ทราย เจริญปุระ | หนังสือ “อันตราย” ที่ต้องอ่านให้ “จบ”

หนังสือเล่มนี้เริ่มขึ้นง่ายๆ จากผู้เขียนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นซึมเศร้าตั้งแต่วัยรุ่น

เขากินยา ดีขึ้น แย่ลง กินยามากขึ้น ดีขึ้น แย่ลง วนเวียนอยู่เช่นนี้ถึง 13 ปี

เขาจึงออกเดินทางเพื่อค้นหาคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก สืบสาวหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนข้อมูลน่าเหลือเชื่อที่บริษัทยาซุกซ่อนไว้ เพื่อย้อนรอยสู่ต้นตอของภาวะซึมเศร้าที่ทำให้เรา “ตัดขาด” จากโลก ทั้งชีวิตแบบวัตถุนิยม งานที่ไร้ความหมาย หรือเหตุการณ์เลวร้ายในอดีต พร้อมนำเสนอหนทางเยียวยาแบบใหม่ที่เปรียบดังแสงสว่างปลายอุโมงค์ เพื่อนำทางเรากลับไปเชื่อมต่อกับโลกและผู้คนอีกครั้ง

ตอนเริ่มอ่านฉันบอกตรงๆ ว่าเศร้ามาก ยิ่งอ่านยิ่งเศร้า เหมือนผู้เขียนกำลังบอกว่าวิธีที่ฉันเชื่อถือและใช้รักษาตัวเป็นวิธีที่ไม่มีวันได้ผล ใช้ไม่ได้จริง

และฉันเป็นวัวควายโง่ๆ ที่โดนร้อยเชือกเข้าไปเป็นฐานรองรับอุตสาหกรรมและธุรกิจการแพทย์

โดนหลอกให้กินยา เพื่อให้รักษาโรคที่ไม่มีอยู่จริง

อ่านไปได้ถึงจุดหนึ่งฉันถึงขั้นต้องวางหนังสือเพื่อมานั่งถามตัวเอง

ฉันเศร้าจริงๆ หรือพอหมอบอกว่าฉันเศร้า ฉันก็เลยเศร้า?

ฉันดีขึ้นจริงๆ หรือพอได้กินยาที่หมอบอกว่าเป็นยารักษาอาการ ฉันเลยรู้สึกดีขึ้น?

ฉันรู้แต่ว่าอาการที่เรียกรวมว่า “ซึมเศร้า” ในตัวฉันนั้นไม่ได้มีแต่ความเศร้าและเศร้า แต่มันทาบทับไปด้วยความโกรธ ข้อสงสัย ความหดหู่ กังวลใจ เหนื่อยหน่าย และพยายามปฏิเสธอะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด

เมื่อกินยาเข้าไป ฉันไม่ได้หายเศร้าหรือมีใจรักและเมตตาต่อโลกรอบตัวขึ้นมาอย่างฉับพลันทันที

อย่างค่อยเป็นค่อยไป, ฉันละเอียดอ่อนกับความรู้สึกตัวเองมากขึ้น สังเกตและพยายามจับอารมณ์ตัวเองให้ทัน หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ฉันคิดว่าเป็นการกระตุ้นให้หลากความรู้สึกเหล่านั้นหวนคืนมาเพื่อจะโจมตี

เป็นแบบนี้แล้วจะให้ฉันเชื่อได้อย่างไร ว่านี่เป็นเรื่องปลอมๆ?

นี่เป็นเรื่องไม่มีอยู่จริง นี่คือสิ่งที่ชีวิตชักพาไป เหมือนถ้ามีคนซักร้อยคนเจอเรื่องแบบเดียวกันนี้ ฉันคือกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ตกชั้น ตะเกียกตะกายขึ้นมาจากหลุมไม่ได้ เป็นชนกลุ่มน้อยที่พ่ายแพ้แก่จิตใจของตัวเอง

ฉันหดหู่เพราะกึ่งหนึ่งก็เหมือนโดนดูถูกความรู้สึก กลายเป็นว่าชีวิตและครึ่งหนึ่งที่ฉันเป็นอยู่คือเรื่องจอมปลอม คือมายากลของวงการธุรกิจยาที่ประกอบขึ้นมาด้วยเทคนิคแสงสีและหมอกควันคลุมเครือ

ฉันคือคนที่เชื่อกลลวงโลกนั้น แท้จริงแล้วฉันไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าความเศร้าในระดับที่ใครๆ ก็เป็นได้ และหายได้เองโดยไม่ต้องกินยา

สุดท้ายฉันก็เป็นคนจิตใจไม่ปกติ ที่ไม่ได้ไม่ปกติจากความผิดปกติจริงๆ มีแต่ฉันเท่านั้นที่เชื่อไปเองอย่างเลื่อนลอย

แต่อ่านมาถึงขนาดนี้แล้วก็จำต้องอ่านต่อ

ผู้เขียนเดินทางไปถึงกลุ่มบำบัด กลุ่มสงเคราะห์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ชุมชนชายขอบที่เรียกร้องสิทธิ์เพื่อตนเอง เพื่อจะยืนยันว่าพวกเขามีอยู่จริง

และเมื่ออ่านไปถึงจุดหนึ่ง ฉันจึงค่อนข้างตกใจ ว่าคำถามที่ฉันโดนถามเป็นคำถามแรกๆ ในการรักษา กลับเป็นคำถามท้ายๆ ของฝ่ายผู้เขียน ผู้คนที่เขาไปพบเจอล้วนไม่เคยถูกถาม ทุกคนถูกวินิจฉัยและตีตราประทับบางอย่าง โดยไม่มีใครสนใจจะรู้ ว่าทำไมพวกเขาจึงเป็นเช่นที่เป็นอยู่

แน่นอนว่าทุกครั้งที่มีคนมาคุยกับฉันเรื่องความป่วยไข้ ถึงข้อสงสัยว่าตัวเขา หรือใครสักคนที่เขาพูดถึงนั้นป่วยจริงไหม ต้องกินยาหรือเปล่า ต้องทำตัวอย่างไร

ก็เป็นฉันที่จะย้อนถามไป เหมือนที่ฉันเคยโดนหมอถามมาก่อน

ว่า, ทำไมถึงคิดว่าเขาเป็น และ คิดว่าต้นเหตุมาจากอะไร?

น้อยคนมากที่จะตอบออกมาได้อย่างรวดเร็ว

พวกเขาจะนิ่งคิด แต่งประโยคในหัว อึกอัก ยิ้มเก้อเขิน ก่อนที่บางคนจะบอกปัดไปว่า-ไม่ทราบ- บางคนก็พูดรวมๆ ไปว่าเพราะที่บ้านบ้าง เพราะคู่รักบ้าง เพราะความสัมพันธ์บ้าง

แต่โดยส่วนตัวฉัน ฉันเชื่อว่าเกินครึ่งของเจ้าของคำถามนั้นรู้ตัวดีว่าเพราะอะไร จำได้ดีว่าจุดแรกที่เริ่มเกิดอาการต้องสงสัยนั้นคืออะไร

แต่ที่มันยากกว่านั้นก็คือการยอมรับ

ใครจะกล้ายอมรับง่ายๆ ว่าเราเบื่อพ่อ-แม่

ใครจะกล้าพูดออกมาอย่างยินดีว่างานที่ทำอยู่มันดี มีแต่เราที่ห่วย

ใครจะอยากตอบว่าคู่รักที่คบกันมาเป็นสิบปีเป็นคนน่าเบื่อ และยิ่งนานวันก็ยิ่งเกินทานทน

คำตอบเหล่านี้ต่างหากที่เราต้องถาม ต้องตอบ และต้องรู้

ยานั้นเป็นปลายทาง เหมือนถ้าคุณป่วยเป็นเบาหวาน คุณต้องกินยานั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าคุณยังไม่เปลี่ยนวิถีชีวิต วิธีการกิน ยังทำเหมือนเดิม กินเหมือนเดิม ยาที่กินไปมันก็เท่านั้น สุดท้ายคุณก็จะตายด้วยสาเหตุอะไรซักอย่างที่มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นเบาหวาน

แต่ผลลัพธ์นั้นก็เป็นไปได้อีกหลายทาง คือคุณจะป่วยได้จากหลากหลายโรคและตายไปพร้อมกับสารพัดโรคที่ไม่ใช่เพียงโรคเริ่มต้นอย่างเบาหวาน

ซึมเศร้าก็เป็นเช่นนี้

ฉันอาจจะโชคดีที่เจอหมอที่พร้อมจะถาม กระตุ้นให้ตั้งคำถาม ยินดีรับฟัง และไม่เคยตัดสินฉัน มันยาก, ฉันรู้

ยากระดับที่หลายๆ คนกินยาต่อเนื่องมาเป็นปี แต่ก็ไม่เคยกล้าจะเปิดใจพูดถึงต้นตอปัญหาจริงๆ หลีกเลี่ยงช่วง “รื้อ” ชีวิตตัวเอง บางคนไม่อยากรับความจริง บางคนรู้สึกว่าสิ่งที่ตนเองประสบมามันเป็นเรื่องเล็กน้อยเกินไป เรื่องแค่นี้น่ะเหรอที่สร้างความป่วยใจให้เราได้ขนาดนี้

ก็ขนาดนี้นั่นแหละ

ผู้เขียนจึงเสนอหลากหลายวิธีที่จะ “เรียก” ความเป็นเรากลับมา ยอมรับ แก้ไข ต่อสู้ เปิดใจ และอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง ไม่มองแต่ตัวเอง ทำเพื่อคนอื่น และอะไรๆ ที่คนชอบพูดใส่ผู้ป่วยซึมเศร้า ว่าสู้สิ มองโลกในแง่ดีสิ ลุกขึ้นมาทำอะไรๆ บ้างสิ

ต่างกันตรงที่เขาเหล่านั้น ไม่ได้สนใจไถ่ถาม ว่าอะไรที่ทำให้อาการเหล่านี้เกิดขึ้น หรือต่อให้รู้ ก็จะพูดเพียงผ่านๆ ว่าอย่าไปสนใจ ช่างมัน อย่าคิดมาก

ดังนั้น คนที่ต้องถามและหาคำตอบของปัญหาเหล่านั้นให้ได้จริงๆ ก็คือตัวเราเอง

มองมันให้เต็มตา ยื่นมือไปสัมผัส พลิกหาด้านมืดที่อาจจะโดนซุกซ่อนเอาไว้ทั้งจากสายตาของผู้คนภายนอกและสายตาของตัวเราเอง

จับมันขึ้นมาวาง มองมัน สัมผัสมัน พูดกับมันให้เต็มปาก ยอมรับว่านี่คือเรื่องที่เราไม่ชอบ ความสัมพันธ์ที่เราไม่ปลอดภัย เงื่อนไขชีวิตที่สร้างความทุกข์ทรมานให้เรา

ฉันยืนยันว่าหนังสือเล่มนี้คือหนังสืออันตรายและชวนให้ทดท้อหดหู่ใจหากใครจะอ่านมันไม่จบ ไม่ว่าผู้อ่านนั้นจะป่วยหรือไม่ป่วย

มันชี้นำและชวนให้สับสนกังวลใจ มันทำให้เราว้าวุ่น ทำให้ความคิดที่ว่ายาไม่มีประโยชน์และโยนมันทิ้งไปเป็นทางออกชัดเจนขึ้น ทำให้ความเชื่อว่าคนป่วยนั้นอ่อนแอดูสมจริงสมจัง

แต่ถึงกระนั้นก็ยังควรอ่าน เพราะคำถามที่แท้จริงของหนังสือเล่มนี้ก็คือ, ทำไมต้องเป็นคุณ?

ทำไมต้องเป็นคุณที่สับสน หดหู่ และเพรียกหาความตาย?

ทำไมต้องเป็นคุณที่เจ็บปวดซ้ำซากกับระบบสังคมที่คนอื่นอยู่ได้?

ทำไมความเศร้าจึงไม่เคยจางหายไป?

และนี่อาจจะเป็นเรื่องที่ยากที่สุดที่จะหาคำตอบ

โลกซึมเศร้า” (Lost Connections) เขียนโดย Johann Hari แปลโดย ดลพร รุจิรวงศ์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์ Bookscape, มีนาคม 2563