นพ.ทวีศิลป์ “หมอ” หน้าไฟ ท่ามกลางความคาดหวัง ใช้จิตวิทยาสร้าง “เป็นกลาง” ในสังคมแบ่งข้าง

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าจะจบลงในเร็ววัน

แม้ล่าสุดตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันจะลดระดับลงจากหลักร้อยลงมาเหลือหลักสิบแล้วก็ตาม

แต่ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงอยู่กับความหวาดผวา ทั้งความหวาดผวาจากเชื้อไวรัสร้าย ความหวาดผวาจากจำนวนผู้เสียชีวิตที่ยังคงเพิ่มขึ้นทุกวันแบบไม่หยุด และความหวาดผวาจากข้อมูลข่าวสาร ประกาศ คำสั่งต่างๆ ของส่วนกลางและท้องถิ่นที่บางส่วนยังสับสน

ย้อนหลังกลับไปเมื่อครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประกาศตั้งตัวเองเป็นแม่ทัพนำศึกสู้โควิด-19 สั่งจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ขึ้น

พร้อมออกคำสั่งแต่งตั้งโฆษก ศบค. ทำหน้าที่เสมือนเป็นโทรโข่งคอยชี้แจงข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 แบบรวมศูนย์ ท่ามกลางความหวังของประชาชนที่ต้องการรับทราบข่าวสารอย่างเป็นทางการจากรัฐที่ชัดเจนน่าเชื่อถือ

ตำแหน่งและหน้าที่นี้ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจมอบหมายให้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาทำหน้าที่โฆษก ศบค.

ด้วยความที่ “หมอทวีศิลป์” เป็นแพทย์และมีความรู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา เป็นคนมีบุคลิกดูอบอุ่น น่าเชื่อถือ มีรอยยิ้มอยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญคือ สามารถอธิบายเรื่องยากๆ ได้อย่างเป็นระบบ ทำให้คนฟังเข้าใจได้ง่าย

ด้วยองค์ประกอบหลายๆ อย่างนี้เอง ศบค.จึงมอบหมายให้ นพ.ทวีศิลป์เข้ามาช่วยทำความเข้าใจกับสังคมในสถานการณ์ที่ผู้คนจำนวนมากกำลังแตกตื่นขวัญเสีย สับสนและอารมณ์เปราะบาง

สำหรับหน้าที่โฆษก ศบค. ด้านหนึ่งยังเปรียบเหมือน “หนังหน้าไฟ” ต้องรับแรงปะทะแทนนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในช่วงปัญหาปะทุรุนแรง ต้องแบกรับเสียงสะท้อนไม่ว่าด้านลบหรือด้านบวก รวมถึงแรงเสียดทานจากความเห็นต่างหลากหลายต่อเรื่องโควิด-19

บทบาท นพ.ทวีศิลป์กับหน้าที่โฆษก ศบค. จึงถือเป็นงานท้าทายยิ่งนัก

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจากแพทย์ชนบท มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนเริ่มงานที่โรงพยาบาลจิตเวช นครราชสีมา

ชีวิตราชการโยกเข้ามาทำงานในกระทรวงสาธารณสุข รับหน้าที่เป็นโฆษกกรมสุขภาพจิต จากนั้นขยับขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตและสังคม ควบตำแหน่งหน้าที่โฆษกกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อเกิดโควิดระบาด มีการจัดตั้ง ศบค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เล็งเห็นความรู้ความสามารถ แต่งตั้ง นพ.ทวีศิลป์เป็นโฆษก ศบค. ด้วยความคาดหวังที่จะให้นำความรู้ด้านจิตวิทยามาถ่ายทอดข้อมูลข้อเท็จจริงออกไปสู่สังคม

ทุกวันเวลาประมาณ 11.30 น. นพ.ทวีศิลป์จะออกทีวีพบประชาชน หลักๆ คือแถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด ที่ได้รับรายงานจากหน่วยงานต่างๆ รายวัน พร้อมคำพูดติดหู “การ์ดอย่าตก” ในการดูแลตัวเองตามมาตรการ ทั้งใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือโซเชียลดิสแทนซิ่ง ฯลฯ

กระนั้นก็ตาม เป็นเรื่องปกติธรรมดาเมื่อ นพ.ทวีศิลป์ทำหน้าที่โฆษก ศบค.ผ่านไประยะหนึ่ง ก็จะเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาทั้งในมุมชื่นชม และในมุมที่ต้องนำไปพิจารณาปรับปรุง

ในบางครั้งที่ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ เช่น ในการแถลงข่าวอธิบายความกรณี พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจใช้ยาแรงสู้กับโควิด-19 ด้วยการประกาศใช้เคอร์ฟิวทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. เว้นแต่มีความจำเป็น หากฝ่าฝืนถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย

โดย นพ.ทวีศิลป์ยกคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ช่วงหนึ่งที่ระบุว่า “สุขภาพต้องนำเสรีภาพ” เพื่อต่อสู้กับโควิดไปด้วยกัน ขึ้นมากล่าวเน้นย้ำในการแถลงข่าวต่อประชาชนที่เฝ้ารอดูรอฟังอยู่ทางบ้าน

หรือกรณีแถลงจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลงจากตัวเลข 3 หลัก เหลือเพียง 2 หลัก พร้อมให้ความเห็นประกอบถึงปัจจัยทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยลดลง

“ถ้าพิจารณาจะพบว่าภายหลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 จำนวนตัวเลขผู้ป่วยยังคงทรงตัว แต่ภายหลังการประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีจำนวนผู้ป่วยใหม่ลดลงอย่างชัดเจน ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี”

“ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการทำงานของพวกเราทุกคน ทำให้การแพร่กระจายเชื้อที่เกิดขึ้นลดน้อยลง ผมเชื่อว่าผู้บริหารคงไม่ต้องใช้มาตรการที่เข้มกว่านี้ ถ้าท่านอยากให้ชีวิตความเป็นอยู่และเสรีภาพยังคงอยู่ ต้องพยายามกดตัวเลขให้ลดลงไปเรื่อยๆ ให้เราสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติเหมือนเดิม” โฆษก ศบค.กล่าว

หลังแสดงความเห็นประกอบการแถลงครั้งนั้น

ทำให้ใครหลายคนหวนนึกถึง พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตโฆษก ศอฉ. ในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้

ส่งผลให้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ต้องเจอกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถาโถมเข้ามาไม่ขาดสาย

นักวิชาการและชาวเน็ตมีความเห็นต่างในเรื่องนี้ 150 บุคคลและ 16 องค์กรเครือข่ายนักวิชาการ ภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ออกแถลงการณ์ต่อคำพูดประโยคที่ว่า “สุขภาพต้องนำเสรีภาพ” ระบุ

จากการอ้างถึง “สุขภาพนำเสรีภาพ” ในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการประกาศเคอร์ฟิว

เครือข่ายนักวิชาการ ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมมีความกังวลว่า ความหมายและท่าทีของนโยบายสุขภาพนำเสรีภาพกำลังก่อให้เกิดความสับสนและสร้างปัญหาทับซ้อนในการรับมือกับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ในประเทศไทย

จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรสื่อและสังคมไทยในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐ เร่งทบทวนแนวนโยบายสุขภาพนำเสรีภาพ

โดยปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและรักษาพื้นที่ของการนำเสนอทุกข์ร้อนของประชาชน ซึ่งสามารถนำไปเป็นข้อมูลในการปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ไม่ควรมองว่าเสียงเหล่านั้นเป็นคู่ขัดแย้งหรืออุปสรรคของการทำงานจัดการวิกฤตด้านสุขภาพของภาครัฐ ซึ่งต้องการความจริงใจในการแก้ปัญหา

ด้วยความศรัทธาที่เชื่อมั่นว่า “สุขภาพต้องการเสรีภาพ”

ถัดมาวันที่ 9 เมษายน ในการแถลงข่าวของ นพ.ทวีศิลป์ ต้องเจอแรงเสียดทานอีกระลอก หลังแสดงความคิดเห็นถึงมาตรการรัฐในการจ่ายเงินเยียวยาให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด คนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน

เมื่อได้แสดงทัศนะเรื่องนี้ว่า “ใครที่อยู่ขอบชายแดนหรืออยู่ในต่างจังหวัด มีเงิน 5,000 บาทเหลือแน่ๆ เพราะมีผักสวนครัวรั้วกินได้ อยู่ได้อย่างสบาย ไม่ลำบากอะไร การเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ต่างหากที่ถือเป็นความเสี่ยง”

สิ้นคำแถลงถึงปมร้อนนี้ โฆษก ศบค.ต้องเจอคำถามตามมามากมายเช่นเคย ทั้งจากชาวเน็ตและโลกออนไลน์

เนื่องจากในโลกแห่งความจริงของคนระดับหาเช้ากินค่ำ เงินจำนวน 5,000 บาทต่อเดือน หรือ 167 บาทต่อวัน แทบไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในการประทังชีวิตของตนเองและครอบครัวให้อยู่รอดในแต่ละวัน

งานนี้ทำให้ นพ.ทวีศิลป์ต้องรีบออกมาชี้แจงในทันที

“ที่พูดถึงเรื่องเงินเยียวยา 5,000 บาท มีบางคนชื่นชม แต่บางคนนำไปพูดอีกอย่าง ทั้งที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องทางการเมือง แต่กำลังพูดถึงเรื่องการช่วยเหลือเยียวยา ขออย่าพยายามแปลความไม่ดี”

ภายใต้สถานการณ์เปราะบางต่อความรู้สึกของประชาชนซึ่งกำลังทุกข์ร้อน ที่ นพ.ทวีศิลป์ต้องเผชิญในการทำหน้าที่โฆษก ศบค. ถือเป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวและนำความรู้ความสามารถที่มีมาปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์

นำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยามาปรับใช้ รวมถึงการให้ข้อมูลอย่างเป็นกลางทุกด้านกับประชาชนเพื่อนำไปสู่ความร่วมแรงร่วมใจในการฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

ยึดหลักการความเป็นแพทย์ให้ความรู้การปฏิบัติตัวในภาวะการแพร่ระบาด และทำหน้าที่โฆษก ศบค.สื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนให้กับสังคม สลายการแบ่งขั้วแบ่งข้าง

เสมือนเป็น “หมอ” หน้าไฟ ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาล และ ศบค.

ในวิกฤตที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19