เกษียร เตชะพีระ : ตีประชานิยมกระทบประชาธิปไตย

เกษียร เตชะพีระ
AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

“สําหรับนโยบายประชารัฐ ความมุ่งหวังของกรอบนโยบายคือการปิดจุดอ่อนของนโยบายประชานิยมดังกล่าว โดยตัวสาระสำคัญของนโยบายประชารัฐจะอยู่ที่การใช้อำนาจของรัฐเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ นโยบายประชารัฐจึงมิได้มุ่งเน้นที่การสร้างความนิยมชมชอบของประชาชนในระยะสั้นเป็นหลัก เพราะนโยบายที่ประชาชนให้ความนิยมชมชอบอาจจะมีผลเสียตามมาในอนาคตก็เป็นได้ และไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของแหล่งที่มาของอำนาจว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่อีกด้วย ขอเพียงแค่ผลประโยชน์ของการดำเนินนโยบายให้ตกอยู่กับประชาชนก็พอ”

“นโยบายประชารัฐ แตกต่างจากนโยบายประชานิยมอย่างไร? และประชาชนจะได้อะไร?”
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการทีดีอาร์ไอ, 7 มกราคม 2559

 

“วันนี้ รัฐบาลเราไม่ได้มาจากพรรคการเมือง ไม่ต้องหาเสียง ไม่ต้องมีเสียงข้างมาก ไม่ต้องรักษาฐานเสียง ไม่ต้องการคะแนนนิยม เพียงแต่ต้องการแก้ปัญหาและปฏิรูปอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่ของง่าย เราไม่ใช่พรรคการเมือง เพราะฉะนั้น เราก็คงไม่ต้องไปทำโครงการประชานิยมหรือทำในเรื่องของทำอย่างไรให้คนรักเรามากๆ ไม่ใช่ เราจะแก้ปัญหาให้เขา ปัญหาเกิดมามากกว่า 10 ปี ไม่ได้เกิดมาหลังการควบคุมอำนาจ 22 พฤษภาคม ดังนั้น ต้องร่วมกันคิด ร่วมมือ ช่วยกันทำ แม้กระทั่งใครขัดแย้งกันมาตลอดก็ต้องช่วยกัน ถ้าไม่ช่วยผมถือว่าท่านก็ไม่ได้รักคนไทยจริงๆ ถ้ารักคนไทยจริงๆ ต้องช่วยเราตอนนี้นะครับ เรื่องอื่นๆ ท่านก็ไปต่อสู้กันทางกระบวนการยุติธรรมก็แล้วกัน”

รายการคืนความสุขให้คนในชาติ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช., 12 กันยายน 2557

 

ความหมายกระแสหลักของคำว่า “ประชานิยม” ตามที่ใช้กันในแวดวงการเมืองไทยที่ผ่านมาดังตัวอย่างข้างต้น หยิบยืมมาจากนักเศรษฐศาสตร์ในอเมริกา บนฐานประสบการณ์ละตินอเมริกา

ดังที่ คาส มูด์เด กับ คริสโตบาล โรวีรา คัลต์วัสเซอร์ สองนักรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญประชานิยมยุโรปและละตินอเมริกา เล่าย้อนรอยไว้ในหนังสือ Populism : A Very Short Introduction (ค.ศ.2017) ว่า :

“สำหรับแนวทางการศึกษาแบบเศรษฐกิจสังคม (the socioeconomic approach) ก็ครอบงำการศึกษาประชานิยมละตินอเมริกันอย่างแน่นหนายิ่งระหว่างคริสต์ทศวรรษที่ 1980 และ 1990 นักเศรษฐศาสตร์อย่าง รูดิเกอร์ ดอร์นบุช กับ เจฟฟรี แซกส์ เข้าใจว่าด้านหลักแล้วประชานิยมเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่ขาดความรับผิดชอบชนิดหนึ่งซึ่งมีบุคลิกลักษณะประกอบไปด้วยสองระยะด้วยกัน กล่าวคือ

“ระยะแรก มีการใช้จ่ายเงินงบประมาณขนานใหญ่โดยกู้หนี้ต่างชาติมา

“แล้วตามด้วยระยะที่สองซึ่งเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง (hyperinflation) และการดำเนินการปรับตัวทางเศรษฐกิจอย่างหักหาญ

“ขณะที่แนวทางการศึกษาแบบเศรษฐกิจสังคมได้สูญเสียการยอมรับสนับสนุนไปแล้วในสาขาวิชาสังคมศาสตร์อื่นๆ ส่วนใหญ่ซึ่งด้านหลักก็เป็นเพราะบรรดาพวกประชานิยมละตินอเมริกันรุ่นหลังพากันหันไปสนับสนุนเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่กันเป็นทิวแถวนั้น แต่มันยังคงเป็นกระแสที่มาแรงในหมู่นักเศรษฐศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์อยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐ

“ศัพท์แสงเรื่องนี้ซึ่งเป็นที่นิยมของมหาชนกว่าศัพท์แต่เก่าก่อนได้แก่คำว่า “เศรษฐศาสตร์ประชานิยม” (populist economics) ซึ่งหมายถึงหลักนโยบายการเมืองที่ถูกถือว่าขาดความรับผิดชอบเพราะมันเกี่ยวพันกับทั้งการกระจายความมั่งคั่งและการใช้จ่ายงบประมาณที่มาก (เกินไป)”

(pp. 3-4 แปลโดยผู้เขียน)

สําหรับ รูดิเกอร์ ดอร์นบุช (Rüdiger Dornbusch, ค.ศ.1942-2002) เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันที่เรียนจบปริญญาเอกและทำงานสอนหนังสือส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐ เช่น ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก และ Massachusetts Institute of Technology เขาเชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะด้านนโยบายเงินตรา, การพัฒนาเศรษฐกิจมหภาค, การเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ได้รับยกย่องว่าเก่งตรงยึดกุมหัวใจของปัญหาได้เฉียบแหลมแม่นยำและอธิบายมันให้ผู้คนเข้าใจได้ด้วยศัพท์แสงง่ายๆ เขาเคยช่วยทำงานให้ IMF โดยร่วมพัฒนานโยบายฟื้นฟูสร้างเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในหมู่ประเทศละตินอเมริกาช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งกันมาก

ซ้าย-รูดิเกอร์ ดอร์นบุช ขวา-เจฟฟรี แซกส์

ส่วน เจฟฟรี แซกส์ (Jeffrey Sachs, ค.ศ.1954-ปัจจุบัน) เป็นนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันชื่อดังที่เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีเงินตราและการเงินระหว่างประเทศ เคยประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและย้ายมาอยู่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในปัจจุบัน ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980-1990 เขามีบทบาทโดดเด่นเป็นที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจให้แก่โบลิเวีย โปแลนด์และรัสเซียในการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจที่ประสบวิกฤตการคลังและภาวะเงินเฟ้อรุนแรงให้กลับมีเสถียรภาพด้วยวิธีการ “บำบัดด้วยการช็อก” (shock therapy) โดยเลิกควบคุมราคาสินค้าและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา, รัดเข็มขัดด้านการคลังด้วยการขึ้นภาษี ตัดลดงบประมาณรายจ่ายและเงินอุดหนุนจากรัฐ และแปรรูปกิจการของรัฐให้เป็นของเอกชนอย่างรวบรัดเฉียบพลัน เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจทุนนิยมตลาดเสรีแบบเบ็ดเสร็จม้วนเดียวจบ ผสมผสานกับมาตรการผ่อนลดหนี้ต่างชาติลงและรับเงินช่วยเหลือจากภายนอกเพื่อบรรเทาผลกระทบ

นโยบายเหล่านี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งกันมากเพราะแม้จะช่วยลดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงและแก้วิกฤตการคลังลงได้ แต่ก็สร้างความเจ็บปวดทุกข์ยากให้แก่ประชากรส่วนที่เคยพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐและขาดแคลนกำลังซื้ออย่างแสนสาหัส อีกทั้งยังนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยและคนตกงานสูงในระยะสั้น และเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหนักหน่วงขึ้นในระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับวิธีการปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจทุนนิยมตลาดเสรีอย่างทอดยาวค่อยเป็นค่อยไปแบบวิวัฒนาการดังที่จีนดำเนินมาในช่วง 30 ปี เป็นต้น

(ผู้สนใจประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจแบบบำบัดด้วยการช็อกของแซกส์ โปรดดู Naomi Klein, The Shock Doctrine : The Rise of Disaster Capitalism, 2007, Chapter 7 The New Doctor Shock; และ Jeffrey Sachs, “What I did in Russia”, 14 March 2012, http://jeffsachs.org/2012/03/what-i-did-in-russia/)

AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

จุดอ่อนข้อจำกัดอันเป็นปัญหาของการนิยามความหมาย “ประชานิยม” แบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่นำมาประยุกต์ใช้ในเมืองไทยก็คือ :-

1) มันตีความ “ประชานิยม” อย่างจำกัดแคบยิ่ง ให้กลายเป็นเฉพาะเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจบางอย่างที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง ฟุ่มเฟือยสิ้นเปลืองทางการคลังอย่างขาดความรับผิดชอบ จนก่อผลเสียในระยะยาว โดยใช้งบประมาณรายจ่ายของรัฐและ/หรือกู้เงินต่างชาติมา เพื่อไปกระจายความมั่งคั่งอุดหนุนจุนเจือเอาใจฐานคะแนนเสียงรากหญ้าในการเลือกตั้งหรือ “เอาใจชาวบ้าน”

ปัญหาของนิยามเช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาล “ประชานิยม” ที่กุมอำนาจเกิดปรับเปลี่ยนหรือผสมผสานนโยบายเศรษฐกิจเดิมเข้ากับนโยบายใหม่ เช่น นโยบายเสรีนิยมใหม่ (neoliberal policy) เป็นต้น จนนำไปสู่การตัดลดงบประมาณ ละเลิกเงินอุดหนุนเอาใจชาวบ้าน หันไปรักษาวินัยการคลัง แปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นของเอกชน ฯลฯ แทน ซึ่งแตกต่างออกนอกกรอบนิยาม “ประชานิยม” แบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักไป

เช่นนี้ก็จะกลายเป็นว่ารัฐบาลเหล่านี้ไม่ “ประชานิยม” เสียแล้ว…โดยไม่เห็นความเป็นไปได้และการดำรงอยู่จริงของปรากฏการณ์ผสมผสานทางเศรษฐกิจการเมืองสูตรใหม่ๆ เช่น [การเมืองประชานิยม+ นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่] หรือนัยหนึ่ง Neoliberal Populism (ประชานิยมแบบเสรีนิยมใหม่) อาทิ กรณีประธานาธิบดี คาร์ลอส เมเนม ในอาร์เจนตินา, ประธานาธิบดี อัลแบร์โต ฟูจิโมริ ในเปรู, ประธานาธิบดี เฟอร์นานโด คอลลอร์ ในบราซิล, นายกฯ ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี ในอิตาลี, รวมทั้งรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ในไทย เป็นต้น

(โปรดดู Kurt Weyland, “Neolibral Populism in Latin America and Eastern Europe”, Comparative Politics, 31:4 (July 1999), 379-401; Teun Pauwels, “Explaining the Success of Neo-liberal Populist Parties : The Case of Lijst Dedecker in Belgium”, Political Studies, 58 (2010), 1009-1029; Kanishka Jayasuriya, “Chapter 6 Statecraft and Social Contracts : A Populist Market Citizenship in Thailand”, Statecraft, Welfare, and the Politics of Inclusion, 2006)

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

2)การวิจารณ์โจมตี “(เศรษฐศาสตร์) ประชานิยม” ของนักเศรษฐศาสตร์และผู้นำการเมืองไทยมีความโน้มเอียงคงเส้นคงวาที่จะล้ำเส้น-ข้ามช็อต-ลัดวงจร-ไถลเลยรวมไปถึงการปัดปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยด้วยแบบอัตโนมัติ โดยมิพักจะตริตรองสะท้อนคิดจำแนกแยกแยะความแตกต่างระหว่างนโยบายเศรษฐกิจแบบ “ประชานิยม” ที่ตนไม่เห็นด้วย กับแก่นสารสาระของระบอบประชาธิปไตยอันตั้งอยู่บนฐานความเสมอภาคทางการเมือง-อำนาจอธิปไตยของประชาชน-การปกครองโดยเสียงข้างมาก ราวกับว่าทั้งสองอย่างเป็นสิ่งเดียวกัน แยกจากกันไม่ออก เหมือนฝาแฝดสยามอิน-จัน

ทั้งๆ ที่หากทำความเข้าใจความหมายของ “ประชานิยม” เสียใหม่ให้ชัดเจนรัดกุมครอบคลุมแม่นยำขึ้นในทางแนวคิดทฤษฎีรัฐศาสตร์แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าระหว่าง “ประชานิยม” กับ “ประชาธิปไตย” นั้น มีทั้งด้านที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน แต่ก็มีด้านที่แตกต่างตึงเครียดกระทั่งขัดแย้งกันด้วย

จนไม่เพียงเป็นไปได้ที่จะวิพากษ์วิจารณ์การเมืองแบบ “ประชานิยม” โดยไม่ต้องปัดปฏิเสธ “ประชาธิปไตย” แต่อย่างใดเท่านั้น หากเพื่อธำรงรักษาลักษณะพหุนิยม (pluralism) ของระบอบ “เสรีประชาธิปไตย” เอาไว้ ก็จำต้องวิพากษ์วิจารณ์การเมืองแบบ “ประชานิยม” ด้วย