คนมองหนัง : “อัศจรรย์…รัก” ดึกดำบรรพ์ บอย แบนด์

คนมองหนัง

หลังมีคอนเสิร์ตส่วนตัวชื่อ “รักนิรันดร์” เมื่อเดือนตุลาคม 2558 “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” โปรดิวเซอร์-นักแต่งเพลงฝีมือดี ที่สร้างผลงานฮิตๆ ไว้มากมายช่วงยุค 2520-2540 ก็คล้ายจะเริ่มจับทางได้ถูกว่ากิจกรรมการเล่นดนตรีในวัยหลังเกษียณของเขาและ (ผองเพื่อน) ควรจะคลี่คลายไปสู่ทิศทางใด

โมเมนต์หนึ่งในคอนเสิร์ต “รักนิรันดร์” ที่ประทับใจคนดูเป็นพิเศษ ก็คือช่วงที่ “สามเกลอเก่า” อย่างพนเทพ “ชรัส เฟื่องอารมย์” และ “ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” มาล้อมวงร้องเพลง-เล่นดนตรีด้วยกัน

เมื่อเสร็จสิ้นคอนเสิร์ตครั้งนั้น ทั้งสามคนจึงร่วมมือกันก่อตั้งวง “ดึกดำบรรพ์ บอย แบนด์” ขึ้นมา เพื่อร้อง-เล่นเพลงเก่าๆ และเพลงที่ไม่เก่านัก ของแต่ละคน

พร้อมๆ กันนั้น “ดึกดำบรรพ์ บอย แบนด์” ได้เริ่มสร้างเพจเฟซบุ๊กของวง และนานๆ ครั้ง ก็จะปล่อยคลิปการเล่นดนตรีเด็ดๆ ออกมาสักที โดยความไพเราะของบทเพลงและความลงตัวของการเรียบเรียงดนตรี-เสียงประสาน สามารถดึงดูดยอดไลก์-ยอดแชร์จากผู้ใช้เฟซบุ๊กได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

“ดึกดำบรรพ์ บอย แบนด์” จึงลองชิมลางด้วยการจัดงานซ้อมโชว์ที่ร้านกาแฟ “คอฟฟี่ โมเดล” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี โดยมีผู้เข้าชม (ฟรี) หลายร้อยคน จนแน่นพื้นที่

ในที่สุด พนเทพ-ชรัส-ปั่น ก็ตัดสินใจจัดคอนเสิร์ตใหญ่ของพวกเขา ชื่อ “อัศจรรย์…รัก” ขึ้น เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2559 ที่จีเอ็มเอ็ม ไลฟ์ เฮาส์ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์

 

 

โดยรวมถือว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้น่าประทับใจ เพราะบทเพลงรักหวานซึ้งสวยงาม ทั้งทางด้านคำร้องและทำนอง ถูกนำเสนอคลอเคียงไปกับบรรยากาศการเล่นดนตรี-พูดคุยที่เรียบง่าย สนุกสนานเป็นกันเอง

ส่วนตัว ผมชอบช่วงเปิดคอนเสิร์ตด้วยเพลง “รักล้นใจ” “คนไม่มีวาสนา” และ “รักเธอมากกว่าใคร” ชอบการร้อง-เล่นเพลง “A Tu Corazon สู่กลางใจเธอ” อย่างเป็นทางการครั้งแรกของ “ดึกดำบรรพ์ บอย แบนด์”

นอกจากนี้ 5-6 เพลงสุดท้ายของคอนเสิร์ต ยังเอาคนดูได้อย่างอยู่หมัด

แม้อาจมีจุดไม่เนี้ยบอยู่บ้างหากเทียบกับคอนเสิร์ต “รักนิรันดร์” อาทิ งานด้านโปรดักชั่น ทั้งเรื่องแสงสีและภาพเคลื่อนไหวในจอยักษ์ด้านหลังเวที ที่นอกจากจะไม่ค่อยคมชัด (ตามมาตรฐานของยุคปัจจุบัน) แล้ว ยังจับกิมมิคเล็กๆ น้อยๆ ของการแสดงได้ไม่ทันท่วงที

ส่วน “อาการหลุด” ของศิลปินระดับ “สามคุณลุง” บนเวทีนั้น เป็นสิ่งที่พอคาดเดาได้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย

มิหนำซ้ำ แฟนเพลงที่มาชมการแสดงส่วนใหญ่ล้วนมอง “ความไม่สมบูรณ์แบบ” ดังกล่าว เป็นเรื่องสนุกหรืออารมณ์ขันเสียมากกว่า

 


ย้อนกลับไปเมื่อคราวคอนเสิร์ต “รักนิรันดร์” การแสดงหนนั้น คือ คอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งแรก (และอาจจะเป็นครั้งเดียว) ของพนเทพ ทุกอณูของโชว์จึงเต็มไปด้วยการ “ปล่อยของ” อย่างเต็มที่ ทั้งภาคดนตรีที่เนี้ยบเฉียบ งานโปรดักชั่นแวดล้อมที่ไม่บกพร่อง ขณะเดียวกัน เรื่องเล่าประกอบเพลงก็สมบูรณ์ เช่นเดียวกับศักยภาพและความพร้อมของศิลปินรับเชิญแต่ละคน/วง

พอมาถึงคอนเสิร์ต “อัศจรรย์…รัก” ดูเหมือนโจทย์และความมุ่งหวังในการจัดโชว์ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความพยายามจะรักษาจุดสมดุลระหว่างการจัดโชว์ทางดนตรีที่เปี่ยมไปด้วยความสมบูรณ์แบบ กับอารมณ์อยากล้อมวงเล่นดนตรีสบายๆ ในหมู่เพื่อนฝูง

หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า พนเทพ-ชรัส-ปั่น พยายามจะผสมผสานบรรยากาศการทำงานในสตูดิโอที่ต้องเพอร์เฟ็กต์จริงจัง เข้ากับบรรยากาศการพูดคุยเที่ยวเล่นอันผ่อนคลายในหมู่มิตรสหายที่คบหากันมากว่าสี่ทศวรรษ บนเวทีคอนเสิร์ตวันนั้น

ซึ่งฟังดู “ไม่ยาก” แต่กลับปรุงแต่งให้กลมกล่อมลงตัวจริงๆ ได้ “ไม่ง่าย” นัก

ส่งผลให้เกิดอาการ “เกร็ง” “ตกหล่นเล็กน้อย” หรือ “ไปไม่เป็น-ต่อไม่ติด” โผล่ออกมาเป็นระยะๆ ระหว่างการแสดง

ทว่า ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า แฟนเพลง (ซึ่งส่วนใหญ่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับศิลปิน) ล้วนมองเห็นเรื่องเหล่านั้นเป็น “ความบกพร่องโดยสุจริต” หรือ “ความเป็นกันเองระหว่างคนคุ้นเคย” ซึ่งก่อให้เกิดภาวะตลกเฮฮาช่วยบรรเทาความตึงเครียด มากกว่าจะเป็นภาวะหงุดหงิดรำคาญใจ

 


อีกสิ่งหนึ่งที่พอจะจับสังเกตได้ คือ เมื่อต้องยืนระยะยาวๆ ด้วยการเล่นดนตรีต่อเนื่องกันยี่สิบกว่าเพลง “ลุงๆ ทั้งสามคน” ก็มีอาการหนืดเหนื่อยให้เห็นอยู่บ้าง

ดังนั้น ถ้า “ดึกดำบรรพ์ บอย แบนด์” ยังอยากทำโชว์ใหญ่ๆ อย่างสม่ำเสมอต่อไปเรื่อยๆ เช่น มีคอนเสิร์ตปีละหน พวกเขาอาจต้องใช้ประโยชน์จากทีมงานนักดนตรีสนับสนุนระดับ “พระกาฬ” ให้มากขึ้น

เช่น เปิดช่วงพิเศษให้ “ป้อม-เกริกศักดิ์ ยุวะหงษ์” ที่นั่งเคาะเพอร์คัสชั่นแบบหลบมุม มาร้องนำสัก 2-3 เพลง

หรือคงน่าสนใจไม่น้อย หากมีช่วงเรโทรสเปคทีฟให้ “เศกสิทธิ์ ฟูเกียรติสุทธิ์” มือคีย์บอร์ด ซึ่งปรากฏตัวเป็นฉากหลังรางๆ ของ “ดึกดำบรรพ์ บอย แบนด์”

ทั้งที่แท้จริงแล้ว เขาเป็นเจ้าของผลงานการแต่งทำนองและเรียบเรียงดนตรีให้เพลงดังๆ ของนักร้องหลายคน อาทิ “มาลีวัลย์ เจมีน่า” “ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี” และ “อัญชลี จงคดีกิจ”

(และในคอนเสิร์ตหนนี้ ก็มีการนำเพลงของเศกสิทธิ์มาร้อง-บรรเลงอยู่ไม่น้อย เช่น “คนไม่มีวาสนา” และ “A Tu Corazon สู่กลางใจเธอ”)

โดยเฉพาะหากได้แขกรับเชิญรุ่นราวคราวเดียวกันสักคนสองคนมาสร้างสีสันบนเวที ความหนืดเนือยที่เกิดขึ้นบ้างนิดๆ หน่อยๆ ก็น่าจะจางหายไป

ผู้รับบทบาทเป็นแขกรับเชิญที่คอยสร้างสีสันและเสียงหัวเราะได้เป็นอย่างดีบนเวทีคอนเสิร์ต “อัศจรรย์…รัก” ก็คือ “ตุ๊ก-วิยะดา โกมารกุล ณ นคร”

 

 

ผู้ชมส่วนใหญ่คงขำขันกับมุขตลก “สองแง่สองง่าม” ของวิยะดา แต่อีกมุขหนึ่งที่ผมชอบและเห็นว่าคมคายมากๆ ก็ได้แก่ ตอนที่วิยะดาแซวเรื่องการร้องเพลงของพนเทพ

วิยะดาเล่าว่าสมัยทำอัลบั้มครั้งแรกๆ เธอพยายามจะร้องเพลงแบบ “เลื้อยเสียง” เหมือนมาลีวัลย์ (ซึ่งเป็นหนึ่งใน “เด็กสร้าง” ของพนเทพเช่นกัน)

การร้องแบบ “เลื้อยเสียง” คือ วิธีการร้องเพลงที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักๆ ในยุคสมัยหนึ่ง (ทศวรรษ 2530-2540) ว่าเป็นการ “ร้องภาษาไทยไม่ช้าด” นั่นเอง

วิยะดาเล่าต่อว่า พอเธอทดลองร้องเลื้อยเสียงในสตูดิโอ คนที่ระงับการทดลองดังกล่าวกลับเป็นพนเทพ ซึ่งสื่อสารกลับมาอย่างเรียบๆ ว่า “ตุ๊กครับ ร้องธรรมดาก็ได้ครับ ไม่ต้องแอ๋น”

บนเวทีคอนเสิร์ต วิยะดาเลยได้ทีเอาคืนว่า แล้วลองมาดูวิธีการร้องเพลงของพนเทพในยุคปัจจุบันสิ แหม! นี่ก็ร้องเลื้อยเสียงแบบ “ไม่ช้าด” เหมือนกันนั่นแหละ

 

 

ถ้าเปรียบเทียบระหว่างสามสมาชิกของ “ดึกดำบรรพ์ บอย แบนด์” ในขณะที่ชรัสจะร้องภาษาไทยแบบชัดๆ ตรงๆ ปั่นและพนเทพกลับนิยมร้องเพลงในลักษณะเลื้อยเสียง

ลักษณะคล้ายคลึงกันยังเคยเกิดขึ้นเมื่อคราวที่ “โอม-ชาตรี คงสุวรรณ” อดีตโปรดิวเซอร์ฝีมือดีอีกคนของแกรมมี่ หันมาออกอัลบั้มเดี่ยวชุดแรก ก่อนจะจัดคอนเสิร์ตรียูเนียนของ “ดิ อินโนเซ็นต์” เมื่อปี 2552

ข้อท้วงติงหนึ่ง ซึ่งแฟนๆ รุ่นเก่าของ “ดิ อินโนเซ็นต์” วิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้อง ก็คือ พวกเขาอยากฟังโอม ชาตรี ร้องเพลงติดสำเนียงลูกกรุง แบบในอัลบั้มชุดดั้งเดิม มากกว่าจะมาร้องเพลงไม่ช้าด ติดเสียง “เชอะ” เยอะๆ เหมือนศิลปินรุ่นใหม่ๆ ที่โอมโปรดิวซ์ให้

จำได้ว่า ช่วงกลางทศวรรษ 2530 ถึงต้น 2540 ผู้เคร่งครัดภาษาไทยมักออกมาพร่ำบ่นว่า พวกนักร้องเพลงป๊อปค่ายใหญ่นั้นร้องเพลงไทยกัน “ไม่ช้าด” จนเข้าข่ายทำภาษาวิบัติ เนื่องจากศิลปินรุ่นใหม่ถูกฝึกฝนแบบผิดๆ โดยนโยบายของค่ายเทป ตลอดจนโปรดิวเซอร์

ที่น่าสนใจ คือ ครั้นเวลาผันผ่านไปเรื่อยๆ ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ซึ่งปรากฏขึ้นกลับกลายเป็นว่า เหล่าโปรดิวเซอร์หัวกะทิของค่ายเพลงใหญ่มิได้เพียงสอนให้ศิลปินรุ่นน้อง-ลูก-หลาน ร้องเพลง “เลื้อยเสียง” แบบ “ไม่ช้าด” โดยที่พวกเขาเองยังใช้ภาษาไทยแบบ “ชัดถ้อยชัดคำ” ตามมาตรฐานเดิมอยู่

ทว่า บรรดาโปรดิวเซอร์เองก็ค่อยๆ เปลี่ยนวิธีการร้องเพลงของตน มาสู่การร้องในลักษณะเลื้อยเสียงหรือร้องไม่ช้าด เจริญรอยตามนักร้องเด็กๆ ภายใต้การโปรดิวซ์ของพวกเขาเช่นเดียวกัน

จึงอาจพอสรุปได้ว่า ในช่วงเกือบสามทศวรรษที่ผ่านมา “โครงสร้าง” การใช้ภาษาไทยของศิลปินเพลงป๊อปไทยได้ “เปลี่ยนแปลง” ไปมหาศาล

ที่สำคัญบุคลากรทุกฝ่าย ทั้งศิลปินและคนเบื้องหลัง ต่างถูกหล่อหลอมโดยความเปลี่ยนแปลงนั้นไปพร้อมๆ กัน อย่างเท่าเทียมเสมอภาคกัน

“ความผิดเพี้ยน” หรือ “ความวิบัติ” จึงค่อยๆ แปรเปลี่ยนมาเป็น “มาตรฐานชนิดใหม่” หรือ “วิวัฒนาการ”

กระทั่งในรายการ “เดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์” ซีซั่นที่แล้ว “โค้ชก้อง-สหรัถ สังคปรีชา” นักร้อง-นักดนตรีที่โด่งดังในยุค 2530-40 ได้คอมเมนต์ผู้เข้าประกวดรายหนึ่ง คือ “หมูแฮม-นราพงษ์ ปราโมทย์” เอาไว้ว่า

“คุณเป็นคนที่ร้องเพลงไทยแปลกไปอีกแบบ ผมไม่ค่อยได้ยินนะครับ คุณไม่ค่อยผันนะ (“ผัน” ของโค้ชก้อง น่าจะหมายถึงการ “เลื้อยเสียง” ในภาษาของวิยะดา) คุณร้องตรงๆ แล้วก็ฮิตโน้ตซะส่วนใหญ่ ซึ่งในเพลงไทยไม่ค่อยมีใครร้องเทคนิคแบบนี้นะครับ ก็เป็นที่น่าฟังไปอีกแบบหนึ่ง ก็เป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจดีนะครับ”