มุกดา สุวรรณชาติ : เปิดเมือง เปิดร้าน ต้านโควิด

มุกดา สุวรรณชาติ

สถานการณ์โควิด-19 ไม่หมดไป
แต่จะคุมได้เร็วๆ นี้

ถ้าดูเฉพาะประเทศไทยจะพบว่าตัวเลขที่ได้รับรายงานเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อมีไม่มากนัก

ผู้เสียชีวิตมีน้อยมาก อยู่ในอัตรา 0.5 คนเมื่อเทียบกับประชากร 1 ล้าน

ในขณะที่ประเทศที่เจอปัญหาหนัก เช่น อิตาลี หรือสเปนมีเกินกว่า 350 คนต่อประชากร 1 ล้าน

อเมริกาตอนนี้ก็ประมาณ 70 คนต่อประชากร 1 ล้าน

สิงคโปร์ 1 คน มาเลเซีย 2 คน ฟิลิปปินส์ 3 คน ต่อประชากร 1 ล้าน

ยังมีเหตุผลที่เป็นความเชื่อว่าอุณหภูมิที่สูง อากาศร้อน มีผลให้ไวรัสตัวนี้อยู่ได้ยาก

ถ้าสถานการณ์ในไทยมีแนวโน้มดีขึ้นตามตัวเลขที่รายงานว่าคนติดเชื้อน้อยลงทุกวัน การหลุดพ้นจากภาวะวิกฤตที่ต้องล็อกดาวน์เมืองต่างๆ ก็น่าจะคลายลงหลังสงกรานต์นี้ และไม่ควรนานกว่าสิ้นเดือนเมษายน เพราะที่ตามหลังโรคระบาดมา เป็นปัญหาเศรษฐกิจที่เดิมก็มีมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว

แต่การระบาดซ้ำต้องไม่เกิด สภาพที่สังคมรับได้คือยังมีหลงเหลือเล็กน้อย แต่คุมได้ เช่นจีนตอนนี้ก็ยังมีคนติดเชื้อแต่ก็ต้องเปิดเมือง

แต่สภาพจริงเราไม่มีแม้แต่หน้ากากอนามัยให้พอเพียง การเตรียมความพร้อมจึงต้องรีบทำ

ขณะนี้เราเหมือนคนที่จนอยู่แล้ว ยังต้องมาเจ็บป่วยซ้ำ จึงต้องแก้ปัญหาให้ออกจากวงจร จน>เจ็บ>กู้ ให้ได้ และต้องทำงานใช้หนี้หลายปี

ไม่มีใครบอกได้ว่าอนาคตจะไม่มีการระบาดเกิดขึ้นอีก เนื่องจากผลการวิจัยปัจจุบันชี้ว่า ในรอบ 20 ปีนี้มีโรคอุบัติใหม่เกิดจากการพัฒนาหรือกลายพันธุ์ของเชื้อโรค เกิดขึ้นใหม่ปีละไม่น้อยกว่า 1 ชนิด

ที่จริงช่วงหลังนี้มนุษย์โดนมาหลายครั้งแล้ว เช่น ไข้หวัดนก โรคซาร์ส หวัดหมู แต่การระบาดไม่อยู่ในวงกว้างมาก ผลกระทบจึงยังไม่มาก การเกิดโรคระบาดจากนี้ไปเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องปรับตัวตั้งรับตลอดเวลา

การปิดเมือง ปิดกิจการ ไม่อาจทำได้นาน หลายประเทศที่หนักกว่าเราก็เตรียมเปิดเมืองกันแล้ว

 

การเยียวยาคนและประคองเศรษฐกิจ
ในภาวะที่เงินมีจำกัด

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในระยะ 1-6 เดือน ประเทศเราไม่ได้ร่ำรวย เงินที่จะนำมาแก้ปัญหาซึ่งเก็บไว้ในรูปแบบต่างๆ ยังไม่พอ ต้องใช้เงินกู้เข้ามาช่วย และจะเป็นการกู้เงินครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา ซึ่งหมายความว่า คนรุ่นนี้และรุ่นต่อไปจะต้องเป็นผู้ใช้หนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ยอดเงินประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท แยกเป็น

– 600,000 ล้านบาท ใช้กับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งอาชีพอิสระ, เกษตรกร และดูแลด้านสาธารณสุข

มีคนแสดงความเห็นว่า ถ้าทำตามโครงการที่รัฐแจกคนละ 5,000 บาทต่อเดือน 3 เดือนก็จะได้รายละ 15,000 บาท จะสามารถจ่ายเงินเยียวยาให้ประชาชนได้ 40 ล้านราย น่าจะมากพอ ไม่ควรตั้งมาตรการกีดกันคนกลุ่มอาชีพต่างๆ จนมีปัญหาเช่นทุกวันนี้

– 400,000 ล้านบาท ใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เน้นที่ชุมชนและโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น

เงินที่จะไปทำโครงการต่างๆ หลายคนยังกังวลว่าจะกระจายไปถึงมือชาวบ้านอย่างไร ถ้าหากนำไปประมูลทำโครงการ อาจจะไปอยู่ในมือผู้รับเหมา ชาวบ้านไม่อยากได้เครื่องกรองน้ำพลังแสงอาทิตย์อีกแล้ว สิ่งที่ทำไปจะไม่ตรงเป้าหมายในการช่วยชาวบ้าน

– 500,000 ล้านบาท เป็นซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้กู้กับ SMEs ในวงเงินไม่เกินรายละ 500 ล้านบาท และให้ธนาคารพาณิชย์-สถาบันการเงินอื่นๆ พักหนี้ SMEs ที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท

เงิน Soft Loan ที่จะให้ SME รายย่อยๆ กู้ไปเป็นเงินหมุนเวียน SME มี 3 ล้านราย แต่ที่ทำกู้กับธนาคารน่าจะมีอยู่ประมาณ 700,000 ราย ดังนั้น น่าจะคิดมาตรการช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยด้วย และน่าจะมีรายละเอียดในการช่วยเหลือโดยดูจากยอดการค้าเฉลี่ยรายเดือนและจำนวนพนักงานเพื่อให้ความช่วยเหลือกระจายไปทั่วถึง การให้ถึง 500 ล้านต่อรายมากเกินไป จะทำให้รายเล็กๆ ไม่ได้…

นี่คือเงินกู้ที่ทุกรายต้องใช้คืน

– 400,000 ล้านบาท เป็นวงเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมไว้รับซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน เพื่อป้องกันความปั่นป่วนในตลาดการเงิน

ความช่วยเหลือเรื่องตราสารหนี้แต่ละราย จะเป็นจำนวนเงินมหาศาล จะต้องอธิบายให้ดีว่า เอกชนจะต้องร่วมรับผิดชอบอย่างไร และใช้คืนอย่างไร

การอัดเงินเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนจึงต้องทำให้ตรงเป้าหมาย มีแผนงานที่ดูแล้วคุ้มค่า มีการตรวจสอบ ไม่ให้รั่วไหล มีการกระจายตัวไปยังผู้ได้รับความเดือดร้อนอย่างยุติธรรม

มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาและกลายเป็นความขัดแย้งที่อาจเกิดเหตุลุกลามไปได้

ในทางปฏิบัติ แค่แจกเงิน 5,000 รอบแรกก็มีคนโวยวายว่าพวกเขาถูกตัดสิทธิ์แบบขัดกับความจริง

รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยา แต่ชาวบ้านรู้ว่าเป็นเงินภาษีเขาเอง เมื่อรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม รัฐก็ได้ศัตรูเพิ่ม ส่วนเงิน 1.9 ล้านล้าน ใช้แจกไปเรื่อย จะหมดในพริบตา แล้วจะหาที่ไหนมาเพิ่ม

 

จะฟื้นฟูและปรับยุทธศาสตร์อย่างไร

ถ้าประเมินจากสภาพข้างต้นก็ถือว่าการระบาดของโควิด-19 ของไทยจะอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ในอีกไม่นานนี้

และเมื่อควบคุมโรคระบาดได้ ปัญหาใหญ่ที่ตามมาก็คือปัญหาเศรษฐกิจที่จะตกต่ำทั่วทั้งโลก และทุกประเทศจะได้รับผลกระทบทั้งหมดในระดับที่มากน้อยต่างกันตามสภาพของแต่ละประเทศที่มีโครงสร้างที่ไม่เหมือนกัน แต่เศรษฐกิจในโลกปัจจุบันได้เกี่ยวเนื่องและพึ่งพาซึ่งกันและกันทั้งระบบการผลิต การค้า พลังงานและการเงิน จะทำให้เกิดความยากลำบาก กระจายไปทั่ว ไม่อาจรักษาได้ง่ายเท่ากับโควิด-19 อาจจะต้องใช้เวลาฟื้นฟูช่วงเวลาหนึ่ง เป็นปีๆ ซึ่งในแต่ละประเทศก็ไม่เท่ากัน

สำหรับประเทศไทยระยะ 5 ปีหลังรายได้เข้าประเทศที่เป็นตัวหลักคือการท่องเที่ยว เพราะอย่างอื่นได้ทรุดตัวลงมาก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมหรือการเกษตรเนื่องจากราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ในวงการอุตสาหกรรมมีการย้ายฐานการผลิตออกไปอยู่ต่างประเทศจำนวนมาก

สถานการณ์ครั้งนี้หนักกว่ายุคต้มยำกุ้งมากนัก ครั้งนั้นเราเจอปัญหาแต่ลูกค้าของเรายังรวย มีนักท่องเที่ยวจากยุโรป อเมริกา จีนเข้ามาเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ แม้เปิดสนามบินสุวรรณภูมิแล้วก็ยังเต็ม

แต่ถ้าจะเปรียบเทียบกับวิกฤตที่จะเกิดในวันนี้ หรือในระยะอีกเป็น 1-2 ปี จะพบว่าความแตกต่างที่สำคัญคือครั้งนี้

นักท่องเที่ยวของเราก็จนลงเหมือนกับเรา พวกเขาต้องการเวลาฟื้นตัว เมื่อมีเงินก็ต้องใช้หาอยู่หากินซื้อของจำเป็น การมาท่องเที่ยวต่างประเทศจะทำได้ก็ต้องมีเงินเหลือเฟือแล้ว

ดังนั้น กลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะมีให้เห็นเร็วที่สุด จะเป็นกลุ่มคนมีเงิน ซึ่งมีจำนวนไม่มาก

เปิดเมือง เปิดการค้า ต้องทำเป็นขั้นตอน สิ่งที่จำเป็นเปิดก่อน

 

ต้องปรับยุทธศาสตร์
ให้รับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ในช่วงระหว่างที่โรคโควิด-19 ระบาดจนหลังเหตุการณ์ที่ควบคุมการระบาดได้แล้วและมีการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะเป็นช่วงที่วัดความสามารถของแต่ละประเทศ หมายถึงรัฐบาลแต่ละประเทศ ว่าในอนาคตความเข้มแข็งของแต่ละประเทศ ความมั่นคงประเทศเป็นอย่างไร

ยิ่งมีเทคโนโลยีใหม่ ทางวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม การสื่อสารที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไปมากเข้ามาเป็นตัวแปร จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปในหลายด้าน ตั้งแต่ระบบการเงินการพาณิชย์ อุตสาหกรรม และการเมืองระหว่างประเทศ

ใครจะคบกับใครไปลงทุนประเทศไหน ใช้เงินสกุลไหน ค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับใครแบบไหน เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่ การวางยุทธศาสตร์ระยะยาวมากแบบ 20 ปีทำไม่ได้แน่ นี่จะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ

และสำหรับประเทศเราที่มีพื้นฐานการเกษตร การผลิตอาหารที่แข็งแกร่งในจังหวะแบบนี้ยังสามารถหาตลาดหาลูกค้าได้

เพราะถึงอย่างไร อาหารก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องหาเงินมาทดแทนการท่องเที่ยวได้

 

ปัญหาจริงซับซ้อน
ต้องกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นต่างๆ
และประสานกลุ่มอาชีพ

ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในท้องถิ่นต่างๆ และผู้ที่ประกอบอาชีพต่างกัน การแก้ปัญหาลงถึงขั้นรายละเอียดจะไม่เหมือนกัน ถ้าจะให้ได้ผลดีที่สุด ผู้ที่มีความรู้ในอาชีพนั้นและผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ จะต้องเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา เพราะยังมีหลายปัญหาที่เชื่อมโยงเกี่ยวพันกัน ถ้าแก้ไม่ดีอาจจะทำให้เกิดปัญหาที่ 2 ที่ 3 ตามมาได้

แต่ถ้าแก้ดีน่าจะสามารถแก้ทีเดียว 3-4 ปัญหาได้พร้อมกัน

จะขอยกตัวอย่างเชียงใหม่ที่กำลังประสบปัญหาทั้งฝุ่นควันพิษไฟป่า โรคระบาดโควิด-19

– จังหวัดเชียงใหม่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติมาเป็นเวลานาน

ปัจจุบันเป็นอีกเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เป็นอย่างมากเนื่องจากรายได้มากกว่า 43% มาจากการท่องเที่ยว

พอมีปัญหาโรคระบาดแล้วทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักเกือบทุกภาคส่วน หลายๆ ธุรกิจต้องปิดตัวลงชั่วคราวหรืออาจถาวรเลยก็เป็นได้

ประมาณการคร่าวๆ รายได้จากการท่องเที่ยวหดหายไปเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเชียงใหม่ได้เลย สายการบินยกเลิก ระบบคมนาคมขนส่งหยุดชะงัก สภาพในตัวเมือง ศูนย์กลางการค้า ย่านชุมชน ปิดตัวเงียบ ผู้คนไม่ออกมาจับจ่ายใช้สอยอันเนื่องมาจากมาตรการควบคุมโรคของรัฐ

ถ้าเรามองภาพใหญ่ๆ ว่าผู้เดือดร้อนในเชียงใหม่คือผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรม ร้านอาหาร รถเช่าและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แบบนี้หลายคนก็อาจจะมีสูตรสำเร็จที่จะต้องช่วยลูกจ้างและเจ้าของกิจการ เยียวยาในช่วงที่ไม่มีลูกค้า

แต่ถ้าลงไปในรายละเอียดก็จะมีความแตกต่างของแต่ละอาชีพและอาจจะแตกต่างกันเยอะด้วย เช่น ปางช้างแนวอนุรักษ์

 

ตัวอย่าง การลงสู่ท้องถิ่น
จึงเห็นความซับซ้อนของปัญหา
หลายมิติ

-จํานวนช้างเลี้ยงในไทย 3,800 เชือก ในเชียงใหม่มีประมาณ 900 เชือก ปางช้างถือว่าเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาเชียงใหม่ได้มากที่สุด และได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากโรคระบาดโควิด-19

พบว่ามีปางช้างทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่เกือบร้อยปางในเชียงใหม่ที่เน้นการเลี้ยงช้างแนวอนุรักษ์ ต่างก็ได้รับผลกันถ้วนหน้า

โดยหลายปางต้องปิดตัวลงเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวและไม่มีรายได้มาซื้ออาหารและยาให้ช้างอย่างเพียงพอ

บางปางที่มีเจ้าของเลี้ยงเองและมีพื้นที่ปลูกอาหารให้ช้างไม่พอก็ต้องตระเวนหาตัดหญ้ามาเป็นอาหารให้ช้างกินตามกำลังไปวันๆ

บางปางที่เป็นช้างเช่าและไม่มีพื้นที่ปลูกหญ้า เจ้าของต้องพาช้างเดินทางกลับภูมิลำเนาที่อยู่ต่างจังหวัดในภาคอีสานและในภาคเหนือตามแนวตะเข็บชายแดน เช่น จังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน หรืออำเภอห่างไกลของจังหวัดเชียงใหม่ เช่น แม่สะเรียง อมก๋อย เพื่อลดค่าใช้จ่ายค่าอาหาร

แต่ปัญหาก็ยังคงมีอยู่ดีเนื่องจากช่วงนี้เป็นหน้าแล้ง อาหารในธรรมชาติก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของช้างที่จะต้องกินวันหนึ่ง 10% ของน้ำหนักตัว

เช่น ช้างเชือกหนึ่งหนัก 3 ตัน จะต้องกินอาหาร 250-300 ก.ก.ต่อวัน อีกปัญหาคือบางปางไม่สามารถออกไปหาอาหารให้ช้างได้เนื่องจากมีการประกาศมาตรการควบคุมโรคระบาดจากภาครัฐ

หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้เกรงว่าเจ้าของช้างอาจพาช้างกลับไปเป็นช้างเร่ร่อนขอทาน ตระเวนเดินขายของเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

เราต้องยอมรับว่ามีช้างจำนวนมากเคยเร่ร่อนอยู่ตามถนน แต่ก็แก้ปัญหาได้โดยการนำช้างเหล่านี้มาอยู่ในปางที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แต่ผลกระทบอันนี้ทำให้ช้างจะต้องกลับไปอยู่ในสภาพเดิม

และถ้าปัญหานี้เนิ่นนานออกไป ทั้งคนทั้งช้างไม่มีกิน ปัญหาช้างเร่ร่อนอาจจะเกิดขึ้นอีกเป็นแน่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพช้างและสวัสดิภาพของช้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหารวม
ตั้งแต่ปัญหาฝุ่นควันไฟป่า

-ทางกลุ่มผู้เลี้ยงช้างได้เจอปัญหาหมอกควันและไฟป่าแทบทุกปี จึงอยากเสนอข้อคิดเห็นเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดย

1. ออกมาตรการเชิงรุกในการป้องกันไฟป่าไม่ว่าการทำแนวกันไฟ การขอความรู้ความเข้าใจผลเสียของไฟป่าให้กับชาวบ้าน การจัดงบประมาณในการดับไฟอย่างเพียงพอ การปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่ (บางคนยังคิดว่าการชิงเผาคือวิธีที่ดีที่สุด) รวมถึงการขอความร่วมมือภาคภาคีจากชุมชนและหน่วยงานรัฐให้สอดคล้องกัน รวมถึงมาตรการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด

2. การอนุญาตให้ช้างเข้าไปหาอาหารกินในป่าก็จะช่วยลดแหล่งเชื้อเพลิงในหน้าแล้งเนื่องจากช้างจะกินใบไม้ใบหญ้า กินเถาวัลย์ และมีการเล่นฝุ่นเล่นดิน สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ หรือป้องกันปัญหาได้

ความต้องการให้ช่วยเหลือเฉพาะหน้าอย่างไร

1. รัฐควรมีมาตรการเยียวยากลุ่มผู้เลี้ยงช้างด้วยงบฯ พิเศษ หากเปรียบเทียบกับธุรกิจท่องเที่ยวอย่างอื่น เช่น รถเช่า ยังสามารถจอดรถไว้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ช้างเป็นสิ่งมีชีวิตต้องกินทุกวัน ต้องจ้างควาญดูแลทุกวัน รวมทั้งยังต้องใช้ยารักษาโรคกรณีเจ็บป่วย

2. มีมาตรการให้เจ้าของช้างเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือพักชำระหนี้ เป็นระยะเวลาเท่าที่สถานการณ์จะคลี่คลายลง

3. จัดตั้งกองทุนเพื่อแก้ปัญหาช้างอย่างเป็นรูปธรรม

4. จัดหาอาหารไปแจกให้ช้างตามปางต่างๆ อย่างทั่วถึง *กรณีมีมาตรการเคอร์ฟิว*

หรือให้งบประมาณแต่ละปางเพื่อไปจัดหาอาหารให้ช้างเอง

 

พอลงลึกไปก็จะเห็นรายละเอียดของปัญหา เห็นการดิ้นรนของชีวิต ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน การวางนโยบายอยู่บนสุด ทำได้แค่กว้างๆ ต้องให้คนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแก้ปัญหาจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

ถึงตอนนี้พอสรุปได้ว่า

1. ปัญหาโควิด-19 กำลังจะคลี่คลาย แต่ไม่หายขาด อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ต้องเตรียมเปิดเมือง เปิดกิจการ เป็นขั้นตอน อะไรเปิดก่อน เปิดหลัง ต้องเตรียมอุปกรณ์ด้านสาธารณสุขให้พร้อม

2. ต้องรีบเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ ใช้เงินที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้ตรงเป้าหมาย ตรวจสอบได้ เงินเหล่านี้เป็นหนี้ที่ต้องใช้คืนพร้อมดอกเบี้ย

3. เพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่างๆ จะต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายและรับฟังความคิดเห็นให้กว้างขวางที่สุด เพราะปัญหาในแต่ละอาชีพในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันมาก ต้องกระจายอำนาจออกสู่ท้องถิ่นเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติ ความช่วยเหลือและวิธีการฟื้นฟูจึงจะตรงเป้าหมายจริงและแก้ปัญหาในพื้นที่ได้