E-DUANG : แรงกระแทก จาก ไวรัส กระทบ ความคิด สังคม

การมาของ”ไวรัส”เป็นการมาในลักษณะกระแทกและส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง กว้างขวาง

ไม่ว่าจะในทาง”กายภาพ” ไม่ว่าจะในทาง “ความคิด”

รูปธรรมเฉพาะหน้าไม่ว่าจะมองจากจีน ไม่ว่าจะมองจากอิตาลี ไม่ว่าจะมองจากไทย ก็สัมผัสได้ในความโกลาหล ตระหนก ตกประหม่า

ไม่เพียงแต่ “เมือง”จะถูกปิด ห้ามคนเข้าออก หากกระทั่ง”ประเทศ”ก็ถูกปิด

สร้างความเดือดร้อนทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม

ก่อให้เกิดคำถามตามมาอย่างมากมายแวดล้อมกับความรู้สึกร่วมที่ว่า โลกจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เกิดความสงสัยว่าโลกจะเป็นอย่างไรหลังการจากไปของไวรัส

ตรงนี้แหละที่บทบาทของ”ความคิด”มีความสำคัญ

 

โดยพื้นฐานของทุกฝ่ายเมื่อประสบเข้ากับแรงกระแทกอันมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสก็คือ ความคิดเก่า วิธีการเก่าจะยังคงสา มารถใช้ได้อยู่หรือไม่

ไวรัสได้ท้าทายต่อบทบาทและความหมายของ”ความมั่นคง” อย่างลึกซึ้งถึงแก่น

เนื่องจากแก่นแกนของปัญหาคือ ความมั่นคง”ใหม่”

มิได้เป็นความมั่นคงในยุคแห่ง”สงครามเย็น”อันเน้นการทหาร เน้นปฏิบัติการจิตวิทยา ตรงกันข้าม กลับเป็นเรื่องของ สุขภาพ

เทคโนโลยีที่เข้ามาสัมพันธ์จึงมิได้เป็นเทคโนโลยีด้านทหาร หากแต่เป็นเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพและมีความยั่งยืน เป็นเรื่องของการช่วยเหลือเยียวยา มิใช่เข่นฆ่าทำลาย

คำถามจึงอยู่ที่ว่าไม่ว่ารัฐบาล ไม่ว่ารัฐสภา ไม่ว่านักวิชาการในมหาวิทยาลัยคิดอย่างไร

 

จากคำถามเหล่านี้เองทำให้มีข้อเรียกร้องอย่างใหม่ปรากฏขึ้น ไม่ว่าในเรื่องการบริหารจัดการ ไม่ว่าในเรื่องการรวมศูนย์อำนาจหรือกระจายอำนาจ

มองผ่านไปยังกระบวนการต่อสู้กับไวรัส มองผ่านไปยังกระบวนการต่อสู้กับไฟป่าอันเกี่ยวกับ พีเอ็ม 2.5

ท่วงทำนองในแบบ”คุณพ่อรู้ดี”ยังใช้ได้หรือไม่

แนวโน้มและความเป็นไปได้ก็คือ การตั้งคำถามในเชิงเปรียบ เทียบจะเกิดขึ้นและตามมาอย่างกว้างขวาง ทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม

กระบวนการ”ปักธง”ในทาง”ความคิด”จะทรงความหมาย