งยังโตได้แต่อัตราโตลดลง พยุงตัวได้เท่าปีก่อน หรืออาจติดลบได้บ้าง

แต่ทั้งหมดนั้น ให้น้ำหนักไปเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้หยุดนิ่ง กระเทือนยังภาคธุรกิจหลักๆ ซึ่งหลายด้านที่ได้รับผลกระทบจากการที่ไวรัสระบาดตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถคลายตัวได้

รวมถึงสัญญาณการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบโลก ตามผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 ทำให้คนเดินทางการท่องเที่ยวลดฮวบ ระบบขนส่งคนและสิ่งของชะงัก ทำให้ความต้องการใช้ (ดีมานด์) ลดลง แต่การผลิต (ซัพพลาย) ไม่ได้ลดลงตาม แม้กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (โอเปค) ได้เริ่มปรับลดกำลังการผลิตบ้างแล้ว

ทำให้ส่วนใหญ่ดูเหมือนจะเลือกถอยไปตั้งหลักก่อน จึงเห็นการเทขายทำกำไรออกมาต่อเนื่อง

 

เรื่องนี้ วีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส เล่าว่า ดัชนีหุ้นไทยในวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา ลดลงลึกสุดกว่า 22 จุด โดยได้รับปัจจัยกดดันจากการประกาศงบกำไรไตรมาส 1/2563 ของกลุ่มธนาคาร

ที่ล่าสุดธนาคารกสิกรไทย ได้ประกาศกำไรออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ถึง 20% ส่งผลให้นักลงทุนเทขายทำกำไรหุ้นกลุ่มธนาคารออกมาเช่นกัน หลังจากเข้าซื้อเก็งกำไรไปในช่วงวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา

“บวกแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ผันผวนและปรับลดลงรุนแรง โดยเป็นการติดลบครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตลาดน้ำมัน ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มพลังงานถูกเทขายทำกำไรออกมา นำโดยกลุ่มพลังงานต้นน้ำ ได้แก่ ตระกูล ปตท. (พีทีที) ร่วงยกแผง โดยราคาล่าสุด ราคาหุ้นพีทีที อยู่ที่ระดับ 34.50 บาท ลดลง 2.13% ส่วนพีทีทีอีพี อยู่ที่ระดับ 77.25 บาท ลดลง 2.22% ขณะที่พีทีทีจีซี อยู่ที่ระดับ 36.25 บาท ลดลง 1.36% ด้านทีโอพี อยู่ที่ระดับ 38.25 บาท ลดลง 1.29% และไออาร์พีซี อยู่ที่ระดับ 2.58 บาท ลดลง 2.27% ถือเป็นการปรับระดับลงหลังจากในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาปรับขึ้นไปแล้วกว่า 20%”

ซึ่งในสัปดาห์นี้ หุ้นกลุ่มธนาคารต่างทยอยประกาศผลประกอบการ เริ่มต้นที่ธนาคารไทยพาณิชย์ มีกำไร 9,251 ล้านบาท เพิ่ม 1% จากงวดเดียวกันของปี 2562 รายได้รวมโต 9% ค่าใช้จ่ายลด ตั้งสำรองสูงขึ้นรองรับภาวะเศรษฐกิจถูกกระทบโควิด-19 คณะกรรมการธนาคารมีมติให้ยกเลิกโครงการซื้อหุ้นคืนในวงเงินไม่เกิน 16,000 ล้านบาท เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือลูกค้าให้ก้าวผ่านวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้ไปได้อย่างดีที่สุด

ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) มีกำไรสุทธิ 4,163 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 158% จากไตรมาสก่อน และ 164% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หลังจากรับรู้รายได้จากธนาคารธนชาตเข้ามาเต็มไตรมาส

ธนาคารเกียรตินาคิน (เคเคพี) มีกำไรสุทธิ 1,484 ล้านบาท เติบโต 20.84% มาจากสินเชื่อขยายตัวได้ดี 3.8% มาจากเกือบทุกประเภทและธุรกิจตลาดทุน บล.ภัทรมีส่วนตลาดด้านนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ 10.30% สูงเป็นอันดับที่ 1

ธนาคารทิสโก้ บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,484 ล้านบาท ลดลง 14.2% เทียบกับไตรมาส 1/2562 สาเหตุเพราะสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว รวมทั้งการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 4,524 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากอัตราผลตอบแทนของเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ตามการขยายสัดส่วนสินเชื่อไปยังกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ประกอบกับต้นทุนทางการเงินที่ลดลง

ธนาคารกสิกรไทย มีกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2563 จำนวน 6,581 ล้านบาท ลดลง 34.47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 28,082 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.21% ส่วนใหญ่เกิดจากการเติบโตของสินเชื่อ และการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรับ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 7,372 ล้านบาท ลดลง 39.78%

ส่วนหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 3.86% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ที่อยู่ระดับ 3.65%

 

แม้กลุ่มธนาคารซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดของความเป็นอยู่ของประชาชน ยังไม่ฮวบจนน่าตกใจ แต่ก็ไม่ได้สดใสมากนักและยังไม่อาจเบาใจได้ เนื่องจากผลประกอบการนั้น เพิ่งเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่ได้แผลงฤทธิ์เต็มที่ ก็ต้องลุ้นกันต่อในไตรมาส 2/2563 ต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

โดยณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า ไตรมาส 1/2563 เป็นไตรมาสที่ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แบบไม่เต็มที่ ยังไม่เต็มทั้งไตรมาสจริงๆ เพราะโควิด -19 เริ่มแพร่ระบาดในช่วงปลายเดือนมกราคม คาดว่าไตรมาส 2/2563 เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนเต็มเดือน ที่จะได้รับผลกระทบหนักๆ แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ส่วนเดือนพฤษภาคม แม้จะมีการปลดล็อกมาตรการควบคุมเกี่ยวกับโควิด-19 ออกมาบ้าง แต่การจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้จริงๆ น่าจะเป็นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป จึงเชื่อว่าไตรมาส 2 ทั้งไตรมาสจะเป็นไตรมาสที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แบบสาหัสเต็มเม็ดเต็มหน่วย

อย่างเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ระบุว่า จากการประเมินหุ้นประมาณ 28 ตัว พบว่า ส่วนใหญ่ผลประกอบการลดลง 40% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยทั้งปี 2563 คาดว่าผลประกอบการจะลดลง 17% เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นหลัก เพราะทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง โดยได้มีการปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปี 2563 ลงต่อเนื่อง

“เพราะนอกจากจะได้รับแรงกดดันจากการระบาดของโควิด-19 ยังมีผลกระทบอื่นๆ เพิ่มเข้ามาอีก อาทิ ภัยแล้ง และราคาน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลต่อกำไร บจ.อย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อาจจะส่งผลให้เกิดการขาดทุนได้ โดยได้ปรับลดกำไร บจ.รวมปีนี้เหลือ 7.8 แสนล้านบาท จากเดิมประเมินไว้ 8.97 แสนล้านบาท และจากช่วงปลายปี 2562 ที่ประเมินไว้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้กำไร บจ.ลดลงเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน”

 

สอดคล้องกับมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ได้ปรับลดกำไร บจ.ปี 2563 เหลือ 7.81 แสนล้านบาท จากเดิม 9.8 แสนล้านบาท เพราะธุรกิจหลายกลุ่มหยุดชะงักจากโควิด-19 โดยมีโอกาสเห็น บจ.บางแห่งพลิกขาดทุนได้ในปีนี้ สะท้อนจากงบฯ ไตรมาส 1/2563 ที่ทยอยออกมาพบว่า หุ้นขนาดใหญ่หลายบริษัทกำไรลดลงจากช่วงเดียวกันปี 2562 อย่างมีนัยสำคัญ และเริ่มเห็นบางบริษัทพลิกขาดทุนแล้ว

หากประเมินตามกำไรบริษัทจดทะเบียนไทย ที่ถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น ทิศทางตลาดหุ้นในช่วงไตรมาส 2 อาจไม่ได้สวยงามกว่าไตรมาสแรก ซ้ำยังอาจหม่นหมองมากกว่าด้วย แม้จะมีสัญญาณผ่อนคลายขึ้น และหวังว่าในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการปลดล็อกมาตรการคุมเข้มในการสกัดเชื้อโควิด-19 แต่ตั้งการ์ดสูงไว้ก็ไม่เสียหาย

    นี่เป็นเพียงกลุ่มธุรกิจเดียว ยังเหลือที่หลายอุตสาหกรรมที่จะทยอยประกาศผลประกอบการออกมา ซึ่งจะเป็นอย่างไรก็คงเดากันได้ไม่ยาก