การ์ตูนที่รัก / นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ / เจ้าชายน้อย

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

เจ้าชายน้อย

 

ฉลองวันเกิดอายุ 77 ปีของเจ้าชายน้อย มาอ่านการ์ตูนเจ้าชายน้อยกัน

จากวรรณกรรมอมตะระดับโลกเรื่อง The Little Prince หรือ Le Petit Prince ของนักเขียนนักบิน Antoine de Saint-Exup?ry ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1943

ฉบับการ์ตูนเป็นผลงานของโจอันน์ สฟาร์ ลงสีโดยบริจิตต์ แฟงดัคลี แปลไทยโดยอธิชา มัญชุนากร กาบูล็อง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 สำนักพิมพ์กำมะหยี่ มิถุนายน พ.ศ.2552 สี่สีทั้งเล่ม

สามหน้าแรกก็ขำแล้ว นักบินคนหนึ่งกำลังขับเครื่องบิน เขาสูบบุหรี่ ข้างๆ เขามีงูเหลืองใหญ่ตัวหนึ่ง

เหลือง มิใช่เหลือม

 

เขาคุยกับงูเหลืองใหญ่นั้นว่าเขาชอบวาดภาพ แล้ววาดงูให้ดู งูถามว่าวาดหมวกทำไม เขาตอบว่าไม่ใช่ นี่ภาพ “ช้างอยู่ในตัวงูเหลือม” และ “เป็นรูปงูเหลือมกำลังย่อยช้างต่างหาก” แต่งูเห็นเหมือนเดิมพลางพูดว่า “ท่านน่าจะสนใจเรื่องที่จริงจังกว่านี้นะ”

“แล้วเรื่องจริงจังที่ว่าน่ะ มันคืออะไรกันล่ะ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การคำนวณ ไวยากรณ์น่ะรึ” นักบินพูด

“เรื่องที่จริงจังคือการซ่อมเครื่องบิน เพราะไม่อย่างนั้นท่านไม่รอดแน่” เจ้างูว่า “เราไม่ควรสูบบุหรี่ในหนังสือสำหรับเยาวชนนี่” ที่แท้เจ้างูเหลืองเป็นควันบุหรี่ตั้งแต่แรก

เครื่องบินขัดข้องร่อนลงจอดกลางทะเลทรายแสนอ้างว้าง

คืนนั้นเจ้าชายน้อยมาหาเขา และรบเร้าขอให้วาดแกะให้หน่อย เมื่อทนการรบเร้าไม่ได้เขาจึงวาดรูปที่ใครๆ ก็เห็นเป็นหมวกให้อีก

“ไม่เอา ไม่เอา ผมไม่อยากได้ช้างในท้องงูเหลือม” เจ้าชายน้อยว่า

เจ้าชายน้อยอยากได้แกะ เมื่อนักบินวาดแกะให้หลายตัวตัวไหนเขาก็ไม่เอา เขาจึงวาดรูปลังใบหนึ่งเจาะรูโดยรอบให้แก่เจ้าชายน้อย

“แกะอยู่ในลัง” นักบินว่า

“แบบนี้ละที่อยากได้” เจ้าชายน้อยรับมาแล้วมองเข้าไปในรู “ดูสิ! มันนอนหลับละ”

นักบินถามต่อไปว่าเจ้าชายน้อยมาจากดาวดวงไหน เขาตอบว่าดาวที่เขาจากมาเล็กนิดเดียว นักบินจึงชวนเจ้าชายน้อยกางแผนที่ดาวหาบ้านของเจ้าชายน้อยกัน

“คุณมีเวลาเหรอ ไม่ต้องซ่อมเครื่องบินของคุณแล้วรึไง” เจ้าชายน้อยถาม

 

การดัดแปลงเป็นการ์ตูนช่วงแรกนี้ทำได้ดีทีเดียว ผู้ใหญ่เป็นพวกมีธุระยุ่งวุ่นวายมากทั้งวัน สนใจแต่เรื่องอะไรที่จริงจัง ไม่มีเวลามาใส่ใจเรื่องอื่นๆ ที่ดูเหมือนเล็กน้อย เช่น บ้านของเจ้าชายน้อยอยู่ที่ไหน

นักบินระบุดาวของเจ้าชายน้อยสำเร็จ แล้วเล่าว่าคนตุรกีเป็นคนพบดาวดวงนี้ แต่ตอนนั้นไม่มีใครเชื่อเขาเพราะเขาแต่งตัวพื้นเมือง วันหนึ่งเขาใส่กางเกงคนก็เชื่อเขา และตั้งชื่อดาวเป็นหมายเลขกำกับเอาไว้

“ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีหมายเลขด้วย” เจ้าชายน้อยว่า

นักบินจึงพูดว่า ต่อไปฉันจะถามเธอว่าดาวของเธอราคาเท่าไร จากนั้นยกตัวอย่างใครเห็นบ้านราคาแสนฟรังก์ก็จะว่าสวยจังเลย แต่สำหรับบ้านก่ออิฐที่มีดอกไม้ริมหน้าต่างและมีนกพิราบบนหลังคาจะเป็นบ้านธรรมดา เจ้าชายน้อยถามว่าทำไมล่ะ นักบินตอบว่าก็เพราะเป็นผู้ใหญ่น่ะสิ

คืนนั้นเจ้าชายน้อยนอนอยู่กับนักบินบนพื้นทราย เขาฝันเห็นต้นเบาบับสี่ต้นที่รากแผ่ขยายปกคลุมดาวทั้งดวงซึ่งมีขนาดเล็กนิดเดียว เขาจึงอยากได้แกะ เพราะแกะจะได้ไปช่วยกินพุ่มไม้ตั้งแต่ต้นเบาบับยังไม่โต

นักบินจึงวาดรูปต้นเบาบับสามต้นคลุมดาวเล็กๆ ดวงหนึ่งให้แก่เจ้าชายน้อย

 

ดาวของเจ้าชายน้อยเล็กมาก มีอาทิตย์ตกวันละ 44 ครั้ง อาทิตย์ตกทำให้เศร้า เจ้าชายน้อยคงจะเศร้ามาก

เจ้าชายน้อยชวนนักบินคุยเรื่องดอกไม้ที่มีหนาม แต่แกะยังคงกินดอกไม้ได้อยู่ดีแล้วทำไมดอกไม้จะต้องมีหนามถ้ามันใช้ป้องกันตัวเองมิได้ นักบินไม่สนใจฟัง เอาแต่สนใจเรื่องจริงจังนั่นคือซ่อมเครื่องบิน เจ้าชายน้อยจึงเล่าเรื่องดอกไม้ดอกหนึ่งที่ดาวของเขา

“มีแค่ดอกเดียวในหมู่ดาวนับล้านๆ ดวง” ตามด้วย “ลองคิดดูสิ ถ้ามีแกะเผลอไปกินมันเข้า คุณว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจริงจังเหรอ”

ต่อมาเจ้าชายน้อยเล่าเรื่องแม่ดอกไม้แสนสวยที่แสนเย่อหยิ่ง วันหนึ่งเจ้าชายน้อยทำความสะอาดปล่องภูเขาไฟ ถอนพุ่มไม้ และหาครอบแก้วมาครอบแม่ดอกไม้แสนสวยเพื่อกันลมให้เธอ จากนั้นเจ้าชายน้อยก็ลอยละล่องตามฝูงนกไปจากดาวด้วยความเศร้าเสียใจ

ดาวดวงที่ 1 เขาพบพระราชา ดาวดวงที่ 2 เขาพบชายผู้หลงตัวเอง ดาวดวงที่ 3 เขาพบชายดื่มเหล้า ดาวดวงที่ 4 เขาพบนักธุรกิจ ดาวดวงที่ 5 เขาพบคนจุดโคม ดาวดวงที่ 6 เขาพบชายชราเขียนหนังสือ ดาวดวงที่ 7 คือโลก

 

ต้องยอมรับว่าการ์ตูนอ่านง่ายกว่าหนังสือต้นฉบับมาก พวกผู้ใหญ่อาจจะไม่ชอบก็ได้เพราะเขาเขียนเรื่องชวนงงในหนังสือออกมาเป็นรูปธรรมชัดๆ เข้าใจง่าย เด็กๆ อาจจะชอบอ่านก็ได้ เพราะเนื้อหาของดาวแต่ละดวงชัดเจนดีว่าสื่อเรื่องอะไร

แต่หนังสือเจ้าชายน้อยของอองตวน เดอ แซงเต็ก-ซูเปรีเป็นอมตะเพราะความไม่ชัดของเนื้อหาช่วงหลังนี่นา ถ้าเช่นนั้นการ์ตูนจะทำให้ชัดไปทำไม

คำตอบคือ ก็ให้พวกผู้ใหญ่อ่านอย่างไรเล่า