นิธิ เอียวศรีวงศ์ | วิกฤตของศีลธรรมเมือง

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผู้รู้หลายคนบอกมานานแล้วว่า พุทธศาสนาไทยนั้นเป็นศาสนาของราชสำนักและหมู่บ้าน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทั้งคำสอนและแบบแผนการปฏิบัติเน้นเฉพาะส่วนที่เข้ากับวิถีชีวิตของคนในสองวัฒนธรรมนั้น

อันที่จริงนักวิชาการได้ชี้ให้เห็นอย่างน่าเชื่อถือมานานแล้วเหมือนกันว่า พุทธศาสนาเกิดขึ้นในมัธยมประเทศช่วงที่กำลังมีความเปลี่ยนแปลงใหญ่สองอย่างเกิดขึ้น ทางด้านการเมือง รัฐเล็กๆ ในรูปสาธารณรัฐของผู้ดีกำลังหายไป เกิดรัฐขนาดใหญ่ภายใต้พระราชาที่สืบทอดอำนาจผ่านราชวงศ์ใหญ่ และกลืนเอาสาธารณรัฐผู้ดีไปไว้ในอำนาจ ทางด้านเศรษฐกิจ สังคมก็คือ เกิดการค้าขายทางไกลแลกเปลี่ยนสินค้ากันในวงกว้าง จนทำให้เกิดเมืองขนาดใหญ่ขึ้นหลายแห่ง ทั้งเมืองที่เป็นศูนย์อำนาจทางการเมืองของพระราชา และเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางการค้า

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงถือกำเนิดในสาธารณรัฐผู้ดี กลับต้องทรงเผยแผ่คำสอนในอินเดียส่วนที่กำลังกลายเป็นราชอาณาจักรหรือจักรวรรดิ และชุมชนที่กลายเป็นเมือง แต่พุทธธรรมกลับสอดคล้องกับผู้คนซึ่งอยู่ในความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างดี จนทำให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายอย่างกว้างขวางในมัธยมประเทศ

แม้กระนั้น พระพุทธองค์ก็ยังจำลองประเพณีการปกครองแบบสาธารณรัฐมาใช้ในองค์กรคณะสงฆ์ของพระองค์อย่างเต็มที่ ทั้งไม่ก่อให้เกิดความรังเกียจในสังคมที่กลายเป็นราชอาณาจักรแล้วด้วย เพราะคณะสงฆ์ไม่ขัดขวางพระราชอำนาจในทางโลกย์ของพระราชาแต่อย่างใด

ศีลและวินัยของพุทธศาสนาในมัธยมประเทศช่วงนั้นก็น่าจะถูกตีความให้รองรับสังคมเมืองและพระราชอำนาจที่เพิ่มพูนขึ้นด้วย

เมื่อขยายเข้ามาถึงเมืองไทย พระพุทธศาสนาต้องเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจสังคมอีกอย่างหนึ่ง มีแต่ราชสำนักที่หรูหราฟุ่มเฟือยกับหมู่บ้านเกษตรเลี้ยงตนเอง ที่ค่อนข้างเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐ พุทธศาสนาจึงถูกปรับเปลี่ยนให้ประสานสอดคล้องกับวัฒนธรรมทั้งสองแหล่ง

ในหมู่บ้าน พุทธศาสนาเข้าไปเสริมศาสนาผีให้ครบบริบูรณ์ขึ้น คือมีมิติด้านศีลธรรมส่วนบุคคล ในขณะที่อภิปรัชญาพุทธก็ช่วยให้เหตุผลแก่อิทธิปาฏิหาริย์ในศาสนาผีได้อย่างเป็นระบบขึ้น ส่วนในราชสำนัก พุทธศาสนาถูกกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาผีบรรพบุรุษและพราหมณ์ ซึ่งเป็นความเชื่อพื้นฐานในราชสำนักมาก่อน ในขณะเดียวกันราชสำนักเลือกจะสนับสนุนนักบวชสายปริยัติ (scripturalism – คัมภีร์นิยม) ซึ่งเอาไว้ในความควบคุมได้ง่ายกว่า

การปฏิรูปพุทธศาสนาที่เริ่มมาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็อยู่ในสายของ “คัมภีร์นิยม” และขยายไปเป็นพุทธศาสนาสำนวน “ทางการ” ไปด้วยอำนาจของเทคโนโลยีและการจัดองค์กรสมัยใหม่

พุทธศาสนาไทยจึงไม่ได้พัฒนาไปในแนวทางที่จะตอบสนองศีลธรรมของชุมชนเมือง ซึ่งเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็วในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทั้งเป็นการเกิดและขยายตัวที่อยู่นอกการควบคุมของทั้งราชสำนักและหมู่บ้าน กลายเป็นชุมชนชนิดใหม่ที่ไม่เคยมีในเมืองไทยมาก่อน

บัดนี้เมืองกลายเป็นที่อยู่อาศัยและใช้ชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ไปแล้ว และผมควรเตือนไว้ด้วยว่า “เมือง” ของโลกสมัยใหม่เป็นชุมชนชนิดใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน นอกจากมีประชากรจำนวนมาก, กินพื้นที่กว้างขวางจนยากจะมีความสัมพันธ์กันเป็นส่วนตัวได้ทั่ว, ยังมีลักษณะร้อยพ่อพันแม่ คือประชากรไม่สัมพันธ์กันในเชิงเครือญาติ, ระบบสถานะทางสังคมซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วกัน, ไม่อยู่ในองค์กรที่เป็นรูปธรรมเดียวกัน (เช่น ไปวัดคนละวัด, โรงเรียนคนละโรงเรียน, ทำงานคนละบริษัทและอาชีพ ฯลฯ)

และด้วยเหตุดังนั้น เมืองจึงต้องการ “ศีลธรรม” อีกชนิดหนึ่ง แตกต่างจากศีลธรรมของหมู่บ้านหรือราชสำนัก คือสามารถเห็นแก่ประโยชน์สุขของคนที่ไม่ใช่ญาติ, ไม่เกี่ยวดองกัน, และไม่ใช่ข้าภายในอุปถัมภ์, หรือที่จริงไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันด้วยซ้ำ มีสำนึกถึงคนอื่นซึ่งไม่มีหน้าตาให้เห็นได้ หรือพูดภาษาสมัยใหม่คือมีสำนึกทางสังคมนั่นเอง

(และในประวัติศาสตร์ไทย หมู่บ้านกระโดดมาเป็นเมืองในโลกสมัยใหม่รวดเดียว ไม่เคยผ่านความเป็น “เมืองก่อนสมัยใหม่” (pre-modern city) มาก่อน อย่างที่เกิดในยุโรป, จีน และอินเดีย จึงขาดประสบการณ์ที่จะพัฒนา “ศีลธรรม” ของเมืองขึ้นมา ทั้ง “ศีลธรรม” ทางโลกุตระและโลกียะ)

บทบาทของพุทธศาสนาไทย (ทั้งในด้านหลักธรรมคำสอนและองค์กรศาสนา) ต่อชุมชนชนิดใหม่นี้เป็นอย่างไร ดูเหมือนจะเห็นได้ชัดในวิกฤตโรคระบาดโควิดที่เราต้องเผชิญอยู่เวลานี้

สิ่งที่ทำสองอย่างตามมติของมหาเถรสมาคมในช่วงนี้คือ ทุกวัดจะสวดมนต์รัตนสูตรก่อนทำวัตรเย็นทุกวันไปเป็นเวลา 1 เดือน และจะตั้งโรงทานเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยเศรษฐกิจในช่วงนี้

การสวดมนต์นั้นน่าสนใจ เพราะเป็นพิธีกรรมซึ่งได้รับความสำคัญในวัฒนธรรมทางศาสนาของราชสำนักอยู่แล้ว อีกทั้งยังมี “หลักฐาน” ในคัมภีร์บาลีว่าพระพุทธองค์เคยสั่งให้สวดมนต์บทนี้เพื่อขจัดปัดเป่าโรคระบาด จะได้ผลทางความเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ถูกต้องตามคัมภีร์แน่นอน แม้ในทางประวัติศาสตร์ก็เคยมีพิธีกรรมอย่างนี้ในราชสำนักต้นรัตนโกสินทร์ และประสบความสำเร็จคือขจัดปัดเป่าโรคภัยได้จริง (ตามหลักฐานที่ราชสำนักเขียน)

พิธีกรรมก็มีความสำคัญในวัฒนธรรมทางศาสนาของหมู่บ้านเหมือนกัน แต่เป็นพิธีกรรมที่ไม่อาจอ้าง “หลักฐาน” จากคัมภีร์ได้ อย่างไรก็ตาม มีพิธีกรรมและความเชื่อเพื่อป้องกันตนจากโควิด-19 ซึ่งแพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไปอยู่เหมือนกัน คือการไปให้หลวงพ่อรดน้ำมนต์, การทำพิธีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สืบมาแต่โบราณหรือเป็นสิ่งใหม่ เช่นพระโพธิสัตว์แบบจีน, การใช้สมุนไพร “ผีบอก” ฯลฯ พิธีกรรมที่ทำในสองชุมชนดูจะต่างกัน แต่โดยแก่นแท้แล้วก็เรื่องเดียวกัน คือพิธีกรรมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งให้กำลังใจในการต่อสู้กับโรคร้าย

ดังนั้น การสวดมนต์รัตนสูตร ซึ่งดูไม่เป็นวิทยาศาสตร์เลย กลับสอดคล้องกับวัฒนธรรมพุทธศาสนาไทย ทั้งที่เชื่อและปฏิบัติในราชสำนักและหมู่บ้าน เพียงแต่ปฏิบัติกันไปคนละอย่างเท่านั้น

ส่วน “โรงทาน” นั้นจะยังใช้ได้หรือไม่ในชุมชนเมืองของปัจจุบัน เป็นประเด็นที่น่าคิดอยู่เหมือนกัน โรงทานในวัฒนธรรมราชสำนัก แยกไม่ออกจากความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ เป็นความช่วยเหลือแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากก็จริง แต่เป็นทรัพยากรที่ไหลทางเดียวคือจากผู้มีบารมีสูง ลงสู่ผู้ไม่มีบารมี การรับของจากโรงทานคือการประกาศความด้อยกว่าของผู้รับไปพร้อมกัน ด้วยเหตุดังนั้นประเพณีโรงทานจึงไม่เคยปรากฏในหมู่บ้าน เพราะหมู่บ้านไม่อยู่ในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์อย่างเคร่งครัดเท่าราชสำนัก

นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่มีการแบ่งปันทรัพยากรกันในหมู่บ้าน เพียงแต่กลไกการแบ่งปันไม่ใช่โรงทานเท่านั้น ชาวบ้านแบ่งปันทรัพยากรกันผ่านวัด เพราะวัดเป็นผู้รวบรวม (accumulation) ทรัพยากรของหมู่บ้านไว้มากสุด วัดจึงมีหน้าที่แจกจ่าย (distribution) ทรัพยากรให้แก่ผู้ขาดแคลนในหมู่บ้านด้วย

ปัญหาของวัดในสังคมที่กลายเป็นเมืองแล้วของปัจจุบันก็คือ วัดไม่ได้เป็นผู้รวบรวมทรัพยากรของชุมชนเสียแล้ว หลวงปู่, หลวงพ่อ, หลวงลุง ฯลฯ ยังอาจรวบรวมทรัพยากรได้มาก แต่ทรัพยากรเหล่านั้นกลายเป็นสมบัติส่วนตัวของท่าน ไม่ใช่ของวัด ซึ่งแค่เสียค่าน้ำค่าไฟในหลายวัดก็ยังแทบจะไปไม่รอดแล้ว จะให้เป็นผู้แจกจ่ายทรัพยากรกลับคืนไปแก่ชุมชนได้อย่างไร (ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงว่า “ชุมชน” ของวัดจำนวนมากสมัยปัจจุบัน ไม่ใช่คนในละแวกอีกแล้ว แต่คือผู้ศรัทธาต่อหลวงปู่, หลวงพ่อ, หลวงลุง ฯลฯ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ)

วัดเองจึงไม่รู้ด้วยซ้ำว่า หากจะกระจายทรัพยากรกลับคืน ควรให้แก่ใครในชุมชนก่อน

เท่าที่ปรากฏเป็นข่าว “โรงทาน” ของวัดจึงประกอบด้วยข้าวของประเภทอาหารและของใช้วางอยู่บนโต๊ะ รอให้ผู้ต้องการเข้ามาหยิบไปตามต้องการ และนานวันเข้าข่าวเหล่านี้ก็หายไป (เข้าใจว่า เพราะพระท่านเองก็เห็นว่าไม่สู้จะเป็นประโยชน์นัก)

ในสมัยก่อน บทบาทเหล่านี้ของวัดมีประโยชน์และมีความหมายต่อผู้คน นอกจากทำให้ทรัพยากรได้กระจายออกไปยังผู้คนได้กว้างขวางขึ้นแล้ว ยังตอกย้ำแก่นแท้ของ “ศีลธรรม” คือความไยดีต่อคนอื่น การสวดมนต์และโรงทานของราชสำนักคือการทำให้ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์มีมิติทางศีลธรรม หรือความไยดีต่อคนอื่นด้วย นอกจากการใช้อำนาจเพียงอย่างเดียว การที่วัดแจกจ่ายทรัพยากรให้ถึงมือคนทุกข์ยาก คือ “ทาน” ที่วัดทำแก่คนอื่น แม้ไม่ใช่ผู้ที่มีความสำคัญต่อวัด นอกจากการเฝ้าเรียกร้องให้ผู้อื่นทำ “ทาน” แก่วัดถ่ายเดียว

แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนเป็นสังคมเมืองไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว บทบาทเหล่านี้กลับดูเป็นเรื่องตลกที่ไร้ความหมายไปหมด

ไม่ใช่ไร้ความหมายเพราะไม่ตรงกับคำสอนของวิทยาศาสตร์ แต่ไร้ความหมายที่ไม่ช่วยตอกย้ำศีลธรรมของเมืองซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากศีลธรรมของราชสำนักและหมู่บ้าน

เมืองต้องการศีลธรรมที่ปลูกฝังสำนึกถึงผู้อื่นอันไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับเราเลย เมืองไม่ใช่ที่ซึ่งเราต้องป้องกันตนเองเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องป้องกันคนอื่นด้วย มาตรการป้องกันโควิด-19 จะได้ผลก็ต่อเมื่อ เราสามารถช่วยกันปกป้อง “คนอื่น” ซึ่งเราไม่รู้จักหน้าค่าตาให้ปลอดภัยเหมือนตัวเราเองและคนในครอบครัวของเราด้วย เข้าห้างต้องล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ ไม่ใช่เพื่อป้องกันตนเองเท่านั้น แต่เพื่อมิให้เรานำเอาเชื้อโรคจากที่อื่นไปทิ้งไว้บนสินค้าซึ่งคนอื่นอาจมาหยิบจับและติดโรคไปโดยไม่ทันระวัง เราต้องสวมหน้ากากป้องกันสารคัดหลั่งของคนอื่นและของตัวเราเองมิให้แพร่ไปยังคนอื่น เพราะไม่มีใครรู้ว่าตัวมีไวรัสอยู่หรือไม่ ดังนั้น ถึงวันหนึ่งเมื่อมีวัคซีนแล้ว เราก็ยังต้องระวังว่าตนเองอาจเป็นผู้แพร่เชื้อแก่คนอื่นได้อยู่ดี (เช่น นำไวรัสของคนติดเชื้อไปแพร่แก่คนอื่น)

เมืองต้องการศีลธรรมเมือง หรือศีลธรรมโลกยวิสัย เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เช่นมองเห็นคนอื่นเท่าเทียมกันกับเรา โดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ เพราะความสุขทุกข์ของเขากระทบถึงทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พุทธศาสนาไทยได้พัฒนาความหมายของศีลธรรมไปในทางที่เอื้อต่อสังคมเมืองน้อยมาก จนทำให้สูญเสียบทบาทที่เคยมีในสังคมไปอย่างรวดเร็ว และเห็นได้ชัดในวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ เพราะฉะนั้น การไม่ปรับเปลี่ยนนี้จึงเป็นวิกฤตอีกอย่างหนึ่งที่ซ้อนทับลงไปด้วย