จิตต์สุภา ฉิน : “กักตัวแบบไม่ทะลุทะลวง” ทำได้จริงไหม

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
Closeup wooden door with lock

หลายประเทศในแถบเอเชียเริ่มประกาศให้ผู้เดินทางเข้ามากักตัวเองอยู่ภายในบ้าน

ในตอนที่เริ่มมีประกาศแรกๆ ฉันก็นึกสงสัยว่า แล้วทางการจะทำอย่างไรจึงจะรู้ได้ว่าพวกเขากักตัวเองอยู่ในบ้านจริงๆ และไม่ได้ออกเดินตะลอนๆ ลั้ลลาไป-มาอยู่ตามท้องถนน

ฉันคิดว่าเขาน่าจะใช้มาตรการประมาณว่า ถ้าไม่รู้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ารู้เมื่อไหร่ถูกจับส่งกลับประเทศแน่นอน แต่อันที่จริงแล้วมาตรการของเขาไม่ได้หละหลวม และเขามีตัวช่วยเพื่อจะได้ไม่ต้องปล่อยให้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับจิตสำนึกประจำบุคคลเท่านั้น

ฮ่องกงเพิ่งประกาศใช้กฎเหล็กในการกักตัวผู้เดินทางเข้ามาเป็นเวลา 14 วัน ยกเว้นคนที่เดินทางมาจากมาเก๊าและไต้หวัน เมื่อเข้ามาในประเทศ

สิ่งแรกที่จะได้รับก็คืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบของสายรัดข้อมือ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ยืนคอยและสวมให้บนแขน

จากนั้นก็จะต้องดาวน์โหลดติดตั้งแอพพลิเคชั่นที่ทำงานร่วมกันเอาไว้ในโทรศัพท์มือถือของผู้เดินทาง ก่อนจะปล่อยให้กลับที่พักอาศัยได้

สายรัดข้อมือที่ให้มานี้มีหน้าที่ในการเป็นตัวช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามสถานที่อยู่หรือโลเกชั่นของผู้เดินทางได้ตลอดเวลา ว่าผู้ที่เดินทางเข้ามานั้นปฏิบัติตามกฎกักตัวเองอย่างเคร่งครัดหรือไม่

ภายใน 14 วัน ผู้เดินทางจะต้องทำตัวให้คุ้นเคยกับการมีแทร็กเกอร์สวมไว้บนข้อมือตลอดเวลา

ทันทีที่ก้าวขาออกจากที่พักอาศัย สายรัดข้อมือแทร็กเกอร์นี้ก็จะแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่รู้ ซึ่งก็ต้องมีผลกระทบที่จะตามมาหลังจากนั้นแน่นอน

หากคิดจะถอดออก? ลบแอพพ์ทิ้ง? ผลลัพธ์ก็เหมือนกันคือ มันก็จะแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่อยู่ดี

เพราะฉะนั้น ต่อให้ไม่ได้มีจิตสำนึกในการที่จะปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของทางการ แต่ก็ช่วยไม่ได้ เพราะมีตาวิเศษที่จะคอยสอดส่องอยู่ตลอดเวลา ใครฝ่าฝืนไม่ทำตามนี้ ระบบแจ้งเตือนที่ว่านั้นถูกเชื่อมต่อเข้าโดยตรงกับสถานีตำรวจ ซึ่งก็จะตามมาด้วยค่าปรับที่อาจจะสูงถึงหนึ่งล้านบาท

และจะถูกเปิดเผยและตีพิมพ์ชื่อเสียงเรียงนามให้สาธารณชนรับรู้ด้วย

 

ฮ่องกงแจกจ่ายสายรัดข้อมือนี้ไปแล้วมากกว่า 5,000 เส้น และยังมีล็อตใหม่อีก 55,000 เส้นที่รอผู้เดินทางเข้ามาเพิ่ม

สิงคโปร์ซึ่งมีบังคับใช้มาตรการแบบเดียวกับฮ่องกงคือให้ทุกคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไม่เว้นแม้แต่ประชากรสิงคโปร์เองจะต้องกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วันเหมือนกัน

วิธีการที่สิงคโปร์ใช้เพื่อตรวจสอบว่าคนที่ต้องกักตัวกำลังกักตัวอยู่จริงๆ ก็อย่างเช่น การส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้กักตัววันละหลายๆ ครั้ง เพื่อให้ผู้กักตัวส่งโลเกชั่นแบบตามเวลาจริงกลับมา

ถ้าหากเจ้าหน้าที่โทร.หา ผู้กักตัวจะต้องถ่ายภาพสถานที่ที่ตัวเองอยู่ในตอนนั้นๆ ส่งกลับไปให้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและระบุว่ากำลังกักตัวอยู่จริงๆ

นอกจากนี้ ก็อาจจะมีเจ้าหน้าที่คอยสุ่มมาเยี่ยมเยียนถึงประตูบ้านได้ด้วย

สิงคโปร์แต่งตั้งให้มีทีมปฏิบัติการที่จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบสถานที่อยู่ของผู้กักตัวโดยเฉพาะ และพร้อมๆ กันนี้ก็จะต้องทำหน้าที่ในการคอยไล่เก็บข้อมูลว่าผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อนั้นได้เดินทางไปที่ไหนมาบ้าง

ในยุคนี้ ทุกที่ที่เราไป เรามักจะทิ้งรอยเท้าทางดิจิตอลอย่างใดอย่างหนึ่งเอาไว้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการไปกดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็ม หรือการรูดบัตรเพื่อซื้อของ เป็นต้น

 

ของไทยเองก็ได้เริ่มต้นการให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศทุกคนและคนไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น AoT Airports และจะต้องยินยอมให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ ทั้งข้อมูลการติดต่อและข้อมูลโลเกชั่น ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ว่าภายใน 14 วันได้เดินทางไปที่ไหนมาบ้าง

มาตรการในการใช้เทคโนโลยีที่เรียกได้ว่ากวาดล้างและชวนตั้งคำถามมากที่สุดในการรับมือกับไวรัสครั้งนี้ก็เห็นจะเป็นการใช้ระบบ QR โค้ดแบบสี ที่ประชาชนจะต้องดาวน์โหลดไว้ในโทรศัพท์ สีเขียวหมายถึงสุขภาพแข็งแรงดี สีเหลืองคืออาจจะได้เดินทางไปยังบริเวณที่มีความเสี่ยงในการติดไวรัสในช่วง 14 วันที่ผ่านมา ในขณะที่สีแดงคือจะต้องกักตัวสองสัปดาห์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดูว่าใครจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปยังสถานที่ต่างๆ บ้าง ดังนั้น ประชาชนจะต้องคอยหยิบโค้ดนี้ขึ้นมาแสดงตนตลอด

แม้ว่าการใช้เทคโนโลยีอย่างการติดตามตัวตามเวลาจริงเข้ามาช่วยจำกัดการแพร่กระจายของไวรัสจะดูเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เด็ดขาด แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องแลกมาด้วยความเป็นส่วนตัวของประชาชน ซึ่ง Maya Wang ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับจีนซึ่งทำงานในองค์การด้านสิทธิมนุษยชนบอกว่าแม้ จะเป็นในช่วงวิกฤต แต่มาตรการที่จะใช้เพื่อติดตามใครสักคนได้นั้นก็จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนด 3 ข้อ คือ ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นไปตามสมควร และมีความจำเป็น

เธอยังบอกอีกว่า ตามปกติแล้ว ประเทศที่มีรัฐบาลประชาธิปไตย มีแนวโน้มที่จะใช้วิธีติดตามตัวที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ แต่ประเทศที่มีรูปแบบการปกครองที่แตกต่างออกไปก็มักมีแนวโน้มที่จะใช้วิธีการที่เจาะทะลุทะลวงแบบที่ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบใดๆ ที่จะตามมา และช่วงเวลาชุลมุนนี่แหละ ที่มักจะเป็นโอกาสทองในการล้มล้างหลักการทางประชาธิปไตยที่ดีที่สุด

สิ่งที่กลุ่มคนที่ส่งเสียงประท้วงออกมารู้สึกกลัวมากที่สุดก็คือ นี่จะเป็นแนวทางปฏิบัติทางใหม่ในการควบคุมสังคมที่จะยังถูกใช้ต่อไปแม้ว่าวิกฤตโรคระบาดจะจบลงแล้วก็ตาม

ไม่มีใครไม่อยากให้เหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้จบลง และแน่นอนเราสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยทำให้มันจบลงเร็วขึ้นกว่าเดิมได้ และก็ควรใช้ด้วย แต่ก็จะดีที่สุดไม่ใช่หรือถ้าหากมาตรการใดๆ ก็ตามที่ถูกนำมาใช้อย่างเด็ดขาดนั้นจะมาพร้อมกับความโปร่งใสที่ตรวจสอบได้ให้เราได้มั่นใจว่าเมื่อวิกฤตหนึ่งจบลง…

จะไม่มีวิกฤตที่แม้จะแตกต่างทางรูปแบบ แต่ก็จะยาวนานและยืดเยื้อพอกันรอเราอยู่ข้างหน้า