ในประเทศ : กางวิชั่น-กลยุทธ์ “ก้าวไกล” อนาคตใหม่ภาค 2 ในมือ “พิธา”

“วันที่ 14 มีนาคม 2563 บันทึกไว้ว่า พรรคก้าวไกล และพวกเราผู้ที่รักความเป็นธรรม เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย จะเริ่มขีดเขียนบทร่วมกันในบทที่สองกับพรรคก้าวไกล ซึ่งพรรคนี้สืบทอดเจตนารมณ์ อุดมการณ์ และจิตวิญญาณมาจากอดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เราจะเดินหน้าทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์ จะยังคงเป็นความหวังให้กับคนที่สิ้นหวังในประเทศนี้ จะขอเป็นปากเสียงให้กับคนที่ไร้อำนาจในสังคม เราจะไม่ใช่พรรคชั่วคราว แต่จะเป็นสถาบันทางการเมืองที่จะพาประเทศไทยกลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย”

นี่คือคำกล่าวที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล (กก.) ประกาศเป็นคำมั่นสัญญาแก่สมาชิกและประชาชนที่ให้การสนับสนุนในวันที่เปิดตัวผู้บริหารพรรคอย่างเป็นทางการ

เปี่ยมไปด้วยความหนักแน่นและความมุ่งมั่นที่จะนำพาพรรคให้ก้าวเดินต่อไป

เริ่มต้นก็ชัดเจนว่า ตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อสืบทอดความเป็นพรรคอนาคตใหม่

แบบนี้จะรอดพ้นจากการถูกโจมตีเรื่องการถูกครอบงำจากแกนนำ เช่น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองและออกเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภาหรือไม่

ดังนั้น จิตวิญญาณ อุดมการณ์ และนโยบายพรรคก้าวไกลก็คือ “การก๊อบปี้เพส” มาจากพรรค อนค. โลโก้และสีของพรรค ดูแล้วก็ปฏิเสธได้ยากว่า พรรคก้าวไกลและพรรคอนาคตใหม่ “ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน”

แทบจะเรียกได้ว่า นี่คือการอวตารมาเกิดใหม่ของพรรคสีส้มในภาค 2

หลายคนที่เห็นโลโก้ลูกศรมุ่งสู่อนาคตของพรรคก้าวไกล คงรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ แทน ว่าชะตากรรมจะเหมือนพรรค อนค.หรือไม่ ไม่แน่อาจจะเป็น “ความกวน” ที่ต้องการให้คนที่ไม่อยากเห็นพรรค อนค.ดำรงอยู่ตามความประสงค์ของใครบางคน

“การเดินทางบทที่สอง” ของ ส.ส.ทั้งหมด 54 คน เป็นผู้รอดชีวิตจากการถูกยุบพรรค การวางโครงสร้างภาพรวม จึงต้องคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ป้องกันอุบัติภัยที่กล้ำกราย ไม่ให้ซ้ำรอยพรรค อนค.

 

จากผลการประชุมวิสามัญมีมติตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) จำนวน 10 คน น่าสนใจตรงที่วางตัว “คีย์แมน” ไว้เพียง 2 คนคือ พิธานั่งเป็นหัวหน้าพรรค และ “ต๋อม” ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค

สำหรับ 2 คนนี้ ในทางการเมืองคือ “แนวปะทะแถว 2”

สำหรับชัยธวัชเป็นแกนนำคนสำคัญในช่วงเริ่มก่อตั้งพรรค อนค. เรียกว่าเป็นมันสมองหรือที่ปรึกษาใกล้ตัวของธนาธรมากที่สุดคนหนึ่ง การลดจำนวน กก.บห.ให้เหลือน้อยที่สุดถือว่าเป็นการรับมือยามเกิดอุบัติเหตุการเมืองได้ระดับหนึ่ง

ส่วนรองหัวหน้าพรรคมี 4 คน คือ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาท ณัฐวุฒิ บัวประทุม พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ และศิริกัญญา ตันสกุล

จากรายชื่อที่ปรากฏ คาดว่าคนเหล่านี้จะเป็น “แนวปะทะแถว 3” ที่ถูกวางตัวไว้ ความจริงก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า ศิริกัญญา นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ที่ผันตัวเองมาเล่นการเมืองจะขึ้นมามีบทบาทในพรรคใหม่ด้วย แต่เหมือนว่าจะถูกเก็บรักษาไว้เพื่อการต่อสู้ในครั้งต่อไป

เลข 11 คือจำนวนของรองเลขาธิการพรรค พินิจดูแล้วก็รู้สึกว่ามีจำนวนค่อนข้างมากพอควร พิจารณารายชื่อพบว่าเป็น ส.ส.รุ่นใหม่เกือบทั้งหมด

ในส่วนนี้ก็อดคิดไม่ได้ว่า คนวางโครงสร้างพรรค ต้องการให้สมาชิกเหล่านี้ได้มีโอกาสฝึกฝน ลับคมประสบการณ์ของตัวเองอย่างจริงจัง

เพราะช่วงปลายยุคของพรรค อนค. คือก่อนถูกยุบไม่นาน ส.ส. เช่น รังสิมันต์ โรม ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล และจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ก็เริ่มมีบทเป็นของตัวเองตามความถนัดที่มี

เลข 4 คือจำนวนของโฆษกพรรค คราวนี้ยกโขยงมาเป็นคณะ รวมตัวจี๊ดอย่าง “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” เจ้าหนูโคนัน มือทลายรังไอโอของฝ่ายความมั่นคง ขณะที่ “ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์” อดีตรองโฆษกพรรคเดิมก็ขยับตำแหน่งขึ้นมา คนนี้ก็ฝีปากกล้าไม่แพ้ใคร

“กลายเป็นสูตร 10-4-11-4” รวมจำนวนเป็นเซ็ตคือ 29 คน (ไม่ได้เป็น ส.ส.เพียง 2 คน)

 

พูดถึงกระแสนิยมของพรรคก้าวไกลภายหลังเปิดตัวเพจพรรคก้าวไกล – Move Forward Party ที่ตั้งขึ้นใหม่ในวันเดียวกันนั้นจนถึงวันที่ 18 มีนาคม มียอดผู้ติดตามเกือบ 3 หมื่นคน สะท้อนความนิยมในตัวของพรรคได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ พิธายังประกาศกร้าวว่าครั้งนี้ตั้งเป้ายอดสมาชิกที่ 1 แสนคน หวังชวนประชาชนมาร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศร่วมกัน

พรรคก้าวไกล ณ จุดนี้ ได้เรียนรู้บทเรียนทางการเมืองในสนามจริงครั้งที่สังกัดอยู่กับพรรค อนค.มามากพอสมควร ทั้งประสบการณ์การถูกสกัดขาจากคดีความต่างๆ ขยับตัว หรือพูดอะไร ก็ดูเป็นสิ่งที่ผิดไปหมดในความระแวดระวังว่าจะถูกยุบพรรค

หลังจากนี้หากจะมีมากกว่าเดิมก็คงไม่ได้มองในแง่ร้ายมากเกินไป ไม่เพียงแค่ประชาชนคนทั่วไป แต่แกนนำพรรคก็เหมือนจะรู้ถึงอุปสรรคขวากหนามที่รออยู่ข้างหน้าว่า เปอร์เซ็นต์ที่จะถูกยุบพรรคมีแนวโน้มที่สูงมากเช่นกัน

กระนั้นก็ไม่อยากให้มองในแง่ลบจนเกินไป ควรติดตามสถานการณ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ประเมินผ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะดีกว่า ทั้งนี้ การทำงานของพรรคก้าวไกลคงไม่มีความต่างจากเดิมมากนัก เพราะ “พิธา” เผยไว้ว่า หลังจากที่ได้เห็นพลังนักศึกษาทั่วประเทศที่ลุกขึ้นมาแสดงความต้องการของตัวเอง จุดนี้ได้เป็นไฟที่จะทำให้ ส.ส.ของพรรคก้าวไกลต้องก้าวต่อไป โดยการยืนหยัดในรัฐสภา เพื่อเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม เพื่อทำให้ประเทศนี้ก้าวไกลไปกว่าที่เป็น

ทั้งจะทำหน้าที่ในสภาอย่างแข็งขันคู่ขนานไปกับความเคลื่อนไหวของประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อนำประเทศฝ่าฟันวิกฤตและนำประเทศกลับสู่วิถีทางประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุดอีกครั้ง ซึ่งตรงกับแนวทางการทำงานของพรรค อนค.

 

ส่วนคู่หูอย่างธนาธร-ปิยบุตรก็เดินไปกับ “คณะก้าวหน้า Progressive movement” ที่เปลี่ยนชื่อจากคณะอนาคตใหม่ ตีวงนอกอภิปรายให้ความรู้กับประชาชนนอกสภา ทั้งการลงพื้นที่และการสื่อสารผ่านโซเชียลช่องทางต่างๆ ถือว่าระดับดีกรีความเข้มข้นยังไม่มากเท่าใดนัก อาจเพราะอยู่ในช่วงของพรรคก้าวไกลกำลังตั้งไข่ หรือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

การเดินทางบทที่สองของพวกเขาจะไปได้ไกลเพียงใด ไม่มีใครอาจล่วงรู้ได้ หากซ้ำรอยเดิมคงต้องมีการเดินทางครั้งที่สาม ครั้งที่สี่ หรือจนกว่าจะหมดแรง ต้องรอดูกันต่อไป

หรืออาจจะเป็นอย่างที่ “ปิยบุตร” ชอบพูดเสมอยามพรรค อนค.ถูกกระทำ ที่บอกว่า “หนังม้วนเก่าที่ฉายซ้ำจะไม่จบเหมือนเดิม” หรือไม่