จิตรกรโพสต์โมเดิร์น กับภาพวาดอันน่าพิศวงในโลกภาพยนตร์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
Self-portrait in the Morning (1973) ภาพจากhttps://bit.ly/2xmlmB

ในหนังของเปโดร อัลโมโดวาร์ (Pedro Almodóvar) สุดยอดผู้กำกับฯ ฉายา “เจ้าป้าแห่งวงการหนังสเปน” นอกจากจะถึงพร้อมไปด้วยศิลปะภาพยนตร์อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ด้วยความที่เขาเป็นคนที่ลุ่มหลงในงานศิลปะ เราจึงมักจะเห็นงานศิลปะชั้นดีปรากฏอยู่ในหนังของเขาอยู่เสมอ

ในหนังเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Pain and Glory (2019) ก็เป็นเช่นเดียวกัน มีงานศิลปะชิ้นเยี่ยมมากมายหลายชิ้นปรากฏให้เห็นในหนังเรื่องนี้ ในจำนวนนั้นเป็นผลงานของศิลปินผู้โดดเด่นคนหนึ่ง

ในคราวนี้เราจะเล่าเรื่องราวของเขาให้อ่านกัน ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

กิเยร์โม เปเรซ บิยัลตา (Guillermo Pérez Villalta)

จิตรกร ประติมากร ศิลปินภาพพิมพ์ และสถาปนิกชาวสเปน

เขาเป็นศิลปินร่วมสมัย และจิตรกรโพสต์โมเดิร์นผู้ทรงอิทธิพลและมีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของสเปน

เกิดในปี 1948 ณ เขตเทศบาลเมืองตาริฟา จังหวัดกาดิซ แคว้นปกครองตนเองอันดาลูซิอา ประเทศสเปน เดิมทีเขาเริ่มต้นเข้าเรียนทางด้านสถาปัตยกรรมในปี 1948 และประกอบอาชีพสถาปนิกอยู่ระยะหนึ่ง ในช่วงนั้นเขาออกแบบอาคารและพื้นที่สาธารณะหลายแห่ง ก่อนที่จะละทิ้งวิชาชีพนี้มาทำงานจิตรกรรมในที่สุด

แต่ถึงกระนั้น งานสถาปัตยกรรมก็ยังส่งอิทธิพลต่อรูปแบบการทำงานของเขามาโดยตลอดอยู่ดี

ในปี 1968 เขาย้ายไปอยู่ในกรุงมาดริด ในช่วงที่เกิดการระเบิดขึ้นของกระแสเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมอันเปี่ยมล้นด้วยเสรีภาพที่เรียกว่า La Movida Madrileña หรือ The Madrid Scene ที่เกิดขึ้นในกรุงมาดริด ช่วงเวลาที่ประเทศสเปนเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการมาเป็นประชาธิปไตย ภายหลังจากการตายของผู้นำเผด็จการ ฟรานซิสโก ฟรังโก ในปี 1975

บิยัลตาโอบรับกระแสเคลื่อนไหวนี้อย่างเต็มที่ ด้วยการทำงานจิตรกรรมสีสันสดใสฉูดฉาดที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะแมนเนอริสต์และบาโร้ก* จากการเดินทางเยี่ยมเยือนอิตาลีบ่อยครั้ง

จนทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะหลายคนยกเขาให้เป็นหนึ่งในศิลปินกลุ่มแมนเนอริสต์ยุคใหม่ (Neo-mannerist) และผสมผสานเข้ากับการใช้ตัวละครร่างกายบิดเบี้ยวแปลกประหลาดที่เคลื่อนไหวอยู่ในฉากของพื้นที่สถาปัตยกรรมภายนอกและภายในที่ตกแต่งประดับประดาอย่างฉูดฉาด วิจิตรพิสดาร ราวกับเป็นเวทีละครอันน่าพิศวง

ในช่วงกลางยุค 80s เขาพัฒนารูปแบบการทำงานมาใช้สีสันที่อบอุ่นและหม่นมัวกว่าเดิม โดยได้กลิ่นอายจากเทคนิคของจิตรกรชั้นครูในศตวรรษที่ 17 อย่างทิเชียน (Titian), ในยุค 90s เขาเปลี่ยนมาทำงานในแบบเหมือนจริงมากขึ้น

และเริ่มทดลองใช้สุนทรียะของรูปทรงเรขาคณิตสร้างองค์ประกอบภายในผลงานจิตรกรรมอันเปี่ยมเอกลักษณ์ขึ้นมา

ถึงแม้จะเผชิญกับความเชี่ยวกรากจากกระแสศิลปะนามธรรมของศิลปะสมัยใหม่ แต่บิยัลตาก็หาได้แยแสแคร์เวิลด์ไม่

เขาคงยังแน่วแน่ในการสร้างผลงานในแนวทางการทำงานศิลปะแบบ Figurative ที่ยึดหลักในการแสดงรูปลักษณ์ของวัตถุและบุคคลที่พบเห็นในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามที่ตามองเห็น

ดังเช่นในผลงานชิ้นสำคัญของเขาอย่างภาพวาด Group of People in an Atrium or Allegory of Art and Life or of the Present and the Future (1975-1976) ภาพวาดกลุ่มศิลปิน นักวิจารณ์ เพื่อนพ้องและคนในวงการศิลปะในมาดริดที่เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของสเปนที่มีชื่อเรียกว่า “Nueva figuraciÓn madrilereña (Madrid”s new figuration) ผู้หวนกลับมาหาการทำงานศิลปะแบบ Figurative ซึ่งมีบิยัลตารวมอยู่ในนั้นด้วย

Group of People in an Atrium or Allegory of Art and Life or of the Present and the Future (1975-1976) ภาพจากhttps://bit.ly/3bhv4n

หรือผลงาน Figures Leaving a Rock Concert (1979), Samson and Delilah or the Triumph of Venice (1981), Natural History (1987) และ Sanctuary (1996)

Figures Leaving a Rock Concert (1979) ภาพจากhttps://bit.ly/2Udbwv

เป็นต้น

แต่ด้วยความสนใจในตำนานเทพนิยายกรีกและเรื่องราวทางศาสนาอย่างแรงกล้า ทำให้ผลงานของบิยัลตามีความแตกต่างจากจิตรกรกระแสหลักในสเปนยุคนั้น

เขามุ่งมั่นศึกษางานศิลปะแบบประเพณี หลงใหลความงามแบบอุดมคติในอดีต และไม่เคยปิดบังความลุ่มหลงในการใช้รายละเอียดอันท่วมท้นและการตกแต่งประดับประดาอย่างเลิศหรูในภาพวาด

ซึ่งตรงกันข้ามกับความนิ่งน้อยของศิลปะมินิมอลลิสต์ที่แพร่หลายในยุคนั้นอย่างสุดขั้ว ด้วยเทคนิคการวาดภาพอันประณีตละเอียดลออ ตามแบบประเพณีของศิลปินชั้นครูยุคโบราณ

แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากศิลปินหัวก้าวหน้าในกลุ่มเซอร์เรียลลิสต์อย่างจอร์โจ ดี คีรีโก (Giorgio de Chirico), ซัลบาดอร์ ดาลี และแน่นอน ศิลปิน “พ่อทุกสถาบัน” อย่างมาร์แซล ดูชองป์ ด้วย

ดังที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในผลงานในช่วงยุค 90s-2000s ของเขาที่ผสมผสานเรื่องราวในตำนานเทพนิยายกรีกเข้ากับรูปแบบเหนือจริงของศิลปะเซอร์เรียลลิสต์ โดยถ่ายทอดผ่านตัวละครประหลาดที่มีศีรษะและใบหน้ากลมเกลี้ยงไร้องคาพยพ

ซึ่งเป็นลักษณะของการตีความและถอดรื้อตัวละครและเรื่องราวในตำนานเทพนิยายคลาสสิคเสียใหม่ อันเป็นลักษณะของการทำงานศิลปะในยุคหลังสมัยใหม่ หรือโพสต์โมเดิร์นนั่นเอง

อาทิ ภาพวาด Dionisios encuentra a Ariadna en Naxos (Dionysus found Ariadne on Naxos) (2008) ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานเทพนิยายกรีกในตอนที่ไดโอนิซุส เทพแห่งสุราเมรัยบังเอิญพานพบกับอารีแอดเน บุตรีของกษัตริย์แห่งครีตผู้มีหน้าที่อยู่โยงเฝ้าเขาวงกตที่กักขังอสูรร้าย มิโนทอร์ ผู้มีร่างกายเป็นคนแต่หัวเป็นวัว บนเกาะแน็กซอส

Dionysus found Ariadne on Naxos (2008) ภาพจากhttps://bit.ly/3aepm6

หรือภาพวาด Artista viendo un libro de arte (Artist viewing an art book) (2008) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวในชีวิตประจำวันของศิลปินผ่านตัวละครไร้ใบหน้าที่ผสมผสานความแปลกประหลาดเข้ากับความธรรมดาสามัญได้อย่างโดดเด่น

Artist viewing an art book (2008) ภาพจากhttps://bit.ly/2WAW6T

ในขณะที่เสื้อผ้าตัวของละคร และการตกแต่งภายในฉากอันวิจิตรเปี่ยมสีสันก็สะท้อนรสนิยมด้านดีไซน์และพื้นเพทางสถาปัตยกรรมของเขาออกมาอย่างชัดเจน

ผลงานทั้งสองชิ้นนี้ของเขาก็ไปปรากฏอย่างโดดเด่นชัดเจนในหนังสองเรื่องของเปโดร อัลโมโดวาร์ อย่าง The Skin I Live In (2011) และ Pain and Glory (2019)

ในขณะที่ภาพวาดสีสันจัดจ้านองค์ประกอบอันประหลาดล้ำพิสดารของตัวละครคู่รักใบหน้าไร้องคาพยพอย่าง Dionysus found Ariadne on Naxos นั้นโยงใยไปถึงกามารมณ์อันพิสดาร กับการถูกจองจำและสูญเสียตัวตนของตัวละครในหนัง The Skin I Live In ได้อย่างลุ่มลึก

ส่วนภาพวาดศิลปินไร้ใบหน้ากำลังเปิดอ่านหนังสือศิลปะในห้องหับที่ตกแต่งอย่างเก๋ไก๋เปี่ยมสไตล์อย่าง Artist viewing an art book (2008) ก็สะท้อนรสนิยมในการใช้ชีวิตและการหวนกลับไปค้นหาตัวตนในอดีตของตนเองของตัวละครเอกในหนัง Pain and Glory ได้อย่างแยบคาย

นอกจากงานจิตรกรรม บิยัลตายังทำงานภาพพิมพ์ ประติมากรรมเซรามิกและบรอนซ์ รวมถึงทำงานออกแบบฉากละคร เฟอร์นิเจอร์ และงานออกแบบเครื่องประดับและสิ่งทออีกด้วย

ในปี 1985 เขาได้รับรางวัล The National Plastic Arts และได้รับรางวัลประกาศนียบัตรเกียรตินิยมเหรียญทองในสาขาวิจิตรศิลป์ ในปี 2006 บิยัลตามีผลงานสะสมและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลกหลายแห่ง เช่น Museo Reina Sofia ในกรุงมาดริด, Museum of Fine Arts ในบิลเบา, Juan March Foundation ในปัลมา มาจอร์กา และ Andalusian Center for Contemporary Art (CAAC) ในเมืองเซบียา แคว้นปกครองตนเองอันดาลูซีอา ที่มีผลงานของเขาแสดงอยู่เป็นจำนวนมากจากการให้บริจาคและให้ยืมของศิลปิน, เขายังร่วมแสดงนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยอีกหลายแห่ง ทั้งในยุโรปและอเมริกา

เรียกได้ว่าเป็นศิลปินร่วมสมัยผู้มีผลงานโดดเด่นเป็นเอกอย่างแท้จริง

เข้าไปชมผลงานของเขาได้ที่นี่ https://bit.ly/33GucXC

*อ่านเกี่ยวกับศิลปะแมนเนอร์ริสต์และบาโร้กได้ที่นี่ https://bit.ly/2Qz1AKr

ข้อมูล https://bit.ly/33GYbON, https://bit.ly/33GucXC,