เสียงเตือนรัฐบาลประยุทธ์ สื่อสารพัง-แถลงขัดแย้งกันเอง ยิ่งนำวิกฤตไปสู่หายนะ! | คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง

คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง เตือนรัฐบาลประยุทธ์ แถลงข่าวขัดแย้งกันเอง นำไปสู่หายนะ!

“การสื่อสารในภาวะวิกฤตมีความสำคัญไม่แพ้มาตรการที่รัฐบาลออกมา หากรัฐบาลสื่อสารได้ดีก็จะเพิ่มความเชื่อมั่น ประชาชนก็จะให้ความร่วมมือมากขึ้น มาตรการที่ออกมาก็จะได้ผล แต่ถ้าสื่อสารล้มเหลวจะกลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตทันที และอาจจะนำไปสู่หายนะได้ในที่สุด”

คำเตือนจาก รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ต่อปัญหาหลักของรัฐบาลประยุทธ์ 2 กำลังประสบคือการสื่อสารท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19 ระบาดลุกลามทั่วประเทศ

รศ.ดร.นันทนาอธิบายว่า สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คือการสื่อสารทางการเมืองในภาวะวิกฤต คือภาวะที่ไม่ปกติ ซึ่งคนโดยทั่วไปจะเสียสมดุลด้านจิตใจ เขาต้องการข้อมูลข่าวสารในปริมาณที่มากกว่าปกติ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาของเขา-คนรอบข้าง และเป็นสัญชาตญาณของการเอาตัวรอดของมนุษย์

เพราะฉะนั้น การสื่อสารในภาวะวิกฤต จึงมีความสำคัญมากๆ เขาต้องการทราบข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อมาประยุกต์กับชีวิตประจำวัน

แต่ถ้าถามว่าเมื่อมองไปที่บทบาทสำคัญ อย่างโฆษกรัฐบาลในการทำงานที่ผ่านมาเรากลับไม่ค่อยได้เห็นความเป็นมืออาชีพของโฆษกรัฐบาลคนนี้เท่าไหร่

เขาอาจจะทำหน้าที่เสมือนเป็นโฆษกส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี ดูพยายามที่จะสื่อสารเอาอกเอาใจนายกรัฐมนตรี

ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของโฆษกรัฐบาลที่ต้องสื่อสารภาพรวมว่ามีการบริหารจัดการประเทศของรัฐบาลอย่างไร

ยิ่งสถานการณ์วิกฤตเท่าไหร่ รศ.ดร.นันทนายิ่งเห็นว่า การสื่อสารยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น แต่รัฐบาลกลับมีปัญหาอย่างมากในทุกระดับทุกมิติ ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกหมดที่พึ่ง หมดความมั่นใจ โดยสามารถแบ่งออกเป็นประเด็นได้ ดังนี้

1. เรื่องของความล่าช้า รัฐบาลรู้และทราบดี ว่ามีการแพร่ขยายการระบาดโควิด-19 มาตั้งแต่เดือนมกราคม แต่กว่าจะมีการตั้งวอร์รูมเสร็จเรียบร้อยก็ปาไปเข้าสู่เดือนมีนาคม ไม่ทราบว่าไปทำอะไรกันอยู่ สิ่งที่ควรจะเริ่มทำตั้งแต่ต้น วอร์รูมที่รวมผู้ที่เชี่ยวชาญทั้งหมดควรจะตั้งขึ้นมาตั้งนานแล้ว รัฐบาลควรจะเป็นเจ้าภาพ แล้วดำเนินการสื่อสารให้ประชาชนได้เข้าใจกับสภาวะที่เกิดขึ้น แต่รัฐบาลกลับไม่ได้ทำอะไรให้ทันสถานการณ์เลย

2. รัฐบาลขาดเอกภาพในการสื่อสาร อย่างที่เราเห็นแต่ละหน่วยงาน โฆษกรัฐบาลพูดอย่างหนึ่ง กทม.ก็ออกมาอีกอย่างหนึ่ง กระทรวงพาณิชย์ก็ออกไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันเป็นหน่วยงานภาครัฐด้วยกันหรือเปล่า แล้ววันดีคืนดีก็มีหน่วยงานภาครัฐด้วยกันไปฟ้องดำเนินคดีกันเอง ซึ่งอันนี้ทำให้ประชาชนยิ่งหมดหวัง เพราะว่าข้อมูลที่ออกมามันขาดเอกภาพ

นึกอยากจะสื่อสารอะไรก็สื่อสารกันไป แต่ละหน่วยงานก็พูดกันเอง ทั้งๆ ที่ในภาวะวิกฤต เอกภาพมีความสำคัญอย่างมาก คุณต้องพูดไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้ประชาชนเชื่อ

อย่างกรณีล่าสุดโฆษกรัฐบาลกับทางผู้ว่าฯ กทม. ตกลงไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไร พูดสวนกันไปมา คนก็มองได้ว่า เฟกนิวส์ทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นมาจากข้างนอกเลย มันมีที่มาจากรัฐบาลล้วนๆ ที่ไม่ได้ตกลงกันอย่างมีเอกภาพ

3. ขาดความชัดเจน รัฐบาลไม่ชัดเจนเรื่องมาตรการในการดำเนินการตั้งแต่ต้น อาทิ ไม่ทราบว่าจะระบุให้ประเทศไหนเป็นประเทศที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่ต้องใช้มาตรการเด็ดขาดในการเข้าประเทศ หรือเรื่องมาตรฐานสากล ที่เราไม่ได้บอกว่าเราอยู่ในระยะที่ 3 ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันเป็นมาตรฐานสากลที่เขาระบุไว้ว่าถ้าระยะที่ 3 คือการติดโดยไม่รู้แหล่งที่มาที่ไป เริ่มติดแบบไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ แต่เราบอกว่าเราไม่ได้อยู่ในระยะที่ 3

4. รัฐบาลไม่ใช้เครื่องมือเทคโนโลยี AI มาสื่อสารกับประชาชน ประเทศต่างๆ เขาเอาเทคโนโลยีมาใช้ได้ผล เช่น ในไต้หวันรัฐมนตรีทางด้านดิจิตอลของเขาใช้แอพพลิเคชั่นในการให้ประชาชนเข้าถึงหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และสามารถที่จะเดินไปซื้อได้

บ้านเราไม่รู้เลยว่ามันมีอยู่ตรงไหนบ้าง แล้วจะไปซื้อได้ที่ไหนในราคาที่ยุติธรรม

กลุ่มผู้มีอำนาจกลับบอกว่าของมีไม่ขาดตลาด-ราคาไม่เกิน

แต่ทำไมประชาชนไม่เคยเจอ

หรือในบางประเทศใช้เทคโนโลยีให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น ระบายความรู้สึก เสนอความต้องการช่วยเหลือ

5. ผู้นำสื่อสารไม่ตรงประเด็นและขาดพลัง อันนี้สำคัญมาก ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่านายกรัฐมนตรีออกสื่อบ่อยมากแล้วก็พูดเยอะมาก แต่ละครั้งก็พูดยาวมาก

ซึ่งจริงๆ แล้วนายกรัฐมนตรีไม่ต้องพูดเยอะ ไม่ต้องพูดยาว แต่ต้องพูดสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์

แต่ที่ผ่านมาเราเห็นเวลานายกฯ ออกสื่อ นายกฯ ออกทีวีรวมการเฉพาะกิจ หลายคนตั้งใจรอฟัง 19:00 น. ว่านายกฯ จะพูดกับเราว่าอย่างไร

แต่พอทุกคนฟังจบแล้ว กลับผิดหวัง บอกว่าเขาไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งที่นายกฯ แถลงเลย

นายกฯ ไม่ได้บอกเลยว่ารัฐบาลจะทำอะไร แต่บอกว่าประชาชนต้องทำอะไร กินร้อนช้อนกลางล้างมือ ซึ่งถ้าไปดูครูโรงเรียนประถมเขาก็สอนนักเรียนอยู่แล้วในเรื่องสุขอนามัยที่จะทำให้ร่างกายไม่ได้ไปติดเชื้อโรค

คือเวลาที่นายกฯ ออกมาพูดจบแล้วประชาชนต้องมีความหวัง อยากรู้ว่ารัฐบาลมีมาตรการหยุดไวรัสนี้อย่างไร

จะช่วยเหลือประชาชนในเชิงเศรษฐกิจ

จะพยุงเศรษฐกิจอย่างไร

อย่าใช้คำว่ากระตุ้นเศรษฐกิจเลยในช่วงนี้ ไม่ต้องมากระตุ้น แค่เอาให้รอด ประชาชนก็พอใจแล้ว

การสื่อสารของผู้นำที่เป็นตัวอย่างที่ดี เช่น นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียน ลุง เขาแถลงสั้นๆ ในสภาวะที่คนสิงคโปร์สับสนวุ่นวาย เริ่มกักตุนข้าวของเพราะไม่แน่ใจว่าตัวเองจะมีชีวิตรอดอยู่อย่างไร พอลี เซียน ลุง ออกมาพูดว่า ความหวาดกลัวจะสร้างความเสียหายยิ่งกว่าเชื้อไวรัส

คำนี้คำเดียวที่ทำให้คนสิงคโปร์หยุดคิดและตระหนักว่า การที่เขาตื่นตระหนกเกินไปมันจะสร้างความเสียหาย เขาไม่ต้องกักตุนสินค้า เขาสามารถที่จะซื้อได้เมื่อต้องการเพราะว่ามีซัพพลายมากพอ

ในขณะเดียวกันก็ยืนยันกับชาวสิงคโปร์ว่าจะให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างโปร่งใสไม่ปกปิด

ซึ่งนี่เป็นประการสำคัญมาก

ความวุ่นวายก็ยุติลงได้ด้วยการสื่อสารของผู้นำ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในการสื่อสารภาวะวิกฤตอย่างยิ่ง และได้รับการชื่นชมจากนานาประเทศ

มองกลับมาที่ผู้นำของเรา นายกฯ พูดไม่ตรงประเด็น และประชาชนผิดหวังที่รอฟัง แถมไม่ได้รู้เลยว่ารัฐบาลจะทำอะไรให้ประชาชน

คืนที่ 2 นายกฯ ก็ดันสวมวิญญาณของโฆษกรัฐบาล ออกมาพูดเหมือนกับเอารายงานการประชุมข้อสรุปการประชุมคณะรัฐมนตรีข้อ 1.1 ,1.2,…, 2.1, 2.3 ซึ่งอันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของนายกฯ ออกมาพูด นายกฯ ควรจะออกมาพูดแบบผู้นำที่ต้องการการร่วมมือร่วมใจของประชาชน สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน หน้าที่แถลงมติเช่นนั้นคืองานของโฆษก

แต่ภายหลังจากนั้นมาเราจะสังเกตเห็นได้ว่านายกฯ พอได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เยอะ กลับใช้วิธีการเงียบลงไม่ค่อยสื่อสาร รศ.ดร.นันทนามองว่า จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเพราะว่าประชาชนอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างถ้วนหน้า การสื่อสารของรัฐบาลมีความสำคัญอย่างมาก

โดยอยากเสนอ 6 ข้อให้ปรับปรุง

1.ต้องสื่อสารให้มีเอกภาพ ในที่นี้หมายถึงว่า หน่วยงานของรัฐ ใครที่มีหน้าที่ในวอร์รูมมีอำนาจในการสื่อสารควรจะออกมาพูดในทิศทางเดียวกัน แล้วตกลงกันมาก่อน คุยกันให้รู้เรื่องก่อนไม่ต้องรีบร้อน พอออกมาแล้วมันผิด ออกมาแล้วขัดแย้งกันเองอย่าออกมาเลยเพราะประชาชนจะยิ่งสับสน

2. ข้อมูลข่าวสารที่รัฐบาลออกมาสื่อสารต้องชัดเจน มีแผนรองรับ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เราไม่เคยได้ยินอะไรแบบนี้เลย รัฐบาลสื่อสารด้วยข้อมูลคิดแบบวันต่อวัน วันนี้คิดอะไรได้ก็แสดงออกมา พรุ่งนี้คิดอะไรออกก็แถลงใหม่ เหมือนไม่มีการกลั่นกรอง วางแผนศึกษาผลกระทบก่อนที่จะนำเสนอ ว่าหากสื่อสารออกไปผลกระทบที่มันจะเกิดขึ้นอย่างไร แผนเฉพาะหน้ามีหรือไม่

3. การสื่อสารของภาครัฐควรจะทันกับสถานการณ์ รวดเร็วและรอบคอบ ไม่ใช่ปล่อยให้สถานการณ์มันเดินหน้านำไปแล้วประชาชนยังไม่รู้ข้อมูล เขาเลยต้องไปหาข้อมูลจากแหล่งอื่น สุดท้ายเฟกนิวส์ก็จะเกิดขึ้นมา รัฐบาลต้องเท่าทันสถานการณ์

4. การใช้เทคโนโลยีมาร่วมการสื่อสาร กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำได้มากกว่าการจะไปไล่จับผู้แชร์ข่าวปลอม ควรจะเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับประชาชนให้มากที่สุด

5. ข้อมูลต้องครบถ้วนโปร่งใสไม่ปิดบัง หลายคนเริ่มสงสัยตัวเลขของการติดเชื้อ รัฐบาลควรที่จะสงสัย ไม่ต้องปิดบัง การติดเชื้อเยอะตายจำนวนมากไม่ใช่เรื่องความผิด แต่มันอยู่ที่ว่าเรามีมาตรการในการดำเนินการที่รัดกุมและเป็นประโยชน์อย่างไร และสามารถที่จะตัดวงจรนี้ได้เร็วแค่ไหน ข้อมูลต้องครบถ้วนโปร่งใส

6. ประการสุดท้าย ตัวผู้นำ เป็นบุคคลสำคัญในภาวะวิกฤต จะต้องออกมาสื่อสารในสิ่งที่เป็นประโยชน์ตรงประเด็นมีพลัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชน ต้องสื่อสารเชิงรุก และเป็นการสื่อสารให้เกิดผลเชิงบวก เพราะว่าผู้นำเป็นคนที่กุมอำนาจทั้งหมดไว้ และประชาชนเขากำลังอยู่ในภาวะที่เขาหมดหวัง หมดที่พึ่ง

เพราะว่าวันนี้ปัญหามันรุมเร้าเขา ไม่ด้วยไวรัส ก็อดตาย

ชมคลิป